สอนให้ลูกมีน้ำใจ

5 เทคนิค สอนให้ลูกมีน้ำใจ เติบโตไป เป็นที่รักในสังคม

Alternative Textaccount_circle
event
สอนให้ลูกมีน้ำใจ
สอนให้ลูกมีน้ำใจ

สอนให้ลูกมีน้ำใจ – สังคมที่เต็มไปด้วยผู้คนที่มีน้ำใจ มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมิตรไมตรีต่อกัน น่าจะเป็นสังคมในอุดมคติ ที่ใครๆ ก็อยากเห็น การที่มนุษย์คนหนึ่งจะมีนิสัยชอบช่วยเหลือ  มีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อเพื่อนมนุษย์ เป็นสิ่งที่ต้องได้รับการอบรมสั่งสอนมาตั้งแต่ยังเป็นเด็ก วันนี้เรามาติดตามเทคนิคในการสอนลูกแต่ละช่วงวัยให้ซึมซับนิสัยมีน้ำใจกันค่ะ ทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ที่ผู้ใหญ่อย่างเราที่จะคอยเฝ้าอบรมสั่งสอนให้ลูกเติบโตขึ้นไปเป็นคนที่มีจิตใจดีงามและเป็นที่รักของสังคมได้

คงจะไม่เกินเลยนัก หากจะกล่าวว่า ถ้าเราให้อะไรใครด้วยใจจริง เราก็จะได้รับสิ่งดีๆ กลับมาด้วยความจริงใจ การช่วยเหลือผู้อื่นก็สามารถช่วยเราได้เช่นกัน ตั้งแต่ยังเป็นเด็ก เราคงเคยได้ยินผู้ใหญ่คอยพร่ำสอนว่า “การให้ดีกว่าการรับ” แม้ว่าตอนนั้นเราอาจรู้สึกว่ามันเป็นถ้อยคำที่อาจฟังไม่ขึ้น แต่เบื้องหลังคำพูดนี้ มีความจริงมากมายซ้อนอยู่ในนั้นค่ะ

มีงานวิจัยชิ้นหนึ่ง ที่ศึกษาว่าการมีน้ำใจ จะส่งผลต่อชีวิตของคนเราอย่างไร ผลการศึกษาพบว่า คนที่มีน้ำใจในระดับสูง จะได้รับผลประโยชน์ต่างๆ ในชีวิตมากมายหลายประการ และต่อไปนี้ คือข้อดีของการเป็นคนมีน้ำใจที่ชัดเจนที่สุดจากผลการวิจัยค่ะ

ประโยชน์ 8 ประการของการมีน้ำใจ

1. พึงพอใจกับชีวิตมากขึ้น
โดยปกติแล้วมนุษย์ทุกคนต่างต้องการมีความสุขในชีวิต ความมีน้ำใจต่อเพื่อนมนุษย์ ก็เป็นเหมือนส่วนสำคัญของความสุขในชีวิตที่ว่านั้น โดย  74% ของผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มแรก (มีน้ำใจระดับสูง) ผลการศึกษาพบว่าพวกเขาพึงพอใจกับชีวิตของตนเอง เทียบกับผู้ตอบแบบสอบถามอีกกลุ่มหนึ่ง (มีน้ำใจระดับต่ำ) มีความพึงพอใจในชีวิตตนเอง 60% ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มแรกมีแนวโน้มที่จะพึงพอใจกับชีวิตของตัวเองมากกว่า

2. มีเพื่อนฝูงที่พร้อมช่วยเหลือกัน
ดูเหมือนว่าความมีน้ำใจสามารถช่วยเรื่องการมีเพื่อนฝูงที่คอยช่วยเหลือเกื้อกูลกันเสมอ มีรายงานว่าคนเหล่านี้ (มีน้ำใจในระดับสูง) จะมีเพื่อนมาก และเป็นเพื่อนที่เต็มใจที่จะช่วยเหลือพวกเขาเสมอ โดยผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มที่มีน้ำใจจะมีเพื่อนสนิทเฉลี่ย 3.2 คน ในขณะที่อีกกลุ่มหนึ่งมีเพื่อนสนิทเฉลี่ย 2.6 คน

3. มีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับคนรู้จัก
การมีสังคมที่ใหญ่ขึ้น ไม่ใช่ประโยชน์เพียงอย่างเดียวของการที่เราเป็นคนมีน้ำใจ แต่คนเหล่านี้ มักจะมีความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นกับผู้อื่น เนื่องจาก 66% ของพวกเขารู้สึกใกล้ชิดสนิทใจกับคนที่พวกเขารู้จักซึ่งเป็นเรื่องที่ดีต่อการอยู่ร่วมกันในสังคมได้อย่างมีความสงบสุข

