แม่ท้องต้องรู้!! “ลูกดิ้น” บอกอะไรได้มากกว่าที่คุณคิด?

event

จะรู้ได้ยังไง! ว่า ลูกดิ้น เพราะการดิ้นของลูกในท้อง ถือเป็นเรื่องสำคัญ เป็นสัญญาณที่บ่งบอกให้คุณแม่รู้ว่าลูกในครรภ์ยังมีชีวิตอยู่ แล้วลูกควรดิ้นวันละกี่ครั้ง ถึงเป็นสัญญาณปกติ มาฟังคำแนะนำจากคุณหมอกันค่ะ

ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่คุณแม่ควรรู้

สำหรับเรื่อง ลูกดิ้น สัญญาณสำคัญที่คุณแม่ควรรู้ คุณหมอนิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์) แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัยจอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา ได้บอกกับทีมแม่ ABK ว่า…

หมอจะได้รับคำถามจากคุณแม่ที่ตั้งครรภ์มือใหม่ รวมถึงคุณแม่ท้องสอง ท้องสาม เป็นประจำที่ส่วนใหญ่สอบถามเกี่ยวกับสัญญาณการดิ้นของลูกในท้อง จะรู้ได้ยังไงว่าลูกดิ้น” ,  “ลูกดิ้นมีลักษณะอาการเป็นอย่างไร จะต้องนับการดิ้นของลูกในท้องยังไง” , “รู้สึกว่าลูกไม่ดิ้นเลย เป็นต้น วันนี้หมอจะมาให้ข้อมูลในเรื่องนี้กันอย่างละเอียดครับ

  • ทารกในครรภ์ดิ้นเพราะอะไร ทำไมต้องดิ้น

ตอบ : เพราะคุณสมบัติอย่างหนึ่ง ของสิ่งมีชีวิต คือการที่สามารถเคลื่อนไหวได้ ทารกในครรภ์ก็เช่นกัน เป็นสิ่งมีชีวิต ตัวน้อย ๆ จึงสามารถ ดิ้นได้ตั้งแต่อยู่ในครรภ์ หรืออาจเรียกได้ว่า เป็นสัญชาตญาณ อย่างหนึ่งของสิ่งมีชีวิต เพราะเด็กในครรภ์ ก็มีวงจรการนอนหลับและการตื่น เหมือนเด็ก ทารกที่คลอดออกมาจากท้องแม่ใหม่ ๆ

โดยช่วงนอนหลับ ของทารกในครรภ์ หรือช่วงพัก จะกินเวลาประมาณ 20 นาที ช่วงนี้ทารกจะหยุดเคลื่อนไหว ส่วนของลำตัวและแขนขา แต่ยังหายใจอยู่สม่ำเสมอ และช่วงตื่น นานเฉลี่ย 40 นาที จะเคลื่อนไหว อย่างมาก ดังนั้น ทารกที่นอนหลับหรือหยุดเคลื่อนไหวนานกว่าหนึ่งชั่วโมง ซึ่งนานกว่าวงจรหลับตื่นตามปกติ จึงถือว่า ผิดปกติ

นอกจากนี้ การดิ้นของทารกในครรภ์ ยังบ่งบอกถึงความ สมบูรณ์ หรือสุขภาพ ของทารกแต่ละคน ว่าอยู่ในท้องแม่ตั้งครรภ์ ได้สุขสบายดีหรือไม่ ทารกที่แข็งแรง จะสามารถดิ้นได้ เป็นปกติ ในขณะที่ทารก มีปัญหาสุขภาพ รูปแบบการดิ้น จะมีความผิดปกติ จากปริมาณการดิ้นที่น้อยลง หรือ หยุดดิ้นเลย ซึ่งถ้าเราไม่สามารถ วินิจฉัย ภาวะดังกล่าว และทำคลอด เอาเด็ก ออกมาข้างนอกได้ทัน ก็จะเกิดภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์ได้

  • ลูกเริ่มดิ้นตอนอายุครรภ์กี่สัปดาห์ อาการลูกดิ้นแม่ท้องจะรู้สึกอย่างไร

ทารกในครรภ์ สามารถดิ้นได้ ตั้งแต่อายุครรภ์ 7 สัปดาห์เป็นต้นไป แต่เนื่องจากขนาดของทารก ยังเล็กมาก แม่ตั้งครรภ์ จึงยังไม่สามารถรับรู้การดิ้นของลูกได้ … แต่สามารถดูได้จาก การตรวจอัลตร้าซาวด์ทางช่องคลอด สูตินรีแพทย์ สามารถชี้ให้เห็นลักษณะการเคลื่อนไหว แบบกระตุกเล็ก ๆได้ และการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ จะซับซ้อนมากขึ้นเป็นระบบมากขึ้น เมื่อทารกมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีการพัฒนาของระบบประสาทส่วนกลาง ที่ทำหน้าที่ ในการสั่งการเคลื่อนไหว และจะปรากฏให้เห็นเด่นชัดในช่วงอายุครรภ์ 28-32สัปดาห์ มารดาจะเริ่มรู้สึกว่าทารกในครรภ์เริ่มดิ้น ตั้งแต่ไตรมาสที่สองเป็นต้นไป โดยจะรับรู้ในอายุครรภ์ 18-20 สัปดาห์ในท้องแรก และ 16-18 สัปดาห์ในท้องหลัง

