โรค คาวาซากิ สัญญาณเตือน

สังเกตสัญญาณเตือนจากเคสจริงโรค คาวาซากิ อันตราย!!

Alternative Textaccount_circle
event
โรค คาวาซากิ สัญญาณเตือน
โรค คาวาซากิ สัญญาณเตือน

โรค คาวาซากิ ในเด็กในช่วง 5-7 วันแรกสำคัญ หากได้รีบรักษา จะช่วยป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่ทำให้เสียชีวิตได้ การสังเกตสัญญาณอันตรายช่วยลูกได้เหมือนเคสจริงนี้

สังเกตสัญญาณเตือนจากเคสจริงโรค คาวาซากิ อันตราย!!

คาวาซากิ (Kawasaki disease) คือ กลุ่มอาการของโรคที่ประกอบด้วยไข้สูง ร่วมกับมีการเปลี่ยนแปลงของผิวหนัง เยื่อบุผิว และต่อมน้ำเหลืองที่คอโต พบบ่อยในเด็กชาวเอเชีย โดยเฉพาะที่ประเทศญี่ปุ่น เกาหลี ไต้หวัน และ ประเทศจีน ส่วนในชาวยุโรปและอเมริกาพบได้น้อย และพบได้น้อยมากในเด็กชาวผิวดำ ซึ่งโรคนี้พบมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย แต่ยังไม่ทราบถึงอุบัติการณ์ที่แน่ชัด และไม่สัมพันธ์กับฤดูกาล

ระยะของโรคคาวาซากิ แบ่งได้เป็น 3 ระยะ

  1. ระยะ เฉียบพลัน (Acute stage)
  2. ระยะ Subacute stage
  3. ระยะ Convalescent stage

ดังนั้น การให้การวิเคราะห์โรคตั้งแต่เนิ่นๆ โดยเฉพาะ ภายใน 5-7 วันแรกของโรคมีความสำคัญมากเพื่อรีบให้การรักษา เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อนที่อาจเกิดขึ้นที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery)

แผลที่ปลูกฝีบวมแดง สัญญาณเตือนโรค คาวาซากิ
แผลที่ปลูกฝีบวมแดง สัญญาณเตือนโรค คาวาซากิ

ศึกษาสัญญาณเตือนจากเคสจริง!!

ทีมแม่ ABK ได้รับโอกาสถ่ายทอดเรื่องราวของคุณแม่ใจดีท่านหนึ่ง ที่เล่าประสบการณ์ของลูกมาให้เป็นอุทาหรณ์แก่คุณแม่ท่านอื่น ในการสังเกตสัญญาณเตือน อาการจากโรคคาวาซากิ เพราะยิ่งเจอเร็ว จะได้รีบรักษาลดอัตราการสูญเสียได้มาก