4. มีความสุขกับอาชีพการงาน
จากการตอบแบบสอบถามพบว่า ผู้ที่มีน้ำใจสูง พึงพอใจกับงานของตนสูงถึง 70% ส่วนผู้ที่มีน้ำใจในระดับต่ำ มีเพียง 49% เท่านั้นที่มีความพึงพอใจกับการงานของตัวเอง

สอนลูกให้มีน้ำใจ
(เครดิต: Slate)

5. มองโลกในแง่บวก
มุมมองต่อชีวิตของตนเอง สามารถสร้างความแตกต่างและส่งผลกระทบต่อระดับของความสุขในชีวิตคเราได้ หากคุณเชื่อว่าสิ่งต่างๆ ที่คุณทำอยู่มีความสำคัญคุณอาจจะมีความสุขกับชีวิตของคุณมากขึ้น กลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามที่มีน้ำใจในระดับสูงเชื่อว่าชีวิตของพวกเขามีคุณค่าต่อผู้อื่นสูงถึง  81%   ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งรู้สึกว่าชีวิตของพวกเขามีค่าต่อผู้อื่นอื่นเพียง 77%

6. สุขภาพกายและใจดี
เนื่องจากคนที่มีน้ำใจต่อผู้อื่น มักมีความสุขและคิดบวก ส่งผลให้พวกเขามีสุขภาพจิตที่ดี คนที่มีน้ำใจมีโอกาสน้อยที่จะรู้สึกถึงอารมณ์เชิงลบต่างๆ รวมถึงความสิ้นหวังความหดหู่และความวิตกกังวล นอกจากนี้ผู้ที่ตอบแบบสอบถามที่อยู่ในกลุ่มที่มีน้ำใจในระดับสูง พบว่าพวกเขานิยมรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และออกกำลังกายเป็นประจำอีกด้วย

7. พึงพอใจในสิ่งที่มี
เป็นเรื่องปกติที่มนุษย์อย่างเราๆ อาจเกิดความรู้สึกอยากได้อยากมี ข้าวของเครื่องใช้ราคาแพงต่างๆ เช่น รถ หรือบ้านที่หรูหรา แต่สำคัญที่เราจะต้องมีความสุขกับสิ่งที่มีอยู่ด้วย จากลการศึกษาพบว่า หากคุณเป็นคนประเภทใจกว้างและมีน้ำใจดีงามเป็นทุนเดิม ความรู้สึกที่จะอยากได้อยากเป็นอยากมี จะน้อยกว่าคนทั่วไปอย่างมีนัยสำคัญ

8. นับถือตัวเอง
ความรู้สึกที่มีต่อตัวเอง สามารถส่งผลกระทบต่อทุกส่วนในชีวิตของคนเราให้ดีขึ้นหรือแย่ลง มีหลักฐานว่า วิถีชีวิตที่มีน้ำใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่จะส่งผลดีต่อความภาคภูมิใจในตนเอง เมื่อถามผู้ตอบแบบสอบถามว่าพวกเขาภูมิใจในตัวตนหรือไม่ มีถึง 74% ของกลุ่มที่มีน้ำใจสูงตอบว่าใช่ ส่วนอีกกลุ่มหนึ่งมีเพียง 51% ที่ตอบว่ารู้สึกภูมิใจในตัวเอง นอกจากนี้คนที่มีน้ำใจในระดับสูงมักตอบว่าพวกเขาใช้ชีวิตอย่างตั้งมั่นในศีลธรรมอันดีงามด้วย

เป็นอย่างไรกันบ้างคะกับผลการศึกษาของต่างประเทศที่ทำให้เห็นประโยชน์ของการเป็นคนมีน้ำใจว่าส่งผลดีต่อชีวิตของคนเราในด้านต่างๆ อย่างไร ทีนี้ ถ้าเราอยากปลูกฝังให้ลูกๆ ของเราเป็นคนมีน้ำใจ เพื่อให้พวกเขาเติบโตไปมีความสุขในสังคมที่เขาอยู่ พ่อแม่อย่างเราจะทำอะไรได้บ้าง เรามาติดตามเทคนิคดีๆ ต่อไปนี้กันเลยค่ะ

5 เทคนิค สอนให้ลูกมีน้ำใจ เติบโตไป เป็นที่รักในสังคม

ในแต่ละช่วงอายุของเด็ก จะมีวิธีการในการสอนและปลูกฝัง เรื่องความมีน้ำใจ ในรูปแบบที่แตกต่างกันออกไป ทั้งนี้ก็เพื่อความเหมาะสมกับพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย คุณพ่อคุณแม่ลองนำมาปรับใช้ดูได้ ดังนี้ค่ะ

