ใครเก็บ ยาน้ำ ในตู้เย็นบ้าง?เลิกด่วน!ยาบางชนิดงดแช่เย็น

Alternative Textaccount_circle
event

ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม ยาน้ำแขวนตะกอน ชอบเก็บในตู้เย็นกันใช่ไหม เภสัชกรมาไขความจริง ทำไมถึงไม่ควรเก็บยาบางชนิดในตู้เย็น ไม่แค่มีผลต่อคุณภาพยายังอันตรายอีกด้วย

ใครเก็บ ยาน้ำ ในตู้เย็นบ้าง?เลิกด่วน!ยาบางชนิดงดแช่เย็น

ยา เป็นสิ่งจำเป็น และสำคัญเมื่อยามเราเจ็บป่วย เป็นตัวช่วยให้บรรเทาอาการเจ็บป่วย และช่วยรักษา ต่อสู้กับเชื้อโรค หรือปรับสมดุลให้แก่ร่างกายให้กลับมาทำงานตามปกติ ดังนั้น การคงสภาพให้ยาที่ได้รับมาจากคุณหมอให้มีคุณภาพเต็มที่ เต็มประสิทธิภาพ เพื่อให้ยานั้นทำงานได้อย่างเต็มที่เป็นเรื่องที่เราควรเรียนรู้ไว้ การจะให้ยาคงประสิทธิภาพให้ได้ดี ก็ขึ้นอยู่กับการเก็บรักษาอย่างไร เพราะยาแต่ละชนิดก็มีวิธีการเก็บรักษายาแตกต่างกันไป

การเก็บรักษา ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม ที่ถูกต้อง
การเก็บรักษา ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม ที่ถูกต้อง

เก็บยา อย่างไรให้ถูกต้อง?

1. เก็บให้พ้นแสงแดด ไม่เก็บไว้ในรถ

อย่าเก็บยาไว้ในที่ร้อน หรือโดนแสงแดด จะทำยาเสื่อมคุณภาพเร็ว ทำให้ไม่ได้ผลในการรักษา และอาจเป็นอันตรายต่อผู้ใช้ เมื่อได้รับยาจากคุณหมอมาแล้ว ไม่ควรเก็บ หรือวางยาไว้ในรถ เพราะอุณหภูมิในรถสูงกว่าอุณหภูมิห้องปกติ (15-30 องศาเซลเซียส) อาจสูงมากกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้ยาเสื่อมสภาพ เสื่อมประสิทธิภาพในการรักษา คุณภาพลดลงหรือเสียไป ยาบางชนิดจะหลอมละลายเมื่อถูกความร้อน เช่น ยาเหน็บทวารหนัก เป็นต้น

ตัวอย่างยาที่อ่อนไหวต่อแสงแดด สังเกตได้จากยาจะถูกบรรจุในถุง หรือในขวดสีชา ยาเหล่านี้ ได้แก่ วิตามินบี 6, วิตามินเอ, ยาพวกฮอร์โมน, ยาคุมกำเนิด, ยาน้ำเชื่อมของเด็กหลายชนิด, ยาปฏิชีวนะ เป็นต้น ยาที่ถูกเก็บไว้ในขวดสีชา แม้จะกันแสงแดดได้บ้าง แต่ถ้าวางไว้รับแสงโดยตรง แสงแดดก็จะมีผลต่อการเปลี่ยนสภาพของยา และทำให้ยาหมดอายุได้เร็วขึ้น

2. การเก็บยาในตู้เย็น

ยาบางชนิดอาจระบุให้เก็บในตู้เย็น โดยให้เก็บในตู้เย็นช่องธรรมดา ไม่เก็บไว้ในช่องแช่แข็ง และไม่ควรเก็บไว้ที่ฝาตู้เย็น เพราะเมื่อเราเปิดปิดตู้เย็น อาจทำให้อุณหภูมิเปลี่ยนแปลงบ่อยจนกระทบกับคุณภาพของของยาได้

