work from home

งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเลี้ยง work from home ยังไงให้ดี ถ้ามีลูกต้องดูแล

Alternative Textaccount_circle
event
work from home
work from home

Work from home (WFH) หรือ “ทำงานที่บ้าน” ที่หลายบริษัทได้ตัดสินใจให้พนักงานอยู่บ้านทำงานเพื่อลดความเสี่ยงในการแพร่เชื้อ COVID-19 แม้ว่าจะต้องเตรียมพื้นที่สำหรับนั่งทำงานที่บ้านให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ก็ต้องรับมือกับเจ้าตัวเล็กจอมซนในบ้านที่จำเป็นต้องอยู่บ้านเช่นเดียวกัน ไหนจะมาอ้อนให้แม่เล่นด้วย ไหนจะเล่นส่งเสียงดัง ฯลฯ เป็นสิ่งที่เลี่ยงได้ยากสำหรับแม่เมื่ออยู่บ้านไปพร้อมกับลูก ๆ จะแบ่งเวลายังไงดี

งานก็ต้องทำ ลูกก็ต้องเลี้ยง work from home ยังไงให้ดีถ้ามีลูกต้องดูแล

1.จัดโซนนิ่งทำงาน

จัดพื้นที่ทำงานให้เป็นส่วนสัดชัดเจน เพื่อให้ลูกเข้าใจว่านี่คือ “พื้นที่ทำงาน” ของคุณแม่ไม่ให้เข้ามารบกวนเวลาทำงาน เวลาเริ่มต้นทำงานจึงเป็นการส่งสัญญาณให้ลูกเข้าใจว่า “แม่จะเริ่มทำงานแล้วนะ”  อีกทั้งการจัดโซนทำงานที่แยกจากส่วนอื่น ๆ ของบ้าน จะช่วยสร้างบรรยากาศให้รู้สึกจดจ่อกับการทำงานเป็นอันดับแรก แต่แน่นอนว่าพื้นที่ทำงานในบ้านไม่เหมือนที่ออฟฟิศ ถ้าในบ้านไม่มีห้องทำงานโดยเฉพาะ คุณแม่ลองหาพื้นที่มุมใดมุมหนึ่งของห้อง แล้วหาสิ่งของมากั้นให้เป็นสัดส่วนดูนะคะ

ทํางานที่บ้าน

2.แจ้งหัวหน้า ทีม หรือเพื่อนร่วมงานว่าในบ้านมีเด็ก

แน่นอนว่าการทำงานที่บ้าน อาจจำเป็นต้องมีการสื่อสารร่วมกับที่ทำงาน บางครั้งการคุยงานผ่านโทรศัพท์ หรือการประชุมผ่าน VDO Conference สำหรับคุณแม่ที่ต้องเลี้ยงลูกเอง หากไม่มีพี่เลี้ยงหรือญาติผู้ใหญ่ ควรแจ้งกับหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานให้ทราบด้วยว่า อาจมีเสียงของเด็กๆ รบกวนบ้าง โดยเฉพาะบ้านที่เด็กเล็กที่มีพฤติกรรมเหนือการควบคุม แต่ก็จะพยายามจัดการช่วงเวลาทำงานอย่างดีที่สุด

3.ให้คนในครอบครัวช่วยดูแลลูก

เป็นเรื่องดีหากมีคนในครอบครัวอาศัยอยู่ด้วยภายในบ้าน ไม่ว่าจะเป็นคุณปู่คุณย่าหรือญาติพี่น้องที่สนิท เพราะพวกเขาจะเป็นตัวช่วยที่ดีในการเลี้ยงลูกเมื่อคุณแม่นั่งทำงานที่บ้าน อย่างน้อยที่สุดก็คือช่วงเวลาที่คุณแม่จัดสรรในการทำงานจนกระทั่งถึงเวลาพัก