 # อายุ 3 ถึง 5 ปี 

เด็กก่อนวัยเรียน จะเป็นเสมือนฟองน้ำก้อนน้อยๆ ช่างจะสังเกต จดจำ ซึมซับสิ่งต่างๆ ได้เร็ว และพร้อมที่จะเลียนแบบ  ที่สำคัญเป็นวัยที่พร้อมที่จะเข้าใจแนวคิดของการแบ่งปันและเรียนรู้วิธีทำสิ่งต่างๆ เพื่อตัวเองและผู้อื่นได้แล้ว ลองมองหาวิธีที่จะช่วยให้ลูก ๆ ของคุณฝึกเป็นผู้ให้ที่มีความสุขด้วยตัวเองได้ เช่น

  • ทำให้ลูกเห็น :  โดยการมีน้ำใจและเอื้อเฟื้อต่อผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือให้ลูกเห็นเป็นแบบอย่าง เช่น เก็บขนมไว้ในรถหรือกระเป๋าของคุณเพื่อแจกให้แก่คนยากไร้ที่พบเจอหรือนำสิ่งของไปเยี่ยมไข้เพื่อนบ้านที่กำลังป่วย เป็นต้น
  • พูดถึงผลที่ได้จากความมีน้ำใจ :  ชี้ให้ลูกเห็น เมื่อเห็นผู้อื่นที่มีน้ำใจต่อกัน  เช่น “ ดูนั่นสิลูก พี่เค้าแบ่งขนมให้เพื่อนๆ ทานด้วย เพื่อนๆ ดีใจกันใหญ่เลย ใช่มั้ย”
  • สอนเรื่องการให้ : เมื่อมีของขวัญที่จะมอบให้ใครในโอกาสพิเศษ ลองให้ลูกของคุณมีส่วนในการช่วยเลือกซื้อของ ห่อของขวัญ และมอบให้
  • ฝึกการต้อนรับเพื่อนบ้าน : โดยการต้อนรับเด็กคนอื่น ๆ เช่น ลูกของเพื่อนบ้านวัยเดียวกับลูก มาเล่นในบ้านของคุณ เพื่อให้เด็ก ๆ ได้ฝึกแบ่งปันพื้นที่ และของเล่นกับผู้อื่น
  • สอนให้กระชับ แต่ค่อยเป็นค่อยไป : เด็กวัยนี้ความสามารถด้านเหตุและผลอาจยังไม่เด่นชัด บางครั้งการยัดเยียด ในเรื่องการมีน้ำใจให้ลูกมากเกินไป อาจไม่ใช่เรื่องดี  ทางที่ดี พ่อแม่ต้องช่วยให้เด็ก ๆ ได้รู้ว่าพฤติกรรมของพวกเขาจะส่งผลกระทบต่อผู้อื่นอย่างไร  เช่น “แม่เห็นหนูแบ่งของเล่นชิ้นโปรดกับเพื่อนหนูด้วย แม่ดีใจจัง” นอกจากนี้ยังใช้กับพฤติกรรมเชิงลบได้   เช่น “แม่เห็นหนูทะเลาะกับเพื่อน แย่งของเล่นเพื่อน แม่ไม่มีความสุขเลยลูก” เป็นต้น

# อายุ 5 ถึง 11 ปี

พัฒนาการเด็กวัยเรียน จำเป็นต้องพัฒนาทักษะชีวิตและให้ลูกได้เรียนรู้ความสามารถในงาน และปฏิสัมพันธ์ทางสังคม ช่วยเด็ก ๆ เรียนรู้วิธีการเป็นส่วนหนึ่งของครอบครัวหรือสังคม  เช่น

