วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง

วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง การเตรียมพี่ให้พร้อม ก่อนมีน้องอีกคน

Alternative Textaccount_circle
event
วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง
วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง

แม่แอน อลิชา ยอมรับว่า เคยกังวลกับลูกคนโตว่าจะอิจฉาน้องตัวเอง พร้อมเผย วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง แม่แอนกับพ่อภูริต้องช่วยกันอธิบาย พร้อมกับให้พี่สาวคนโตมีส่วนร่วมในการช่วยเลี้ยงน้องสาว

วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง การเตรียมพี่ให้พร้อม ก่อนมีน้องอีกคน

เรื่องน่าหนักใจ ก่อนตัดสินใจมีลูกอีกคน มาดูเคล็ดลับ วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง และการเตรียมพี่ให้พร้อมก่อนมีน้อง เพื่อให้เด็ก ๆ เรียนรู้และเข้าใจถึงการมีสมาชิกครอบครัวคนใหม่เพิ่มขึ้นมา

วิธีเลี้ยงลูกคนโต เมื่อมีน้อง

ปัญหาพี่น้องอิจฉากัน โดยเฉพาะคนพี่ เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ในหลายครอบครัว แม้ว่าจะพยายามให้ลูกเข้าใจมากแค่ไหนว่า พ่อแม่รักลูกเท่ากัน แต่ด้วยความเป็นเด็ก ต้องอาศัยเวลากว่าจะเรียนรู้ในเรื่องนี้ ไม่เว้นแม้แต่ แม่แอน อลิชา ที่แอบกังวลเหมือนกันว่าพี่ริชาอิจฉาน้องตัวเอง

คุณแม่คนสวย แอน-อลิชา หิรัญพฤกษ์ เล่าถึงน้องริชา ลูกสาวคนโต ที่แอบอิจฉาน้องลิษา สมาชิกใหม่ของบ้าน โดยยอมรับว่า แม่แอนเองก็กังวลหลังมีลูกคนที่สอง กลัวว่าพี่สาวคนโตอย่างน้องริชาจะไม่เข้าใจ

แม่แอนยอมรับว่า ก่อนหน้านี้กลัวว่าลูกสาวคนโตจะเข้ากับน้องไม่ได้ มีความรู้สึกกังวลมาก ซึ่งน้องริชาก็มีอิจฉาน้องลิษาอยู่นิดหน่อย เพราะเคยเป็นที่หนึ่ง ตอนนี้ลูกสาวคนโตจะเกาะพ่อมาก รู้สึกหวงพ่อ โดยเฉพาะเวลาที่พ่อจะเล่นกับน้องก็จะมานัวเนีย ไม่เป็นกับแม่เพราะลูกเข้าใจว่า แม่ต้องดูแลน้องและต้องให้นมน้อง

ส่วนวิธีเลี้ยงลูกสาวคนโต หลังจากที่มีน้องเพิ่มอีกคน คุณแม่แอน เล่าว่า ต้องอธิบายให้ลูกฟัง เช่น บอกลูกคนโตว่า ที่น้องทำแบบนี้ ที่แม่ทำแบบนี้ เพราะอะไร

“น้องเป็นแบบนี้นะ ถ้าหนูอยากให้น้องเก่ง หนูต้องช่วยแม่” วิธีนี้ทำให้พี่สาวรู้สึกภูมิใจที่มีหน้าที่ช่วยเหลือแม่และไม่ถูกแม่กันออกไป ส่วนการวางแผนสำหรับลูกคนที่สามนั้น ขอพักก่อน เพราะตอนนี้สองคนกำลังพอดี

การเลี้ยงลูกแบบแม่แอน จึงเป็นอีกหนึ่งวิธีที่เหมาะสม ด้วยการให้คนพี่มีส่วนร่วมในการเลี้ยงดูน้อง ช่วยให้พี่รู้สึกภูมิใจ ทั้งยังเสริมสร้างความผูกพันในครอบครัวอีกด้วย

การเตรียมพี่ให้พร้อม ก่อนมีน้องอีกคน

หากคุณพ่อคุณแม่วางแผนอยากมีลูกอีกสักคน ควรทำให้ลูกคนโตคุ้นเคยกับคำว่า พี่น้องเสียก่อน ด้วยการเล่านิทานที่เกี่ยวกับพี่น้องให้ฟัง บอกลูกว่าการมีพี่น้องนั้นดีอย่างไร ถ้าลูกอยู่ในวัยที่โตพอจะรู้เรื่องแล้ว ลองชวนลูกคุยเรื่องการมีน้องเป็นสมาชิกใหม่ในครอบครัว ลูกอาจจะแสดงความรู้สึก หรือพูดความคิด ความต้องการออกมา ซึ่งจะช่วยให้พ่อแม่เข้าใจได้ว่า ลูกคิดอย่างไรกับการมีน้อง ถ้าลูกกังวลว่า น้องจะมาแย่งความรักไป ก็ให้ค่อย ๆ อธิบายเพื่อเรียกความมั่นใจของลูกให้มากขึ้นว่า ถึงแม้แม่จะมีน้องก็ยังรักลูกเท่าเดิมอยู่ดี

