ลำไส้กลืนกัน

ลำไส้กลืนกัน ภัยร้ายของเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องระวัง

Alternative Textaccount_circle
event
ลำไส้กลืนกัน
ลำไส้กลืนกัน

ลำไส้กลืนกัน ภัยร้ายของเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องระวัง

เด็กเล็ก ๆ ร่างกายยังไม่เจริญเติบโตเต็มที่ จึงเสี่ยงติดเชื้อโรค และเป็นโรคต่าง ๆ ที่เสี่ยงต่อชีวิตได้ง่าย หากคุณพ่อคุณแม่สังเกตเห็นว่าลูกน้อย ในช่วงวัย ไม่เกิน 3 ปี มีอาการปวดท้องเฉียบพลัน กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง คลื่นไส้ อาเจียน ต้องรีบพาลุกพบแพทย์นะคะ เพราะลูกน้อยของเราอาจเป็นโรค ลำไส้กลืนกัน ซึ่งเป็นโรคที่มักเกิดในเด็กเล็ก ค่ะ

โรค ลำไส้กลืนกัน หรือ Intussusception

เป็นความผิดปกติของลำไส้อย่างรุนแรง โดยลำไส้ส่วนต้นเคลื่อนตัวมุดเข้าไปสู่โพรงลำไส้ส่วนที่อยู่ถัดไปทางด้านปลาย ทำให้ลำไส้อุดตัน ส่วนใหญ่เกิดขึ้นบริเวณที่ลำไส้ใหญ่ เชื่อมต่อกับลำไส้เล็ก ผู้ป่วยมักมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน หรือเจ็บบริเวณช่วงท้องอย่างรุนแรง

ลำไส้กลืนกัน เป็นภาวะฉุกเฉินที่ต้องได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และรวดเร็ว เพราะถ้าลำไส้กลืนกันเป็นเวลานาน จะเกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด จนเกิดการเน่า ลำไส้แตกทะลุ และเยื่อบุช่องท้องอักเสบ รวมทั้งติดเชื้อในกระแสเลือด และอาจจะเสียชีวิตได้ ซึ่งเด็กวัย 2 เดือน ถึง 2 ปี เป็นวัยที่เสี่ยงที่สุด จะเป็นชนิดกลืนกัน แบบมีการมุดตัวของลำไส้เล็กส่วนปลายเข้าสู่โพรงลำไส้ใหญ่ส่วนต้น Ileocolic Type

ลำไส้กลืนกัน
ลำไส้กลืนกัน ภัยร้ายของเด็กเล็กที่พ่อแม่ต้องระวัง

ข้อสังเกตอาการ

คุณพ่อคุณแม่ สังเกตได้ว่าลูกมีภาวะลำไส้กลืนกันจาก

  • อาการปวดท้อง กระสับกระส่าย มือเท้าเกร็ง
  • ร้องไห้เป็นพัก ๆ ประมาณ 15 – 30 นาทีก็เริ่มร้องอีก เวลาที่ร้องไห้ ลูกจะงอเข่าขึ้นทั้งสองข้าง
  • ท้องอืด และอาเจียน ช่วงแรกมักจะเป็นนม หรืออาหารที่ลูกกินเข้าไป แต่ระยะหลังจะมีสีเหลือง หรือเขียวของน้ำดีปนออกมา
  • อุจจาระมีเลือดคล้ำ ๆ ปนเมือก
  • เด็กบางคนอาจจะมีอาการซึม หรือชักร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรค

แพทย์จะวินิจฉัยอย่างละเอียด เริ่มจากการสอบถามประวัติอาการของเด็ก และตรวจร่างกาย แพทย์อาจคลำพบก้อนรูปทรงคล้ายไส้กรอกบริเวณท้อง หลังจากนั้นแพทย์อาจตรวจเพิ่มเติม เพื่อยืนยันผลการวินิจฉัยด้วย ดังนี้