เรื่องราวของการป่วยหนักของลูกชาย ที่รุนแรงที่สุด จนเกือบถึงชีวิต หากได้รับการรักษาไม่ทันการณ์…ว่าด้วยเรื่องของโรค #คาวาซากิ
น้องตอนอายุ 9 เดือน เริ่มมีอาการท้องเสียในช่วงเช้า ถ่ายเป็นน้ำไม่หยุด และเริ่มมีไข้จาก 38.7 ในช่วงบ่าย แม่กับพ่อตัดสินใจพาไป ร.พ. เอกชน ประจำตัวลูก ไปถึงคุณหมอก็ตรวจและให้แอดมิททันที พยาบาลจัดยาชุดใหญ่สำหรับลดไข้และฆ่าเชื้อมาให้ คุณหมอสันนิษฐานว่าน่าจะมาจากได้รับเชื้อแบคทีเรียจากไข่ไก่ อยู่ที่ ร.พ. 7 วัน อาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น แต่อาการไข้ยังมีสวิง ขึ้นลง เนื่องจากค่ารักษาค่อนข้างสูง พ่อกับแม่เลยตัดสินใจขอพาน้องกลับมาดูแลต่อเองที่บ้าน เพราะอาการท้องเสียเริ่มดีขึ้น
พอกลับมาถึงบ้าน น้องทานอาหารและนมได้น้อยลง ตัวร้อนขึ้น แม่ก็เช็ดตัวให้ตลอด และให้กินยาแก้ไข้กับยาฆ่าเชื้อที่คุณหมอจัดมาให้ แต่อาการก็ยังสวิง วัดไข้ทุกชั่วโมงได้ 40.2 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บวกกับอาการอื่นๆ ที่เพิ่มเข้ามาคือ ตาลูกเริ่มแดง และมีอาการอักเสบบริเวณที่ฉีดปลูกฝี มีรอยแตกเป็นเส้นๆ ขยายออกมา (ถ้าคนที่ดูหนังซอมบี้ จะมีลักษณะคล้ายแบบนั้นเลย) เลยตัดสินใจรีบพาลูกไป ร.พ.อีกครั้ง ครั้งนี้ไปที่ ร.พ.ธรรมศาสตร์รังสิต ซึ่งเป็นอีก ร.พ.ที่น้องต้นน้ำไปรักษาตัวอยู่ประจำ
เมื่อไปถึงพยาบาลคัดกรองวัดไข้ วัดความดันให้ ปรากฏว่า ไข้ขึ้นสูงถึง 41.8 เลยส่งไปที่ห้องฉุกเฉิน เมื่อไปถึงเราก็ไม่ได้รับการตรวจรักษาในทันทีเนื่องจากคนไข้ฉุกเฉินเยอะ ต้องเป็นไปตามคิว แม่เข้าไปห้องฉุกเฉินกับน้อง และต้องคอยเช็ดตัวให้ตลอด ผ่านไปเกือบ 2 ชั่วโมง คุณหมอจึงมาแจ้งให้แอดมิท เพราะประสานไปที่ ร.พ.ที่รักษาก่อนหน้านี้แล้ว ได้ผลตรวจที่มีความเสี่ยงติดเชื้ออย่างอื่น เมื่อแอดมิท คุณหมอประจำตัวและคุณหมอท่านอื่นก็มาตรวจดูอาการ แต่ที่สงสารลูกจับใจคือ ลูกไข้ขึ้นสูง ไม่ลงเลย แตะที่ 41-42 กว่าๆ ตลอด คุณหมอเจาะเลือดไปดูผล ก็มาแจ้งผลว่ายังหาสาเหตุไม่ได้ อาการไม่ใช่ RSV ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่ จึงต้องหาสาเหตุการป่วยต่อ ผ่านไป 1 วัน พยาบาลก็มาช่วยกันเช็ดตัว เช็ดแบบแทบจะอาบให้ลูกเลย เช็ดแรงมากๆ พยาบาลบอกว่าถ้าไม่ทำแบบนี้ไข้จะไม่ลง และกลัวเด็กตัวร้อนจนชัก เลยมาเช็ดตัวให้ทุก 2 ชั่วโมง ลูกร้องไห้หาพ่อกับแม่ตลอด ส่งสายตาให้ช่วย แต่เราทำอะไรไม่ได้ ได้แต่ให้กำลังใจลูก เพราะคุณพยาบาลทำหน้าที่ได้ดีมากๆ พูดเพราะทุกคน ใจดีกับน้อง และเอ็นดูน้อง หลังจากเช็ดตัวและกินยาไข้ก็ลงมาแต่ก็ยังสูงอยู่ที่ 40-42 อยู่ดี

เช้าวันต่อมา อาจารย์หมอมาตรวจดูอาการจับตัวน้อง แล้วบอกทันทีนี่คือ อาการของโรค #คาวาซากิ โรคคาวาซากิ เป็นโรคที่มีการอักเสบของหัวใจ และหลอดเลือดแดงในเด็ก จะมีอาการอักเสบ 5 อย่างในตัวเด็ก และยังหาสาเหตุการเกิดของโรคนี้ไม่ได้ จุดกำเนิดมาจากญี่ปุ่น

สัญญาณเตือนโรค คาวาซากิ ที่พ่อแม่ต้องสังเกต
สัญญาณเตือนโรค คาวาซากิ ที่พ่อแม่ต้องสังเกต

