ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโน

ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโนอันตรายไหม? จะยุบเมื่อไหร่?

Alternative Textaccount_circle
event
ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโน
ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโน

ศีรษะทารกแรกเกิด เป็นอย่างไร กระหม่อมบาง มองเห็นชีพจรเต้นอันตรายไหม ลูกหัวบวมตอนคลอดเป็นอะไรหรือเปล่า แล้วจะยุบได้ไหม เมื่อไหร่ สารพันคำถามมาตอบให้หายข้องใจ

ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโนอันตรายไหม? จะยุบเมื่อไหร่?

พ่อแม่หลายคนอาจตกใจเมื่อเห็นลูกตอนแรกคลอดว่ามี ศีรษะมองดูบิดเบี้ยว บวมโน เอียง หรือยังไม่ค่อยได้รูปทรง เพราะ ศีรษะทารกแรกเกิด นั้นสามารถยืดหยุ่นได้ เพื่อใช้ในการรอดผ่านช่องคลอดที่มีการบีบตัวในรายที่คลอดด้วยวิธีการทางธรรมชาติ หรือเบ่งคลอดนั่นเอง ทำให้รูปทรงของกะโหลกอาจดูเหมือนเสียรูปทรง หรือบางคนอาจมีศีรษะบวม โน ได้เช่นกัน

ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโน ผิดรูป
ศีรษะทารกแรกเกิด บวมโน ผิดรูป

ศีรษะทารกแรกเกิดยืดหยุ่นได้อย่างไร?

ในทารกแรกเกิดที่กะโหลกศีรษะยังไม่คงรูป เนื่องจากภายในประกอบด้วยกระดูกแผ่นบางๆ ที่แยกออกจากกันเป็นชิ้นๆ  ตรงรอยต่อที่กระดูกสี่ชิ้นมาชนกัน  ซึ่งก็จะเกิดเป็นช่องว่างขึ้น  และช่องว่างเหล่านี้มีทั้งหมดหลายช่อง พอให้สังเกตได้ 6 ช่องด้วยกัน ช่องว่างเหล่านี้มีเนื้อเยื่อเส้นใยที่แข็งแรงพอจนสามารถปกป้องสมองที่อยู่ภายในได้   เราเรียกจุดเปราะบางที่แผ่นกระดูกมาบรรจบกันเหล่านี้ว่า “กระหม่อม”นั่นเอง แบ่งออกเป็นดังนี้

  • กระหม่อมหน้า 1 จุด
  • กระหม่อมหลัง 1จุด
  • กระหม่อมข้างค่อนไปด้านหลัง 2จุด
  • กระหม่อมกกหู 2จุด

กระหม่อมเหล่านี้จะค่อย ๆ ถูกแทนที่ด้วยกระดูก และจะปิดตัวอย่างสมบูรณ์ เมื่อทารกอายุได้ประมาณ 8 สัปดาห์  ยกเว้นกระหม่อมหน้าและกระหม่อมหลัง

หน้าที่ของศีรษะทารกแรกเกิด

ภายในกะโหลกศีรษะประกอบด้วยสมอง ทำให้กะโหลกศีรษะต้องทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันการเจริญเติบโต และพัฒนาการของสมอง ถ้ากระหม่อมปิดเร็วเกินไปจะทำให้สมองเจริญเติบโตและขยายไม่เต็มที่ แต่ถ้าหากกระหม่อมปิดช้ากว่ากำหนด ซึ่งมักพบได้ในกรณีที่มีน้ำในสมองหรือโรคทางต่อมไร้ท่อเกิดจากการทำงานของต่อมไทรอยด์บกพร่องแต่กำเนิดก็มีผลต่อพัฒนาการของเด็กเช่นกัน

กะโหลกศีรษะทารกปิดตัวสมบูรณ์เมื่อไหร่??