รู้ตัวว่าท้องจะเริ่มบอกลูกอย่างไร

  1. เมื่อคุณแม่ตั้งครรภ์แล้ว ให้ค่อย ๆ บอกลูกว่า ลูกกำลังจะมีน้องแล้วนะ อาจหาภาพทารกให้ดู หรือเล่าเรื่องครอบครัวอื่น ๆ ว่าการมีพี่น้องดีอย่างไร ทำให้พี่มีเพื่อนเล่น น้องมาช่วยสร้างความสุขให้กับครอบครัว
  2. เปิดโอกาสให้ลูกได้ใกล้ชิดกับน้องในท้อง ให้ลูกสัมผัส ลูบท้องของแม่ ฟังเสียงของน้อง และคุยกับน้องในท้องแม่
  3. ระหว่างที่แม่ตั้งครรภ์อยู่ จำเป็นต้องซื้อของเข้าบ้าน ก็ควรให้พี่มีส่วนร่วมในการเลือกซื้อของด้วย ตอนพาคนพี่ไปซื้อของให้น้อง ลองถามพี่ว่า อยากให้น้องใช้สีอะไร ถ้าเป็นของเล่นก็ซื้อให้พี่ด้วยเหมือนกัน ให้ลูกคนโตช่วยเลือกว่าจะซื้อสีอะไรให้น้อง และเลือกว่าคนพี่อยากได้สีอะไร
  4. ในช่วงคุณแม่ตั้งครรภ์จนคลอดน้องออกมา อาจมีหลายอย่างที่คนเป็นพี่ต้องปรับตัว หรือมีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตประจำวัน ให้พูดคุยกับลูกเสมอ บอกให้รู้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง เช่น ตอนที่แม่คลอดน้อง จะให้คุณย่ามาอยู่กับพี่ ช่วยเลี้ยงพี่ระหว่างนั้น หรือหากจำเป็นต้องย้ายห้องนอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงใดที่เกี่ยวข้องกับลูกคนโต ไม่ควรเปลี่ยนปุบปับ ควรบอกให้ลูกรู้ล่วงหน้า เด็กจะได้ไม่รู้สึกว่า น้องเข้ามาทำให้ชีวิตเปลี่ยนแปลง
  5. ปัจจุบันนี้ การติดต่อสื่อสารเชื่อมโยงให้ครอบครัวอยู่ใกล้กันมากขึ้น ถ้าลูกคนโตจำเป็นต้องห่างจากพ่อแม่ ควรติดต่อลูกบ่อย ๆ โทรศัพท์หาลูก หรือวิดีโอคอลคุยกัน ย้ำกับลูกเสมอว่าพ่อแม่รักและอยากอยู่ใกล้

ยิ่งมีน้อง ยิ่งต้องให้ความสำคัญกับลูกคนโต

  • หลังจากที่แม่คลอดน้องออกมา ควรให้ลูกคนโตได้ไปรับน้องกลับบ้านด้วย หรือตอนที่กลับบ้าน ควรให้คนอื่นช่วยอุ้มน้อง แล้วแม่ก็เข้าไปหาลูกคนโต พูดคุย สัมผัส สอบถามความรู้สึกต่าง ๆ เพื่อย้ำเสมอว่าเขามีความสำคัญไม่น้อยไปกว่าน้องเลย
  • พี่ควรมีส่วนร่วมเสมอในการเลี้ยงน้อง ควรสอนพี่ด้วยว่าต้องเล่นกับน้องอย่างไร เพราะน้องตัวเล็กยังไม่แข็งแรง เช่น พี่ต้องล้างมือก่อนเล่นกับน้องนะ หรือลูบน้องเบา ๆ โดยที่พ่อแม่คอยจับมือพี่ ค่อย ๆ ลูบน้องอย่างเบามือ
  • พ่อแม่ คนในครอบครัว ต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิดเมื่อพี่เล่นกับน้อง เพราะเด็กอาจหมั่นเขี้ยวกัน หรือเผลอเล่นรุนแรง ถ้าเกิดพี่เล่นแรงจนน้องร้องไห้ อย่าเพิ่งโมโหหรือดุว่าพี่นะคะ จะยิ่งทำให้คนพี่รู้สึกอิจฉาน้องมากขึ้นได้
  • หมั่นเตือนคนในครอบครัวและคนรอบข้าง ให้ระวังคำพูดกับพี่คนโต ไม่ควรพูดเรื่องน้องมาแย่งความรักหรือพี่จะกลายเป็นหมาหัวเน่า เพราะเรื่องขำ ๆ ของผู้ใหญ่ เด็กไม่ขำด้วย ซ้ำยังฝังใจ จนทำให้รู้สึกอิจฉาน้องขึ้นมาได้
  • หากมีของขวัญหรือของฝากสำหรับเจ้าตัวเล็ก ควรเตรียมของขวัญสำหรับพี่คนโตด้วยเช่นกัน

