ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

อุทาหรณ์! ลูก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพียงเพราะแม่อยากให้ลูกอ้วน

Alternative Textaccount_circle
event
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง – แน่นอนว่าพ่อแม่ทุกคน ต่างหวังให้ลูกเป็นเด็กที่ร่างกายแข็งแรง สุขภาพดี ไม่เจ็บป่วยง่าย อยากให้ลูกกินได้เยอะๆ โตไวๆ และมีพัฒนาการที่ดี แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การให้ลูกกินมากเกินไป บางครั้งก็อาจส่งผลเสียต่อลูกได้มากกว่าที่เราคิด อย่างเช่นกรณีของคุณแม่รายหนึ่ง ที่คิดว่าอยากให้ลูกตัวอ้วนๆ ให้ลูกทานนมในปริมาณมากเกินไปที่กระเพาะและลำไส้ของเด็กจะรับมือได้

อุทาหรณ์! ลูก ลำไส้อักเสบเรื้อรัง เพียงเพราะแม่อยากให้ลูกอ้วน

สืบเนื่องจาก มีคุณแม่ท่านหนึ่ง ที่ได้แชร์ประสบการณ์ในกรุ๊ปสื่อสังคมออนไลน์ ถึงเรื่องราวที่ลูกน้อยวัยเพียง 11 เดือน มีอาการป่วยด้วยโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเรื้อรัง โดยแพทย์วินิจฉัยเพราะสาเหตุอาจเกิดจากการที่ให้เด็กกินนมมากเกินไป  โดยคุณแม่ได้โพสต์เนื้อหาใจความว่า

” มีประสบการณ์อยากมาเตือนแม่ๆ ค่ะ
ลูกเรากระเพาะพัง เพราะคำว่าอยากให้ลูกอ้วนๆ น้ำหนักขึ้นเยอะๆ จะได้แข็งแรง แม่คิดผิดมากค่ะ ลูกแม่เป็นเด็กกินง่าย ป้อนเท่าไหร่ก็หมด บวกนมเข้าไปอีก ครั้งละ 8 ออนซ์ วันนึงหมดหลายขวด น้องจ้ำม่ำดีมาก อยู่มาวันนึงน้องอ้วกไม่หยุด มากกว่า 20 รอบ จนเกือบช็อค แม่รีบพาตัวส่งโรงบาล หมอบอกว่า กระเพราะและลำไส้น้องอักเสบเพราะย่อยไม่ทัน กินมากเกินไป แม่มานั่งเสียใจ กระเพาะลูกเล็กนิดเดียว จะยัดอะไรเข้าไปนักหนา ผลสุดท้ายคือ น้องกระเพาะอักเสบเรื้อรัง ต้องรออีกนานกว่าจะเหมือนเดิม น้องกินได้แค่ข้าวต้ม จากที่เป็นเด็กร่าเริงก็ซึม บางวันก็อ้วก
ลูกตัวเล็ก กินข้าวน้อยอย่าไปเครียด อย่าไปยัดอะไรค่ะ ต่อไปนี้เค้าอยากกินก็ให้กิน แต่คงน้อยลงมากๆ “
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง
ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

อันตรายจากการให้ลูกกินมากเกินไป

การป้อนนมลูกไม่ว่าจะเป็นจากอกแม่โดยตรง หรือจากขวด สามารถทำให้เกิดปัญหาตามมาได้หากเด็กได้รับปริมาณของนมที่มากเกินไป อาจทำให้กระเพาะและลำไส้ทำการย่อยและดูดซึมนมไม่ทัน จนทำให้เกิดอาการปวดท้อง และอาเจียนออกมาได้ การอาเจียน หรือ อ้วก ในเด็กเล็ก เป็นปฏิกิริยาตอบสนองของร่างกาย โดยมีการสำรอกเอาสิ่งที่อยู่ในกระเพาะอาหารย้อนกลับออกมาทางปากอย่างรวดเร็ว มักเกิดคู่กับอาการคลื่นไส้ พะอืดพะอม อึดอัดมวนท้อง ไม่สบายตัว

การที่เด็กอาเจียน เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทั้งเกิดจากพฤติกรรมการให้อย่าง “แหวะนม” เพราะ ลูกน้อยกินนมมากเกินไป (Overfeeding) หรือหลังกินนมไม่ได้จับเรอมากพอ หรือ ท่าดูดนมไม่ถูกต้อง เช่น ให้นอนดูดนมแทนการอุ้มทำให้มีลมในกระเพาะอาหารมาก จนลูกอ้วกออกมา

หากลูกอาเจียน 1- 2 ครั้งแล้วหยุด ไม่มีอาการแทรกซ้อนอื่น ๆ ไม่ถือว่าเป็นอันตราย แต่ถ้าอาเจียนต่อเนื่องติดต่อกันหลายครั้ง อาจทำให้กล้ามเนื้อหลอดอาหารฉีกขาด มีเลือดออกในช่องท้อง เกิดภาวะขาดน้ำจนภาวะในร่างกายเสียสมดุลหรือหากสำลักเศษอาหารเข้าไปในหลอดลมอาจทำให้ถึงเสียชีวิตได้

สำหรับเด็ก ที่อยู่ในวัยเริ่มอาหารเสริม อายุ 6 เดือนถึง 1 ขวบโดยประมาณ  ควรทานนมแม่เป็นอาหารมื้อหลัก แล้วตามด้วยการป้อนอาหารเสริมให้อย่างน้อย 1-2 มื้อต่อวัน หากคุณแม่ให้ลูกกินข้าว หรือ กินนมที่มากเกินความต้องการของร่างกาย กล่าวคือ เกินความจุของกระเพาะอาหารจะรับได้ ก็เป็นสาเหตุทำให้ลูกอาเจียนได้ กรณีที่ลูกอาเจียนและมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น ปวดหัว ปวดท้อง ท้องเสีย มีไข้ อาจเป็นสัญญาณของโรคอันตรายหลายโรค การอาเจียนนั้นอาจเป็นเพียงอาการนำของโรคอื่นๆ ได้ เช่น โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบเรื้อรัง

ลำไส้อักเสบเรื้อรัง

โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบคืออะไร?

โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ คือ ภาวะอาการเจ็บป่วยเรื้อรัง จากการติดเชื้อในลำไส้ หรือ การย่อยอาหารที่ผิดปกติ ซึ่งทำให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ เช่นท้องร่วง หรือมีการอาเจียนร่วมด้วย โรคกระเพาะและลำไส้อักเสบ เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในเด็กวัยขวบปีแรก ซึ่งในเด็กบางรายอาจมีอาการรุนแรง ถ้าไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีอาจทำให้เด็กเกิดภาวะช็อก และเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

สาเหตุของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบในเด็ก

กระเพาะและลำไส้อักเสบ คือ การอักเสบของกระเพาะและลำไส้ที่ทำให้เกิดอาการท้องร่วง คลื่นไส้ อาเจียน หรือ อาการอื่นๆ ที่เกิดจากการย่อยอาหารที่ผิดปกติ โดยสาเหตุที่พบได้บ่อยที่สุดของโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบในเด็ก คือ ไวรัส แบคทีเรีย (อาหารเป็นพิษ) และพยาธิในลำไส้ อาหารไม่ย่อย อาหารเป็นพิษ มักก่อให้เกิดปัญหากับระบบทางเดินอาหาร ไวรัสที่ทำให้เกิดโรคกระเพาะและลำไส้อักเสบในเด็กทั่วไป คือ โรตาไวรัส และอะดีโนไวรัส แต่ก็มีไวรัสอื่นๆ อีกมากมายหลายชนิดที่ก่อให้เกิดโรคได้

ให้ลูกกินแค่ไหนถึงพอดี?

ปริมาณนมที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละช่วงวัย สามารถคำณวนได้โดย ใช้สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับในหนึ่งวัน

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่แรกเกิด – 1 เดือน  

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก(กิโลกรัม )× 150 (ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : ควรแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กแรกเกิดหนัก 3 กก. เมื่อครบเดือนควรหนัก 3.6 กก. แต่คำนวณง่ายๆ โดยปัดเป็น 4 กก. คูณ 150 เท่ากับ 600 หาร 30 คือ 20 ออนซ์ (+/- ได้ไม่เกิน 4 ออนซ์) และควรเเบ่งมื้อนมเป็น 6-8 มื้อ/วัน

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่อายุ 1- 6 เดือน  

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก (กิโลกรัม )× 120(ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : ควรแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อต่อวัน

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กอายุ 2 เดือน หนัก 5 กก. คูณ 120 ได้ 600 หาร 30 เท่ากับ 20 ออนซ์ (+/- ได้ไม่เกิน 4 ออนซ์) โดยแบ่งมื้อนมออกเป็น 6-8 มื้อ / วัน

สูตรการคำนวณปริมาณน้ำนมลูกที่ควรได้รับ ตั้งแต่อายุ 6- 12 เดือน 

ปริมาณน้ำนมที่ควรได้รับในหนึ่งวัน = น้ำหนักลูก(กิโลกรัม )× 110(ซีซี) ÷ 30

ข้อแนะนำ : เด็ก9-11เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อต่อวันและอาหารเสริม 2 มื้อ

เด็ก 12 เดือน ควรแบ่งมื้อนมเป็น 4-5 มื้อต่อวันและอาหารเสริม 3 มื้อ

ตัวอย่างการคำนวณ : เด็กอายุ 6 เดือน หนัก 6.5 กก. คูณ 110 เท่ากับ 715 หาร 30 ปัดเป็นเท่ากับ 24 ออนซ์

(** 30 ซีซี เท่ากับ 1 ออนซ์)

เมื่อเรารู้ถึงปริมาณที่เหมาะสมของนม ที่ลูกควรได้รับในแต่ละวัน จะช่วยให้คุณแม่กำหนดปริมาณและความถี่ได้อย่างเหมาะสม ซึ่งช่วยป้องกันการได้รับอาหารที่มากเกินไป ซึ่งอาจทำให้ลูกเจ็บป่วยจากโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร ต่างๆ ได้ เมื่อลูกเติบโตเข้าสู่วัยเรียนรู้ คุณพ่อคุณแม่สามารถปลูกฝังพฤติกรรมการกินอาหารที่ดีให้แก่ลูก เพื่อให้เด็กๆ ได้รับปริมาณสารอาหารที่เพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน มีการเจริญเติบโตที่ดี พัฒนาการสมวัย เมื่อเด็กๆ เข้าใจและคุ้นเคยกับการปฏิบัติตัวด้านโภชนาการที่ดี เด็กๆ จะเกิดทักษะความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ  ได้อีกด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : Jiraporn Wisanumatpatient.info , health.harvard.edu , พญ.สุธีรา เอื้อไพโรจน์กิจ กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

อุทาหรณ์! ลูกร้องไห้น้ำตาเป็นเลือด เพราะชอบปิดไฟเล่นโทรศัพท์!

ลูก เครียดเพราะเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรรับมืออย่างไร?

วิจัยชี้! ลูกสมองดี ถ้าได้กินนมแม่ เพราะนมแม่แน่ที่สุด!

 เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up