สร้างวินัยให้ลูก

เทคนิค สร้างวินัยให้ลูก แบบไม่ทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า!

Alternative Textaccount_circle
event
สร้างวินัยให้ลูก
สร้างวินัยให้ลูก

สร้างวินัยให้ลูก- แน่นอนว่าคุณพ่อคุณแม่ทุกคนต้องรักและเป็นห่วงความรู้สึกของลูกๆ เป็นธรรมดาที่ความสุขสงบ สบายใจ คือ เป้าหมายในชีวิตสำหรับทุกๆคน ในฐานะพ่อแม่คุณอาจเคยหลีกเลี่ยงการรับมือหรือจัดการกับพฤติกรรมแย่ๆ ของบุตรหลาน เพียงเพราะไม่ต้องการทำลายความนับถือตนเองของลูกหรือทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง แต่จงจำไว้ว่า เด็ก ๆ จำเป็นต้องได้เรียนรู้ในความผิดพลาดของตัวเองตั้งแต่พวกเขายังเล็ก ยังมีวิธีอีกมากมายที่คุณพ่อคุณแม่สามารถลงโทษ ว่ากล่าวตักเตือนลูกๆ ได้ โดยไม่ทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเป็นเด็กไม่ดีค่ะ

งานที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการเป็นพ่อแม่คน คือการสอนลูก ๆ ของเราว่าควรมีความสัมพันธ์อย่างไรกับคนรอบข้าง พวกเขาต้องเข้าใจว่าการกระทำของตนส่งผลต่อผู้อื่นอย่างไร และพฤติกรรมใดที่ผู้อื่นจะยอมและไม่ยอมรับ การรู้สึกผิดหากทำอะไรผิดพลาดเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาด้านคุณธรรม ซึ่งช่วยให้พวกเขาพัฒนาจิตสำนึกภายใน ที่คอยส่งเสียงเตือนพวกเขาว่า“ โอ๊ะ!ฉันทำผิดแล้วนะ” ดังนั้นพวกเขาจึงต้องแก้ไขความผิดนี้

เหตุใดเมื่อลูกโดนพ่อแม่ดุ หรือพูดถึงสิ่งที่ลูกทำผิด ลูกจะเสียใจมาก?

เป็นเพราะเด็กบางคนไวต่อคำวิจารณ์หรือคำต่อว่าจากพ่อแม่เป็นพิเศษ หรือ มีแนวโน้มที่จะนับถือตนเองต่ำกว่าปกติ แม้ว่าโดยทั่วไป การว่ากล่าวในพฤติกรรมที่ไม่ดีของเด็ก คือ เรื่องปกติที่ผู้ปกครองส่วนใหญ่ทำกัน  แต่เด็ก ๆ ส่วนใหญ่ยังแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งที่ผู้ใหญ่ว่านั้นกคือการว่า หรือตำหนิด้วยเรื่องของพฤติกรรมไม่ดีเฉพาะหน้าที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าพวกเขาจะเป็นคนที่แย่ไปซะทุกเรื่อง  เด็ก ๆ เป็นนักคิดที่จิตใจบริสุทธิ์ เมื่อพวกเขาตกอยู่ในสถานการณ์ที่โดนตอกย้ำว่าตัวเองไม่ดี พวกเขาจะรู้สึกแย่กับตัวเองได้อย่างสิ้นเชิง

สร้างวินัยให้ลูก
สร้างวินัยให้ลูก

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกมีความนับถือตัวเองต่ำ

ถ้าลูกของคุณกำลังคิดว่า ตัวเองไม่ดีพอ ไม่ว่าจะในการทำอะไรก็ตามแต่ นั่นเป็นสัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกกำลังมีความนับถือตัวเองต่ำ ในฐานะพ่อแม่การนั่งฟังลูกพูดถึงพฤติกรรมไม่ดีเกี่ยวกับตัวเองคงเป็นสิ่งที่ไม่น่าฟังเท่าใดนัก มันทำให้เราอยากจะเข้าไปกอดลูกไว้ในทันทีและแสดงให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาสำคัญและมีความหมายแค่ไหน