การที่แม่ในท้องหลัง รับรู้การดิ้นของลูก ได้เร็วกว่าท้องแรก อาจจะเป็นเพราะประสบการณ์ การรับรู้การดิ้นของลูกตั้งแต่ท้องแรก เมื่ออายุครรภ์มากขึ้นการเคลื่อนไหวแรงขึ้น มารดาจะสามารถแยกการดิ้นของทารกออกจากการเคลื่อนไหวอื่น เช่น การเคลื่อนไหวของลำไส้ได้ง่ายขึ้น การรับรู้การดิ้น ในช่วงแรกจะเป็นลักษณะ การดิ้นแบบกระตุก แม่ตั้งครรภ์จะรับรู้ในลักษณะของการ กระตุกเป็นจังหวะสั้น ๆ ซึ่งบางคนเรียกว่าการตอด เหมือนลักษณะ ปลาตอดเบ็ด ในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์ ทารกเจริญเติบโตและระบบสมองสมบูรณ์ขึ้น ทำให้มีการเคลื่อนไหว ที่ประสานกันเป็นระบบมากขึ้น เช่น มีการเคลื่อนไหวทั้งแขน ขา ลำตัว และศีรษะ ไปพร้อมๆกัน ทารกจะเคลื่อนไหวมากที่สุดในช่วงอายุครรภ์ 28-32 สัปดาห์ หลังจากนั้นจะค่อย ๆ ลดลงไปบ้างจนกระทั่งคลอด แต่การลดลงนี้มีเพียงเล็กน้อยไม่มีผลต่อค่าปกติของการนับจำนวนลูกดิ้นแต่อย่างใด

อัลตร้าซาวด์ 4 มิติ ราคา

  • วิธีนับการดิ้นของลูก ลูกควรดิ้นวันละกี่ครั้ง ถึงยังเป็นสัญญาณปกติ

การนับลูกดิ้น เป็นวิธีการ ตรวจสอบความแข็งแรง ของทารกในครรภ์ ถ้าทารกในครรภ์ มีภาวะเครียด เช่น ภาวะขาดออกซิเจน การไหลเวียนของเลือดที่รกลดลง ทารกจะเคลื่อนไหวน้อยลงหรือหยุดไป โดยที่หัวใจยังเต้นอยู่ เกิดจากการกดระบบประสาท หรือเพราะร่างกายต้องการลดการใช้พลังงานและออกซิเจนเพื่อสงวนไว้ให้อวัยวะสำคัญ เช่น สมองและหัวใจ ธรรมชาติของทารกในครรภ์ที่อยู่ในภาวะเครียด มักจะมีการดิ้นที่น้อยลง ก่อนที่จะเสียชีวิต หัวใจจะไม่หยุดเต้นโดยฉับพลัน การที่ทารกดิ้นน้อยลง จนกระทั่งหยุดดิ้น นานอย่างน้อย 12 ชั่วโมงและยังคงฟังเสียงหัวใจทารกในครรภ์ได้เรียกว่า Movement  alarm signal (MAS) หรือสัญญาณอันตราย ที่ทารกพยายามบอกเตือนมารดาว่า ทารกในครรภ์กำลังตกอยู่ในภาวะคับขัน อาจจะเสียชีวิตได้ ถ้าให้การช่วยเหลือไม่ทัน

รายงานวิจัย พบว่า ทารกในครรภ์ เคลื่อนไหวมากที่สุด ในช่วงเวลา 21.00-01.00 น. ๆและเป็นช่วงที่มารดารู้สึกว่าทารกเคลื่อนไหวมากขึ้นด้วย แต่มารดาตั้งครรภ์ ก็ไม่จำเป็นถึงขนาดต้องตื่นมานับ ลูกดิ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

