ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ อิทธิพลด้านร้ายของโซเชียลมีเดียที่ส่งผลต่อลูก

Alternative Textaccount_circle
event

ปล่อยลูกเล่นมือถือ เสพติดโซเชียล รู้ไหม! ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ทำร้ายลูกได้

ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์ ทำร้ายลูกได้ถ้าพ่อแม่ไม่เฝ้าระวัง

เด็กยุคใหม่หรือที่ใคร ๆ เรียกกันว่า เจน อัลฟ่า (Alpha Generation) เป็นเด็กที่เติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยี โดยเจนนี้จะนับตั้งแต่ พ.ศ.2553 (ค.ศ. 2010) จึงปฏิเสธไม่ได้เลยว่า เทคโนโลยี อินเตอร์เน็ต สมาร์ทโฟน แท็บเล็ต ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของเด็กเจนนี้ ทั้งพฤติกรรมพ่อแม่ที่เสพติดหน้าจอให้ลูกเห็นจนเป็นเรื่องปกติ หรือแม้กระทั่งการส่งจอเลี้ยงลูกแทนตัวเอง โดยหลงลืมไปว่า เนื้อหาในสื่อออนไลน์ไม่ได้เหมาะสมสำหรับทุกวัย และลืมคิดไปถึงภัยร้ายที่ซ่อนอยู่ในสื่อสังคมออนไลน์

Social_dilemma
The Social Dilemma

แล้วโซเชียลมีเดียอันตรายกับลูกอย่างไร? สารคดี The Social Dilemma หรือชื่อไทยว่า ทุนนิยมสอดแนม: ภัยแฝงเครือข่ายอัจฉริยะ ได้ไขคำตอบเพื่อให้คนที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ได้ตระหนักถึงภัยอันตราย โดยเฉพาะพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องเฝ้าระวังการใช้โซเชียลมีเดียของลูก เริ่มตั้งแต่การตั้งคำถามถึงตัวผู้ใช้อย่างเรา ๆ ว่า ถ้าการใช้โซเชียลมีเดียแบบฟรี ๆ โดยไม่ต้องเสียเงินนั้น อาจเป็นไปได้ว่า ตัวเราได้กลายเป็นสินค้าเสียเองให้กับบรรดาผู้ซื้อโฆษณาในโซเชียลมีเดีย

เรื่องราวของสารคดีได้นำเอาผู้คนมากมายที่ได้ร่วมงานในองค์กรยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยี เช่น กูเกิล เฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ อินสตาแกรม มาตีแผ่เบื้องหลังความสำเร็จ ส่วนสำคัญคือการวิเคราะห์พฤติกรรมของผู้ใช้ ทุกอย่างบนโลกออนไลน์สามารถเก็บบันทึกเพื่อประมวลผล เหมือนรอยเท้าที่เราเดินบนโลกออนไลน์นั้นมีอยู่และไม่เคยหายไป แม้ว่าเราจะมองไม่เห็นมันแล้วก็ตาม

ยกตัวอย่าง เฟซบุ๊ก ที่เมื่อเก็บรวบรวมพฤติกรรมการใช้งานของแต่ละคนได้แล้ว จะเลือกส่งโฆษณาเพื่อกระตุ้นการซื้อของ ทำให้คนที่เล่นเฟซบุ๊กเป็นประจำ เกิดความรู้สึกอยากได้อยากมี ทั้งที่ตอนแรกไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น หรือแม้กระทั่งความรู้สึกเสพติดยอดไลก์ การได้รับความสนใจจากคอมเมนท์ที่ชื่นชมเยินยอ จนทำให้หลาย ๆ คนทำได้ทุกอย่างเพื่อให้มียอดไลก์ที่สูงขึ้น ยอดฟอลโลว์ที่เพิ่มขึ้น ทั้งยังเกิดการเปรียบเทียบตัวเองกับชีวิตคนอื่นโดยไม่รู้ตัว

ประเด็นเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ ได้กลายเป็นเรื่องสำคัญที่พ่อแม่ทั่วโลกต้องเฝ้าระวัง เช่นเดียวกับในสังคมไทย ที่พบปัญหาเด็กติดโซเชียล เสพติดยอดไลก์จนจิตแพทย์ต้องออกมาเตือน

อวดชีวิตเสพติดยอดไลก์ เสี่ยงซึมเศร้า!

การถ่ายรูปเซลฟี่อัพลงโซเชียล อวดการใช้ชีวิต ได้กลายเป็นเรื่องปกติในโซเชียลมีเดียที่ค่อย ๆ ฟูมฟักลูกหลานของเรา กว่าที่จะรู้ตัวอีกทีก็มีปัญหาเสียแล้ว โดยนพ.อภิชาติ จริยาวิลาศ จิตแพทย์ กล่าวถึงพฤติกรรมการอัพรูปเรียกยอดไลก์ ทำให้เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้าว่า พฤติกรรมเช่นนี้หากทำบ่อย ๆ อาจทำให้ขาดความเชื่อมั่นในตัวเอง เพราะต้องการให้สังคมยอมรับ แม้ว่าการแต่งรูปหรือโพสต์อวดรูปไม่ใช่เรื่องผิดปกติ แต่ต้องสังเกตด้วยว่า ถ้าอัปไปแล้วไม่มีคนแชร์ ยอดไลก์ไม่เยอะ ทำให้เกิดความไม่สบายใจหรือไม่ ถ้าเริ่มเกิดความเครียดจากยอดไลก์ที่น้อย นั่นคือสัญญาณเตือนว่า เกิดการเสพติดการยอมรับทางโซเชียลมีเดีย โดยคนที่โพสต์รูปอาจจะไม่ค่อยมีความมั่นใจในตัวเอง และการยอมรับในโซเชียลมีเดียนั้นเป็นสิ่งที่มาเร็วและง่าย จึงกลายเป็นว่าความสุขของเราไปขึ้นอยู่กับคนอื่น จนไม่สามารถภูมิใจ หรือมีความสุขได้จากตัวเอง

ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์
ภัยจากสื่อสังคมออนไลน์

ระวัง 6 พฤติกรรมเสี่ยงโรคดิจิทัล

การใช้โซเชียลมีเดียในทุกวันนี้ ยังทำให้เด็ก ๆ ต้องมาพบจิตแพทย์เพิ่มมากขึ้นด้วย โดยพญ.ทิพาวรรณ บูรณสิน จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้กล่าวถึงปัญหาาที่เกิดจากการใช้โซเชียลมีเดียมากขึ้น จำแนกเป็นโรคและอาการต่าง ๆ เช่น ซึมเศร้า สมาธิสั้น เสี่ยงการเสพติดโซเชียลมีเดีย ติดเกมออนไลน์ พฤติกรรมก้าวร้าวรุนแรงทั้งทางกายและวาจา

พญ.ทิพาวรรณ ยังเน้นย้ำเรื่องการสร้างความปลอดภัยในการเข้าถึงการใช้งานของเด็ก เช่น ควบคุมเวลาและเนื้อหาในการใช้ โดยพ่อแม่ผู้ปกครองต้องเท่าทันเทคโนโลยี สำหรับโรคอุบัติใหม่ที่เรียกว่า โรคดิจิทัล สังเกตได้จากพฤติกรรมการใช้งานดิจิทัลใน 6 เรื่องเหล่านี้

  1. ติดเกม
  2. โซเชียลมีเดีย
  3. ชอปปิง
  4. เว็บโป๊
  5. ดูคลิปไปเรื่อย ๆ
  6. ค้นหาไปเรื่อย ๆ

เมื่อเด็กออกจากการใช้งานจะมีอาการกระวนกระวาย วิตกกังวล ทั้งยังต้องให้เด็กได้เรียนรู้ด้วยว่า การใช้โซเชียลมีเดียจะต้อง คิดก่อนโพสต์ เพราะสิ่งที่โพสต์จะอยู่ตลอดไปและอาจย้อนมาทำร้ายเด็กได้ในอนาคต รวมถึงการเสพติดเกม หรือโซเชียลมีเดียจนเสียการเรียน อาจนำไปสู่พฤติกรรมก็บตัว วิตกกังวล ก้าวร้าวทั้งการกระทำและคำพูด ทั้งยังต้องระวังอาการซึมเศร้าด้วย

รู้ทันและเฝ้าระวัง 6 ภัยออนไลน์

ภัยออนไลน์ที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน ซึ่งพ่อแม่ผู้ปกครองต้องร่วมกันเฝ้าระวังมี 6 เรื่อง ดังนี้

  1. การกลั่นแกล้งออนไลน์ (Cyber Bullying)
  2. การสนทนาทางเพศออนไลน์ (Cyber Sexting)
  3. การสอดส่องติดตามออนไลน์ (Cyber Stalking)
  4. ภาพโป๊ เปลือย อนาจารเด็ก (Child pornography)
  5. ความเป็นส่วนตัวของเด็ก(Child Privacy)
  6. การล่อลวงออนไลน์(Online Grooming)

สำหรับโลกในยุคปัจจุบัน หากจะไม่ให้เด็กเล่นมือถือเลยนั้นเป็นไปได้ยาก เพราะโลกออนไลน์มีทั้งสิ่งที่ดี เนื้อหาที่มีประโยชน์ เพียงแต่ต้องควบคุมเนื้อหาให้เหมาะสมกับช่วงวัย รวมถึงระยะเวลาการเล่นมือถือในแต่ละวัน โดยกรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข แนะนำว่า เด็กอายุต่ำกว่า 3 ปี ไม่ควรให้เล่นโทรศัพท์ หรือ ดูโทรทัศน์ เด็กอายุ 4-6 ปี ควรจำกัดการเล่นวันละ 1 ชั่วโมง ส่วนเด็กที่เข้าสู่วัยเรียน อายุ 7 ปีขึ้นไป ควรจำกัดการเล่นวันละไม่เกิน 2 ชั่วโมง เพื่อป้องกันการเกิดโรคร้าย เช่น สมาธิสั้น เรียนรู้ช้า รวมถึงพัฒนาการทางสมอง

การเล่นโซเชียลมีเดียหรือเสพสื่อออนไลน์ เป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่พ่อแม่ผู้ปกครองต้องรู้เท่าทันเทคโนโลยี คอยคัดกรองเนื้อหา จำกัดชั่วโมงในการเล่นมือถือ เพื่อปกป้องลูกจากภัยร้ายโดยสื่อสังคมออนไลน์ ลองหาวันว่างมาดูสารคดี The Social Dilemma ร่วมกัน สร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายที่ซ่อนเร้น ลูกจะได้ระมัดระวังตัวมากขึ้น

อ้างอิงข้อมูล : workpointtoday.com, thaihealth.or.th, และ gangbeauty.com

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านบทความอื่นเพิ่มเติม

ผลเสียของการให้ลูกเล่นโทรศัพท์ ทารกดูมือถือนานกระทบต่อความฉลาด!

รวมคลิป เพลงแก้โคลิค คลื่นเสียงปราบอาการโคลิก ช่วยลูกหลับสบายทั้งคืน

ลูกถูกทำร้าย ใจลูกสำคัญ พ่อแม่ควรทำเรื่องนี้..ก่อนสายเกินแก้!!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up