อาการเตือนที่พ่อแม่ต้องสังเกตลูกน้อย

  1. เด็กจะมีไข้สูง ถ้าไม่ได้รับการรักษาไข้จะสูงนาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  2. อาการตาแดง โดยเยื่อบุตาขาวจะแดง 2 ข้าง ไม่มีขี้ตา และเป็นหลังมีไข้ประมาณ 1-2 วัน และเป็นอยู่นาน ประมาณ 1-2 สัปดาห์
  3. มีการเปลี่ยนแปลงของริมฝีปากและภายในช่องปาก โดยริมฝีปากแดงแห้ง เป็นอยู่ประมาณ 1-2 สัปดาห์และผิวหนังริมฝีปากอาจแตกแห้ง เลือดออกและผิวหนัง หลุดลอกได้ ภายในเยื่ออุ้งปากจะแดงและลิ้นจะแดงคล้ายลูกสตรอเบอรี่ (Strawberry tongue)
  4. ฝ่ามือและฝ่าเท้าจะบวมแดงแต่ไม่เจ็บ หลังจากนั้นจะมีการลอกของผิวหนังบริเวณปลายนิ้วมือและนิ้วเท้า (ประมาณ 10-14 วันหลังมีไข้) และอาจลามไปที่ฝ่ามือฝ่าเท้าได้ บางรายเล็บอาจหลุดได้ หลังจากนั้นบางราย 1-2 เดือนจะมีรอยขวางที่เล็บ (Beau’s line)
  5. ผื่นตามตัวและแขนขา มักเกิดหลังมีไข้ 1-2 วัน และมีได้หลายแบบ และผื่นอยู่นานประมาณ 1 สัปดาห์ บางรายมีผื่นแถวอวัยวะเพศร่วมด้วย และพบประมาณ 60% มีผื่นแดงที่บริเวณฉีดยากันวัณโรดที่หัวไหล่ร่วมด้วย
  6. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต โดยพบประมาณร้อยละ 50-70 ของผู้ป่วย ขนาดโตกว่า 1.5 ซม. แต่ไม่เจ็บ
  7. อาการแสดงอื่นๆ ที่อาจเกิดร่วมด้วย ได้แก่ ปวดตามข้อ ทางเดินปัสสาวะอักเสบแบบไม่ติดเชื้อ ปวดท้อง ท้องเสีย เยื่อหุ้มสมองอักเสบ มีการเปลียนแปลงการทำงานของตับ และบางรายมาด้วยอาการช็อก

ทั้งนี้ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการแสดงไม่ครบตามข้อกำหนด (criteria) เรียกภาวะนี้ว่า Incomplete Kawasaki Disease หรือ Atypical Kawasaki disease เป็นต้น

จากอาการเตือนที่คุณหมอได้ให้พ่อแม่ไว้สังเกตอาการของลูกข้างต้น จะพบอาการของน้องจากเคสจริงของคุณแม่ได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งคุณแม่เจ้าของเคสก็ได้สรุปอาการของลูกที่เป็นเหมือนสัญญาณเตือนเอาไว้ ดังนี้

อาการที่เป็นเกณฑ์ และที่พบในตัวลูก คือ ตาแดง/ปากบวมแดง ลิ้นแห้ง/มือบวมแดง/และมีความอักเสบที่แผลฉีดฝี
อาจารย์หมอสั่งให้ไป เอคโค่ตรวจหัวใจด่วน เพราะโรคนี้ส่งผลให้หลอดเลือดแดงที่เลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบโป่งพอง (coronary aneurysm) กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ้นหัวใจอักเสบ หัวใจเต้นผิดจังหวะซึ่งภาวะแทรกซ้อนดังกล่าวเป็นสาเหตุให้เกิดการเสียชีวิตได้

เอคโค่คืออะไร??

การตรวจเอคโค่ที่คุณแม่เจ้าของเคสได้กล่าวถึง นั่นคือ  Echocardiogram

ตรวจให้รู้ว่าเป็น “โรค คาวาซากิ” หรือไม่…ได้ด้วยวิธีนี้

การตรวจวินิจฉัยโรคคาวาซากินั้น อาศัยประวัติและการตรวจร่างกายพบความผิดปกติดังกล่าว ร่วมกับการวิเคราะห์แยกโรคจากสาเหตุอื่น รวมทั้งการตรวจเลือด การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก และทำ Echocardiogram เพื่อตรวจดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดหรือไม่ และทำ Echocardiogram ฃ้ำหลังการรักษา เพื่อดูว่ามีโรคแทรกซ้อนที่หัวใจและหลอดเลือดเลี้ยงหัวใจหรือไม่ และถ้ามี..ระดับโรครุนแรงแค่ไหน เพื่อวางแนวทางการรักษาต่อไป

