การบ้านเยอะ การบ้านไม่เหมาะสม

เรียนออนไลน์ การบ้านเยอะ งานลูกพ่อแม่เครียดรับมือยังไง

Alternative Textaccount_circle
event
การบ้านเยอะ การบ้านไม่เหมาะสม
การบ้านเยอะ การบ้านไม่เหมาะสม

การบ้านเยอะ การบ้านยาก ตัวการขัดขวางการพัฒนาประสิทธิภาพการเรียนรู้ของลูก เมื่อเข้าสู่ยุคเรียนออนไลน์ พ่อแม่ควรรับมือกับการเรียนของลูกอย่างไร ให้ไม่เครียด

เรียนออนไลน์ การบ้านเยอะ งานลูกพ่อแม่เครียดรับมือยังไง??

ในยุคการเรียนออนไลน์ในช่วงวิกฤตโรคระบาดไวรัส Covid-19 ที่เด็กจำเป็นต้องปรับตัวจากการเรียนในโรงเรียน เข้าสู่การเรียนที่บ้านผ่านหน้าจอ ซึ่งนอกจากจะสร้างความเครียดให้แก่เด็กแล้ว ปัจจุบันยังพบว่าพ่อแม่ก็ได้รับความเครียดจากการเรียนออนไลน์ของลูกไม่แพ้กัน ซึ่งจะเห็นได้จากข่าวที่แชร์กันออกมาถึงการบ้านของลูกในวัยต่าง ๆ ที่พ่อแม่ต่างต้องอึ้ง และค้นพบว่าเด็กสมัยนี้ต้องเรียนด้วยเนื้อหายาก ๆ กันแบบนี้เลยเชียวหรือ

ล่าสุดเกิดเป็นดราม่า เมื่อผู้ปกครองแชร์การบ้านของเด็กๆ ซึ่งระบุว่า เป็นการบ้านของเด็ก ป.4 แต่เมื่ออ่านโจทย์แล้ว งานนี้พ่อแม่ผู้ปกครอง ถึงกับต้องเอามาแชร์ให้ชาวเน็ตช่วยด้วย เพราะยากมากจริงๆ โดยการบ้านดังกล่าวเป็นภาษาอังกฤษที่ถามว่า ส่วนประกอบใดที่เป็นแผ่นบางอยู่นอกกระดูกกระโหลกศีรษะ โดยมีคำตอบให้เลือก 3 ข้อ คือ 1.periosteum (เยื่อหุ้มกระดูก) 2.cancellous bone (กระดูกเนื้อโปร่ง) และ 3.compact bone (กระดูกส่วนแข็ง)

อย่างไรก็ตาม ผู้ปกครองได้แชร์ภาพของการบ้านเด็กๆในยุคนี้และเนื้อหาการเรียนการสอนว่ามีความยากและเนื้อหาเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้างซึ่งกลายเป็นประเด็นถกเถียงว่าเด็กสมควรต้องเรียนยากขนาดนี้หรือไม่อย่างไรหรือเป็นเพียงการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัยเท่านั้น

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.khaosod.co.th

 

ข่าวการบ้านเด็กประถม การบ้านยาก การบ้านเยอะ
ข่าวการบ้านเด็กประถม การบ้านยาก การบ้านเยอะ
ข้อมูลอ้างอิงจาก www.brighttv.co.th

 

แม้การเรียนออนไลน์จะสร้างภาระ และปัญหาทั้งจากความไม่พร้อม จากการปรับตัวของบางครอบครัว แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราผู้ใหญ่ได้เพิ่มความตระหนักเกี่ยวกับเด็กในยุคปัจจุบันขึ้นมาจากการเรียนออนไลน์ นั่นคือ การได้กลับมาทบทวนถึงหลักสูตร และเนื้อหาของการเรียนในปัจจุบันต่อเด็ก และลูกหลานของเราว่า การเน้นเนื้อหาความยากของหลักสูตรการศึกษาสมัยนี้ มากเกินความจำเป็นไปหรือไม่ ภาระงาน การบ้านเยอะ ของพวกเขาสามารถสร้างผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนได้จริงหรือ

การบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก

ได้มีการศึกษาที่เชื่อมโยงการบ้านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของเด็ก โดยเป็นการศึกษาที่ไม่ได้ควบคุมความแตกต่างของนักเรียน ในการศึกษาดังกล่าวได้ทำการศึกษาจาก 35 รายการ พบว่าประมาณ 77 เปอร์เซ็นต์จากรายการทั้งหมด พบความเชื่อมโยงระหว่างการบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้นเป็นไปในทางบวก แต่ที่น่าสนใจที่สุดคือผลลัพธ์เหล่านี้ชี้ให้เห็นถึงความสัมพันธ์เพียงเล็กน้อยหรือไม่มีเลยระหว่างการบ้านและผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสำหรับนักเรียนระดับประถมศึกษา