สัญญาณที่บ่งบอกว่าลูกเป็นเด็กที่มีความนับถือตัวเองต่ำ

  • จริงจังกับทุกเรื่อง
  • รู้สึกไม่ดีพอ รู้สึกทำได้ไม่ดีเท่าคนอื่น
  • ไม่ชอบเรื่องที่ท้าทาย ไม่ชอบลองทำอะไรใหม่ๆ
  • พูดถึงแต่เรื่องที่ตัวเองทำได้ไม่ดี มากกว่าพูดถึงเรื่องที่ตัวเองทำได้ดี
  • ขาด ความมั่นใจ
  • ชอบคิดไปก่อนว่าคงทำสิ่งนั้นสิ่งนี้ไม่ได้แน่ๆ
  • ปลีกตัวออกจากสังคม

การปล่อยให้เด็กกลายเป็นคนที่นับถือตนเองต่ำเด็กจะมีความเสี่ยงสูงที่จะป่วยเป็นโรควิตกกังวลหรือโรคกลัวต่างๆ  ส่งผลให้เป็นคนที่กลัวการต้องลองทำอะไรใหม่ ๆ เพราะคิดว่าตัวเองจะทำได้ไม่ดี หรือจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ทางสังคมต่างๆ เพราะคิดว่าพวกเขาจะเข้ากับกับเด็กคนอื่น ๆ ไม่ได้ หรือกลัวว่าจะมีความคิดเห็นที่ไม่ลงรอยกับเด็กคนอื่นๆ

เทคนิค สร้างวินัยให้ลูก แบบไม่ทำให้ลูกรู้สึกด้อยค่า!

1.รักษาความคาดหวังของคุณให้เหมาะสม

ความเข้าใจที่ชัดเจนเกี่ยวกับพัฒนาการของเด็กเป็นสิ่งสำคัญในการเลี้ยงดูเด็กให้เป็นคนที่มีความภาคภูมิใจในตนเองได้ หากคุณมีความคาดหวังในตัวลูกสูงเกินไปคุณจะรู้สึกหงุดหงิดอย่างมาก และลูกก็ไม่ต่างจากคุณถ้าเขาไม่สามารถทำตามความคาดหวังเหล่านั้นได้

แต่ในทางกลับกันด้วยความคาดหวังที่ต่ำเกินไปก็อาจสร้างความเสียหายได้เช่นกัน หากคุณคาดหวังจากลูกน้อยเกินไปคุณอาจส่งผลต่อพัฒนาการของลูกได้

ควรตั้งเป้าหมายทางสังคม ร่างกาย อารมณ์ และสติปัญญาที่ต้องการให้ลูกทำได้สำเร็จ แต่สิ่งสำคัญคือ การตระหนักถึงความต้องการความเป็นอิสระของลูกในแต่ละช่วงพัฒนาการ ถ้าคุณพ่อคุณแม่ใช้กลยุทธ์ในการสร้างวินัยที่เหมาะสมกับวัยของลูก มั่นใจได้เลยว่าผลที่ตามมาต้องเป็นที่น่าพอใจค่ะ

สร้างวินัยให้ลูก

2.หลีกเลี่ยงการประทับตราลูก

เช่น พูดให้ลูกได้ยินเสมอว่า “หนูเป็นนักดนตรีตัวน้อยของแม่”  หรือ “คุณหมอน้อยของพ่อ ” การประทับตรา สามารถส่งผลเสียได้มากกว่าผลดี เด็ก ๆ รู้ว่าเมื่อไหร่ที่พ่อแม่คาดหวังหรือประทับตราลูกไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ลูกอาจรู้สึกว่าต้องดำเนินชีวิตตามมาตรฐานหรือเส้นทางที่พ่อแม่อยากให้เป็น ซึ่งเหมือนเป็นการจำกัดอิสรภาพของลูก และอาจทำให้ลูกรู้สึกไม่ดีต่อตัวเองได้หากในท้ายที่สุดเขาไม่สามารถทำหรือเป็นได้อย่างที่พ่อแม่พูด

