นมโรงเรียน นมบูด หรือไม่

แม่สงสัย!เทนมโรงเรียนเจอแบบนี้ นมบูด หรือปกติกันนะ

Alternative Textaccount_circle
event
นมโรงเรียน นมบูด หรือไม่
นมโรงเรียน นมบูด หรือไม่

นมบูด ต้องเป็นแบบไหน เทตรวจสอบนมกล่องก่อนให้ลูกดื่ม เมื่อมีแม่โพสสงสัย เทนมโรงเรียนแล้วเจอสภาพแบบนี้ ควรไปต่อหรือพอแค่นี้ กับคำตอบทางวิทยาศาสตร์ให้คลายกังวล

แม่สงสัย!เทนมโรงเรียนเจอแบบนี้ นมบูด หรือปกติกันนะ

จากเฟซบุ๊กเพจ หมอแล็บแพนด้า ที่ได้โพสต์ให้ทุกคนได้ร่วมกันแสดงความคิดเห็น และแชร์ประสบการณ์ ในวันที่ 23 /2/ 2565 จากเรื่องของคุณแม่รายหนึ่งที่ได้เทนมโรงเรียนใส่ชามซีเรียลให้ลูกรับประทานตอนเช้า แต่กลับพบว่า นมจากนมกล่องโรงเรียนมีลักษณะเป็นน้ำใส ๆ เหมือนนมเจือจาง ไม่มีกลิ่น รสชาติไม่เปรี้ยว และบนฉลากที่ระบุวันหมดอายุ ก็ยังไม่หมดอายุ จึงเกิดข้อสงสัยว่า ลักษณะดังกล่าว เป็นเพราะ นมบูด หรือคุณภาพของนมกล่องโรงเรียนที่ไม่ได้คุณภาพกันแน่

กรณีดังกล่าวก็ได้มีผู้มาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก อีกทั้งบางท่านก็ได้แชร์เรื่องราวที่ตนเองได้เคยประสบพบในแบบเดียวกันนี้ ทั้งแบบนมใส และนมจับตัวเป็นก้อนคล้ายโยเกิร์ต ซึ่งต่างก็ลงความเห็นหาสาเหตุต่าง ๆ นานา โดยเหตุผลส่วนใหญ่คาดกันว่าน่าจะเกิดจากกระบวนการจัดเก็บที่ไม่ดีพอ หรือแม้แต่กระบวนการผลิตที่ไม่ได้มาตรฐาน การเติมสารกันการตกกะกอนในนมที่ไม่ดีพอ หรืออุณหภูมิที่สูงเกินไปในการจัดเก็บ สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ก็สามารถทำให้คุณภาพนมมีปัญหาได้

ขอขอบคุณ เพจหมอแล็บแพนด้า
ขอขอบคุณ เพจหมอแล็บแพนด้า

เกี่ยวกับเรื่องนี้ รศ.ดร.เจษฎา เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ ระบุว่า โปรตีนนม น่าจะจับตัว แยกตัวจากน้ำนม ตกลงไปนอนก้นกล่องครับ (ไม่น่าจะเป็นน้ำใสทั้งกล่อง) การเกิด curd มักเป็นปัญหาของการจัดเก็บกล่องนม เช่น อยู่ในที่ร้อนเกินไป แม้จะยังไม่หมดอายุหรือไม่ได้บูดเสียก็ตามแต่ถ้ายังไม่หมดอายุ กลับชิมแล้วรสชาติแปลกไป เช่น เปรี้ยว ขม เหม็น ฯลฯ ก็แสดงว่าน่าจะมีรอยรั่วซึมด้วย จนเชื้อจุลินทรีย์เข้าไปเจริญเติบโตได้

เกร็ดความรู้ : การเกิด Curd คืออะไร??