4.จัดตารางการทำงานและกำหนดความสำคัญของงาน

การจัดตารางงานในแต่ละวันจะทำให้คุณแม่แบ่งเวลาระหว่างการทำงานและเวลาที่จะดูแลลูกได้ กำหนดเป็นตารางเวลาให้ชัดเจนและวางแผนเริ่มต้นจัดลำดับงานที่สำคัญก่อน เช่น เลือกทำงานหนักที่สุด หรือยากที่สุด  ทั้งนี้เมื่อทำงานที่บ้านก็สามารถยืดหยุ่นได้ เช่น ถ้าลูกกวนเวลาที่ทำงานคุณแม่อาจจะสลับเวลาเล่นกับลูกมาแทน เพื่อให้เกิดผลดีแก่ทั้งสองอย่าง แต่ถ้าคุณพ่อคุณแม่ work from home ด้วยกันทั้งคู่ก็อาจจะใช้วิธีสลับกันดูแลลูกก็ได้เช่นกัน ส่วนช่วงที่ลูกเข้านอนคุณแม่อาจจะใช้เวลาช่วงนี้เคลียร์งานที่เหลือได้อย่างเต็มที่หรือวางแผนสำหรับวันถัดไป การวางแผนที่ดีจะช่วยทำให้คุณแม่เหนื่อยน้อยลง ไม่ทำให้เครียด และอาจช่วยให้นอนหลับได้ดีขึ้นนะคะ

5.อธิบายให้ลูกเข้าใจเมื่อคุณแม่ต้องทำงานอยู่ที่บ้าน

เมื่อเริ่มต้นทำงานคุณแม่จำเป็นต้องสื่อสารให้ลูกเข้าใจว่า นี่คือการทำงานที่บ้านเพียงแต่ไม่ได้เดินทางไปที่ออฟฟิศเท่านั้น และช่วงเวลาทำงานคุณแม่ไม่สามารถเล่นกับลูกได้จนกว่าจะถึงเวลาพัก หรือใช้วิธีตั้งกฏกับคนในครอบครัวว่าในเวลาทำงานอย่าเพิ่งเข้ามารบกวน เพื่อช่วยให้เข้าใจตรงกันและไม่ส่งผลกระทบต่องานของคุณแม่ค่ะ

วิธีทํางานที่บ้าน

6.จัดตารางกิจกรรมให้ลูก

คุณแม่ลองวางแผนกิจกรรมของเจ้าตัวเล็กให้ทำในแต่ละวันในช่วงเวลาที่แม่ทำงานดูค่ะ โดยปกติเวลาในการ WFH ของบริษัทส่วนใหญ่จะประมาณ 9:00–18:00น. และเวลาพักกลางวัน 12:30-13:30 น. เหมือนเวลาเข้างานปกติ ข้อดีของการทำงานที่บ้านทำให้คุณแม่มีเวลาในช่วงเช้าเตรียมอาหาร กินข้าว และเล่นกับลูกได้ รวมถึงเวลาพักเที่ยง พักเบรคเล็กน้อย ดังนั้นในช่วงเวลาทำงานของคุณแม่ก็มีตารางกิจกรรมให้คุณลูกเช่นกัน เพื่อไม่ให้เจ้าตัวเล็กมารบกวนเวลาทำงานของคุณแม่ เช่น อาจจะหาแบบฝึกหัด ทำการบ้านปิดเทอม หรือหากิจกรรมง่าย ๆ ให้ลูกทำอย่างวาดภาพ ทำศิลปะประดิษฐ์ อ่านหนังสือ เล่นบอร์ดเกม เล่นเกม หรือการปล่อยให้ได้ดูทีวี ดูมือถือบ้าง แต่ก็ควรกำหนดเวลาดูให้ชัดเจน เพื่อไม่ให้ในแต่ละวันลูกอยู่กับหน้าจอมากเกินไป

บทความแนะนำ : 6 กิจกรรมเล่นกับลูกสไตล์ มอนเตสเซอรี่ เสริมทักษะให้ลูกง่ายๆ ได้ที่บ้าน

7.ให้รางวัลเด็กดี

เมื่อลูกเข้าใจและไม่มารบกวนคุณแม่เวลาทำงานตามที่ตกลงไว้ได้ คุณแม่อาจให้รางวัลกับเจ้าตัวน้อยเป็นคำชมเชยเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมีขนมอร่อย ๆ ให้กิน สำหรับความร่วมมือที่ช่วยให้การทำงานที่บ้านของคุณแม่ไม่ยากลำบาก และเมื่อเสร็จจากงานในแต่ละวัน คุณแม่ควรใช้เวลาเล่นกับลูกหรือพูดคุยกับลูกให้เต็มที่เลยค่ะ แต่หากว่าคุณแม่เจอเจ้าตัวเล็กมาขัดจังหวะเวลาทำงาน อาจจำเป็นต้องหยุดทำงานเพื่อมาทำความเข้าใจกับลูก อธิบายให้ลูกฟังว่าการที่ลูกไม่รบกวนจะช่วยให้คุณแม่ทำงานได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าถ้าไม่มากวนเด็ก ๆ ก็ควรจะได้รับรางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ

working from home

8.พักเบรกแล้วพักเล่นกับลูก

โดยปกติเวลาทำงานที่บริษัทคุณแม่ยังมีเวลาลุกออกจากโต๊ะทำงานเพื่อยืดเส้นยืดสาย พักสายตา ดังนั้นในระหว่างที่สามารถนั่งทำงานที่บ้าน คุณแม่ควรแบ่งเวลาพัก เพื่อเดินออกไปดูลูก พูดคุยกับลูก เช่น ใน 1 ชั่วโมง คุณแม่สามารถแบ่งเวลาทำงาน 50 นาที และพักอีก 10 นาที เพื่อให้ลูกรู้สึกว่าแม่ยังคอยดูแล ไม่ปล่อยเขาไว้อยู่คนเดียว และช่วยให้แม่ได้ผ่อนคลายจากการทำงาน พักสมองจากความเครียดด้วยค่ะ

9.อย่าเคร่งเครียดมากเกินไป

การปรับตัว work from home ในช่วงแรก ๆ อาจจะเกิดการติดขัด ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่ระบบ การสื่อสารระหว่างที่ทำงาน แม้กระทั่งการปรับตัวทำงานที่บ้านที่มี่เจ้าตัวเล็กอยู่ด้วย แถมการทำงานที่เจ้านายมองไม่เห็นทำให้คุณแม่ต้องมีวินัยมาก การทำงานที่บางทีต้องทำงานไปด้วย เลี้ยงลูกไปด้วย อาจทำให้คุณแม่เครียด ความเครียดแม้เพียงเล็กน้อยก็จะส่งผลต่อสุขภาพและกระทบไปถึงการทำงานได้ ดังนั้นคุณแม่ควรทำความเข้าใจว่าการ WFH อยู่ในช่วงสถานการณ์ไม่ปกติ อย่าเครียด หรือหักโหมมากเกินไป พยายามสื่อสารกับคนในออฟฟิศ หรือคิดง่าย ๆ ว่าเราทำงานเหมือนตอนเข้าออฟฟิศปกตินั่นเอง เมื่อทำงานเสร็จแล้ว ให้ปิดหน้าจอแล้วก็มาสนุกกับเจ้าตัวเล็กเพื่อพักผ่อนคลายเครียดกันค่ะ

แม้ว่าการ Work from home จะเป็นเรื่องที่ยังไม่คุ้นชินสำหรับพนักงานออฟฟิศ แต่ด้วยสถานการณ์ฉุกเฉินที่ทำให้องค์กร บริษัท และพนักงานต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ต้องรับมือกับเหตุการณ์เฉพาะหน้า ซึ่งยังคงต้องรับผิดชอบในส่วนงานให้มีประสิทธิภาพอย่างเต็มที่เหมือนเดิม ดังนั้นเมื่อมีโอกาสได้ลองทำงานจากที่บ้าน จากที่เคยใช้ชีวิตประจำวันจันทร์-ศุกร์เข้าออฟฟิศ ก็ถือเป็นประโยชน์ที่คุณแม่จะได้เรียนรู้การทำงานในอีกระบบไปพร้อม ๆ กับการเลี้ยงลูก ๆ ที่บ้าน แม้ว่าบางอย่างมันจะไม่เป็นไปอย่างราบรื่น แต่อย่างน้อยการร่วมด้วยช่วยกันอยู่บ้านก็ช่วยลดความเสี่ยงจากการแพร่เชื้อ ได้อยู่อย่างปลอดภัย และมีสุขภาพดีนะคะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก :www.brandinside.asiawww.fastcompany.com

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ :

11 ข้อพ่อแม่ควรทำ & ไม่ควรทำ รับมือ COVID-19 โดย พ่อเอก

แม่ไทยในอิตาลีแชร์ “วิธีรับมือ COVID-19” ในวันที่ต้องปิดประเทศ

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up