ไม่ได้ขอมาเกิด กับขอบเขตความหมาย กตัญญูหมายถึง

เมื่อ กตัญญูหมายถึง สิ่งกดดันลูก”ไม่ได้ขอมาเกิด”จึงอุบัติขึ้น

Alternative Textaccount_circle
event
ไม่ได้ขอมาเกิด กับขอบเขตความหมาย กตัญญูหมายถึง
ไม่ได้ขอมาเกิด กับขอบเขตความหมาย กตัญญูหมายถึง

กตัญญูหมายถึง คุณธรรมที่ทำด้วยใจหรือหนี้บุญคุณที่ลูกต้องมีต่อพ่อแม่ที่ชอบทวงบุญคุณ เมื่อกตัญญูกตเวทีมาพร้อมความกดดัน วาทะกรรม ไม่ได้ขอมาเกิด จึงอุบัติขึ้น

เมื่อ กตัญญูหมายถึง สิ่งกดดันลูก”ไม่ได้ขอมาเกิด”จึงอุบัติขึ้น!!

สังคมไทยเป็นสังคมที่เคารพ และยึดถือต่อความกตัญญูกตเวที เป็นเรื่องสำคัญ บุคคลใดไม่มีความกตัญญูแล้วไซร้ บุคคลนั้นย่อมมีความเจริญก้าวหน้าในชีวิตได้ยาก คำกล่าวนี้คงเป็นที่ยอมรับกันได้ว่าเป็นเรื่องจริง แต่สิ่งที่เป็นปัญหาของคำกล่าวนี้นั้น ไม่ได้อยู่ที่คำสอน แต่หากเป็นขอบเขตของความหมายของคำว่า “กตัญญู” ต่างหากเล่า ที่ทำให้สังคมในปัจจุบันเกิดอาการ ทวงบุญคุณ กันให้วุ่นวายไปเสียหมด

กตัญญูหมายถึง อะไร??

ความกตัญญูในภาษาบาลี แปลว่า รู้บุญคุณ อันผู้ใดกระทำให้แล้ว มักใช้คู่กับคำว่า กตเวที ที่แปลว่า ตอบแทนบุญคุณอันผู้นั้นกระทำให้แล้ว รวมเป็นคำว่า กตัญญูกตเวที

นิมิตฺตํ สาธุรูปานํ กตัญฺญูกตเวทิตา แปลว่า ความกตัญญูกตเวทีเป็นเครื่องหมายของคนดี 

พระพุทธศาสนา ได้จัดให้คนที่มีความกตัญญูกตเวทีเป็นหนึ่งในสองของอรรถบุคคลผู้หาได้ยากสองอย่าง คือ

  • บุพการี ผู้ทำอุปการะก่อน
  • กตัญญูกตเวที บุคคลผู้รู้อุปการะ และตอบแทน
พ่อแม่มีบุญคุณ กตัญญูหมายถึง กว้างแค่ไหนกัน
พ่อแม่มีบุญคุณ กตัญญูหมายถึง กว้างแค่ไหนกัน

Gratitude ,Thankfulness หรือ Gratefulness ความกตัญญู ในความหมายสากล แปลว่า ความพอใจ ความรู้คุณ เป็นความรู้สึกชื่นชมยินดี (หรือผลตอบรับเชิงบวก) ของผู้ที่ได้รับความเมตตา ของขวัญ ความช่วยเหลือ ความเอื้ออาทรอื่น ๆ ต่อผู้ให้สิ่งนั้น

ในความหมายของทั้งทางศาสนา และทางสากลนั้น ความกตัญญูคือการรู้คุณในสิ่งที่ได้รับ ซึ่งสิ่งที่ได้รับจะเป็นอะไรก็ได้ ที่ทำให้เรารู้สึกเชิงบวก รู้สึกมีความสุข ไม่ได้หมายรวมเพียงแค่วัตถุสิ่งของ ของมีค่า