ลิ่มน้ำนม Curd คือโปรตีน (protein) ในน้ำนมที่มีลักษณะเป็นลิ่ม กึ่งแข็งกึ่งเหลว ได้จากการตกตะกอน (coagulation) โปรตีนนม ด้วยกรดเอนไซม์ หรือสารละลายเกลือ เช่น ก้อนโปรตีนของน้ำนมในการผลิตเนยแข็ง หรือก้อนโปรตีนของน้ำนมถั่วเหลือง (bean curd) ในการผลิตเป็นเต้าหู้ เป็นต้น

มาทำความรู้จัก “นมโรงเรียน” กันเถอะ!!

นมโรงเรียน มี 2 รูปแบบ ได้แก่ นมพาสเจอร์ไรส์ และนม UHT ขนาดบรรจุ 200 มิลลิลิตร

  • นมพาสเจอร์ไรส์ (นิยมบรรจุถุง) คือ นมที่ผ่านการฆ่าเชื้อโดยใช้ความร้อน และเวลาที่เพียงพอต่อการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคเท่านั้น โดยฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิ 63-65 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 30 นาที หรืออุณหภูมิ 72-75 องศาเซลเซียสเป็นเวลา 15-20 วินาที การพาสเจอร์ไรส์ทำลายจุลินทรีย์ได้ 95-99% แต่จุลินทรีย์ที่ทนต่อความร้อนได้ดี หรือประเภทสร้างสปอร์อาจรอดชีวิตอยู่ได้ ดังนั้นนมพาสเจอร์ไรส์จึงต้องเก็บที่อุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส มีระยะเวลาการบริโภคนับจากวันที่ผลิตไม่เกิน 10 วัน ข้อดีคือสารอาหารต่าง ๆ ถูกทำลายน้อยมาก เนื่องจากการผ่านความร้อนต่ำนั่นเอง การขนส่งและเก็บรักษานมพาสเจอร์ไรส์ ควรมีการควบคุมอุณหภูมิอย่างเคร่งครัด
  • นม UHT (นิยมบรรจุกล่อง) เป็นนมที่ผ่านการทำลายเชื้อจุลินทรีย์ด้วยความร้อน 133-150 องศาเซลเซียส นาน 2-4 วินาทีจนทำลายเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรครวมทั้งสปอร์ของเชื้อจุลินทรีย์ได้ทำให้สามารถเก็บนม UHT ไว้ได้นาน แม้จะเก็บไว้ภายนอกตู้เย็น แต่สถานที่เก็บต้องไม่ร้อน เมื่อเก็บไว้นานเกินไปจนนมหมดอายุ นมจะหนืดเป็นวุ้น กลิ่นรสจะเปลี่ยน รวมทั้งไขมันในนมจะแยกชั้นจากน้ำนม

    นมมีประโยชน์ วิธีสังเกต นมบูด
    นมมีประโยชน์ วิธีสังเกต นมบูด

การเสื่อมของน้ำนม

น้ำนม (milk) มีน้ำเป็นส่วนประกอบหลัก และมีสารอาหารที่เหมาะสมกับการเจริญของจุลินทรีย์ทุกชนิด ทั้งแบคทีเรีย ยีสต์ และรา จึงเป็นอาหารที่เสียได้ง่ายมาก และยังมีโอกาสพบจุลินทรีย์ก่อโรคที่ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษได้ การเสื่อมเสียของน้ำนมจะมี 2 สาเหตุหลัก คือ

1.การเสื่อมเสียเนื่องจากจุลินทรีย์ โดยจุลินทรีย์ที่พบในน้ำนมส่วนใหญ่เป็นแบคทีเรีย ได้แก่