3. ปิดฝาให้สนิทเมื่อไม่ได้ใช้ยา

ปกติแล้ว ในอากาศจะมีก๊าซต่าง ๆ ซึ่งก๊าซบางชนิด สามารถเร่งให้ยาเสื่อมสภาพได้เร็วขึ้น ดังนั้น จึงควรเก็บยาในภาชนะที่สามารถปิดได้สนิทมิดชิด รวมถึงไม่แกะยาออกจากภาชนะบรรจุเดิม โดยที่ยังไม่ต้องการใช้ เช่น การแกะเม็ดยาออกจากแผงยา เพื่อความสะดวกในการกินยา

4. ตรวจสอบวันหมดอายุของยาอยู่เสมอ

ให้สังเกตที่ฉลากซึ่งจะระบุวันหมดอายุ (EXP. DATE) เอาไว้ (ถ้าไม่ทราบให้ถามเภสัชกร) ยาที่หมดอายุแล้วจะมีลักษณะทางกายภาพของเม็ดยาที่เปลี่ยนแปลงไปจากปกติ เช่น สีเปลี่ยนไปจากเดิม มีจุดด่างบนเม็ดยา มีกลิ่นที่ผิดปกติ มีการตกตะกอน หรือจับกันของผงยาน้ำ การแยกชั้นของเนื้อครีม หากพบว่ายาหมดอายุแล้ว ควรทิ้งทันที และไม่ใช้ยาที่มีลักษณะผิดปกติ เพื่อป้องกันอันตรายจากยาที่เสื่อมสภาพ

ยาตัวช่วยเมื่อลูกไม่สบาย
ยาตัวช่วยเมื่อลูกไม่สบาย

5. อย่าเก็บยาใช้ภายนอกรวมกับยากิน

ควรมีตู้ยา สำหรับเก็บยาโดยเฉพาะ โดยเก็บยาสำหรับกิน และยาใช้ภายนอก แยกออกจากกันให้เป็นสัดส่วน เพื่อป้องกันการหยิบยาผิด

6. อย่าเก็บยาในที่ชื้น

ยาหลายชนิด เมื่อเจอความชื้นจะเกิดการแปรสภาพ หรือเสื่อมสภาพ และยาเม็ดส่วนใหญ่เมื่อโดนความชื้นจะมีผลต่อชั้นเคลือบเม็ดยา ทำให้บวม หรือเกาะเป็นก้อนได้ จึงไม่ควรเก็บยาในบริเวณที่มีความชื้นสูง ควรเก็บยาในภาชนะบรรจุตั้งต้นจากบริษัทยา หลีกเลี่ยงการเก็บยาในบริเวณที่มีความชี้นสูง เช่น ห้องน้ำ หรือห้องครัว เเละปิดฝาขวดยาให้สนิททุกครั้งหลังเปิดใช้

7. เก็บยาให้พ้นมือเด็ก

ตู้ยาควรติดไว้ในระดับที่สูงเกินกว่าที่เด็กจะหยิบถึง เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้นด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์

เก็บยาในตู้เย็นดีกว่าจริงหรือ??

หลาย ๆ คนมีความเชื่อในแบบเดียวกันอยู่อย่างหนึ่ง คือ เมื่อได้ยามาแล้วมักเก็บยัดไว้ในตู้เย็น เนื่องด้วยคิดว่าป้องกันไม่ให้ยาเสีย หรือคิดว่าตู้เย็นป้องกันการเสื่อมสภาพของยาได้ แล้วความจริง การเก็บยาในตู้เย็นดีกว่าจริงหรือ?

