ชุดตรวจ ATK

ชุดตรวจ ATK จำเป็นแค่ไหน? ใช้ยังไง ควรระวังอะไรบ้าง?

Alternative Textaccount_circle
event
ชุดตรวจ ATK
ชุดตรวจ ATK

ชุดตรวจ ATK – ชุดตรวจโควิด ATK  (Antigen Test Kit) กำลังเป็นที่รู้จักมากขึ้นในบ้านเรา ล่าสุด กรมอนามัย มีคำแนะนำ ให้ใช้ Antigen Test Kit เพื่อประโยชน์ในการหยุดการแพร่เชื้อภายในครอบครัว ด้วยจำนวน สถิติของเด็กเล็กที่ติดเชื้อโควิดจากสมาชิกภายในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากอย่างน่าวิตก โดยในขณะนี้ในประเทศไทย พบเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ติดเชื้อโควิด-19 สะสม เกินกว่า 30,000 รายแล้ว

ชุดตรวจ ATK จำเป็นแค่ไหน? ใช้ยังไง ควรระวังอะไรบ้าง?

Antigen Test Kit คืออะไร?

 คือ ชุดตรวจคัดกรองโควิด-19 ด้วยตนเองแบบเร่งด่วนด้วยการเก็บตัวอย่างสารคัดหลั่งจากร่างกาย มีทั้งการตรวจด้วยการเก็บสารคัดหลั่ง จากโพรงจมูก โพรงหลังจมูก และจากน้ำลาย เพื่อตรวจองค์ประกอบของไวรัสได้แก่ โปรตีนหรือแอนติเจนของเชื้อก่อโรคโควิด-19 (SARS-CoV-2) ผู้ที่ควรใช้ชุดตรวจ ATK ได้แก่ ผู้ที่สัมผัสหรือใกล้ชิดผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งที่มีอาการและไม่มีอาการ และ ผู้ที่เริ่มมีอาการสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-1 โดย ชุดตรวจ ATK มี 2 แบบ คือ สำหรับเจ้าหน้าที่ และสำหรับประชาชนตรวจด้วยตนเอง

ประโยชน์ของ Antigen Test Kit

เมื่อ 13 ก.ค. 64 ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้ใช้ Antigen test self-test kits  เป็นชุดตรวจโควิดด้วยตนเองแบบเร่งด่วน ประชาชนสามารถซื้อชุดตรวจ ATK ตรวจหาเชื้อ COVID-19 ได้ด้วยตนเอง ปัจจุบันเริ่มมีคนหันมาใช้ชุดตรวจชนิดนี้เป็นจำนวนมากด้วยสถานการณ์ปัจจุบันที่มีการแพร่ระบาดของโรคในวงกว้าง ชุดตรวจโควิดแบบ ATK จึงช่วยให้สามารถตรวจคัดกรองเชื้อได้ การนำ ATK มาใช้ ทำให้ผู้ติดเชื้อเข้าถึงการตรวจลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อและได้รับการดูแลรักษาได้เร็วขึ้น

  • ใช้งานง่ายมาก ทำด้วยตัวเองได้ โดยใช้ของเหลวจากจมูก ลำคอ หรือน้ำลาย
  • เหมาะกับการตรวจผู้ที่ได้รับเชื้อมาแล้ว ประมาณ 5-14 วันขึ้นไป
  • ทราบผลภายในเวลา 15-30 นาที

ข้อดี

  • ประชาชนทั่วไปสามารถตรวจได้ด้วยตัวเอง โดยทำความเข้าใจได้ไม่ยาก
  • รู้ผลได้เร็ว ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปสถานที่ตรวจ หรือในสถานพยาบาลที่ไม่มีห้องแล็บ

ข้อด้อย

  • ก่อนทำการตรวจ ต้องศึกษาวิธีให้ถูกต้อง โดยต้องแยงไม้ sawp เข้าไปในจุดที่ลึกระดับหนึ่ง หมุนโดยรอบ ซึ่งหากทำผิดวิธีอาจเกิดความผิดพลาด หากไม่มั่นใจ ควรปรึกษาแพทย์ หรือ เภสัชกรก่อนทำการตรวจ
  • ในกรณีที่เพิ่งได้รับเชื้อไม่นาน ชุดตรวจ ATK อาจจะตรวจไม่พบเชื้อ และมีโอกาสแสดงผลผิดพลาดได้
  • การทิ้งชุดตรวจที่ใช้งานแล้วในที่สาธารณะ อาจนำไปสู่การแพร่กระจายได้หากทำไม่ถูกวิธี

ประเภทของ Antigen Test Kit

ชุดตรวจ แบบATK แบ่งออกได้เป็น 3 ประเภทใหญ่ๆ

  1. เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก (nasal)
  2. เก็บตัวอย่างจากโพรงหลังจมูก (nasopharyngeal)
  3. เก็บตัวอย่างจากช่องปาก ลำคอ หรือ น้ำลาย (oropharyngeal)