โดยปกติกระหม่อมส่วนหน้าจะปิดเมื่ออายุประมาณ 1 ปีครึ่ง ส่วนกระหม่อมหลังปิดเมื่ออายุประมาณ 6 เดือน เร็วกว่ากระหม่อมหน้า กระหม่อมหน้าจะมีขนาดใหญ่ที่สุด และสังเกตเห็นได้ง่าย เมื่ออายุได้ประมาณ 4 เดือน หากเราลองคลำไปที่กระหม่อมหน้าจะรู้สึกถึงชีพจรที่เต้นอยู่ภายในร่างกายได้ จากนั้นกระดูกจะค่อย ๆ ถูกสร้างขึ้นในบริเวณกระหม่อม เกิดเป็นรอยหยัก เรียกว่า รอยประสานในบริเวณที่กระดูกแต่ละแผ่นมาบรรจบกัน เรียกรอยประสานเหล่านั้นว่า ซูเจอร์ (suture) ซึ่งจำเป็นต่อการเคลื่อนไหวในระหว่างคลอด  และเพื่อรองรับการขยายขนาดของสมองในภายหลัง   รอยประสานเหล่านี้จะเริ่มแข็งขึ้นเรื่อยๆ  และกระหม่อมจะปิดตัวอย่างสมบูรณ์โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ที่ประมาณช่วงที่อายุ 1-2 ปี

รอยประสาน ศีรษะทารกแรกเกิด
รอยประสาน ศีรษะทารกแรกเกิด

ในระหว่างที่กระหม่อมศีรษะยังไม่ปิด สิ่งที่ต้องระมัดระวัง คือ เรื่องอุบัติเหตุการกระทบกระเทือน ไม่ควรไปกดไปทำอะไรกับกระหม่อมของลูกแต่ก็สามารถสังเกตสิ่งผิดปกติจากศีรษะลูก เช่น เวลาลูกไม่สบาย ท้องเสีย กระหม่อมจะบุ๋มเห็นเป็นแอ่ง ลักษณะเช่นนี้บ่งบอกได้ว่า เกิดภาวะขาดน้ำ หรือถ้ากระหม่อมโป่งนูนขึ้น ก็พบได้ในกรณีที่มีเลือดออกในสมองหรือเกิดการติดเชื้อในสมองต้องไปพบคุณหมอทันที

กระหม่อมปิดช้า หรือเร็วดีกว่ากัน…

การปิดตัวของกระหม่อมของลูกนั้น ทราบหรือไม่ว่าการปิดตัวช้านั้นไม่มีปัญหาแต่อย่างใด เพียงแค่ต้องคอยระมัดระวังเรื่องอุบัติเหตุการกระทบกระเทือน แต่กระหม่อมที่ปิดตัวเร็วกว่าปกติจะมีปัญหา เพราะกระหม่อมที่ปิดตัวเร็วเกินไปจะก่อให้เกิดภาวะที่เรียกว่า Carniosynostosis กะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ เป็นความผิดปกติแต่กำเนิดของกะโหลกศีรษะที่มีการปิดก่อนเวลาอันควรของข้อต่อเส้นใยอย่างน้อยหนึ่งข้อระหว่างกระดูกของกะโหลกศีรษะ (เรียกว่าการเย็บกะโหลก)ก่อนที่สมองจะเติบโตสมบูรณ์ การปิดก่อนเวลาอันควรเป็นการจำกัดการเจริญเติบโตของสมอง ส่งผลให้กะโหลกศีรษะผิดรูป และทำให้เกิดปัญหาเกี่ยวเนื่องกับอวัยวะสำคัญหลายส่วน เช่น สมอง ดวงตา ระบบทางเดินหายใจ เป็นต้น

กะโหลกศีรษะเชื่อมติดผิดปกติ จะพบได้ในเด็กทารก 1 ใน 2,500 ราย สิ่งที่เราจะสามารถสังเกตว่าเกิดขึ้นกับลูกของเราหรือไม่ คือ การวัดขนาดของศีรษะของเด็ก (ซึ่งในสมุดจดบันทึกพัฒนาการของลูกจะมีการวัดขนาดศีรษะอยู่) หากไม่ขยายใหญ่ขึ้น หรือสังเกตพบว่ามีรูปร่างที่ผิดปกติ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยด่วน

