5 ประโยชน์ ของการวาดรูประบายสี ที่สะท้อนพัฒนาการลูก

Alternative Textaccount_circle
event

วาดรูประบายสี เกี่ยวข้องอย่างไรกับพัฒนาการของลูก รู้หรือไม่ประโยชน์สุดว้าวของศิลปะนอกจากช่วยผ่อนคลาย ยังทำให้เห็นพัฒนาการทางร่างกายและสมองเด็กได้เป็นอย่างดี

5 ประโยชน์ของการ วาดรูประบายสี ที่สะท้อนพัฒนาการลูก!!

เคยสงสัยกันไหมว่า ทำไมจิตแพทย์มักใช้การวาดรูปในการบำบัด สืบหา ค้นพบเรื่องราวในจิตใจเด็ก!!

ศิลปะ ที่มีความหมายกว้าง ๆ แม้แต่การขีดเขียน วาดรูป ระบายสี ง่าย ๆ ไม่ได้สวยงามแบบจิตรกร แต่กลับมีประโยชน์แฝงอยู่มากมายให้เราได้เลือกใช้ โดยวันนี้เราจะขอกล่าวถึงประโยชน์ของศิลปะในแง่การสะท้อนให้พ่อแม่ได้เห็นถึงพัฒนาการของลูกทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และสมองว่าเขาได้พัฒนาไปแค่ไหนแล้ว ควรจะส่งเสริมเพิ่มเติมทักษะด้านใดแก่ลูก โดยใช้เพียงการสังเกตจากการวาดรูประบายสีเล่น ๆ ของลูกเท่านั้น

ขั้นแรก : Scribbling Stage ศิลปิน Abstract ตัวน้อย (เด็กอายุ 18 เดือนถึง 3 ปี)

ผลงานศิลปะของเด็กในวัยนี้ พ่อแม่จะได้เห็นภาพวาดสะเปสะปะในสายตาผู้ใหญ่ แต่ลูกของคุณจะสามารถเข้าใจเพียงคนเดียวว่าเขาวาดรูปอะไร คืออะไร ด้านไหนหัว ด้านไหนตัว ลูกจะเริ่มจับอุปกรณ์ขีด ๆ เขียน ๆ ตามใจได้บ้างแล้ว สิ่งที่ทำให้เขาตื่นเต้น สนใจ ไม่ใช่ผลงานศิลปะที่สวยงาม แต่เป็นอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้เจ้าตัวน้อยรู้สึกทึ่ง เด็กรู้สึกดีที่ได้เห็นลายเส้นต่าง ๆ ที่เกิดจากการการจับดินสอขีดเขียนของเขา จึงมักจะเห็นบ่อยครั้งที่เด็กบางคนชอบนำดินสอสีเข้าปาก เพื่อสำรวจ ดังนั้นอุปกรณ์ศิลปะสำหรับเด็กวัยนี้จึงควรเน้นที่ความปลอดภัย เช่น สีปลอดสาร หรือมีส่วนผสมจากวัตถุดิบจากธรรมชาติ จะดีกว่า หรืออาจจะให้ลูกใช้มือจุ่มสี (ที่ไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย) แทนพู่กัน หรือดินสอในการวาดไปเลยก็ได้ ไม่ควรดุด่าว่ากล่าวเวลาลูกทำพฤติกรรมดังกล่าว คอยแนะนำและช่วยให้เขาเรียนรู้วิธีใช้ที่ถูกต้อง จนลูกคุ้นชินจึงค่อยเพิ่มอุปกรณ์อื่น ๆ ต่อไป

วาดรูประบายสี ในเด็กขั้นต้นมักเป็นเส้นขยุกขยิก
วาดรูประบายสี ในเด็กขั้นต้นมักเป็นเส้นขยุกขยิก