  • กลุ่มเมโซไฟล์ ที่ทำให้เกิดโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหาร
  • กลุ่มโคลิฟอร์ม มักพบแบคทีเรียกลุ่มนี้ในน้ำนมพาสเจอไรซ์ ซึ่งอาจเกิดจากการให้ความร้อนสำหรับการฆ่าเชื้อไม่เพียงพอ มีการปนเปื้อนขณะบรรจุ
  • กลุ่มเทอร์โมดิวริคแบคทีเรีย เป็นจุลินทรีย์ที่ทนต่ออุณหภูมิสูง และไม่ถูกฆ่าเชื้อด้วยการพาสเจอไรส์
  • กลุ่มเทอร์โมไฟล์ เป็นแบคทีเรียที่สามารถเจริญได้ที่ระดับอุณหภูมิ 55 องศาเซลเซียส และที่อุณหภูมิพาสเจอไรซ์ด้วย
  • กลุ่มไซโครโทรป เป็นแบคทีเรียที่เจริญได้ดีที่อุณหภูมิต่ำ ทำให้คุณภาพของน้ำนมลดลงโดยสร้างเอนไซม์มาย่อยโปรตีน และไขมันในน้ำนม ทำให้นมเกิดกลิ่น และเน่าเสียได้

2. การเสื่อมเสียเนื่องจากปฏิกิริยาเคมี เช่น การเกิดปฎิกิริยาออกซิเดชันของลิพิดทำให้เกิดกลิ่นหืน การเปลี่ยนสีของนม ที่เกิดจากปฎิกิริยาระหว่างกรดแอมิโน และน้ำตาลแล็กโทส ในกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อน และระหว่างการเก็บรักษา

ส่องวิธีการเก็บรักษาคุณภาพของนมโรงเรียน

การเก็บรักษาคุณภาพนมโรงเรียนแบบ UHT หลังตรวจนับ

  1. ตรวจลักษณะภายนอกของกล่องนม ดูสภาพกล่องนมว่ามีรอยหัก ย่น บวม ซึม หรือไม่ ถ้ามีให้ส่งคืนสายส่ง
  2. ตรวจสอบฉลากบนกล่องนม ดูข้อมูล เลขทะเบียน อ.ย. และวันหมดอายุ  ถ้าหมดอายุก่อนเวลาบริโภคไม่ควรรับนม
  3. ตรวจลักษณะทางกายภาพของนม โดยทำการเทนมใส่แก้ว เพื่อสังเกตลักษณะทางกายภาพ เช่น สี ลักษณะที่ผิดปกติ  มียางเหนียวที่ผิวหน้า มีตะกอน มีการแยกชั้น ทำการคัดออก และบันทึกลงแบบฟอร์ม
  4. การขนย้ายนมจากสายส่ง มีการกำชับห้ามโยนกล่อง หรือลังนม ห้ามยืน หรือนั่งบนกล่อง หรือลังนม
  5. การจัดเก็บลังนม UHT มีมาตราการดังนี้
  • เก็บนมในที่ร่ม ไม่โดนแสงแดด ไม่อยู่ใกล้แหล่งให้ความร้อน เช่น ครัว
  • ไม่วางลังนมติดพื้น ควรสูงจากพื้นอย่างน้อย 10 เซนติเมตร เพื่อป้องกันความชื้น แมลง หรือหนูกัดแทะ
  • ควรวางกล่องให้ชิดกัน อย่าให้มีช่องว่างเพื่อให้รับน้ำหนักเท่ากัน
  • ไม่วางลังนมในสถานที่อับชื้นหรือในถังน้ำแข็ง เพราะจะทำให้กล่องเปื่อย
  • ถ้านมบรรจุในลังกระดาษ ห้ามวางซ้อนกันเกิน 7 ชั้น
  • ถ้าหุ้มกล่องนมด้วยพลาสติกห้ามวางกล่องนมซ้อนกันเกิน 5 ชั้น
  • เมื่อจัดเรียงกล่องนมเรียบร้อยห้ามวางสิ่งของวางทับบนกล่องนม
ฉลากนมกล่อง UHT ข้อมูลโภชนาการ
ฉลากนมกล่อง UHT ข้อมูลโภชนาการ

การเก็บรักษาคุณภาพนมโรงเรียนแบบพาสเจอร์ไรส์ หลังตรวจนับ

1. ตรวจสภาพนมพาสเจอร์ไรส์  หากถุงนมปกติไม่พอง ไม่รั่ว ให้บันทึกวันรับนมในแบบฟอร์ม และตรวจดูสิ่งต่าง ๆ ต่อไปนี้