ไข้สูง ไม่ลง อาการเตือนอย่างหนึ่ง
ไข้สูง ไม่ลง อาการเตือนอย่างหนึ่ง
ไปตรวจคุณหมอพบว่า เส้นเลือดหัวใจเริ่มขยายตัวขึ้นจากเดิม 0.7 มม. ต้องรีบให้ยารักษาด่วน ซึ่งยาตัวนี้ราคาสูงมาก 16,000 บาท ต้องฉีด 2 ครั้ง และต้องสังเกตอาการ หากฉีดไปแล้วร่างกายน้องตอบรับ สิ่งแรกคือไข้จะลดลง อาการอักเสบต่างๆ ในร่างกายจะลดลงตามลำดับ และต้องให้ยาแอสไพรินควบคู่ในการรักษาด้วย แต่ถ้าร่างกายน้องไม่ตอบรับตัวยา ก็เสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจเฉียบพลันและเสียชีวิตได้
ตอนนั้นบอกเลยว่าค่ายาแพงขนาดนี้ บวกกับห้องที่แอดมิท แม่จ่ายไม่ไหวแน่ๆ โชคดีที่น้องใช้สิทธิ์ 30 บาทรักษาตัวที่นี่อยู่ คุณหมอพรทิพา และคุณหมอท่านอื่นจึงรวมกันลงชื่อให้น้องสามารถใช้สิทธิ์ 30 บาทในการจ่ายค่ายาตรงนี้ได้ (แต่ค่าห้องแม่ต้องจ่ายเองตามปกติ) หลังจากเดินเรื่องเสร็จ ก็ได้เบิกยามาฉีด ทำการรักษาทันที
ผ่านไปเพียงไม่ถึง 1 ชั่วโมง อาการไข้ของลูกเริ่มลดลงตามลำดับจาก 41 กว่าๆ ลงมาเหลือ 38 กว่าๆ หรือมีอาการไข้ต่ำๆ แสดงว่าร่างกายน้องตอบรับกับตัวยา ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่ดีมากๆ เพราะตอนนั้นคุณหมอ และพ่อกับแม่เองก็ลุ้นสุดๆ พอได้ยาเข็มที่ 2 อาการไข้ก็ลงมาเกือบจะปกติ ไม่มีอาการอักเสบที่มือ และตาเริ่มหายแดง เรารักษาตัวและรอดูอาการอยู่ที่ ร.พ. 10 วัน และได้ตรวจเอคโค่หัวใจก่อนกลับพบว่าอาการอักเสบที่หัวใจเริ่มปกติ ไม่พองตัวแล้ว คุณหมอจึงให้กลับบ้านได้ พร้อมนัดติดตามอาการทุกๆ 3 เดือน และให้ยาแอสไพรินมากิน ข้อเสียของการกินยานี้คือทำให้เด็กเบื่ออาหารและต้องระวังเรื่องโรคกระเพาะ
อาการของโรคนี้ค่อยดีขึ้นตามลำดับ แต่น้องยังต้องกินยาตลอด จนน้ำหนักตัวของน้องไม่เพิ่มขึ้นเลย ไปตามหมอนัดตรวจอาการและเอคโค่หัวใจทุก 3 เดือน ก็ยังมีอาการเส้นเลือดพองในช่วงแรกๆ แต่ไม่มากจนต้องทำการรักษา เลยต้องกินยาแอสไพรินต่อไป จนอายุ 1 ขวบ 8 เดือน (น้ำหนักน้องไม่ขึ้นเลย อยู่เท่าเดิมที่ 9.6-9.8 kg.) หลังการตรวจครั้งสุดท้ายคุณหมอพบว่าเส้นเลือดหัวใจเป็นปกติ จึงให้หยุดยา
หลังจากหยุดยา น้องก็ทานอาหารได้เยอะขึ้น ร่างกายแข็งแรงขึ้น จากเด็กน้อย ตัวเล็กหัวโตเหมือนปลาช่อน เป็นเด็กเบิ่ม 3 ขวบครึ่ง 21.6 kg. ในตอนนี้

ตอนน้องป่วยสิ่งที่น้องต้องการที่สุดคือแม่และพ่อ เราตัวติดกัน นอนกอดกันเป็นลูกลิงน้อย วางไม่ได้เลย สงสารลูกที่สุด…แต่ถึงน้องจะป่วยแต่น้องก็ยังร่าเริง ยิ้มได้ จนเป็นที่เอ็นดูของคุณหมอและพยาบาล

รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน
รู้เร็ว รักษาทัน ป้องกันภาวะแทรกซ้อน

การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรค

การพยากรณ์โรคและการดำเนินโรคจะดีถ้าผู้ป่วยไม่เกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ และเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ ก่อนและหลังการรักษา โดยหลังจากไข้ลดลงแล้ว ต้องทานยากันเลือดแข็งตัว (Aspirin) ต่ออีกนานประมาน 60 วัน ของโรค หรือจนกว่าเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจโป่งพอง (aneurysm) กลับเป็นปกติ