ทำไมจึงเป็นเช่นนั้น? เด็กที่อายุน้อยในระดับก่อนวัยเรียน วัยอนุบาล หรือประถมวัยตอนต้น โดยธรรมชาติการเรียนรู้สำหรับเด็กวัยนี้ คือ การเรียนรู้ผ่านการเล่น เนื่องจากเด็กไม่สามารถขจัดสิ่งที่รบกวนสมาธิ บังคับตนเองให้นั่งนาน ๆ ในการทำการบ้านได้ และยิ่งโดยเฉพาะการบ้านยาก หรือ การบ้านเยอะ เกินกว่าวัยของเด็กแล้วนั้น ยิ่งทำให้การเรียนรู้ของเขาเกิดขึ้นได้ยากขึ้นไปอีก จึงทำให้ความสัมพันธ์ของการบ้าน และผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนระดับประถมศึกษาจึงแสดงเพียงเล็กน้อย ไปจนถึงไม่มีเลยในผลการศึกษาดังกล่าว

 

ความสัมพันธ์ของ การบ้านเยอะ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน
ความสัมพันธ์ของ การบ้านเยอะ กับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน

ทำความเข้าใจ!! กับจุดประสงค์ของการบ้าน

แม้ว่าความสัมพันธ์ของผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนกับการบ้านในเด็กประถมวัย จะมีเพียงเล็กน้อยไปจนถึงไม่มีเลย แต่จากการศึกษาก็จะพบว่า ยังมีผลความเชื่อมโยงกับทั้งสองเรื่องนั้น เป็นไปในทางบวก ถึง 77% นั่นหมายถึง การบ้านช่วยเพิ่มศักยภาพของเด็กได้จริง หากเราทำให้การบ้านนั้น เหมาะสมกับวัย และมีปริมาณที่เหมาะสม

จุดประสงค์ของการบ้าน

  1. การบ้านช่วยเพิ่มทักษะ พัฒนาความรู้ความสามารถของเด็ก ๆ โดยเด็กสามารถทบทวน และใช้เป็นการประเมินความรู้ความเข้าใจของตนเองต่อบทเรียนนั้น ๆ ว่าเข้าใจแค่ไหน เข้าใจหรือไม่อีกด้วย
  2. เพื่อฝึกวินัย ความรับผิดชอบ และการควบคุมตนเอง หากลูกยอมมานั่งทำการบ้านของเขา ควบคุมตนเองให้ทำการบ้านให้เสร็จก่อนไปเล่น (ความสามารถในการรับผิดชอบตนเอง สามารถลำดับหน้าที่ความสำคัญได้) ก็นับว่าเขาได้รับประโยชน์จากการบ้านแล้ว
  3. หากเป็นงานกลุ่ม ยังเป็นการเพิ่มพูนทักษะการเข้าสังคมได้อีกด้วย
  4. ทำให้คุณครูสามารถประเมินการสอนว่า การสอนแบบนี้เด็กสามารถเข้าใจในบทเรียนมากแค่ไหน ควรปรับเปลี่ยนอย่างไร
  5. การบ้านยังช่วยให้ผู้ปกครองได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นที่โรงเรียน ได้ประเมินลูกหลานว่ามีพัฒนาการที่ดีขึ้นหรือไม่ 

    การบ้านเยอะ พ่อแม่เครียด
    การบ้านเยอะ พ่อแม่เครียด

การบ้านลูก ทำไมพ่อแม่เครียด??

แม้ว่าการศึกษาของไทย จะหลักสูตร เป้าหมายอย่างไรก็ตาม แต่ขึ้นชื่อว่า “การบ้าน” แล้ว นั่นก็คือ การได้รับมอบหมายภาระงานให้ทำที่บ้าน ดังนั้น ผู้ที่มีความสำคัญในการจัดการ ดูแลลูกหลานไม่ให้เกิดความเครียด หรือผลเสียจากการทำการบ้านนั้น ก็คือ พ่อแม่นั่นเอง สิ่งสำคัญสิ่งแรกที่เราต้องทำเพื่อให้ลูกได้รับประโยชน์จากการทำการบ้านได้อย่างเต็มที่ หรือ ไม่เครียดจนเกินไป ต้องอยู่ที่การปรับความเข้าใจในทัศนคติของคุณพ่อคุณแม่เสียก่อนว่า “ผลลัพธ์ที่ได้ ไม่สำคัญเท่าลูกได้เรียนรู้กระบวนการหาผลลัพธ์นั้น ๆ มากกว่า” หรือหากจะพูดให้ง่าย ๆ นั่นก็คือ อย่ามัวแต่สนใจผลงาน คะแนน ความถูกต้องของการบ้านนั้น มากกว่าการได้สอนให้ลูกได้คิด วิเคราะห์ เรียนรู้ได้ด้วยตนเองจากการบ้านนั้น ๆ เอง หากคิดได้เช่นนี้เหตุการณ์ที่เราได้เห็นพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย นั่งทำการบ้านส่งแทนลูกหลาน หรือการทะเลาะกับลูกเวลาสอนการบ้านก็คงไม่มีให้เห็นกันอีกต่อไป