ชุดตรวจด้วยตัวเองส่วนใหญ่จะเป็นแบบแหย่โพรงจมูก (Nasal swab) ซึ่ง ไม้ swab จะสั้นกว่า และไม่ต้องแหย่ให้ลึกเท่ากับแบบหลังโพรงจมูกที่ใช้ในโรงพยาบาล (Nasopharyngeal swab)

ความแม่นยำของ Antigen Test Kit

Antigen Test Kit มีความแม่นยำเฉลี่ย ประมาณ 80%-90% อาจมากหรือน้อยกว่าขึ้นอยู่กับงานวิจัยในแต่ละที่ และวิธีตรวจ ซึ่งแม้จะคัดกรองเชื้อได้ในระดับหนึ่ง แต่ชุดตรวจ ATK ก็มีโอกาสที่จะให้ผลที่ไม่ถูกต้อง เช่น ลบหรือบวกปลอมได้ ผลการตรวจอาจไม่แม่นยำเท่าวิธี RT-PCR ซึ่งเป็นวิธีมาตรฐาน แต่ด้วยปีนี้ความชุกการติดเชื้อค่อนข้างสูง เพราะฉะนั้น ถ้าได้ผลบวกก็ไม่ควรนิ่งนอนใจในการเตรียมตัวเข้าสู่กระบวนการการรักษาให้เร็วที่สุด

 

ชุดตรวจ ATK
ชุดตรวจ ATK

Antigen Test Kit ใช้อย่างไร?

ก่อนตรวจหาเชื้อ COVID-19 ควรอ่านวิธีการใช้ หรือคำแนะนำ Antigen Test Kit ให้ละเอียด โดยการใช้งานเบื้องต้น มีขั้นตอนคร่าวๆ ดังนี้

  • ชุดตรวจแบบแยงโพรงจมูก 

ในหนึ่งชุด ประกอบด้วย แผ่นทดสอบ หลอดดูด น้ำยา ก้าน swab และหลอดตัวอย่าง กรวยเก็บน้ำลาย และแถบทดสอบ

วิธีใช้

1. เทน้ำยาลงในหลอดตัวอย่างให้ถึงจุดที่กำหนด

2. นำก้าน swab แหย่จมูก หมุน 3-4 ครั้ง ค้างไว้ 3 วินาที (การแหย่ ไม้ swab จะต้องไปตามแนวของฐานจมูก (Nasal floor) หรือขนานกับเพดานปาก)

3. นำก้าน swab ใส่หลอด หมุนวนในน้ำยาประมาณ 5 ครั้ง

4. นำหลอดดูดน้ำยา หยดลงช่องประมาณ 2-3 หยด

5. ถ้าขึ้น 2 แถบ ที่ C และ T แสดงว่า ติดเชื้อโควิด-19

ผลเป็น บวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้าน แยกกักตัว แนะนำให้ตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง
ผลเป็น ลบ คือขึ้นแค่ 1 แถบที่ C ให้ทดสอบซ้ำในอีก 3-5 วัน

  • ชุดตรวจแบบใช้น้ำลาย

ใน 1 ชุด ประกอบด้วย หลอดน้ำยาเก็บตัวอย่าง ฝาปิดและหยดตัวอย่าง

งดอาหารและเครื่องดื่ม และงดสูบบุหรี่ ก่อนทำการตรวจ 30 นาที

วิธีใช้

1. เก็บตัวอย่างน้ำลายโดยนำกรวยมารองบนปากหลอดก่อน บ้วนน้ำลายประมาณ 5 มล. ให้ถึงขีดที่กำหนด

2. จากนั้นปิดฝาหลอดด้วยที่ปิดให้แน่น แล้วผสมให้เข้ากัน โดยคว่ำหลอดขึ้น-ลง 10 ครั้ง

3. นำแถบทดสอบวางบนพื้นราบ หยดตัวอย่างตรวจ 3 หยด ลงบนหลุมของแถบทดสอบ

4. ทิ้งไว้ประมาณ 10 นาที (ไม่ควรเกิน 20นาที) แล้วทำการอ่านผล

ผลเป็น บวก ให้แจ้งหน่วยบริการใกล้บ้าน แยกกักตัว แนะนำให้ตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR อีกครั้ง
ผลเป็น ลบ คือขึ้นแค่ 1 แถบที่ C ให้ทดสอบซ้ำในอีก 3-5 วัน

การอ่านและแปลผล Antigen Test Kit

ชุดตรวจ ATK
วิธีอ่านผล ชุดตรวจ ATK  ( ขอบคุณภาพจาก pharmacy.mahidol.ac.th )

ข้อควรรู้และระวัง ในการใช้ Antigen Test Kit

การใช้งานชุดตรวจโควิด  ATK ต้องเลือกชนิดที่มีฉลากระบุว่า “สำหรับใช้ทดสอบด้วยตนเอง” (Home use, home test, self-test) และได้รับการขึ้นทะเบียนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) แล้ว หรือซื้อจากร้านขายยาที่มีเภสัชกรแนะนำ ซึ่งชุดตรวจแต่ละยี่ห้อแต่ละแบบมีวิธีการใช้แตกต่างกัน เช่น เก็บตัวอย่างจากโพรงจมูก โพรงหลังจมูก หรือน้ำลาย ก่อนใช้ควรอ่านคำแนะนำที่ให้มาในชุดตรวจให้ละเอียด และทิ้งชุดตรวจหลังจากใช้งานด้วยวิธีที่ถูกต้อง