ความกตัญญูในด้านจิตวิทยา

การศึกษาความกตัญญูในด้านจิตวิทยาอย่างเป็นระบบเริ่มต้นขึ้นใน ค.ศ.1998 เมื่อมาติน เซลิกมาน ก่อตั้งจิตวิทยาสาขาใหม่ที่มีชื่อว่า จิตวิทยาเชิงบวก ที่มุ่งเน้นถึงการเสริมสร้างลักษณะเชิงบวก การศึกษาความกตัญญูภายในสาขาจิตวิทยาเรียกความรู้สึกกตัญญูในรูปแบบของคำว่า ความรู้สึกขอบคุณ เมื่อเรารับรู้ถึงการพอใจที่บุคคลหนึ่งทำให้แก่เรา มนุษย์ย่อมเกิดความรู้สึกอยากขอบคุณต่อการกระทำนั้น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการตอบแทนด้วยสิ่งของใด หรือวิธีการใด ๆ ก็ตาม เหล่านี้เรียกว่า ความรู้สึกขอบคุณ

จิตวิทยาเชิงบวกเป็นศาสตร์ที่ได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็วในโลกตะวันตกโดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งศาสตราจารย์มาร์ติน เซลิกแมน ผู้เปรียบได้ว่าเป็นบิดาของศาสตร์ดังกล่าว ได้ให้ความหมายว่าเป็นจิตวิทยาของชาวตะวันตกสมัยใหม่ที่ยึดเอาจุดแข็งของมนุษย์เป็นจุดหลักของการพัฒนา เช่น การพัฒนาด้านคุณค่า สติรับรู้ในการปฏิบัติกิจต่าง ๆ การมองโลกในแง่ดี การมีความหวัง และการมีความสุข จิตวิทยาเชิงบวกจึงเป็นศาสตร์ใหม่ที่เน้นการพัฒนาบุคลิกภาพของมนุษย์ให้มีความสุข โดยมีพื้นฐานมาจากการพัฒนาตนเอง เป็นคนดี และมองโลกในแง่ดี ทั้งยังเป็นศาสตร์ที่อาศัยสถิติและวิธีการทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ ที่สามารถนำมาใช้อ้างอิงได้ ตลอดจนมีแนวทางปฏิบัติเป็นตัวอย่างที่ชัดเจน

ที่มา : https://th.wikipedia.org
  • ประโยชน์ของ “ความกตัญญู” ในเชิงจิตวิทยา

มีการศึกษาความกตัญญูในเชิงจิตวิทยา พบว่ามันมีประโยชน์ในแง่ช่วยปรับปรุงสุขภาพจิตใจ ภาวะทางอารมณ์ให้ดีขึ้น และส่งผลต่อระบบต่างๆ ในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้นอย่างสอดคล้องกัน

โดย Robert Emmons จากมหาวิทยาลัยแห่งแคลิฟอร์เนีย และ Michael McCullough จากมหาวิทยาลัยไมอามี พวกเขาได้ศึกษาและทดลองในประเด็น “จิตวิทยาเชิงบวกของความกตัญญู” พวกเขาทำการทดสอบกับอาสาสมัครจำนวนหนึ่งโดยให้อาสาสมัครกลุ่มหนึ่งเขียนขอบคุณสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่เจอมาในชีวิตประจำวันลงในไดอารีเป็นเวลา 13 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับอีกกลุ่มที่เขียนเหตุการณ์ที่ทำให้รู้สึกโกรธ

ผลการศึกษาพบว่า กลุ่มที่เขียนขอบคุณมีสุขภาพที่ดีขึ้นทั้งร่างกายและจิตใจ โดยพบว่าเมื่อเกิดความรู้สึกขอบคุณ (หรือกตัญญูต่อสิ่งรอบตัว – ตามบริบทของงานวิจัยชิ้นนี้) ร่างกายของคนเราจะเกิดการเปลี่ยนแปลงทางสรีรวิทยาที่ลึกซึ้ง เช่น ความเครียดลดลง, กระตุ้นระบบภูมิคุ้มกัน, การไหลเวียนของเลือดดีขึ้น, อัตราการเต้นของหัวใจเป็นปกติ,  หายใจลึกขึ้น, ปริมาณออกซิเจนในเส้นเลือดและเนื้อเยื่อเพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ส่งผลให้อารมณ์ดี การตัดสินใจมีประสิทธิภาพ และเสริมสร้างการคิดในแง่บวกแม้ขณะที่เราอยู่ในช่วงเวลาแห่งความทุกข์ ซึ่งเป็นกลไกของจิตใต้สำนึกที่ช่วยให้เราสามารถปรับตัวเข้ากับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันได้ดีขึ้น