ทำไงดี! คนพี่อิจฉาน้อง

แม้ว่าพ่อแม่จะพยายามมากแค่ไหนในการเลี้ยงดูลูกคนโต เมื่อมีน้อง แต่ก็ห้ามความรู้สึกของเด็กได้ยาก จากลูกคนโตที่เคยได้รับความรักเต็ม ๆ ก็ถูกสมาชิกใหม่ในครอบครัวดึงความสนใจไปจากพ่อแม่และญาติพี่น้อง ความรัก ความสนใจ ที่เคยมีให้แค่พี่คนเดียว ก็ถูกแบ่งปัน แต่ทุกปัญหามีวิธีแก้ไขเสมอ

  • เมื่อรับรู้ได้ว่า พี่อิจฉาน้อง พ่อแม่ควรทำความเข้าใจ สอบถามลูก พร้อมกับแสดงความเห็นอกเห็นใจและเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้น
  • เด็กอาจแสดงพฤติกรรมเพื่อเรียกร้องความสนใจ ทั้งแง่ดีและแง่ไม่ดี พ่อแม่จึงต้องตั้งสติ ชวนลูกมาพูดคุย เปิดเผยความรู้สึก ให้ลูกคนโตได้ระบายสิ่งที่อัดอั้นอยู่ในใจ โดยที่พ่อแม่ไม่ต้องไปตัดสิน เพียงแค่รับฟัง โอบกอด และทำให้ลูกมั่นใจว่า ทุกคนยังรักลูกเหมือนเดิม
  • ถ้าลูกคนโตรู้สึกว่าน้องได้รับความสนใจมากกว่า พ่อแม่ควรสลับมาให้เวลากับลูกคนโตมากขึ้น หากแม่อยู่กับน้องตลอดเวลา ก็สลับให้คุณพ่อช่วยดูแลน้องบ้าง หรือตัวคุณพ่อเองอาจดึงความสนใจจากลูกคนโตด้วยการพาไปเจอเพื่อน
  • ลูกคนโตอาจรู้สึกว่า ทุกคนใส่ใจน้องมากกว่า พ่อแม่จึงมีหน้าที่ต้องอธิบายว่า สิ่งที่ทำไปนั้น ก็เคยทำกับลูกคนโตเช่นกัน พร้อมกับชวนให้ลูกคนโตมีหน้าที่ช่วยพ่อแม่ในการเลี้ยงน้องจนกว่าจะเติบโตแข็งแรงและช่วยเหลือตัวเองได้ เมื่อลูกคนโตช่วยเลี้ยงน้อง ก็ต้องขอบคุณ พร้อมกับชื่นชมในน้ำใจของลูกด้วย
  • หากิจกรรมที่ลูกทั้งสองคนทำร่วมกันได้ โดยมีพ่อแม่ร่วมทำกิจกรรมไปด้วย เช่น วาดรูปร่วมกัน หรือเล่นเกมด้วยกัน
  • อย่าลืมแสดงความรักต่อพี่น้องพร้อม ๆ กัน ด้วยการหอมลูกคนโต แล้วมาหอมลูกคนเล็ก แม่อุ้มลูกคนเล็ก ให้พ่ออุ้มลูกคนโต

คุณแม่อาจจะรู้สึกเหนื่อยหน่อยที่ต้องดูแลลูกสองคนพร้อมกัน จึงอยากแนะนำให้คุณพ่อหรือคนในครอบครัวคนอื่น อยู่ด้วยบ่อย ๆ ช่วยกันดูแลทั้งพี่ทั้งน้องสลับกัน เพื่อให้พี่น้องสนิทสนมกัน และไว้วางใจว่าทุกคนรักพวกเขาเท่า ๆ กัน

อ้างอิงข้อมูล : dmh.go.th, Smallworld Doctor และ sanook

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

รวมไอเดีย ตั้งชื่อลูกชาย ชื่อเล่น 262 ชื่อ แบบพยางค์เดียว ก็เท่ได้

ภาวะซึมเศร้าหลังคลอด หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่แม่ต้องรู้เท่าทัน!

5 วิธีฟื้นฟูร่างกายหลังคลอด ให้กลับมาแข็งแรง สุขภาพดี

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up