ทารกกินปลาได้ไหม

ทารกกินปลาได้ไหม? ลูกกินปลาทะเลได้เมื่อไหร่?

Alternative Textaccount_circle
event
ทารกกินปลาได้ไหม
ทารกกินปลาได้ไหม

ตอบคำถาม ทารกกินปลาได้ไหม? ลูกกินปลาทะเลได้เมื่อไหร่? ว่ากันว่าต้องรอให้ลูกอายุครบ 1 ขวบถึงเริ่มทานปลาทะเลและอาหารทะเลได้ ขอบอกว่าไม่จริง!!

ทารกกินปลาได้ไหม? ลูกกินปลาทะเลได้เมื่อไหร่?

ในช่วง 6 เดือนแรก ทารกควรได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอจากนมแม่หรือนมดัดแปลงสำหรับทารกในกรณีที่ไม่สามมารถให้นมแม่ได้ เพื่อให้ร่างกายของลูกเจริญเติบโต และมีพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ตามวัย โดยนมแม่อย่างเดียวจะพอเพียงต่อการเจริญเติบโตของลูกจนถึงอายุประมาณ 6 เดือน (และควรทานนมแม่อย่างต่อเนื่องไปได้เรื่อย ๆ) หลังจากลูกอายุ 6 เดือนแล้ว ทารกจำเป็นต้องได้รับพลังงานและสารอาหารบางชนิดเพิ่มเติมจากอาหารเสริมตามวัยของทารก เช่น โปรตีน เหล็ก สังกะสี ไอโอดีน วิตามินเอ เป็นต้น เพื่อให้ร่างกายเจริญเติบโตตามวัย

การให้อาหารตามวัยสำรับทารกอย่างเหมาะสม ควรยึดหลัก 3 ประการ ดังนี้

  • สมวัย คือ ควรดูว่าทารกมีความพร้อมที่จะรับอาหารอื่น ๆ นอกจากนมได้หรือยัง กล่าวคือ เมื่อระบบทางเดินอาหาร ไต ระบบประสาทและกล้ามเนื้อได้พัฒนาจนสามารถทำหน้าที่พร้อมแล้ว ทั้งนี้ คุณแม่ควรปรึกษาหมอก่อนเริ่มให้อาหารเสริม เพื่อให้คุณหมอได้ดูถึงพัฒนาการในด้านต่าง ๆ ของลูกน้อยค่ะ
  • เพียงพอ ให้อาหารที่มีพลังงานและสารอาหารเพียงพอกับความต้องการของทารกในแต่ละวัน โดยสารอาหารที่ได้รับต้องมีคุณค่าทางโภชนาการและมีความหลากหลาย มีปริมาณที่เหมาะสม จำนวนมื้ออาหารเหมาะสมกับวัย
  • ปลอดภัย เตรียมและเก็บอาหารอย่างถูกหลักอนามัย อุปกรณ์ที่ใช้ต้องสะอาด ล้างมือก่อนเตรียมและป้อนอาหาร ล้างผักและผลไม้ให้สะอาด

ลูกกินปลาทะเลได้เมื่อไหร่? ทารกกินปลาได้ไหม?

จะเห็นได้ว่าการให้อาหารเสริมกับลูกน้อยนั้น ควรมีความหลากหลาย และปลา (ทั้งปลาน้ำจืดและปลาทะเล) ก็เป็นอีกเมนูหนึ่ง ที่มีคุณค่าทางโภชนาการ มีสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายของทารก แต่เรามักจะได้ยินมาว่าไม่ควรทานอาหารทะเลก่อนอายุ 1 ขวบ เพราะเสี่ยงต่อการเกิดการแพ้อาหารได้ ซึ่งในต่างประเทศนั้น มีงานวิจัยว่า เพื่อให้ได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์และหลากหลาย ทารกสามารถทานปลาทะเลและปลาน้ำจืดได้ตั้งแต่อายุ 6 เดือนขึ้นไป (สำหรับเด็กที่มีประวัติการแพ้อาหาร ควรปรึกษาหมอก่อนเริ่มทานปลาค่ะ)

ลูกกินปลา
ลูกกินปลา

ปลามีประโยชน์ต่อทารกอย่างไร? ทารกกินปลาได้ไหม?