  • สนับสนุนให้ลูกรู้ค่าของน้ำใจ : ด้วยการให้เงินลูกๆ เพียงเล็กๆ น้อยๆ  ตอบแทนจากการที่พวกเขามีน้ำใจ ช่วยพ่อแม่ทำงานบ้านตามที่ได้รับมอบหมาย  และให้พวกเขาเก็บเงินนั้นไว้ในกระปุกออมสิน พร้อมสอนเรื่องการใช้จ่ายอย่างประหยัดและมีประโยชน์
  • บริจาคสิ่งของแก่ผู้ยากไร้ : อาจบริจาคข้าวของที่ไม่ใช้แล้วของลูกๆ ให้องค์กรการกุศลต่างๆ  วิธีนี้ลูกๆ จะได้รู้จักกับคำว่า “ให้” นอกจากการที่เคยได้ “รับ” ฝ่ายเดียว
  • ให้เห็นคุณค่าของสิ่งของ :  ให้ลูก ๆ คัดของเล่นที่ไม่ต้องการแล้วเก็บไว้ จากนั้น ให้เรานำมาขายออนไลน์ก็ได้ค่ะ  รายได้ทั้งหมด หรือบางส่วน มอบให้กับองค์กรการกุศล หรือให้ลูกๆ ซื้อของเล่นชิ้นใหม่นำไปมอบให้องค์กรการกุศลเพื่อเป็นประโยชน์กับน้องๆ ผู้ยากไร้ต่อไป
  • อุปการะเด็กที่ขาดแคลน :  เราอาจพิจารณาอุปการะเด็กที่ยากไร้ โดยการส่งเงินหรือสิ่งของให้คนเหล่านี้  โดยให้บุตรหลานของคุณได้รับรู้ถึงความจำเป็นของเด็กๆ เหล่านี้ที่ต้องการความช่วยเหลือจากคุณ
  • สอนให้เป็นผู้ริเริ่ม :  ให้ลูกได้ลองทำกิจกรรมอาสาสมัคร ที่เหมาะสมกับวัยของลูก หรือที่สามารถทำร่วมกันเป็นครอบครัวได้ เช่น เก็บขยะตามชายหาด เป็นต้น

สอนให้ลูกมีน้ำใจ

# อายุ 12 ถึง 19 ปี

ในระยะนี้วัยรุ่นกำลังพัฒนาความรู้เป็นตัวของตัวเอง และมักมองไปที่พ่อ แม่ เพื่อน หรือ ครู เพื่อให้ช่วยตอบคำถามว่า“ ฉันคือใคร” การส่งเสริมความคิดริเริ่มในการดูแลผู้อื่นสามารถช่วยให้วัยรุ่นพัฒนาความเอื้ออาทรซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอัตลักษณ์ของพวกเขา

  • สร้างแบบจำลองการเงิน : ให้ลูกรู้ว่าคุณให้ความสำคัญกับการเก็บเงินไว้บางส่วนเพื่อแบ่งไปบริจาคเพื่อการกุศล
  • สอนให้รู้ค่าของเงิน : กระตุ้นเตือนให้ลูก ประหยัดในการใช้จ่าย  และมีระเบียบวินัยในการจัดการเรื่องเงินทองด้วยตัวเอง ให้ลูกรู้ว่ายังมีคนที่ลำบากอีกมากมาย ที่แม้เศษเงินเพียงเล็กน้อยที่ลูกอาจไม่เห็นค่า สามารถต่อชีวิตให้คนเหล่านี้ได้
  • สนับสนุนองค์กรการกุศล : ให้อธิบายเรื่องนี้กับลูก และส่งเสริมให้พวกเขามีส่วนร่วมด้วย
  • มีน้ำใจร่วมกัน : พาลูกวัยรุ่นของคุณและเพื่อนๆของลูก ไปบริจาคสิ่งของให้แก่ผู้ยากไร้ ให้ลูกๆ ได้เห็นถึงความมีน้ำใจของคุณ
  • สอนให้เป็นผู้ริเริ่ม : สอบถามลูกๆ ว่ามีเคสไหนที่ลูกอยากยื่นมือช่วยเหลือหรือไม่ สนับสนุนพวกเขาให้ทำบางสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม เช่น เป็นอาสาสมัคร หรือระดมทุนช่วยเหลือผู้ที่ขาดแคลน

สำหรับการสอนให้ลูกซึมซับในเรื่องความมีน้ำใจ รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ต่อผู้อื่นที่ยากลำบาก จะช่วยส่งเสริมให้ลูกมีทักษะด้าน ความฉลาดทางจริยธรรมหรือศีลธรรม(MQ)กล่าวคือ ลูกรู้จักการเห็นอกเห็นใจผู้อื่น มีความคิดดี และทำดี ทั้งนี้ สำหรับการมี MQ ที่ดีในเด็กอาจไม่ได้เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้น ๆ หากแต่เด็กๆ จำเป็นต้องได้รับการปลูกฝังอยากต่อเนื่องจากคุณพ่อคุณแม่หรือแม้แต่ครูอาจารย์ที่โรงเรียนด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : worldvision.org , fool.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

เปิดเทคนิค สอนลูกให้ใจแกร่ง ฟันฝ่าอุปสรรคชีวิตได้ราบรื่น

9 เทคนิคต้องรู้ สอนลูกให้ชอบอ่าน พ่อแม่ต้องทำแบบนี้!

7 เคล็ด(ไม่)ลับ สอนลูกให้ซื่อสัตย์ ตรงมาตรงไป โตไปไม่โกง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up