นอกจากกการปรับทัศนคติของตัวพ่อแม่เองแล้ว ยังมีปัจจัยที่จะช่วยให้ การบ้านสามารถเป็นตัวช่วยพัฒนาประสิทธิภาพของเด็กให้ได้ดีขึ้น โดยพิจารณาจากเหตุอีก 3 ปัจจัย ดังนี้

การบ้านเยอะ การบ้านมากเกินวัยไปหรือไม่??

นักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Duke ได้ทบทวนการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการบ้านมากกว่า 60 เรื่องระหว่างปี 2530 ถึง 2546 และสรุปว่าการบ้านส่งผลดีต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียน

Harris Cooper (แฮร์ริส คูเปอร์ ) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยา กล่าวว่า งานวิจัยที่เขานำแสดง แสดงให้เห็นว่า ความสัมพันธ์เชิงบวกของการบ้านกับผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนั้น มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญสำหรับนักเรียนระดับมัธยมศึกษา ผู้ที่อยู่ในเกรด 7 ถึง 12 มากกว่านักเรียนในโรงเรียนประถม

ในขณะที่ชัดเจนว่าการบ้านเป็นส่วนสำคัญของกระบวนการเรียนรู้ คูเปอร์ยังกล่าวว่าการศึกษายังแสดงให้เห็นว่าการบ้านเยอะ การบ้านมากเกินไปอาจส่งผลเสียต่อนักเรียนทุกระดับ

“แม้แต่นักเรียนมัธยม การบ้านมากเกินไปก็ไม่สัมพันธ์กับเกรดที่สูงขึ้น”

Harris Cooper เป็นศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาและประสาทวิทยาที่ Duke ซึ่งเขายังเป็นผู้กำกับโครงการด้านการศึกษาของมหาวิทยาลัย และเป็นผู้เขียนเรื่อง
“The Battle over Homework: Common Ground for Administrators, Teachers, and Parents” (Corwin Press)

 

การเรียนรู้ของเด็ก คือการเล่น
การเรียนรู้ของเด็ก คือการเล่น

 

แล้วเด็กควรทำการบ้านมากแค่ไหน? Cooper กล่าวว่างานวิจัยนี้สอดคล้องกับ “กฎ 10 นาที” ที่เสนอการบ้านที่เหมาะสมที่สุดที่ครูควรมอบหมาย คูเปอร์กล่าวว่า “กฎ 10 นาที” เป็นแนวทางปฏิบัติที่เป็นที่ยอมรับโดยทั่วไป โดยครูจะเพิ่มการบ้าน 10 นาทีในขณะที่นักเรียนก้าวหน้าไปหนึ่งเกรด

  • เด็กในเกรด K-2 (เทียบเท่ากับเด็กประถม 1-2 ) การบ้านจะมีประสิทธิภาพมากขึ้นเมื่อใช้เวลาทำการบ้านไม่เกิน 10-20 นาทีในแต่ละวัน
  • เด็กโตในเกรด 3-6 (เทียบเท่ากับเด็กประถม 3-6) สามารถจัดการการบ้านได้ในเวลา 30-60 นาทีต่อวัน
  • ในมัธยมต้นและมัธยมปลาย จำนวนการบ้านจะแตกต่างกันไปตามวิชา แต่ควรใช้เวลาทำการบ้านเฉลี่ยไม่เกิน 1 ชั่วโมง ต่อวัน

การบ้านยากเกินวัยของเด็กไปหรือไม่??

คำว่า “ยากเกินไป” อาจเป็นคำที่ประเมินยาก หรือหาคำนิยามร่วมกันได้ยากเสียหน่อย ดังนั้น พ่อแม่สามารถยึดหลักโดยดูจากลูกของเราเองว่า การบ้านของลูกนั้นเหมาะสมกับเขามากน้อยเพียงใด

