เด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิด ควรดูแลอย่างไร ลักษณะแบบไหนถือว่าปกติ

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กแรกเกิด
เด็กแรกเกิด

มีคำถามมากมายในระหว่างคุณแม่ตั้งครรภ์ ยิ่งเวลาใกล้คลอด ความวิตกกังวลต่าง ๆ ก็จะมากขึ้น โดยเฉพาะจะดูแล เด็กแรกเกิด อย่างไร และลักษณะของลูกคือปกติหรือไม่

เด็กแรกเกิด ควรดูแลอย่างไร ลักษณะแบบไหนถือว่าปกติ

คุณพ่อคุณแม่มือใหม่คงรู้สึกกังวลไม่น้อย ถึงวิธีการดูแลลูกหลังคลอด เมื่อกลับจากโรงพยาบาลควรต้องสังเกต และปฏิบัติอย่างไรกับลูก ทีมกองบรรณาธิการ ABK ได้รวบรวมข้อมูลการดูแล เด็กแรกเกิด มาให้คุณพ่อคุณแม่ได้เตรียมตัวให้พร้อมก่อนที่จะต้อนรับสมาชิกใหม่ของครอบครัวกันค่ะ

ลักษณะทั่วไปของ เด็กแรกเกิด
ลักษณะทั่วไปของ เด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิด ควรดูแลอย่างไร ลักษณะแบบไหนถือว่าปกติ

ลักษณะทั่วไปของเด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิด หมายถึง เด็กที่มีอายุตั้งแต่แรกเกิดถึง 1 เดือน เป็นวัยที่มีภาวะปกติที่ไม่พบในวัยอื่น ทั้งยังเป็นวัยที่มีอัตราการเกิดโรคและอัตราการเสียชีวิตสูง เพราะสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง จากในครรภ์มารดาสู่สภาพแวดล้อมภายนอก ทำให้ทารกยังต่อสู้กับเชื้อโรคได้ไม่ดีนัก เกิดการเจ็บป่วยบ่อย จึงควรดูแลและป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นได้ ดังนั้นคุณพ่อคุณแม่จึงต้องเรียนรู้ถึงลักษณะทั่วไปของเด็กแรกเกิด เพื่อจะได้สังเกตเห็นความผิดปกติของลูกได้ ลักษณะต่างๆของเด็กแรกเกิด มีดังนี้

น้ำหนัก

โดยปกติจะมีน้ำหนักเฉลี่ยประมาณ 3,000 กรัม(สำหรับประเทศไทย) ตัวยาวประมาณ 50 เซนติเมตร ลักษณะศีรษะค่อนข้างโตเมื่อเทียบกับลำตัว สามารถเคลื่อนไหวกล้ามเนื้อได้ทุกส่วน เมื่อวางนอนคว่ำหน้าจะสามารถหันศีรษะไปด้านใดด้านหนึ่งได้ โดยทำให้หายใจสะดวก หากมีเสียงดังหรือได้รับความกระเทือน เด็กจะรู้สึกสะดุ้งตกใจแล้วกางแขนออก จากนั้นดึงแขนเข้าหากันพร้อมกับการร้องเสียงดัง ปฏิกิริยาเช่นนี้ถือว่าเป็นปกติธรรมชาติ และในทางตรงกันข้าม หากเด็กนอนเฉยหรือซึม แสดงว่าอาจมีความผิดปกติของสมอง

ศีรษะ

โดยปกติมักจะดูใหญ่ เส้นรอบศีรษะประมาณ 35 เซนติเมตร มีผมปกคลุมเต็มศีรษะ ในวันแรกๆอาจมีลักษณะค่อนข้างยาว ซึ่งเป็นผลเนื่องจากการบีบรัดผ่านทางช่องคลอด ตรงกลางศีรษะด้านหน้าเหนือหน้าผากขึ้นไปจะมีลักษณะเป็นช่องนุ่มๆสี่เหลี่ยมเรียกว่า กระหม่อม บริเวณนี้ต้องระวังเป็นพิเศษ เพราะภายในคือมันสมอง ยังไม่มีกระดูกแข็งหุ้ม โดยกระหม่อมหน้านี้จะปิดเมื่อทารกอายุประมาณ 1 ปี 6 เดือน

ผิวหนัง

โดยทั่วไปมักบางจนบางครั้งมองเห็นเส้นเลือดฝอยได้ สีมักจะแดงหรือชมพูเข้ม อาจจะมีขนอ่อนอยู่ตามบริเวณไหล่และหลังก็ได้ ในทารกบางคนที่ไม่ครบกำหนดดีอาจพบขนอ่อนชนิดนี้ทั่วตัว ประมาณวันที่ 3 หลังคลอด ทารกบางคนอาจมีภาวะตัวเหลืองได้ โดยสามารถสังเกตได้ที่ตาขาว และผิวที่เปลี่ยนเป็นสีส้ม หากพบอาการตัวเหลืองในเด็ก ควรพบแพทย์เพื่อหาสาเหตุที่ทำให้เด็กตัวเหลือง