แม้ว่าอาหารหลักของทารกที่มีอายุต่ำกว่า 1 ปีนั้นยังคงเป็นนมแม่อยู่ แต่การได้รับอาหารเสริมหลังอายุ 6 เดือนแล้ว อาหารเสริมจะเป็นตัวช่วยรองมาจากนมแม่ เพื่อให้ลูกได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอต่อร่างกาย และหลากหลายมากขึ้น ซึ่งในปลาอุดมไปสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายดังนี้

  1. วิตามินดีและธาตุเหล็ก วิตามินดีมีความสำคัญต่อกระดูกที่แข็งแรงและการพัฒนาสมอง และธาตุเหล็กเป็นแร่ธาตุสำคัญที่มีความสำคัญต่อการทำงานของร่างกายหลายอย่าง รวมถึงการลำเลียงออกซิเจน เนื่องจากวิตามินดีและธาตุเหล็กที่มีอยู่ในนมแม่นั้นเริ่มไม่เพียงพอสำหรับเด็กทารกวัย 6 เดือนขึ้นไปแล้ว การเสริมอาหารเสริมให้ลูกน้อยโดยเน้นให้ทานอาหารที่มีวิตามินดีและธาตุเหล็กสูงจึงเป็นสิ่งที่ควรแนะนำ (อ่านต่อ วิตามินดี…ดี๊ดีกว่าที่คิด!! รวม 5 อาหารที่มีวิตามินดีสูง)
  2. โปรตีน  ปลายังเป็นแหล่งโปรตีนชั้นเยี่ยม ซึ่งโปรตีนเป็นสารอาหารสำคัญที่สร้างและซ่อมแซมเนื้อเยื่อในร่างกาย ช่วยให้ลูกน้อยเจริญเติบโตอย่างแข็งแรง ในปลายังมีสังกะสีในปริมาณที่ดีต่อสุขภาพ สังกะสีเป็นแร่ธาตุอีกชนิดหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในระบบภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงและการเจริญเติบโตของเซลล์
  3. กรดไขมันโอเมก้า 3 ปลาบางชนิดมีกรดไขมันโอเมก้า 3 ซึ่งเป็นกรดไขมันจำเป็นที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพหลายประการสำหรับทั้งทารกและผู้ใหญ่ โดยเฉพาะในเด็กทารก กรดไขมันโอเมก้า 3 มีความสำคัญต่อการทำงานของสมอง ดวงตา และภูมิคุ้มกันที่แข็งแรง อีกด้วย (อ่านต่อ 10 ปลาไทย โอเมก้า 3 สูง! บำรุงสมองสดใส หัวใจแข็งแรง)
  4. วิตามินบี 12 และไอโอดีน เป็นสารอาหารอีก 2 ชนิดที่พบในปลาที่เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาสมองที่แข็งแรงและเซลล์เม็ดเลือดแดงในทารก

ควรให้ลูกกินปลาอะไรดี? และข้อควรระวังในการทานปลาทะเล

แม้ปลาจะมีประโยชน์ต่อร่างกาย แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทารกจะสามารถทานปลาได้ทุกชนิดได้บ่อย ๆ อย่างปลอดภัย เนื่องจากในปลาทะเลบางชนิดนั้นมีการปนเปื้อนของสารปรอท จากแหล่งน้ำที่มีการปนเปื้อนของโลหะหนัก
ยิ่งตัวใหญ่ก็จะยิ่งมีโอกาสมีสารปรอทสะสมในร่างกายสูง ปัจจุบัน มีคำแนะนำจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา (US FDA) แบ่งปลาออกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ควรให้ลูกกินปลาอะไรดี?

  1. กลุ่ม Best Choice เป็นกลุ่มของปลาที่ปลอดภัย มีการปนเปื้อนของสารปรอทต่ำ ควรทาน 2 – 3 มื้อต่อสัปดาห์ เช่น
    • ปลาแซลมอน
    • ปลาจวด
    • ปลาทู
    • ปลากระพงขาว
    • ปลาดุก
    • ปลาแมกเคอเรลแอตแลนติก
    • ปลาจาระเม็ด
    • ปลาคอด
    • ปลาทูน่า
    • ปลาลิ้นหมา
    • ปลานิล
    • ปลากระบอก
  2. ปลากลุ่ม Good Choices ปลาที่ปลอดภัยรองลงมา ควรรับประทานอาทิตย์ละ 1 ครั้ง
    • ปลาไน
    • ปลาหิมะ
    • ปลาเก๋า
    • ปลาแฮลิบัต
    • ปลาอีโต้มอญ
    • ปลากระพงแดง
  3. กลุ่ม Choices to Avoid คือปล่ากลุ่มที่มีการปนเปื้อนของสารปรอทสูง ควรหลีกเลี่ยง
    • ปลาฉลาม
    • ปลาอินทรี
    • ปลากระโทงดำ
    • ปลากระโทงดาบ
    • ปลาไทล์ฟิชจากอ่าวเม็กซิโก