ศิลปะสะท้อนพัฒนาการ

การวาดภาพระบายสีในช่วยวัยขั้นต้นนี้จะช่วยเด็ก ๆ ในเรื่อง ดังต่อไปนี้

พัฒนาการทางกายภาพ

  • ประสานมือ และตา ในขณะที่เขากำลังวาดรูปหรือระบายสี เด็กๆจะต้องใช้ ตา นิ้วมือ มือ รวมทั้งใบหน้าที่แสดงออกของอารมณ์ และใช้สมองในการคิดวิเคราะห์ วางแผน แก้ไข เพิ่มเติมสิ่งที่ขาดหรืออยากได้ ตลอดถึงการทบทวนสิ่งต่างๆที่ตนจำได้ที่สะสมไว้ในหน่วยความจำ และการใช้จินตนาการที่เหมือนจริงไปจนถึงเกินจริงด้วย ทำให้เด็กๆได้พัฒนาศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่เสริมสร้างให้สมองมีการเจริญเติบโตได้เป็นอย่างดี
  • การพัฒนากล้ามเนื้อของการควบคุม ลูกได้ฝึกการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กอย่างเต็มที่จากการฝึกจับดินสอ แต่ดินสอสำหรับวัยนี้อาจจะมีขนาดที่ใหญ่กว่าปกติเล็กน้อย เพราะกล้ามเนื้อควบคุมของลูกยังพัฒนาได้ไม่เต็มที่ ซึ่งการฝึกควบคุมกล้ามเนื้อมีความสัมพันธ์ และสำคัญมากกับสมอง
  • การฝึกมือ นอกจากการวาดรูปจะช่วยลูกในเรื่องการบังคับกล้ามเนื้อมือแล้ว ยังช่วยให้เขาฝึกการทำงานของมือตนเอง การลงน้ำหนักลงบนดินสอในการวาดภาพ ว่าจะลงน้ำหนักมือให้หนัก หรือเบา ก็จะได้ผลลัพธ์ของเส้นที่วาดเข้ม อ่อนแตกต่างกันไป ทำให้ลูกได้เรียนรู้อีกทาง

การพัฒนาการทางภาษา

  • ให้ลูกได้อธิบายถึงผลงานของเขา โดยพยายามใช้คำถามปลายเปิด เพื่อกระตุ้นให้ลูกได้พูดอธิบายบอกเหตุผลของภาพวาดของเขาเอง เช่น รูปนี้เป็นรูปอะไร ส่วนนี้ลูกจะลงสีเป็นสีอะไรดีจ๊ะ เพราะอะไรถึงใช้สีนี้ เป็นต้น ก็จะเป็นการช่วยให้ลูกสามารถหาคำมาอธิบายในสิ่งที่ตัวเองคิดออกมาสื่อสารเป็นคำพูดให้คนอื่นรับรู้ได้ เป็นการฝึกทักษะการใช้ภาษา การสื่อสารได้เป็นอย่างดี
  • การสนทนาระหว่างทำกิจกรรม เมื่อเป็นกิจกรรมที่เขาชอบ อย่างการวาดรูประบายสี ทำให้เขารู้สึกมั่นใจ และกล้าที่จะพูดอธิบายในสิ่งที่ตนเองสร้างสรรค์ขึ้นมาเอง ทำให้พ่อแม่ได้ใช้เวลาร่วมทำกิจกรรมกับลูก ได้เรียนรู้วิธีคิดของเขาผ่านกิจกรรมผ่อนคลายนี้อีกด้ว

พัฒนาการทางด้านจิตใจ

  • ช่วยให้รู้สึกสนุก เด็กในวัยนี้เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ ดังนั้นในการวาดภาพของเขานอกจากจะช่วยในพัฒนาการด้านต่าง ๆ แล้วยังให้ความรู้สึกสนุก ความรู้สึกดีในการได้ลอง ได้ทดลองทำสิ่งใหม่ ๆ ท้าทายตนเอง เพราะในวัยนี้ยังคงยึดตนเองเป็นศูนย์กลาง ความรู้สึกนึกคิดต่าง ๆ จึงยังคงวนเวียน เกี่ยวเนื่องกับความรู้สึกของตนเองเป็นหลักเท่านั้น

***นอกจากนี้การวาดรูประบายสีของเด็กในวัยนี้จะช่วยสะท้อนให้พ่อแม่ได้ทราบถึง “เด็กถนัดมือซ้ายหรือขวา”

การ วาดรูประบายสี ช่วยฝึกลูกจับดินสอ
การ วาดรูประบายสี ช่วยฝึกลูกจับดินสอ

ขั้นที่สอง : Pre-Schematic Stage ขั้นก่อนแบบแผน (เด็กอายุประมาณ2-4 ขวบ)