กรณีได้ผลตรวจเป็นบวก ถือว่าเป็นผู้ที่เข้าข่ายสงสัยว่าติดเชื้อโควิด-19 ดังนั้นต้องปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ โดยหลังจากทราบผลให้ทำการแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน เพื่อเข้าสู่ระบบการรักษาตามดุลยพินิจของแพทย์ในสถานพยาบาลอย่างเหมาะสม  กักตัวงดออกจากบ้านโดยเด็ดขาด แจ้งคนใกล้ชิดให้ทราบเพื่อประเมินความเสี่ยง เว้นระยะห่างทางสังคม สวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ที่สำคัญต้องแยกการใช้ห้องน้ำ ของใช้ส่วนตัวต่าง ๆ รวมถึงถุงขยะ

นอกจากนี้ควรล้างมือด้วยสบู่และน้ำบ่อย ๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์เลี้ยงภายในบ้าน หากสมัครใจแยกกักตัวรักษาอยู่ที่บ้านด้วยวิธี Home isolation ต้องสังเกตอาการของตัวเองทุกวันอย่างสม่ำเสมอ โดยตรวจวัดระดับออกซิเจนปลายนิ้วและวัดไข้ หากมีไข้ควรพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำสะอาดให้มาก ๆ หากรับประทานยาลดไข้แล้วอาการไม่ดีขึ้น หรือมีอาการอื่นๆ เช่น ไอหนักขึ้น นอนราบไม่ได้ หายใจลำบาก ให้รีบแจ้งเจ้าหน้าที่ของสถานพยาบาลที่รับผิดชอบทันที

ในกรณีทำการตรวจแล้วได้ผลเป็นลบ ไม่ควรวางใจว่าไม่ติดเชื้อ ซึ่งสาเหตุที่ผลเป็นลบสามารถเกิดจาก

  • เชื้อยังอยู่ในระยะฟักตัว
  • เก็บตัวอย่างผิดวิธี
  • มีปริมาณเชื้อที่โพรงจมูกน้อยเกินไป

อย่างไรก็ตามควรปฏิบัติตัวเช่นเดียวกับผู้ติดเชื้อ และทำการตรวจซ้ำอีกใน 3-5 วัน หรือตรวจทันทีถ้าเป็นไปได้ หากมีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น มีน้ำมูก ไอ  มีไข้ แต่ผลตรวจยังเป็นลบ ควรต้องป้องกันโรคเช่นเดียวกับคนปกติ

สำหรับชุดตรวจโควิด ATK ที่ใช้แล้ว จัดว่าเป็นขยะติดเชื้อ ต้องใช้ความระมัดระวังในการทิ้ง ควรใส่ถุงแดงอย่างมิดชิด ใช้แอลกอฮอล์ 70% ฉีดพ่นบริเวณปากถุง หรือหากไม่มีถุงแดงให้เขียนบนถุงว่าขยะติดเชื้อและใช้แอลกอฮอล์ฉีดฆ่าเชื้อเช่นเดียวกัน จากนั้นควรแยกทิ้งในถังขยะ ในกรณีมีมีข้อสงสัยที่ไม่แน่ใจสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422

สำหรับบ้านที่มีเด็กเล็กๆ และมีการประเมินความเสี่ยงว่าค่อนข้างเสี่ยงติดเชื้อในระดับสูง คุณพ่อคุณแม่อาจจำเป็นต้องใช้ชุดตรวจแบบ ATK ตรวจให้ลูก โดยอธิบายให้ลูกฟังว่าทำไมเราถึงจำเป็นต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธีนี้ ตลอดจนแนะนำวิธีปฏิบัติตัวหากพบว่าลูกติดเชื้อ หากเป็นเด็กเล็กๆ อาจต้องใช้ความพยายามในการตรวจและการพูดคุย เพราะเด็กอาจอยู่ไม่นิ่งควรช่วยกันจับเด็กไว้ให้นิ่งระหว่างการเก็บตัวอย่าง เพื่อป้องกันอันตรายขณะแหย่ไม้ swab เข้าไปในโพรงจมูก ทั้งนี้การที่เด็กๆ รับรู้และเข้าใจถึงความจำเป็นของการตรวจหาเชื้อ และวิธีปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสมในกรณีมีความเสี่ยงติดเชื้อสูงจะช่วยเสริมทักษะความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQ ได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : pharmacy.mahidol.ac.th , ddc.moph.go.th , chulalongkornhospital.go.th

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทำความรู้จัก!! วัคซีน Pfizer ป้องกันโรคโควิด-19 ในเด็ก

รู้ก่อนป้องกันได้! ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ เด็กติดโควิดเสียชีวิต คืออะไร?

ผู้เชี่ยวชาญคาด อนาคตโควิดจะกลายเป็น โรคระบาดในเด็กเล็ก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up