การเชื่อมติดผิดปกติของกระดูกกระโหลกศีรษะมีผลกับอวัยวะสามส่วน คือ

  1. การเชื่อมติดของรอยประสานกะโหลกศีรษะ (craniostenosis) – ทำให้การขยายขนาดกะโหลกศีรษะถูกจำกัด ทั้งยังมีลักษณะรูปร่างผิดไป เช่น มีลักษณะรูปทรงสูง (turricephaly) รูปทรงแหลมขึ้นไปตรงกลางศีรษะ (oxycephaly) หรือ แบนในแนวหน้าหลัง (brachycephaly) หรือบางครั้งรุนแรงจนศีรษะรูปร่างคล้ายดอกจิก (cloverleaf skull)  การที่กะโหลกศีรษะไม่สามารถขยายตัวได้ตามปกติทำให้สมองซึ่งเจริญเติบโตอย่างรวดเร็วในช่วงอายุ 2-3 ขวบแรก ไม่สามารถขยายได้ตามปกติ อาจเป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยมีปัญหาทางด้านพัฒนาการและสติปัญญาได้
  2. กระดูกเบ้าตาเชื่อมติดผิดปกติ (orbitostenosis) – กระบอกตาไม่สามารถขยายตามลูกตาที่โตขึ้น เป็นผลให้ลูกตาซึ่งมีขนาดใหญ่ขึ้นตามปกติไม่มีที่อยู่ จึงมองเห็นโปนมาทางด้านหน้า (exorbitism) จนบางครั้งหลับตาไม่สนิทหรือถลนหลุดออกนอกเบ้า จนเกิดเป็นแผลที่กระจกตา(ตาดำ)และตาบอดได้
  3. ใบหน้าส่วนกลางไม่สามารถขยายขนาด (faciostenosis) – ใบหน้าจึงมีลักษณะเว้าแบน ฟันบนอยู่หลังต่อฟันล่าง  ประกอบกับบางรายมีเพดานที่สูงกว่าปกติ (high-arched palate) ทำให้โพรงจมูกเล็กลง หายใจลำบากจนขาดอ็อกซิเจนได้

    ลูกหัวบวม หัวเบี้ยว ผิดปกติไหม
    ลูกหัวบวม หัวเบี้ยว ผิดปกติไหม

ศีรษะทารกแรกคลอดที่ผิดรูปจากภาวะแทรกซ้อนจากการคลอด

เราอาจจะพบกับศีรษะของเด็กแรกเกิดที่มีลักษณะบวม ปูด โน ได้จากการคลอดโดยเฉพาะการคลอดที่ไม่ปกติ ต้องใช้เครื่องมือเข้าช่วย เช่น เครื่องสูญญากาศ หรือคีม เป็นต้น ซึ่งอาจพบได้ดังต่อไปนี้

1.Caput Succedaneum คือ ลักษณะศีรษะบริเวณที่เป็นส่วนนำบวม เนื่องจากเมื่อถุงน้ำทูนหัวแตกก่อนกำหนด ศีรษะทารกจึงกดโดยตรงกับขอบของมดลูกที่ยังเปิดไม่หมด ทำให้การไหลเวียนกลับของเลือดที่มาเลี้ยงบริเวณหนังหุ้มกะโหลกศีรษะทารกส่วนนั้นเป็นไปไม่สะดวกน้ำเหลืองจากเลือดจึงซึมออกมาคั่งอยู่ทำให้บวมขึ้นในภาวะนี้ไม่จำเป็นต้องทำการรักษา เนื่องจากจะหายไปได้เองหลังคลอดส่วนใหญ่ภายใน 2-3 วัน

2.Cephalhematoma คือ ภาวะที่เลือดออกที่เยื่อหุ้มใต้กะโหลกศีรษะ เลือดค่อย ๆ ออก ซึมช้า ๆ และคั่งอยู่ภายในกระดูกชั้นใดชั้นหนึ่ง ทำให้คลำได้เป็นก้อนนูน หนังศีรษะไม่เปลี่ยนสี มีขอบชัดเจน ไม่ข้ามรอยต่อกะโหลกศีรษะ มักเป็นที่กระดูก parietal การเกิดภาวะเลือดออกนี้ ถ้าออกมาในบางรายอาจทำให้ทารกซีดลงได้ โดยการเกิดภาวะที่โดยทั่วไปเลือดมักหยุดเองและค่อย ๆ หายไปภายในประมาณ 2 เดือน

