ความเห็นใจผู้อื่น

เดนมาร์กสอนวิชา “ความเห็นใจผู้อื่น” ในชั้นเรียน

Alternative Textaccount_circle
event
ความเห็นใจผู้อื่น
ความเห็นใจผู้อื่น

7 ขั้นตอนการสอนให้ลูกรู้จักเข้าใจและเห็นใจผู้อื่น

เด็กที่มีทักษะของ ความเห็นใจผู้อื่น จะสามารถแก้ปัญหาความขัดแย้ง และปัญหาสังคมที่ยาก ๆ ได้ดีกว่าคนอื่น สามารถปรับตัวได้ง่ายและแก้ไขปัญหาที่เข้ามาได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะแกล้งหรือ bullying คนอื่นน้อยลง มีข้อดีเยอะขนาดนี้แล้ว มาสอนลูก ๆ ให้รู้จักเข้าใจและเห็นใจผู้อื่นตั้งแต่ลูกยังเล็ก ๆ กันดีกว่าค่ะ

1. ทำเป็นตัวอย่างให้ลูกเห็น

เด็กจะเรียนรู้ได้ดีเมื่อมีตัวอย่างให้ลูกเห็นภาพ การแสดงให้ลูกเห็นว่าคุณพ่อคุณแม่มีความเข้าใจ เห็นใจผู้อื่น ลูกก็จะซึมซับสิ่งเหล่านั้นไปด้วย โดยการทำเป็นตัวอย่าง ไม่จำเป็นต้องแสดงกับใครที่ไหน คุณพ่อคุณแม่เพียงแค่แสดง Empathy เหล่านี้กับลูก เช่น เมื่อลูกอาละวาด แทนที่จะดุให้หยุดร้อง หรือตีให้เงียบ ลองนั่งอยู่ข้าง ๆ ลูก หรือกอดลูก เมื่อลูกเย็นลง ให้ถามถึงเหตุผลที่ลูกไม่พอใจ และลองจินตนาการว่าในตอนที่คุณพ่อคุณแม่เป็นเด็กที่อายุเท่าลูก เราจะมีความคิดแบบนี้หรือไม่ จากนั้นให้แสดงความเข้าอกเข้าใจ และร่วมแก้ไขปัญหาของลูกร่วมกัน เป็นต้น เมื่อลูกเห็นว่าพ่อแม่ตอบสนองต่อเหตุการณ์ยาก ๆ ด้วยความเห็นอกเห็นใจ เขาจะคุ้นชิน ซึมซับการกระทำเหล่านั้นของพ่อแม่ และเรียนรู้ที่จะทำตาม

2. อย่าละเลยความรู้สึกของลูก

เด็กมีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นเมื่อคนที่บ้านไม่ละเลยความรู้สึกของพวกเขา จริงอยู่ที่การเลี้ยงลูกนั้นเหนื่อย และอารมณ์ของเด็ก ๆ มีขึ้นมีลง แต่อย่าปล่อยให้ลูกรู้สึกว่าเขาโดนทอดทิ้ง ลูกต้องรู้สึกว่ามีคนรับฟังและช่วยเหลือเขาเมื่อหลาย ๆ อย่างมันดูยากเกินไปที่เขาจะจัดการด้วยตัวเอง เมื่อลูกรู้สึกปลอดภัยขณะอยู่กับพ่อแม่ พวกเขามีแนวโน้มที่จะแสดงความเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น

3. ฝึกลูกแยกแยะอารมณ์ให้เป็น

ช่วยลูกเข้าใจอารมณ์ของพวกเขา ทั้งทางบวกและทางลบ เพื่อที่ลูกจะได้เชื่อมโยงความรู้สึกของพวกเขาเข้ากับคำพูดได้ มันแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่จะเข้าใจความรู้สึกของคนอื่นถ้ายังไม่เข้าใจความรู้สึกของตัวเอง คุณพ่อคุณแม่สามารถสอนลูกได้ทั้งตอนอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือนำเหตุการณ์รอบตัวมาพูดคุย ให้ลูกสังเกตสีหน้าและท่าทาง และฝึกแยกแยะความรู้สึกดู