หลายคนมีความเชื่อว่า การเก็บยาไว้ในที่ที่มีอุณหภูมิต่ำ ๆ จะทำให้รักษาความคงตัวของยาได้นานขึ้น หรืออาจเข้าใจว่าจะสามารถยืดวันหมดอายุของยาให้นานขึ้นได้ จึงมักพบว่าบางคนจะเก็บยาทุกชนิดไว้ในตู้เย็น ซึ่งแท้จริงแล้วการเก็บยาไว้ในตู้เย็นอาจทำให้ยาหมดความคงตัวได้เช่นกัน เนื่องจากอุณหภูมิ และความชื้นอาจไม่เหมาะสมกับยาบางชนิด เช่น หากนำยาแขวนตะกอน หรือ ยาน้ำ เชื่อมบางประเภทมาแช่เย็น จะทำให้เกิดการตกตะกอนได้ หรือยาแคปซูลบางชนิดที่มีการเก็บไว้ในตู้เย็นที่มีความชื้นสูง มักทำให้แคปซูลเยิ้มหรือติดกันได้

การแช่ยาบางชนิดในตู้เย็น นอกจากจะทำให้เกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญแล้ว ยังทำให้เกิดสารพิษขึ้นได้ เช่น การแช่ยาเม็ดแอสไพรินในตู้เย็นที่มีความชื้นสูงจะทำให้เกิดการสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิกและกรดอะซิติก ซึ่งไม่มีผลในการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด รวมทั้งยังทำให้เกิดพิษ ทำให้ร่างกายเกิดการขาดออกซิเจน ชัก และหมดสติได้เมื่อรับในประมาณปริมาณสูง

ดังนั้น การเก็บยาไว้ในตู้เย็น จึงไม่ใช่วิธีที่ดีที่สุดสำหรับยาทุกประเภท ควรอ่านฉลากยาหรือรายละเอียดบนกล่องยาเพื่อศึกษาถึงอุณหภูมิที่เหมาะสมในการเก็บรักษาอย่างถูกต้อง

ผู้เขียน : ภก.อนุชิต ตุงธนบดี งานเภสัชกรรมคลินิก ฝ่ายเภสัชกรรม
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล
ยาน้ำ เมื่อลูกกินยายาก
ยาน้ำ เมื่อลูกกินยายาก

เภสัชกรแนะ! ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม  อย่าแช่ตู้เย็น

ยาน้ำ ยาน้ำเชื่อม หรือ syrups ไม่แนะนำให้แช่ตู้เย็น เพราะว่าตู้เย็นจะดูดความชื้น ทำให้น้ำในตำรับลดลง ความเข้มข้นของยาก็เปลี่ยนไป ความหนืดจะเพิ่มมากขึ้น เวลานำไปใช้ ก็จะทำให้ได้ปริมาณที่ไม่แน่นอน และต้องระวังยาจำพวกที่มี ส่วนผสมของน้ำตาลเยอะมาก เช่น ยาน้ำเชื่อม เพราะนอกจากจะทำให้ความหนืดของยามากขึ้น ทำให้น้ำในตำรับลดลง ยังทำให้เพิ่มโอกาสการเกิดผลึกน้ำตาลเกาะที่ปากขวด จนเสื่อมสภาพได้ ยาน้ำ และยาหลาย ๆ ชนิดสามารถอยู่นอกตู้เย็นได้ เราสามารถวางไว้ในอุณหภูมิห้องปกติได้ เพียงแค่ระวังไม่ให้โดนแสงแดด ดังนั้น หลังจากได้รับยามาจากโรงพยาบาล ร้านยา คลินิก ต้องตรวจสอบให้ดีนะคะ ว่าเป็นยาประเภทไหน เพราะยาแต่ละชนิดมีวิธีการ​เก็บ​ต่างกัน

วิธีเก็บยา ไว้ในตู้เย็นอย่างถูกวิธี

ภญ.พวงเพ็ญ ฤทธีวีรกูล ได้กล่าวไว้ว่า ยาหลายชนิดจะเสื่อมสภาพได้ หากจัดเก็บในอุณหภูมิที่ไม่เหมาะสม และได้แนะนำวิธีเก็บยาในตู้เย็นไว้ดังนี้

ตำแหน่งจัดเก็บยาในตู้เย็นที่เหมาะสม คือ ชั้นกลางที่อยู่ใกล้ตำแหน่งที่มีช่องความเย็น เนื่องจากจะมีอุณหภูมิคงที่มากกว่าบริเวณอื่น ๆ