  • หากว่า ลูกทำการบ้านไม่ได้ หรืองอแงเนื่องมาจากการไม่เข้าใจในบทเรียน หากเราเข้มงวด หรือปล่อยผ่านไปอาจทำให้เขารู้สึกท้อ ไม่มีความมั่นใจในตัวเองได้ พ่อแม่สามารถช่วยเหลือลูกได้ โดยการทำให้ดูเป็นตัวอย่างก่อน แล้วจึงตั้งโจทย์เพิ่มให้เขาลองทำด้วยตนเองอีกครั้งว่าสามารถทำได้หรือยัง ติดขัดตรงไหนบ้าง การลงมือทำพร้อมกันไปกับลูกทำให้พ่อแม่สามารถมองเห็นปัญหาที่แท้จริงของลูกได้มากกว่าการปล่อยให้เขานั่งทำด้วยตนเอง หรือบอกคำตอบผ่านไปเพียงเพื่อให้ได้คำตอบที่ถูกต้องส่งครู ก็จะทำให้ลูกไม่ได้เรียนรู้ และไม่มีความภูมิใจในตนเอง อาจเลยเถิดไปถึงการไม่เห็นถึงคุณค่าในตนเองในอนาคตได้
  • หากว่า การบ้านยาก เกินวัยของลูกไปมาก การดูว่าการบ้านที่ได้รับนั้น ยากเกินวัยของลูกไปหรือไม่ อาจทำได้โดยการปรึกษา พูดคุยกันเองระหว่างผู้ปกครอง สอบถามกันดูว่าส่วนใหญ่เด็กสามารถทำการบ้านนั้น ๆ ได้หรือไม่ ถ้าพบว่าการบ้านยากเกินวัยของลูก(ดังเช่นตัวอย่างข่าวข้างต้น) พ่อแม่ผู้ปกครองไม่ควรกดดัน หรือบีบบังคับให้เด็กต้องพยายามต่อ การที่ลูกทำไม่ได้ไม่ได้ผิดปกติ หรือไม่เก่ง เพราะเรากำลังคาดหวังในสิ่งที่เกินความสามารถในวัยของลูก สิ่งที่ควรทำ คือ การพูดคุยกับคุณครูผู้สอน เพื่อให้เข้าใจตรงกัน หรือหาวิธีที่สามารถทำให้ลงตัวได้ เช่น การปรับลดเนื้อหาลงให้เหมาะสมกับวัย หรือ แนะนำวิธีการสอนที่ช่วยให้เด็กเข้าใจได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่สุด คือ พ่อแม่ควรปล่อยวางไม่ลงโทษ เข้มงวดในสิ่งที่เกินวัยของลูก มิเช่นนั้นอาจได้ผลเสียมากกว่าผลดี 

    การบ้านที่ดี ต้องเหมาะสมกับวัย ทั้งปริมาณและความยากง่าย
    การบ้านที่ดี ต้องเหมาะสมกับวัย ทั้งปริมาณและความยากง่าย

 

การควบคุมตนเองของลูก (Self Control) ไม่ดีพอ

ในกรณีนี้ลูกคงต้องได้รับการช่วยเหลือจากพ่อแม่ หรือผู้ปกครอง โดยใช้วิธีการ Task Analysis เป็นวิธีการสอนที่เหมาะสมกับเด็กที่มีความต้องการพิเศษวิธีหนึ่ง ซึ่งพ่อแม่สามารถวางแผนการสอนอย่างดีมีเป้าหมาย โดยแบ่งกิจกรรมหรือการบ้านที่ยาก และเยอะนั้น ๆ ให้เป็นขั้นตอนย่อย ๆ จากขั้นตอนแรกไปจนขั้นตอนสุดท้าย และสอนไปตามลำดับขั้นตอนทีละขั้นจนเด็กทำได้สำเร็จ เช่น  หากการบ้านมีหลายหน้า อาจแบ่งทำเป็นช่วง ๆ จนครบ โดยแต่ละช่วงที่ลูกทำสำเร็จ พ่อแม่ต้องชื่นชม ให้กำลังใจ ให้ลูกรู้สึกว่า เขาทำได้ ทำสำเร็จ เห็นเส้นชัยแม้ว่า การบ้านเยอะ การบ้านยาก แต่เขาก็สามารถค่อย ๆ ทำจนสำเร็จได้ นอกจากลูกจะได้รับความภูมิใจในตนเองแล้ว เขายังได้เรียนรู้การแบ่งงาน วิธีการจัดการปัญหาเพื่อไปสู่เป้าหมายได้อีกด้วย

การบ้านลูก พ่อแม่ไม่เครียด และเข้าใจ ก็สามารถช่วยให้ลูกเรียนรู้ และได้รับประโยชน์จากการบ้านได้อย่างเต็มที่อย่างแน่นอน เราขอเป็นกำลังใจให้ทุกครอบครัว และฝากข้อคิดจากคุณหมอโอ๋ เพจเลี้ยงลูกนอกบ้านมาเป็นอีกหนึ่งกำลังใจกัน

รักลูก… อย่ารบกับลูกเรื่องการบ้าน ด้วยการใช้วิธีวิธีบ่นว่าแบบเดิมๆนะคะ

“ไม่มีเด็กคนไหนจะทำอะไรได้ดี ในวันที่รู้สึกแย่ๆ”

ข้อมูลอ้างอิงจาก Duke Today

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up