สอนลูก
สอนลูก

4. มอบหมายหน้าที่ให้ลูก

เด็กที่มีหน้าที่ มีงานที่ต้องรับผิดชอบ มีแนวโน้มที่จะเห็นอกเห็นใจผู้อื่นมากขึ้น ให้ลูกได้ทำงานบ้าน เช่น คอยดูแลสัตว์เลี้ยง มีส่วนร่วมกับการทำงานของครอบครัว เป็นต้น เมื่อพ่อแม่สอนลูกเรื่องความรับผิดชอบ ลูกจะเรียนรู้ที่จะนึกถึงผู้อื่น

5. อย่าแก้ปัญหาให้ลูกทุกเรื่อง

เพราะเมื่อพ่อแม่ทำอย่างนั้น เรากำลังขโมยโอกาสให้ลูกฝึกทักษะชีวิตที่สำคัญอย่างใหญ่หลวง สอนให้ลูก หยุด-คิด-ทำ

  • หยุด: เพื่อประเมินสถานการณ์และไตร่ตรองว่าปัญหาคืออะไร
  • คิด: ว่ามีทางเลือกหรือทางออกอะไรบ้าง เช่น ถ้าหนูแบ่งของเล่นให้เพื่อน จะทำให้เพื่อนรู้สึกดีขึ้นไหม
  • ทำ: เลือกทางเลือกที่ดีที่สุดและลงมือทำ เมื่อเด็กเรียนรู้ที่จะแก้ปัญหาเอง พวกเขามีแนวโน้มที่จะยื่นมือเข้าไปช่วยเพื่อนหรือพี่น้องเมื่อพวกเขาต้องการ

6. สอนให้ลูกรู้ว่าเรามีอะไรที่เหมือนหรือแตกต่างกับคนอื่นบ้าง

พาลูกออกไปข้างนอก พบปะผู้คน ให้เขาได้เห็นว่าคนเรามาจากพื้นฐานที่ต่างกัน ชีวิตของคนที่อยู่ประเทศอื่น ๆ ก็ไม่เหมือนกับเรา ให้ลูกได้เรียนรู้ว่าทุกคนมีทั้งสิ่งที่เหมือนและแตกต่างกัน

7. สอนให้ลูกอยากช่วยเหลือผู้อื่นจากใจ

โดยไม่คำนึงถึงรางวัลหรือกลัวการทำโทษ​ แต่ให้ทำจากใจที่อยากทำจริง ๆ เพราะเป็นสิ่งที่ถูกที่ควร ใช้วิธีพูดคุยกับลูก อธิบายให้ลูกเข้าใจถึงผลลัพธ์ของการกระทำ อย่าใช้แต่การทำโทษ หรือการขู่ที่จะทำให้ลูกหวาดกลัว อธิบายให้ลูกเข้าใจว่าการกระทำของเขาทำให้เกิดผลอะไรขึ้นกับคนอื่นบ้าง

การสอนสิ่งเหล่านี้ แม้จะไม่มีคะแนนเป็นตัวชี้วัดว่าลูกจะเก่งแค่ไหน แต่ผลจากการสอน ความเห็นใจผู้อื่น จะแสดงให้เห็นได้ชัดเมื่อลูกโตเป็นผู้ใหญ่ ลูกจะสามารถอยู่ร่วมกับสังคมได้อย่างมีความสุข และยังมีความสุขจากการได้เข้าใจและช่วยเหลือผู้อื่นอีกด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

5 นิทานคุณธรรม ปลูกฝังให้ลูกทำดีได้ตั้งแต่เล็ก!

6 วิธีเข้าใจและสอนลูก เมื่อลูกพูดโกหก!

5 ขั้นตอนการดุลูก สอนลูกอย่างไร ไม่ทำให้ลูกพัฒนาการถดถอย

Self Esteem การเห็นคุณค่าในตนเอง สิ่งสำคัญที่ต้องสร้างให้ลูก

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : techsauce.co, insthinklearning.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up