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com
พ่อแม่เลี้ยงดูลูกมา สามารถบังคับชีวิตลูกได้จริงหรือ
พ่อแม่เลี้ยงดูลูกมา สามารถบังคับชีวิตลูกได้จริงหรือ

หนี้แห่งความกตัญญู!!

อย่างที่กล่าวมาข้างต้นแล้วว่า ความกตัญญูนั้นเป็นคุณธรรมที่ทำให้มนุษย์เจริญ เป็นเครื่องหมายของคนดี กตัญญูไม่ได้ก่อให้เกิดปัญหาใด ๆ แต่การตีความขอบเขตความหมายของคำว่า “กตัญญู” ของมนุษย์ต่างหากที่ทำให้เกิดประเด็นถกเถียงกันว่า ผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะถือว่าเป็นหนึ้บุญคุณต่อผู้ให้ การไม่ตอบแทนบุญคุณนั้นถือว่า อกตัญญู เช่น ลูกไม่เชื่อฟัง ไม่ทำตามพ่อแม่ เป็นลูกอกตัญญู จริงหรือ??

ความกตัญญูถูกพูดถึงทั้งในแง่สังคมวิทยา ปรัชญา และหลักจริยธรรมในหลายๆ ศาสนาทั่วโลก โดยเป็นหัวข้อที่นักปรัชญายุคโบราณ ยุคกลาง และยุคใหม่ ซึ่งส่วนใหญ่ก็ให้ความหมายไปในทิศทางเดียวกันว่า เป็นคุณธรรมที่แสดงถึงพฤติกรรมที่ดี

  • ความกตัญญู ไม่เท่ากับ การเป็นหนี้

ทั้งนี้ การแสดงออกถึงความกตัญญู ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ได้รับการช่วยเหลือจะถือว่าเป็นหนี้บุญคุณต่อผู้ให้ ยืนยันจากงานวิจัยเรื่อง “หนี้แห่งความกตัญญู : การแยกแยะความกตัญญูและการเป็นหนี้” จากทีมนักวิจัย (Watkins, Scheer, Ovnicek & Kolts) ของหลักสูตรปริญญาเอก สาขาปรัชญา มหาวิทยาลัยจีนแห่งฮ่องกง (The Chinese University of Hong Kong)

พวกเขาได้เผยแพร่ผลการศึกษาไว้ว่า แม้การเป็น “หนี้” และ “ความกตัญญู” ทั้งสองอย่างนี้จะเกิดขึ้นหลังจากที่มีฝ่ายหนึ่งได้รับความช่วยเหลือจากอีกฝ่าย แต่ก็มีความแตกต่างกันในความรู้สึกและพฤติกรรมโต้ตอบ  กล่าวคือ.. การเป็น “หนี้” เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ลูกหนี้จะรับรู้และตระหนักว่าพวกเขามีภาระผูกพันที่จะต้องชดใช้ให้กับเจ้าหนี้ และการเป็นหนี้จะกระตุ้นให้ลูกหนี้มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงเจ้าหนี้เสมอ

ขณะที่ “ความกตัญญู” ต่อบุคคลใดบุคคลหนึ่ง จะมีอารมณ์และความรู้สึกที่นำไปสู่พฤติกรรมที่ดีในเชิงบวก คือ ผู้ที่ได้รับความช่วยเหลือ มักอยากจะค้นหาผู้มีพระคุณเพื่อตอบแทนบุญคุณ และช่วยส่งเสริมความสัมพันธ์ที่ดีให้ทั้งสองฝ่าย พร้อมส่งต่อพฤติกรรมการเกื้อกูลนี้สู่อนาคตต่อๆ ไปด้วย

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com

เราเป็นพ่อแม่ ที่เรียกได้ว่าเป็น บุพการี หรือไม่??