อุจจาระ

โดยปกติทารกจะถ่ายอุจจาระภายใน 24 ชั่วโมงหลังคลอด  อุจจาระนี้มีสีเทาปนดำ เรียกว่า ขี้เทา (meconium) ไม่มีกลิ่น ต่อมาเมื่อทารกได้รับประทานนมแล้ว ขี้เทาก็จะค่อยๆเปลี่ยนเป็นสีเทาเข้ม เขียว เขียวเหลือง และเหลืองในที่สุด ปกติจะใช้เวลาประมาณ 4-5 วัน ทารกจะถ่ายอุจจาระเกือบทุกครั้งที่รับประทานนม ดังนั้น ทารกจึงอาจจะถ่ายวันละ 3-6 ครั้งก็ได้

สะดือ

ในวันแรกๆ สายสะดือจะมีสีขาวขุ่นและเห็นเส้นเลือดดำแห้งอยู่ภายใน จากนั้นจะค่อยๆแห้ง แล้วสีเปลี่ยนเป็นเหลืองและดำในที่สุด โดยจะหลุดประมาณวันที่ 7-10 หลังคลอด ทั้งนี้อาจหลุดก่อนหรือหลังก็ได้ ไม่มีอันตรายใดๆ

การหายใจ

โดยปกติทารกหายใจโดยใช้ท้องเป็นหลักคือ มีการเคลื่อนไหวของท้องมากกว่าทรวงอก หายใจประมาณนาทีละ 30-40 ครั้ง ซึ่งมากกว่าเด็กโต ประมาณเท่าตัว หากไม่มีอาการไอ หอบ หรือตัวเขียว ถือว่าเป็นอาการปกติ

เต้านม

โดยปกติทารกไม่ว่าชายหรือหญิง ถ้าครบกำหนดมักจะมีเต้านมที่สามารถจะคลำได้ ในบางคนอาจมีน้ำนม 2-3 หยดไหลออกมาก็ได้ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงตามธรรมชาติ แต่ทั้งนี้ไม่ควรบีบเล่น เพราะอาจเกิดอันตรายและเกิดการอักเสบได้ ต่อไปก็จะเล็กลงเป็นปกติเอง

การมีเลือดไหลออกทางช่องคลอด

ทั้งนี้อาจพบได้ในทารกหญิงที่ครบกำหนด เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลังคลอดของฮอร์โมนของแม่สู่ทารก เมื่อทารกอายุ 3-4 วัน อาจมีเลือดออกเล็กน้อยได้ ไม่ต้องรักษา เพราะไม่มีอันตรายแต่อย่างใด

การดูแล เด็กแรกเกิด
การดูแล เด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิด ควรดูแลอย่างไร ลักษณะแบบไหนถือว่าปกติ

การดูแลเด็กแรกเกิด

ช่วงเวลานี้เป็นระยะเวลาที่สำคัญสำหรับทารก เพราะมีความเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม และยังเป็นวัยที่สร้างรากฐานในการพัฒนาบุคลิกภาพของลูกในอนาคตอีกด้วยดังนั้น จึงต้องดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิดเป็นพิเศษ

การดูแลเด็กแรกเกิด แบ่งเป็น 2 ด้าน คือ การดูแลทางด้านร่างกาย และการดูแลทางด้านจิตใจ

การดูแลทางด้านร่างกาย คือ

  • เรื่องโภชนาการทางอาหาร
  • การนอนหลับอย่างเพียงพอ ในบริเวณที่สะอาด อากาศถ่ายเทได้ดี และปลอดภัย
  • การดูแลระบบขับถ่าย
  • การดูแลความสะอาด
  • การดูแลสุขภาพร่างกายให้อบอุ่นแข็งแรง
  • การดูแลเรื่องระบบทางเดินหายใจ

การดูแลทางด้านจิตใจ คือ การเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดด้วยความรักและความอบอุ่น ซึ่งจะเป็นการสร้างพื้นฐานทางด้านจิตใจที่ดีให้กับลูกตั้งแต่ยังเล็ก โดยจะมีผลไปจนกระทั่งเด็กโต