3. แยกแยะพฤติกรรม

การพูดว่า “ลูกนี่เป็นเด็กไม่ดีเลย!”  กับ “ลูกนี่ซนจริงๆ ทำไมเป็นแบบนี้นะ!” ทั้งสองประโยคนี้เหมือนสร้างการรับรู้ให้เด็ก ๆ  คิดว่าตัวเองเป็นเด็กไม่ดีจริงๆ หากวันใดวันหนึ่งพวกเขาเริ่มมองว่าตัวเองไม่ดีอย่างที่พ่อแม่พูดให้ได้ยินบ่อยๆ พวกเขาก็มีแนวโน้มที่จะประพฤติตัวไม่ดีอยู่บ่อยๆได้ ดังนั้นควรแยกแยะพฤติกรรมออกจากลูก เช่น แทนที่จะพูดว่า “ทำไม่ทำแบบนี้นะ เป็นเด็กไม่ดีเลย”  ลองพูดว่า “ที่ทำนั่นมันไม่ดีนะ ลูกรู้ใช่มั้ย” ด้วยวิธีการพูดลักษณะนี้จะเป็นเหมือนการเตือนลูกของคุณ ว่าเขายังคงเป็นเด็กดีที่อาจจะเลือกทำในสิ่งที่ผิดได้ หรือ คุณอาจลองใช้ กลยุทธ์ 3 ขั้นตอน ที่เรียกว่า “การว่ากล่าวอย่างนุ่มนวล” ซึ่งในความเป็นจริงกลยุทธ์นี้สามารถใช้ได้กับคนรอบข้างและเพื่อนร่วมงานด้วยเช่นกัน

  • ขั้นตอนที่หนึ่ง: เสนอข้ออ้างสำหรับพฤติกรรมของลูก เริ่มต้นด้วยการพูดว่า“ แม่รู้ว่าลูกไม่ได้ตั้งใจ” หรือ“ ลูกคงเผลอไป” หรือ“ แม่เข้าใจว่าลูกพยายามทำให้ดี” สิ่งนี้จะบอกเขาว่าคุณรู้ว่าเขาเป็นเด็กดี และมีความตั้งใจดี แม้ว่าเขาจะทำอะไรผิดพลาดไปบ้างก็ตาม
  • ขั้นตอนที่สอง: บอกให้รู้ว่า ลูกทำอะไรผิด และสิ่งที่ทำส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร โดยพูดว่า “ถ้าลูกตีน้อง น้องจะเจ็บมาก” อาจกระตุ้นด้วยว่า  “ลูกไม่กลัวว่าน้องจะเจ็บบ้างเหรอ” กุญแจสำคัญของขั้นตอนนี้ คือการไม่ต่อว่าลูกด้วยคำพูดแรงๆ ตรงๆ เช่น ตีน้องทำไม? ทำไมนิสัยไม่ดีเลย! แต่ควรทำแค่โน้มน้าวให้ลูกเข้าใจถึงในความผิดของเขาก็เพียงพอแล้ว
  • ขั้นตอนที่สาม: อย่าปล่อยให้ลูกจมกับอดีต เด็ก ๆ ไม่สามารถกลับไปแก้ไขความผิดที่ได้ทำไปแล้ว และเราไม่ต้องการปล่อยให้พวกเขาจมปลักกับความรู้สึกไม่ดีกับตัวเอง ถามคำถามลูกเพื่อช่วยให้เขาวางแผนในการทำสิ่งต่างๆให้ถูกต้องในครั้งต่อไปได้ เช่น “ลูกจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยให้น้องรู้สึกดีขึ้น” คุณสามารถแนะนำวิธีการแก้ไขที่เป็นไปได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ ซึ่งอาจเป็นการให้ขอโทษ ปลอบโยน หรือเป็นการให้ลูกทำประโยชน์ เช่น ทำทำงานบ้านต่างๆ คัดแยกขยะรีไซเคิล กวาดบ้าน ล้างจาน เป็นต้น และเมื่อลูกทำสิ่งที่ดีหรือเป็นประโยชน์เพื่อเป็นการแก้ไขหรือขอโทษ ให้แสดงความขอบคุณลูกๆ อย่างจริงใจ