  • การเอกซเรย์ เพื่อตรวจดูการทำงานที่ผิดปกติของลำไส้
  • การทำอัลตราซาวด์ โดยใช้คลื่นเสียงจับภาพลำไส้ ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เห็นบริเวณที่ลำไส้ผิดปกติ
  • การตรวจลำไส้ด้วยการสวนแป้งแบเรียม เพื่อช่วยให้มองเห็นภาพลำไส้ได้ชัดเจนยิ่งขึ้น โดยแพทย์จะสอดท่อเข้าไปในลำไส้ใหญ่ และปล่อยอากาศ หรือของเหลวอย่างแป้งแบเรียม ผ่านท่อดังกล่าวเข้าไปในลำไส้บริเวณที่ตรวจพบการอุดตัน ซึ่งวิธีนี้รักษาอาการลำไส้อุดตันได้อย่างดี และอาจไม่ต้องรับการรักษาอื่น ๆ เพิ่มเติม

ภาวะแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้น

การอุดตันของลำไส้ อาจก่อให้เกิดภาวะลำไส้ขาดเลือด ส่งผลให้เนื้อเยื่อหรือผนังบริเวณลำไส้บางส่วนเสียหายและเกิดลำไส้เน่า หากไม่ได้รับการรักษา จะนำไปสู่การทะลุ และฉีกขาดของผนังลำไส้ จนกลายเป็นภาวะเยื่อบุช่องท้องอักเสบ ผู้ที่มีภาวะดังกล่าวจะปวดท้อง ช่วงท้องบวม และมีไข้

หากเกิดในเด็กอาจทำให้ช็อก โดยจะมีอาการตัวเย็น ผิวซีดแตกลอก การหายใจผิดปกติ ชีพจรแผ่ว กระสับกระส่าย หงุดหงิด และอาจหมดสติ หากเด็กมีอาการดังกล่าว ผู้ปกครองควรนำส่งโรงพยาบาลโดยด่วน นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจติดเชื้อในกระแสเลือด หรืออาจมีการกระจายของก้อนเนื้อที่เป็นภาวะแทรกซ้อนจากการผ่าตัดรักษา

วิธีการรักษา

การรักษาโรคมี 2 วิธี

วิธีที่ 1 คือ การดันลำไส้ส่วนที่ถูกกลืน ให้ออกมาจากลำไส้ส่วนที่กลืนกันอยู่ โดยการใช้แรงดันผ่านทางทวารหนัก ซึ่งอาจจะใช้การสวนลำไส้ใหญ่ ด้วยสารของเหลวที่เป็นสารทึบรังสี Barium หรือใช้ก๊าซเป็นตัวดัน ถ้ากระบวนการสวนลำไส้ใหญ่ สามารถดันลำไส้ที่กลืนกันออกได้สำเร็จ ก็ไม่จำเป็นจะต้องผ่าตัด ผู้ป่วยส่วนใหญ่ สามารถรับประทานอาหารได้ภายใน 1 – 2 วัน

วิธีที่ 2 คือ การผ่าตัดเปิดช่องท้อง ในการผ่าตัดนั้น ศัลยแพทย์จะใช้มือบีบดันให้ลำไส้ส่วนที่กลืนกัน คลายตัวออกจากกัน มีเพียงผู้ป่วยส่วนน้อยลำไส้เน่า หรือลำไส้แตกทะลุแล้ว ซึ่งในกรณีเช่นนี้จำเป็นจะต้องตัดลำไส้ส่วนที่เน่าตายออก และต่อลำไส้ส่วนที่ดีเข้าหากัน กลุ่มนี้จะรุนแรง และให้การดูแลรักษาแบบกลุ่มลำไส้อุดตัน นอนในโรงพยาบาลนาน  และมีอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงกว่า

โรคเกี่ยวกับลำไส้ มีหลายอาการ เกิดขึ้นได้กับทั้งเด็ก และผู้ใหญ่ แต่หากเกิดกับเด็ก โดยเฉพาะกับเด็กเล็กแล้ว ยิ่งน่าห่วง เพราะเด็กเล็กบอกไม่ได้ ว่าเจ็บปวดมากแค่ไหน ต้องอาศัยการสังเกตอย่างละเอียด ของคุณพ่อและคุณแม่ เพื่อป้องกันการสูญเสีย ที่อาจเกิดขึ้นกับรอบรัวของเราได้นะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

โรงพยาบาลกรุงเทพ, โรงพยาบาลเปาโล, pobpad

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

มะเร็งลำไส้ใหญ่ในเด็ก โรคร้ายที่พ่อแม่ไม่ควรมองข้าม

ทำไม…สุขภาพลำไส้ ถึงสำคัญต่อการเจริญเติบโต?

ลูกลำไส้ติดเชื้อ เพราะอมมือ อมเท้า

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up