โภชนาการทางอาหารสำหรับเด็กแรกเกิด

องค์การอนามัยโลกแนะนำ “ให้รับประทานนมแม่อย่างเดียว 6 เดือน และรับประทานนมแม่ร่วมกับอาหารเสริมจนถึงอายุ 2 ปี หรือมากกว่า” เพราะน้ำนมแม่ เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารก อีกทั้งยังมีสารอาหารที่ไม่สามารถทดแทนได้ด้วยนมผสม หลังคลอดคุณแม่ควรให้ลูกดูดนมในทันที โดยให้ลูกดูด 8-12 ครั้งต่อวัน ทั้งนี้ก่อนให้ลูกดูดนม คุณแม่ต้องล้างมือทุกครั้ง ในส่วนของหัวนม ทำความสะอาดขณะอาบน้ำเช้าและเย็นก็เพียงพอแล้ว

การให้นมลูก ควรอยู่ในที่สงบและสะอาด โดยนวดเต้านมและลานหัวนมให้นิ่ม แล้วบีบน้ำนมออกประมาณ 2-3 หยดก่อนให้ลูกดูดนม จัดท่าทางให้สบาย โดยคุณแม่อุ้มลูกตะแคงเข้าหาตัว ให้ปากของลูกอยู่ตรงหัวนม มืออีกข้างประคองเต้านม แล้วใช้หัวนมกระตุ้นริมฝีปากลูกให้ลูกอ้าปาก จากนั้นเคลื่อนลูกเข้าหาเต้านมโดยเร็ว ให้ลูกอมหัวนมให้ลึกถึงลานหัวนม และลิ้นอยู่ใต้ลานนม ลูกจะถอนปากออกเองเมื่ออิ่ม หากอิ่มแล้วลูกยังอมหัวนมอยู่ ให้คุณแม่ใช้นิ้วกดคางเบาๆ หรือใช้นิ้วก้อยสอดเข้ามุมปากของลูกเล็กน้อย แล้วจึงดึงหัวนมออก

การอุ้มเด็กแรกเกิด

การอุ้มเด็กแรกเกิดมี 3 แบบ คือ การอุ้มในท่าปกติ การอุ้มเรอ และการอุ้มปลอบ

  • การอุ้มในท่าปกติ โดยคุณแม่อุ้มทารกตะแคงเข้าหาทางหน้าอก ให้ท้ายทอยของทารกอยู่บนข้อพับแขนของคุณแม่ วางทอดแขนไปตามลำตัวของทารก อีกมืออุ้มช้อนส่วนก้นและช่วงขา ลำตัวทารกแนบชิดกับลำตัวของแม่ ให้ศีรษะ คอ และลำตัว อยู่ในแนวเดียวกัน
  • การอุ้มเรอ มีสองท่าคือ ท่าอุ้มพาดบ่า ให้หน้าท้องของทารกกดบริเวณไหล่ของแม่เพื่อไล่ลม และท่าอุ้มนั่งบนตัก โดยให้ทารกหันหน้าออก มือข้างหนึ่งของแม่จับที่หน้าอกของทารก ส่วนมืออีกข้างลูบหลัง ขณะลูบให้โน้มตัวทารกไปข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อให้หน้าท้องถูกกดและไล่ลมออก
  • การอุ้มปลอบ คล้ายกับการอุ้มเรอ แต่ให้คุณแม่พูดคุยกับทารกไปด้วย เพื่อให้ลูกรู้สึกสงบและปลอดภัย

การอาบน้ำเด็กแรกเกิด

ควรระวังเรื่องสถานที่และเวลาในการอาบน้ำ ควรอาบในที่ไม่มีลมโกรก อาบน้ำวันละ 2 ครั้ง และสระผมวันละครั้ง (หรือตามสภาพอากาศ) โดยอาบในช่วงสาย ๆ หรือบ่าย ๆ ในขณะที่มีอากาศอุ่น ใช้เวลาในการอาบ 5-7 นาที เพราะหากอาบน้ำอาจทำให้เด็กไม่สบายได้ ทั้งนี้ไม่ควรอาบน้ำทันทีหลังในนมแม่

ก่อนอาบน้ำให้ลูก คุณแม่ต้องล้างมือและแขนให้สะอาด ผสมน้ำอุ่นครึ่งอ่าง แล้วใช้ศอกจุ่มน้ำเพื่อทดสอบอุณหภูมิของน้ำให้อุ่นพอดี ทำความสะอาดบริเวณใบหน้า ใบหู ซอกหู และสระผมให้เรียบร้อยก่อนอาบน้ำ การอุ้มลูกอาบน้ำในอ่างทำได้โดยใช้มือจับที่รักแร้ของลูก ให้ไหล่ของลูกพาดบนแขนของแม่ เพื่อล็อกตัวลูกให้อยู่กับที่ป้องกันลูกหลุดมือ ใช้ฟองน้ำชุบน้ำลูบตัวทารกให้เปียก ใช้สบู่ลูบทำความสะอาดบริเวณซอกคอ แขน ลำตัว ขา แล้วล้างออกให้สะอาด จากนั้นเปลี่ยนมาทำความสะอาดบริเวณหลัง ก้น และขา ของทารก หากทารกตัวโตน้ำหนักมาก สามารถสระผมและถูสบู่บนเบาะ แล้วค่อยอุ้มลงล้างตัวในอ่างอาบน้ำก็ได้