  • ภาพวาดมีความซับซ้อนมากขึ้นแม้ว่าโดยส่วนใหญ่จะยังไม่สมบูรณ์นัก เด็กวัยนี้จะพยายามควบคุมเส้นให้มากขึ้น แต่เขายังทำได้ไม่ดีนัก เพราะกล้ามเนื้อมัดเล็กที่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ บวกกับการพยายามถ่ายทอดภาพในหัวออกมาเป็นภาพบนกระดาษยังเป็นเรื่องยากสำหรับเขาอยู่
  • เด็ก ๆ มักจะใช้สีที่ชื่นชอบแทนที่จะใช้สีที่ถูกต้อง
  • การขีดเขียนของเด็กวัยนี้จะเป็นการวาดลายเส้นตามแบบตัวอักษรที่เขาเห็น ไม่ได้เป็นการเขียนตัวอักษรอย่างที่ผู้ใหญ่เข้าใจ เขาเลียนแบบเส้นโค้ง เส้นตรง เส้นทแยงตามแบบ และจำความหมายของคำนั้น ไม่ได้เข้าใจคำศัพท์อย่างที่พ่อแม่คิด ลูกเห็นตัวอักษรเหล่านั้นเป็นเพียงภาพวาดภาพหนึ่งเท่านั้น จึงยังไม่ควรเคี่ยวเข็นให้ลูกเขียนหนังสือในช่วงนี้
  • ความสมจริง สมเหตุสมผลของภาพวาดยังไม่สมบูรณ์ในวัยนี้ การวาดรูปเป็นเพียงการเลียนแบบลายเส้นที่ลูกเห็น จึงอาจทำให้เราจะเห็นภาพวาดคนยืนลอยบนอากาศในภาพวาดของลูก หรือรูปคนเป็นเพียงรูปคนแบบก้างปลา หรือแบบภาพวาด X-Ray คือเห็นหัวใจคนจากภายนอกได้เลย เป็นต้น
  • เด็กยังไม่สามารถวางแผนก่อนวาดภาพได้ บ่อยครั้งภาพจึงตกขอบกระดาษ เพราะลูกยังคงวาดไปก่อนที่จะคิดว่าเขาจะวาดอะไร บ่อยครั้งจึงจะพบว่าเวลาถามว่าเขาวาดรูปอะไร ลูกจะคิดสักพักก่อนตอบ
  • หากเขามีพัฒนาการที่ดีเยี่ยม ลูกจะสามารถวาดรูปสัญลักษณ์สื่อความหมายง่าย ๆ ได้ เช่น หัวใจแทนความรัก คนยิ้มแทนความสุข

ศิลปะสะท้อนพัฒนาการ

โดยรวม ๆ แล้วในวัยนี้ การ วาดรูประบายสี ช่วยส่งเสริมพัฒนาการของลูกในหลาย ๆ ด้านไปพร้อม ๆ กัน

พัฒนาการทางกาย : เด็กยังคงพัฒนาการประสานมือ และตาเพิ่มขึ้น พัฒนาการของกล้ามเนื้อดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากขั้นตอนแรก แต่จะควบคุมได้ดีกว่าเดิม สามารถจับดินสอได้อย่างถูกวิธี แทนการจับแบบกำมือ

พัฒนาการทางจิตใจ และสมอง : เพิ่มความมั่นใจในตนเองจากการรู้ถึงความสามารถในการขีดเขียน วาดภาพของตนเอง ได้ฝึกการวางแผน จากการวางองค์ประกอบของภาพแม้ว่าจะยังทำได้ไม่ดีนักในช่วงวัยนี้

วาดรูประบายสี ช่วยฝึกการวางแผน
วาดรูประบายสี ช่วยฝึกการวางแผน

ขั้นที่ 3 : Schematic Stage วาดภาพสื่อความหมาย (เด็กอายุประมาณ 5 – 8 ขวบ)