การนับลูกดิ้นจากความรู้สึกของแม่ เป็นวิธีการที่ดี และไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ซึ่งมีวิธีการนับ แตกต่างกันหลายวิธี พัฒนาจากในช่วงแรกที่ต้องนับเป็นระยะเวลานาน 6-12 ชั่วโมง ปัจจุบัน พัฒนาให้เหลือกันนับที่สั้นลง (1-4 ชั่วโมง)  เพื่อสะดวก ต่อมารดาในการนับลูกดิ้น ก่อนเริ่มการนับแนะนำให้มารดานอนตะแคงซ้ายเพื่อให้เลือดไปเลี้ยงมดลูกและทารกได้ดีขึ้น ควรนอนในห้องที่เงียบสงบไม่มีเสียงรบกวน เพื่อที่จะมีสมาธิในการสังเกตและการนับจำนวนลูกดิ้นได้ดี

 

การนับลูกดิ้น มี 2 รูปแบบคือ

1. แบบกำหนดช่วงเวลา (fixed time period) เช่น วิธีของ Rayburn เป็นการนับจำนวนเด็กดิ้นในหนึ่งชั่วโมงวันละหนึ่งครั้ง เวลาตามที่สะดวก (ถ้าดิ้นน้อยกว่าหรือเท่ากับ 3 ครั้ง ต่อชั่วโมงถือว่าผิดปกติ)

2. แบบกำหนดจำนวนครั้งที่ทารกดิ้น (fixed number) เช่น วิธีของ Moore หรือเรียกว่าวิธี Count-to-ten โดยนับจำนวนเด็กดิ้นจนครบ 10 ครั้ง ในเวลาสี่ชั่วโมง ถ้าเด็กดิ้นได้ครบสี่ครั้งก็สามารถเลิกนับได้ เป็นวิธีที่ใช้เวลาสั้นที่สุด และ สะดวกที่สุดในปัจจุบัน (ถ้าเด็กดิ้นน้อยกว่า 10 ครั้งใน 4 ชั่วโมงถือว่าผิดปกติ)

สมัยก่อนการนับลูกดิ้น อาจจะต้องเตรียมอุปกรณ์สำหรับการจดบันทึก เช่น ปากกาหรือดินสอกับกระดาษ แต่ปัจจุบัน มีแอปพลิเคชั่นต่าง ๆ มากมายที่อำนวยความสะดวก เช่น Baby Kick Count, Pregnancy Kick Count , Baby Movement Track เป็นต้น เราสามารถเข้าไปแล้วจดบันทึก ในแอปพลิเคชันเหล่านั้นได้เลย บางแอปพลิเคชั่นสามารถแชร์ ส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้ดูแล ได้รับทราบ ผลของการนับลูกดิ้นของคุณแม่ได้ด้วย

ลูกดิ้น

  • สาเหตุที่ลูกไม่ดิ้น ดิ้นน้อย เกิดจากอะไร แก้ไขอย่างไร

ภาวะพร่องออกซิเจน  (Hypoxia) ในภาวะพร่องออกซิเจนเรื้อรัง ทารกจะตอบสนองโดย พยายามลดการใช้ออกซิเจน ด้วยการลดหรือหยุดการเคลื่อนไหว เมื่อมารดาตั้งครรภ์พบว่า ทารกในครรภ์ ดิ้นน้อยกว่าปกติหรือหยุดดิ้น ควรรีบมาโรงพยาบาลทันที เพื่อแพทย์จะได้ ทำการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม ด้วยเครื่องมือ ที่ให้ผลการตรวจ แม่นยำ กว่าการนับลูกดิ้น เช่น การตรวจโดยอุปกรณ์ไฟฟ้า ที่สามารถบันทึก การเปลี่ยนแปลงของหัวใจและการบีบตัวของมดลูก (External fetal monitor) หรือการตรวจด้วย คลื่นเสียงความถี่สูง (Ultrasound) เพื่อประเมินสุขภาพของทารกในครรภ์ (Biophysical profile: BPP) เมื่อแพทย์พบว่าทารก อยู่ในภาวะคับขัน ไม่เหมาะที่จะอยู่ในครรภ์มารดาอีกต่อไป จะได้รีบดำเนินการ ทำการคลอดเพื่อนำทารกที่มีปัญหาออกมาดูแล ข้างนอกเพื่อป้องกันภาวะทารกเสียชีวิตในครรภ์