3.Subgaleal hemorrhageเป็นภาวะที่มีเลือดสะสมใต้ช่องว่างของเนื้อเยื่อที่อยู่ระหว่างพังพืดของกะโหลกกับเยื่อหุ้มกะโหลก ซึ่งมีขอบเขตจากหน้าไป หลังเริ่มจากขอบเบ้าตา ไปยังท้ายทอย และด้านข้างจากหูไปยังหูอีกข้าง ก้อนมีลักษณะน่วม  และข้ามแนวประสานกระดูก ก้อนมีขนาดเพิ่มขึ้นช้า ๆ ในหลายชั่วโมงหรือวัน หรือเพิ่มขนาดอย่างรวดเร็ว อาจทำให้ทารกมีช็อคจากการเสียเลือดได้

4.Intracranial hemorrhage คือ ภาวะมีเลือดออกในเนื้อสมอง เลือดออกที่เกิดภายในตัวเนื้อสมอง  โดยเกิดจากการแตกของหลอดเลือดในตัวเนื้อสมอง ทำให้เนื้อสมองส่วนข้างเคียงกับก้อนเลือดที่เกิดจากเลือดออกนั้นถูกกดเบียด ส่งผลให้มีอาการผิดปกติต่างๆ ทางระบบประสาทเกิดขึ้น

หัวเด็กผิดรูปจากการคลอด
หัวเด็กผิดรูปจากการคลอด

ถ้าลูกหัวเบี้ยวแล้วต้องทำอย่างไร

เรามีคำแนะนำจาก นพ.นที รักษดาวรรณ ที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่อง “ลูกหัวไม่ทุย หัวเบี้ยว ทำอย่างไรดี” ดังนี้

  • ในรายที่มีภาวะศีรษะเบี้ยวตั้งแต่แรกคลอด แต่ภายหลังจากคลอด 2 – 3 เดือน ก็จะเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ ครับ แต่หากเด็กเหล่านี้ยังนอนหงายโดยใช้บริเวณท้ายทอยที่แบนราบสัมผัสพื้นต่อไป ภาวะดังกล่าวจะยังคงอยู่ครับ และอาจแย่ลงได้ด้วย การแย่ลงนั้นเกิดจากผิวหนังของศีรษะกดทับบริเวณท้ายทอยครับ ดังนั้น ในรายที่เกิดมีภาวะหัวเบี้ยวแล้ว อาจใช้วิธีนอนคว่ำเวลาตื่น หรือใช้วิธีการจัดเตียงแทน โดยให้เด็กนอนหงายนอกเหนือจากนอนคว่ำ แต่จัดท่าให้นอนหงายในท่าที่เด็ก อาจหันเข้าหากลางห้อง เพื่อให้เด็กมีความพยายามที่จะเปลี่ยนท่านอนตนเอง การทำดังกล่าวจะช่วยได้แก้ปัญหาหัวเบี้ยวได้ แต่จะใช้เวลาประมาณ 2 – 3 เดือน
  • ในรายที่ทำตามคำแนะนำดังกล่าวแล้วไม่ดีขึ้นอาจต้องพบแพทย์เฉพาะทางด้านสมอง การรักษาจะได้ผลดี หากมาพบแพทย์ในช่วงอายุของลูกประมาณ 4 – 12 เดือนครับ เนื่องจากเป็นช่วงที่กะโหลกศีรษะของลูกยังมีความอ่อน สามารถจะปรับเข้ารูปได้ง่ายๆ ในรายที่ไม่ได้ผลอาจต้องลงเอยด้วยวิธีการใส่หมวกคล้ายหมวกกันน็อก หรือ (Skull molding helmet) ส่วนการผ่าตัดเป็นทางเลือกสุดท้ายและจะทำในรายที่ไม่ได้ผลจริงๆ หรือมีปัญหาอื่น ซึ่งจะพิจารณาทำน้อยรายมากครับ
ข้อมูลอ้างอิงจาก zeekdoc.com/www.craniofacial.or.th

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

หยุดก่อนแม่!ทำตามเขาแต่หนูเสี่ยง ป้อนกล้วยลูก ถึงตาย

แคปชั่นวันวาเลนไทน์ แคปชั่นพ่อแม่ลูก ของคุณแม่คลั่งรัก!!!

โรคขี้เต็มท้อง ในเด็กก็เป็นได้หากปล่อยให้ ท้องผูก นานไป

แปรงสีฟันเด็ก เลือกใช้ยังไงให้เหมาะกับวัยลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up