  • ดูวันหมดอายุที่รอยตอกบนตะเข็บถุงนม หากไม่มีระบุส่งคืน
  • วัดอุณหภูมินม หากอุณหภูมิสูงกว่า 8 องศาเซลเซียส ไม่รับนมทั้งหมด หากอุณหภูมิไม่เกิน 8 องศาเซลเซียส นำนมไปตรวจลักษณะทางกายภายต่อไป
  • สุ่มเลือกนมถุงมาตรวจสภาพสี กลิ่น ลักษณะอื่น ๆ เช่น มียางเหนียว มีตะกอน มีการแยกชั้น หรือไม่ ถ้ามีส่งคืน

2.ตรวจสภาพถังเก็บนม ต้องล้างถังทำความสะอาดก่อนบรรจุถุงนมลงถัง และสถานที่วางถังต้องไม่สะอาดแสงแดดส่องไม่ถึง

3.ตรวจสอบความถูกต้องในการบรรจุนมลงถัง ตรวจสอบน้ำแข็งที่ใช้ทำความเย็นว่ามีปริมาณเหมาะสมกับจำนวนนมหรือไม่ ไม่นำอาหารสดมาแช่รวม ไม่นำน้ำแข็งที่ใช้แช่มารับประทาน

4.ห้ามเปิดฝาถังจนกว่าจะถึงเวลาการบริโภค ควรมีการล็อคลัง

เป็นอย่างไรกันบ้าง กับกระบวนการวิธีการเก็บรักษานมโรงเรียนที่มีมาตราการเข้มงวด และแนวทางปฎิบัติที่ชัดเจนแจกจ่ายให้แก่ทุกโรงเรียนนำไปปฎิบัติ เมื่อรู้กันอย่างนี้แล้ว คุณพ่อคุณแม่คงจะเริ่มวางใจกันได้บ้าง ในการที่ลูก ๆ จะดื่มนมโรงเรียน เพราะเราคงแย้งไม่ได้ว่า คุณประโยชน์ของนมนั้นมีคุณค่าต่อการเจริญเติบโตของเด็ก

อาหารครบ 5 หมู่ ดื่มนม ระวัง นมบูด ดูแลโภชนการที่ดีของลูก
อาหารครบ 5 หมู่ ดื่มนม ระวัง นมบูด ดูแลโภชนการที่ดีของลูก

นมเป็นอาหารที่มากด้วยคุณค่าที่ร่างกายของลูกต้องการ ดังนั้นการให้เขาได้รับสารอาหารจากนมจึงเป็นสิ่งจำเป็น อย่าให้ความระแวงสงสัยมาทำให้ลูกเราไม่ได้รับคุณค่าทางสารอาหารจากนมกันเลย วิธีการที่ดีที่สุดในการแก้ปัญหาความระแวงสงสัยในคุณภาพของนมโรงเรียนนี้ คือ การที่คุณพ่อคุณแม่ตรวจสอบ สอบถาม หรือสอนลูกในการสังเกตนมก่อนดื่ม เพื่อป้องกันความผิดพลาดในการที่ลูกต้องดื่มน้ำนมที่เสื่อมสภาพ ก็จะเป็นการลดความเสี่ยงไปได้เช่นกัน

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.fda.moph.go.th/ FB:หมอแล็บแพนด้า

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวมข้อมูลสำคัญ!!ที่คุณแม่ควรรู้ก่อนซื้อ ขวดนม

อุทาหรณ์..แม่เตือน ล้างขวดนม ผิดวิธี เสี่ยงทำลูกติดเชื้อในกระเพาะอาหารได้

10 สาเหตุที่ทำให้ ลูกโตช้า ลูกตัวไม่โต พ่อแม่ ควรทำอย่างไร?

7 เมนูไข่ง่าย ๆ ทำกินได้บ่อย ทั้งอร่อยและมีประโยชน์!!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up