สร้างวินัยให้ลูก

4. ชื่นชมลูกอย่างมีศิลปะ

บางครั้งพ่อแม่เพียงชมลูกตามความรู้สึก แต่ในบางกรณี หากคุณพูดประโยคลักษณะนี้ เช่น “ ลูกเก่งมาก แข่งจักรยานชนะตลอดเลย” หรือ  “เขียนเก่งมากลูก สะกดไม่ผิดสักตัวเลย” ด้วย 2 ประโยคนี้จะทำให้ลูกรู้สึกว่าพวกเขาต้องเก่งให้สมกับคำพูดของคุณจนอาจเกิดเป็นความกดดันตัวเองในอนาคต และหากพลดขึ้นมาจะผิดหวังได้มากกว่าปกติ ทางที่ดีควรใช้ลักษณะการชมเชยถึงความพยายามของลูกจะดีกว่า

โดยคุณอาจพูดว่า“ แม่เห็นนะว่าลูกไม่ยอมแพ้เลย สุดท้ายก็ทำสำเร็จจนได้” หรือ“ พ่อชอบที่ลูกตั้งใจเรียนอย่างหนักเพื่อให้เขียนหนังสือได้ดีนะ”   หรืออีกวิธีหนึ่งที่คุณสามารถช่วยให้ลูกรู้สึกมีพลังในการนับถือตัวเองมากขึ้น คือการทำตัวเป็น “ผู้เล่าชีวประวัติ”

กล่าวคือ ให้หมั่นเล่าเรื่องราวให้ลูกฟังเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ลูกต้องต่อสู้ ผิดพลาดครั้งแล้วครั้งเล่า จนในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ เช่น อาจเล่าเรื่องในอดีตว่า “แม่จำได้ว่าตอนที่ลูกหัดขี่จักรยานครั้งแรกลูกล้มแล้วล้มบ่อยมาก แต่สุดท้ายลูกก็ขี่จักรยานเก่งจนได้นะ” มุ่งเน้นไปที่สิ่งที่เป็นรูปธรรม ให้ลูกรู้ว่าแม้ก่อนหน้านี้ลูกเคยทำสิ่งนี้ไม่ได้ แต่ตอนนี้ลูกทำได้อย่างดีแล้ว

5. สร้างวินัย โดยการให้เรียนรู้  ไม่ใช่ลงโทษ

การพยายามทำให้เด็กรู้สึกแย่ไม่น่าจะกระตุ้นให้เขาทำสิ่งต่างๆ ได้ดีขึ้น แต่การให้ผลลัพธ์ที่เป็นเหตุเป็นผลจะสามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ทักษะที่จะป้องกันไม่ให้เขาทำผิดซ้ำอีก สอนและพูดกับลูกให้ชัดเจน เช่น “ผิดวันนี้ไม่เป็นไรนะลูกคราวหน้ายังมีโอกาสแก้ตัวนะ” การส่งเสริมและรักษาความภาคภูมิใจในตนเองจะทำให้ลูกมีความมั่นใจว่าเขาจะพยายามให้มากขึ้น และจะทำได้ดีขึ้นในครั้งต่อไปได้ค่ะ

การสอนและปลูกฝังเรื่องระเบียบวินัย แนะนำสิ่งที่ถูกต้องเหมาะสมให้กับลูก ตลอดจนใช้เทคนิควิธีส่งเสริมให้ลูกมองเห็นคุณค่าในตัวเอง มีความนับถือตัวเองอย่างเหมาะสม ถือเป็นการเสริมสร้างทักษะความฉลาดอย่างรอบด้านด้วย Power BQ หลายด้านด้วยกัน อาทิ ความฉลาดทางคุณธรรม MQ, ความฉลาดทางอารมณ์ EQ , ความฉลาดต่อการเผชิญกับปัญหา AQ ,ความฉลาดในการคิดบวก OQ  ซึ่งทักษะแต่ละด้านนับว่าจำเป็นอย่างยิ่งที่เด็กในยุคศตวรรษที่ 21 ควรมีติดตัว เพราะทักษะสำคัญเหล่านี้จะช่วยให้เด็กๆ สามารถใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุข และมีโอกาสที่จะประสบความสำเร็จในชีวิตได้ไม่ยากค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : parents.com,activekids.com,verywellfamily.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

10 วิธีสร้างวินัยเชิงบวก : เมื่อ ลูกอาละวาด เอาแต่ใจ

7เทคนิคเลี้ยงลูกให้มั่นใจด้วยคำชมและ คำพูดให้กำลังใจ

5 เทคนิค สอนให้ลูกมีน้ำใจ เติบโตไป เป็นที่รักในสังคม

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up