ในขั้นนี้ ลูกเริ่มมีความคิดว่า การวาดภาพไม่ใช่เพื่อความสนุกเพียงอย่างเดียวอีกต่อไป เขาเริ่มอยากสื่อสารจินตนาการของตนเองผ่านภาพที่วาดออกมามากกว่าการวาดเพื่อความสนุกแบบเด็ก ๆ

  • ภาพวาดของผู้คนเป็นสัดส่วนและมีรายละเอียดมากขึ้น
  • สีมีความสมจริงและเป็นแบบแผนมากขึ้น (หญ้าเป็นสีเขียวท้องฟ้าเป็นสีฟ้า)
  • ภาพที่วาดจะมีมิติมากขึ้น มีเส้นขอบฟ้า และเส้นแบ่งที่ชัดเจน
  • เด็กวัยนี้มีโครงร่างเกี่ยวกับวิธีการวาดภาพ ตัวอย่างเช่นบ้านจะถูกวาดในลักษณะเดียวกันในหลายภาพวาด
  • เด็กมักจะสร้างเรื่องราวให้สอดคล้องกับภาพวาดของพวกเขา นั่นคือ ความสามารถในการสื่อความหมาย การตีความหมายของภาพ
  • เด็กวัยนี้เริ่มแยกแยะระหว่าง “ความจริง” กับ “จินตนการ” ได้

ศิลปะสะท้อนพัฒนาการ

ในขั้นตอนนี้เด็ก ๆ จะได้รับการพัฒนาทักษะที่สำคัญสำหรับพัฒนาการที่สมวัยในเรื่องดังต่อไปนี้

พัฒนาการทางกายภาพ : จะเริ่มลดบทบาทลง เพราะร่างกายของลูกได้พัฒนามาค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว แต่จะเป็นการพัฒนาในด้านทักษะความชำนาญของการใช้มือ สายตา ในดีมากยิ่งขึ้นไปอีก

พัฒนาการทางด้านสติปัญญา และเหตุผล : การได้วางแผนโครงร่างของการวาดภาพ เป็นการให้ลูกได้ลองผิดลองถูกในอีกรูปแบบหนึ่ง เป็นการฝึกการแก้ปัญหา จัดระเบียบ ให้แก่ลูกได้เป็นอย่างดี ฝึกการตีความ จากการวาดภาพในหัว จินตการในหัวของลูก แล้วตีความออกมาเป็นรูปธรรม บนภาพวาดที่จะสื่อให้ผู้อื่นได้เข้าใจ ก็เป็นการฝึกทักษะด้านนี้ในเบื้องต้นได้อีกด้วย

ขั้นที่สี่ : Preteen Stage “ฉันวาดภาพไม่เป็น” (เด็กอายุ 9 – 11 ปี)

เด็กเน้นวาดภาพเสมือนจริงมากขึ้น ลูกใส่ใจในความสมส่วน และการจัดองค์ประกอบของภาพมากขึ้น ดังนั้นเด็กวัยนี้จะหงุดหงิดมาก ถ้าหากเขาไม่สามารถวาดภาพเหมือนจริง หรือ ดังที่ตนเองหวังได้ เด็กวัยนี้ให้ความสำคัญกับการวาดภาพที่ออกมาแล้วเป็นที่ยอมรับของคนรอบข้าง การวาดภาพจึงไม่ใช่แค่ความสนุกสนาน หรือ เพื่อตัวเขาเอง แต่เพื่อสร้างการยอมรับ และการทำให้เขารู้สึกเห็นถึงคุณค่าในตนเอง จึงเป็นขั้นที่เด็กหลายคนเริ่มยอมแพ้กับการวาดภาพ เมื่อพบว่าตนเองไม่สามารถวาดภาพได้สวยตามที่ตั้งใจ และมักจะเกิดคำพูดที่ว่า “หนูวาดภาพไม่เป็น” และเลิกสนใจในการวาดภาพไปในที่สุด
  • ภาพวาดมีรายละเอียดมากขึ้น
  • มีความชัดเจนในมุมมองเชิงพื้นที่มากขึ้น
  • เด็กในระยะนี้อาจหงุดหงิดมากหากไม่สามารถสร้างภาพเหมือนจริงได้
  • นี่เป็นช่วงเวลาที่เด็ก ๆ อาจแสดงออกว่า “ฉันวาดไม่เป็น”