ข้อควรระวัง และข้อห้ามในการเก็บยาในตู้เย็น มีดังนี้

  • ไม่ควรเก็บยาที่ฝาประตูตู้เย็น เพราะอุณหภูมิไม่คงที่ เปลี่ยนแปลงง่ายขณะเปิด-ปิด ใช้งาน
  • ไม่ควรเก็บยาในช่องแช่แข็ง หรือชั้นบนสุดใต้ช่่องแช่แข็ง เพราะ อุณหภูมิอาจเย็นจัดเกินไปจนยาแข็งตัว ทำให้เสื่อมสภาพได้
  • ไม่ควรเก็บยาในช่องแช่ผักผลไม้ เพราะอาจปนเปื้อนได้ง่าย
  • ห้ามนำอาหารแช่เย็นปนกับยา ควรมีภาชนะจัดเก็บยาแยกจากอาหารในตู้เย็นอย่างชัดเจน เพื่อให้สะดวกต่อการหยิบใช้ และ ลดการปนเปื้อนจากกลิ่นไอของอาหาร
เภสัชกรแนะ ไม่ควรเก็บ ยาน้ำ ในตู้เย็น
เภสัชกรแนะ ไม่ควรเก็บ ยาน้ำ ในตู้เย็น

วิธีสังเกตการเสื่อมสภาพและไม่คงตัวของยาน้ำแต่ละรูปแบบ

  1. ยาผงแห้ง ผงยาจะจับตัวกันเป็นก้อนแข็งที่ไม่ปกติ ไม่สามารถละลายได้ และถ้าผนังภาชนะบรรจุมีไอน้ำหรือหยดน้ำแสดงว่ายาเตรียมนั้นไม่เหมาะที่จะนำไปใช้
  2. ยาน้ำแขวนตะกอน เช่น ยาคาลาไมน์ทาแก้คัน หากเสื่อมสภาพ ตะกอนจะจับกันเป็นก้อน เกาะติดกันแน่น เขย่าแล้วไม่กระจายตัวดังเดิม มีความเข้มข้น กลิ่น สีหรือรสเปลี่ยนไป
  3. ยาน้ำเชื่อม หากหมดอายุ ยาจะมีลักษณะขุ่นมีตะกอน ผงตัวยาละลายไม่หมด สีเปลี่ยน มีกลิ่นบูดเปรี้ยวหรือรสเปรี้ยว
  4. ยาน้ำใส หากสี กลิ่นเปลี่ยนไป หรือมีตะกอน ลักษณะยาน้ำนั้นขุ่น ไม่ใส เหมือนตอนเริ่มผลิต ควรทิ้งยาน้ำนั้น

ในบางครั้ง พ่อแม่อาจรู้สึกว่า ทำไมลูกกินยาแล้วไม่หายซักที แนะนำว่าให้ลองกลับไปสังเกตที่ผลิตภัณฑ์ยาน้ำที่ได้มานั้นดูว่า ยาน้ำที่เก็บในตู้ยาหรือตู้เย็นของคุณหมดอายุหรือยัง? และเก็บรักษาถูกวิธีหรือไม่? การเก็บรักษายาให้ถูกต้องจึงเป็นเรื่องที่สำคัญพอ ๆ กับการรู้จักวิธีใช้ยาเลยทีเดียว

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก  www.gedgoodlife.com / FB : เภสัชกรแม่ลูกอ่อน / livewithdrug.com/

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ยาน้ำเชื่อมฟาวิพิราเวียร์ รับยาที่ไหน ลูกควรกินเท่าไหร่?

การเลือกใช้ยาระหว่างตั้งครรภ์ A,B,C,D,X คืออะไร?

ปล่อยลูกลุยน้ำย่ำโคลน ระวัง! เด็กป่วย โรคเมลิออยโดสิส

ให้ลูกช่วยงานบ้าน ฝึกทักษะ EF ติดตัวลูกไปตลอดชีวิต โดยพ่อเอก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up