หลังจากอาบน้ำเสร็จแล้ว นำทารกวางบนที่นอน แล้วใช้ผ้าขนหนูซับตัวให้แห้ง ไม่เช็ดหรือถูแรงๆ จากนั้นใช้สำลีชุบน้ำต้มสุกที่เย็นแล้วสองก้อน เช็ดทำความสะอาดตาของทารกทีละข้าง โดยเช็ดจากหัวตาไปหางตา แล้วใช้สำลีก้อนใหม่ชุบแอลกอฮอล์เช็ดทำความสะอาดสะดือ โดยเช็ดวนจากด้านในออกมาด้านนอก หลังจากนั้นสวมเสื้อผ้าให้เหมาะสมกับสภาพอากาศที่อยู่ แล้วห่อตัวด้วยผ้าขนหนูเพื่อสร้างความอบอุ่นให้ร่างกายทารก

การดูแลสุขภาพช่องปากของเด็กแรกเกิด

ควรดูแลตั้งแต่แรกเกิด เพื่อป้องกันและลดการเกิดปัญหาฟันผุในอนาคต ทำความสะอาดช่องปากโดย ใช้นิ้วพันผ้านุ่มๆ ชุบน้ำต้มสุกที่สะอาดเช็ดให้ทั่วภายในช่องปาก บริเวณลิ้น เหงือก เพดานปาก และกระพุ้งแก้ม เพื่อไม่ให้มีคราบน้ำนมติดอยู่ ทำความสะอาดวันละสองครั้ง เช้าและเย็นหลังให้นมแม่ ทั้งนี้ไม่ควรเช็ดหลังรับประทานนมในทันที ควรรอสักพัก และควรแยกการใช้ผ้าอ้อมเช็ดปากกับผ้าอ้อมห่อตัว การทำความสะอาดช่องปากช่วยฝึกให้ลูกคุ้นชินกับความสะอาดของช่องปาก ซึ่งจะทำให้ลูกติดเป็นนิสัยไปจนโต

การให้ภูมิคุ้มกันโรค (วัคซีน) สำหรับเด็กแรกเกิด

เด็กแรกเกิดทุกคนจะได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรค (บีซีจี) และตับอักเสบ บี จากโรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน โดยจะมีประวัติการฉีดวัคซีนบันทึกไว้ในสมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก และจะมีการนัดให้มารับวัคซีนในครั้งต่อไป คุณพ่อคุณแม่ต้องพาลูกมารับวัคซีนตามนัด ควรดูแลแผลหลังฉีดวัคซีนทุกครั้ง โดยการเช็ดทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่ฉีดด้วยสำลีและน้ำสะอาด อย่าสะกิดตุ่มหนองหรือทายาบริเวณที่ฉีด สำหรับการฉีดวัคซีนป้องกันวัณโรคจะทำให้เกิดแผลเล็กๆ อาจเป็นฝีขนาดเล็กและอยู่ได้นาน 3-4 สัปดาห์ และจะเป็นๆ หายๆ ซึ่งไม่จำเป็นต้องใส่ยาหรือปิดแผล แต่หากพบความผิดปกติ เช่น บวม แดง ปวด แผลขยายใหญ่ขึ้น เป็นหนอง หรือต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้โตขึ้น ควรรีบพบแพทย์

การดูแล เด็กแรกเกิด เป็นช่วงเวลาที่สำคัญ บทความที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากนี้ คงเป็นประโยชน์สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่จะนำไปดูแลลูกน้อยกันนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ทารกแรกเกิดต้องนั่งคาร์ซีท หรือไม่ ทำไมไม่ควรอุ้มเด็กนั่งในรถระหว่างเดินทาง

ศีรษะทารกแรกเกิด มีแผลอย่ารีบโวยอาจไม่ใช่จากการทำคลอด

แนวทางปฏิบัติตัวช่วงโควิด สำหรับ คนท้อง แม่หลังคลอด ทารกแรกเกิด

ฟินแลนด์ปรับโฉม Baby Box รวม ของใช้สำหรับทารกแรกเกิด กว่า 50 ชิ้น

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.phyathai.com, https://th.yanhee.net

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up