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวของทารกในครรภ์ 

  1. ความพิการของทารก ทารกที่มีความพิการรุนแรงมักเคลื่อนไหวน้อยลง เช่นทารกหัวบาตร ทารกบวมน้ำ
  2. ผลของยา ยาบางชนิด สามารถดูดซึมผ่านรก ไปมีผลต่อทารกในครรภ์ได้ เช่น กลุ่มยานอนหลับหรือยากล่อมประสาทต่างๆ อาจกดการเคลื่อนไหวของทารกไว้ชั่วคราว นอกจากนี้การสูบบุหรี่ของมารดา ก็มีผลลดการเคลื่อนไหว และการหายใจของทารกได้ จากผลของสารนิโคติน ซึ่งทำให้การไหลเวียนของเลือดในทารกลดลง
  3. ท่าทางของมารดาตั้งครรภ์ มารดาจะรู้สึกเด็กดิ้นได้ดีเมื่ออยู่ในท่านอน มากกว่าท่านั่ง และรู้สึกน้อยที่สุดในท่ายืน ซึ่งอาจเนื่องมาจากการให้ความสนใจต่อการดิ้น แตกต่างกันในท่าต่าง ๆ ดังนั้น การนับลูกดิ้นจึงควรทำในท่านอนสบาย ๆ
  4. ปัจจัยอื่น ๆ เช่น ปริมาณน้ำคร่ำ ในรายที่มีปริมาณน้ำคร่ำมาก (Polyhydramnios) ทำให้ตัวทารกลอยห่างออกจากผนังหน้าท้อง อาจทำให้การรับรู้ของมารดา ต่อการดิ้นของทารกน้อยลง ตำแหน่ง การเกาะของรก ที่ด้านหน้าของผนังมดลูก(Anterior placenta) ทำให้เสมือนหน้าท้องหนาขึ้น อาจทำให้การรับรู้การดิ้นของมารดาลดลง

เพื่อการตั้งครรภ์คุณภาพตลอด 40 สัปดาห์ หากคุณแม่ท้องพบสัญญาณผิดปกติใด ๆ ที่ไม่แน่ใจว่าจะเป็นสัญญาณอันตราย หรือสัญญาณปกติทั่วไปในคนท้องหรือไม่ แนะนำให้แจ้งกับคุณหมอที่ดูแลการตั้งครรภ์คุณแม่ทราบทันทีครับ

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์ พันธุศาสตร์การแพทย์
มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

สำหรับเรื่อง ลูกดิ้น ถือเป็นหนึ่งในเรื่องของ HQ  หนึ่งใน 10 ของ Power BQ (Power Baby & Kids Quotients) อาวุธที่ช่วยให้ลูกฉลาดรอบด้าน เพราะเด็กยุคนี้มีแค่ IQ และ EQ นั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แต่ยังมี Quotient ต่างๆ ถึง 10Q นั่นคือ “10 ความฉลาด” ที่คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกได้ครบไปพร้อมกันนั่นเอง ทั้งนี้ HQ หรือ Health Quotient  คือ ความฉลาดในการดูแลรักษาสุขภาพ
ซึ่งคนที่มี HQ ดี จะรู้จักดูแลสุขภาพของตัวเองให้ดีเพื่อให้ร่างกายแข็งแรง เช่น กินอาหารที่ดี ครบ 5 หมู่ ขับถ่ายดี ได้ออกกำลังกายสม่ำเสมอ นอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดูแลรักษาความสะอาดร่างกายของตัวเอง ฯลฯ สำหรับเด็กเล็กเราอาจจะยังไม่เห็นพัฒนาการด้านนี้ชัดเจน แต่คุณพ่อคุณแม่สามารถเริ่มปลูกฝังและใส่ใจเรื่องสุขภาพ การดูแลร่างกายในการทำกิจวัตรประจำวันได้ทุกวัน เพื่อให้ลูกซึมซับและดูแลใส่ใจสุขภาพตัวเอง ซึ่งก็จะเป็นการสร้าง HQ ที่ดีในตัวลูกได้ ยิ่งในปัจจุบันโรคภัยไข้เจ็บมีเยอะขึ้น โรคใหม่ๆ แปลกๆ เชื้อโรคที่พัฒนาขึ้นจาก สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง และมลภาวะต่างๆ เราจึงต้องสอนให้ลูกของเราฉลาดใส่ใจดูแลสุขภาพให้แข็งแรง และมีภูมิคุ้มกันต่อโรคภัยต่างๆ รอบตัว เพราะการไม่มีโรค คือลาภอันประเสริฐนั่นเองค่ะ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก ⇓

หมอสูติตอบชัด! คนท้องฉีดวัคซีนโควิดได้ไหม ฉีดอย่างไรให้..ปลอดภัยทั้งแม่ลูก

แม่ท้องไม่สบาย กินยาได้ไหม? หมอแนะ “ยาที่คนท้องกินได้” และ “ยาต้องห้าม”

หมอสูติตอบเอง ฝากท้องแบบไหนดี? “ ฝากครรภ์พิเศษ VS ฝากครรภ์ธรรมดา ”

วิจัยล่าสุดเผย! คนท้องอ่อนตากแดด ลดความเสี่ยงคลอดก่อนกำหนดได้!

 

checklist เตรียมของก่อนคลอด ยังไงไม่บานปลายได้ของครบ

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up