    เมื่อลูกโตขึ้น จะหงุดหงิดเวลาวาดได้ไม่สวยดั่งใจจนล้มเลิกการวาดรูปไป พ่อแม่ควรให้กำลังใจ
    เมื่อลูกโตขึ้น จะหงุดหงิดเวลาวาดได้ไม่สวยดั่งใจจนล้มเลิกการวาดรูปไป พ่อแม่ควรให้กำลังใจ

ศิลปะสะท้อนพัฒนาการ

สำหรับเด็กในวัยนี้ นอกจากการที่พ่อแม่จะคอยสังเกตพัฒนาการของลูกผ่านภาพวาดแบบที่เคยทำให้ขั้นตอนก่อนหน้าแล้ว ยังเป็นขั้นตอนที่จะคอยประคับประคองความมั่นใจ ความรู้สึกปลอดภัย ภูมิใจในตัวเองของลูกมากกว่าขั้นตอนอื่น ๆ เพราะจุดประสงค์ของการวาดภาพนั้น ยังคงเป็นการให้ความรู้สึกผ่อนคลายกับผู้วาดเป็นหลัก ดังนั้นการเปรียบเทียบ หรือการแข่งขันว่า “ภาพไหนสวยที่สุด” อาจจะทำให้เด็กบางคนรู้สึกว่า “ตัวตนของเขากำลังถูกตัดสิน” เป็นการลดทอนความมั่นใจ และความสบายใจของลูก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการตามวัยของลูกเลย

สรุป 5 ประโยชน์ของการวาดรูประบายสีที่ดีต่อลูกน้อย

  1. ช่วยพัฒนากล้ามเนื้อให้แข็งแรง และฝึกประสานการทำงานระหว่างสายตา และมือ
  2. ช่วยผ่อนคลาย ปรับพฤติกรรม และอารมณ์ของลูก ให้ได้ระบายออกทางภาพวาด
  3. รู้จักวางแผน รับผิดชอบ
  4. เพิ่มความมั่นใจในตนเอง ได้เห็นคุณค่าในตนเองมากขึ้น
  5. ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ และเป็นกิจกรรมเพิ่มความสัมพันธ์ระหว่างพ่อแม่ลูก

เพราะการวาดรูปไม่ได้เพียงแต่นำมาซึ่ง ภาพวาดอันสวยงาม หรือการผ่อนคลายอารมณ์ให้แก่ลูกเท่านั้น แต่มันยังสามารถเป็นภาพสะท้อนให้พ่อแม่ได้เห็นถึงพัฒนาการข้างในของลูก เช่น พัฒนาการด้านความคิด สติปัญญาว่า เขาสามารถพัฒนาตัวเองให้เป็นไปตามวัยที่ควรจะเป็นหรือไม่ อีกทั้งยังเป็นกิจกรรมที่ช่วยสร้างสายสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวให้แน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วยหากพ่อแม่ลูกสามารถทำร่วมกัน ซึ่งนั่นนับว่าเป็นอีกหนึ่งทักษะความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี คือ ฉลาดเล่น (Play Quotient:PQ) ความฉลาดที่เกิดจากการเล่น เกิดจากความเชื่อที่ว่าการเล่นพัฒนาความสามารถของเด็กได้หลายด้าน ทั้งพัฒนาการด้านร่างกาย ความเฉลียวฉลาด ความคิดสร้างสรรค์ อารมณ์และสังคม และยิ่งดีหากพ่อแม่ร่วมอยู่ในกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย ดังนั้น มาชวนลูกเล่นวาดรูประบายสีกันเถอะ

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.earlychildhoodcentral.org/FB:ตามใจนักจิตวิทยา

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เผยผล ทดสอบ IQ เด็กยุคใหม่ต่ำกว่าพ่อแม่!!

8 วิธี “กระตุ้นสมอง” ทารกแรกเกิด ยิ่งทำลูกยิ่งฉลาด

พัฒนาการทารก แรกเกิด – 1 ขวบ พร้อมเทคนิคส่งเสริมพัฒนาการ

พัฒนาการทางสมองของทารก อันน่าทึ่ง ลูกน้อย “คิดอะไร” บ้างนะ?

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up