พุทธสอนเรื่องความกตัญญูควบคู่กับคำว่า “บุพการี” ซึ่งแปลว่า ผู้ทำคุณประโยชน์แก่ผู้อื่นโดยไม่หวังผลตอบแทน และพุทธเรียกบุคคลเช่นนี้ว่า “บุคคลที่หายาก” นั่นเพราะคนทั่วไปมักทำความดี และตอบแทนผู้อื่นเพราะหวังผลทั้งสิ้น ดังนั้นเราผู้ซึ่งเป็นพ่อเป็นแม่ ลองมาสำรวจตัวเองกันเสียก่อนว่า เราได้เป็นบุพการีของลูกกันแล้วหรือยัง หรือเรายังมีคำเหล่านี้ในใจ

“มีลูกเพื่ออยากให้มีคนเลี้ยงดูเมื่อยามแก่เฒ่า”

“ความกตัญญู คือ การที่ลูกหาเลี้ยง หรือตอบสนองความต้องการของพ่อแม่ได้อย่างเต็มที่”

บุพการี และ กตัญญูหมายถึง ตอบแทนด้วยใจ
บุพการี และ กตัญญูหมายถึง ตอบแทนด้วยใจ

ในวัฒนธรรมพุทธได้แบ่งบุญคุณของผู้มีอุปการะได้ 5 อย่างด้วยกัน คือ

  1. อุปัตติคุณ บุญคุณที่ให้กำเนิด ให้ชีวิตและร่างกาย
  2. อุปถัมภคุณ บุญคุณที่เลี้ยงดู ให้ข้าวให้น้ำให้ที่อยู่
  3. อารักขคุณ บุญคุณที่เฝ้าปกป้องรักษา ไม่ให้เกิดอันตราย หาหมอยามเจ็บ ห้ามกระทำที่จะทำให้เราเกิดอันตราย และห้ามไม่ให้เราทำสิ่งผิดที่ให้เราเดือดร้อนในภายหลัง
  4. สาสคุณ บุญคุณที่ให้การสั่งสอน ให้ความรู้
  5. ปิยคุณ บุญคุณที่ให้ความรัก

พ่อแม่จัดว่ามีบุญคุณครบทั้ง5ประการ ส่วนครูอาจารย์จัดว่ามีบุญคุณข้อที่3 ข้อที่4 และข้อที่5 แต่ถ้าบุพพการีไม่มีข้อไหนก็ถือว่าไม่มีข้อนั้น เช่น พ่อแม่ให้กำเนิดแต่ไม่เคยเลี้ยงดูเลย ก็ถือว่ามีแค่ข้อแรกข้อเดียว เป็นต้น และบุญคุณทั้ง 5 ข้อนั้น หากจะเรียกได้ว่าเป็นบุพการีต้องไม่หวังผลตอบแทนอีกด้วย เมื่อเป็นดังนี้แล้ว จึงกล่าวได้อย่างชัดเจนเลยว่า ความกตัญญูนั้น ไม่เท่ากับการเป็นหนี้ บุคคลที่ได้รับความรู้สึกดีจากเราและต้องการการตอบแทน เป็นความรู้สึกที่อยากให้เราผู้ให้ ได้รับความสุขเหมือนดั่งที่เขาได้รับจากเราต่างหาก มิใช่การเรียกร้อง ทวงบุญคุณจากเขา เพื่อให้เขาตอบแทนต่อเรา

อ่านต่อ >>ไม่ได้ขอมาเกิด ตรรกะวิบัตของเด็กยุคใหม่ หรือถูกกดดัน และมุมมองของหมอเวชศาสตร์วัยรุ่น คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up