กรณีที่ผู้ป่วยไม่มีการแทรกซ้อนที่หัวใจและเส้นเลือดเลี้ยงหัวใจ (coronary artery) หลังได้รับการรักษาสามารถเล่นและทำกิจกรรมได้เหมือนเด็กปกติทั่วไป มีประมาณร้อยละ 5-7 ของผู้ป่วย ที่มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อนที่หัวใจ โดยเกิดเส้นเลือดโป่งพอง ( เช่น coronary artery aneurysm ขนาดเกิน 4- >10 มม. เป็นต้น) ซึ่งผู้ป่วยกลุ่มนี้มีโอกาสที่จะเสียชีวิตได้ จึงควรให้รับการรักษาดูแลอย่างต่อเนื่องจากกุมารแพทย์โรคหัวใจ ด้วยการตรวจ Echocardiogram เป็นระยะ ตามความเหมาะสมของโรคแทรกซ้อน รวมทั้งบางรายอาจต้องทำ Exercise Stress Test, Computer Tomography (CT) และการสวนหัวใจ เพื่อดูความรุนแรงของโรค และวางแผนการรักษาต่อเนื่องได้อย่างถูกต้อง จนถึงเป็นผู้ใหญ่

*เด็กที่ป่วยเป็นโรคนี้ และได้รับการรักษาด้วย ยา Intravenous Gammaglobulin (IVIG) จะต้องเว้นการรับ Vaccine ชนิดมีตัวเป็นเวลา 7-9 เดือน นับจากได้รับยารักษา

โรคนี้สามารถเกิดเป็นซ้ำได้ ประมาณ 3-3.5 % หรือ 6.89 คนต่อผู้ป่วยเด็ก 1000 ราย ต่อปี โดยเฉพาะผู้ป่วยเด็กที่มีโรคแทรกซ้อน และพบได้บ่อยในเด็กที่อยู่ในครอบครัวเดียวกัน หรือมีสายสัมพันธ์กันทางสายเลือด โดยพบประมาณ 1-2%

จะบอกว่า สิ่งที่คุณหมอบอกมาคือ การเป็นโรคคาวาซากิ ถ้าได้รับการรักษาช้า หรือไม่ได้รับยา เราอาจต้องเสียลูกไป ดีที่แม่กับพ่อสังเกตอาการและไม่รอช้าที่จะพาลูกมาพบแพทย์
กรณีของลูกที่มีการอักเสบที่บริเวณปลูกฝี คือเป็นเคสกรณีศึกษาที่อาจารย์หมอ ให้คุณหมอและนักศึกษาแพทย์ท่านอื่นมาเอาไปเป็นเคสตัวอย่าง เพราะไม่ค่อยได้พบเจอมากนัก
ขอขอบคุณ : คุณหมอและพยาบาลที่ ร.พ.ธรรมศาสตร์รังสิตทุกท่านที่ทำให้น้องผ่านพ้นช่วงที่ป่วยหนักที่สุดในชีวิตมา
ขอขอบคุณเรื่องราวที่ร่วมแบ่งปันและภาพประกอบ จาก Tonnam Kids Shop

สัญญาณเตือนเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ให้ผลที่คุ้มค่า แลกกับระยะเวลาที่รวดเร็วในการที่ลูกจะได้เข้ารับการรักษาได้อย่างทันท่วงที เหมือนอย่างเคสจริงของคุณแม่ ที่เฝ้าสังเกตอาการของลูกอย่างใกล้ชิด และไม่ละเลยเห็นว่าเป็นอาการเล็กน้อยรีบพาลูกเข้าไปพบคุณหมอ ทำให้น้องรักษาได้ทัน ไม่ต้องพบเจอกับเรื่องเศร้า และความสูญเสีย จึงอยากขอเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะแชร์ความรู้ให้กับคุณพ่อคุณแม่ทุกคนในการศึกษาอาการเตือนของโรคต่าง ๆ  และคอยสังเกตลูกเมื่อมีอาการผิดปกติใด ๆ อย่ารีรอรีบไปพบกับผู้เชียวชาญ พบแพทย์ เพราะชีวิตลูกน้อยสำคัญกว่าสิ่งอื่นใด

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจากบทความ พ่อแม่ต้องรู้ทัน!สัญญาณเตือน โรคคาวาซากิในเด็ก
ของ นพ.วัชระ จามจุรีรักษ์ กุมารแพทย์เฉพาะทางด้านหัวใจ รพ.พญาไท2
อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

โรคคาวาซากิ อาการ ที่ต้องระวัง อันตรายจากภาวะแทรกซ้อนถึงชีวิต

แม่ลูก หัวใจเต้น พร้อมกันไหม จะเริ่มได้ยินเสียงหัวใจลูกเมื่อไหร่

แม่ตั้งครรภ์ เป็นโรคหัวใจ อันตรายกว่าที่คิด

วัคซีนโควิด-19 ในเด็ก : ทำความเข้าใจ ปลอดภัย หายห่วง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up