 >> คำแนะนำนี้สามารถใช้ได้กับแม่ท้องและแม่ให้นมบุตรด้วยนะคะ <<

FDA ปลาทะเล
FDA ปลาทะเล

ข้อควรระวังในการทานปลาทะเล

นอกจากอันตรายจากการปนเปื้อนของสารปรอทแล้ว ยังมีข้อควรระวังจากการทานปลาทะเลคือ แบคทีเรียและไวรัส ต่าง ๆ ที่อาจอยู่ในเนื้อปลาที่ปรุงไม่สุก หรือการทานปลาดิบ การปรุงเมนูปลา ควรปรุงให้สุกในอุณหภูมิ 62.8 องศาเซลเซียส เป็นอย่างน้อย และปล่อยให้เย็นอยู่ในภาชนะที่สะอาด ถึงจะนำมาให้ทารกทานได้ ปลาที่ปรุงสุกแล้ว สามารถเก็บอยู่ในตู้เย็นได้ไม่เกิน 2-3 วัน และสามารถเก็บอยู่ในช่องแช่แข็งได้ไม่เกิน 3 เดือน (หลังจากระยะเวลาที่กำหนด ไม่แนะนำให้นำกลับมาอุ่นทานค่ะ) สำหรับปลาดิบหรือปลาที่ยังไม่ได้นำมาปรุง สามารถเก็บในตู้เย็นได้ไม่เกิน 1-2 วัน และเมื่อนำออกมาละลาย ไม่ควรให้ปลาอยู่ในอุณหภูมิห้องเกิน 2 ชั่วโมง

คำแนะนำอาหารสำหรับทารกวัย 0-12 เดือน

นอกจากนี้ ทีมแม่ ABK ขอนำคำแนะนำจากโรงพยาบาลสินแพทย์ เกี่ยวกับอาหารทารกในวัย 0 – 12 เดือนมาฝากกันค่ะ

อายุ

อาหารเสริมที่ควรเริ่มได้

ปริมาณอาหารเสริมที่ควรได้รับต่อวัน

แรกเกิดถึง 4 เดือน
  • ไม่จำเป็นต้องให้อาหารเสริมเพราะว่าน้ำนมแม่เป็นอาหารที่ดีที่สุดสำหรับทารกแต่ถ้าจำเป็นจึงจะให้นมผสมรับประทาน ได้ถึง 2 ปี
  • น้ำนมแม่สามารถให้รับประทานได้ถึง 2 ปี แต่หลัง 1 ปี ต้องได้รับอาหาร  มื้อหลักครบ 3  มื้อ
อายุครบ 4-6 เดือนเริ่มให้อาหารเสริม
  • ข้าวบดละเอียด
  • ไข่ต้มสลับกับตับบด หรือ ปลาบดเช่น ปลาทู ปลาช่อน
  • ผักสุกบด เช่น ผักกาดขาวฟักทอง
  • น้ำต้มผักกับกระดูกหมู
  • ผลไม้สุก เช่น มะละกอสุก มะม่วงสุกส้ม กล้วยน้ำว้าสุก
  • ข้าวบดประมาณ 3ช้อนโต๊ะไข่แดงครึ่งฟอง
  • ตับบด 1 ช้อนโต๊ะ
  • ปลาบด 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกบดครึ่งช้อนโต๊ะ
  • ผลไม้สุก 1-2 ชิ้น
อายุครบ 7-8 เดือน
  • ข้าวบดหยาบ
  • ไข่ทั้งฟอง สลับกับเนื้อปลา เนื้อหมูหรือ เนื้อไก่
  • ผักสุกบดหยาบให้ผักหลายชนิดสลับกัน
  • น้ำต้มผักกับกระดูกหมู
  • ผลไม้สุก
  • ข้าวบดประมาณ 4 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่ทั้งฟอง
  • เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกบด 1-2 ช้อนโต๊ะ
  • ผลไม้สุก 2-3 ชิ้น
  • อาหารเสริม 1 มื้อ
  • ผลไม้หลังอาหาร
อายุครบ 8-10 เดือน
  • ข้าวสุกนิ่ม
  • อาหารอย่างอื่นรับประทานเหมือนอายุครบ 7 เดือน แต่เพิ่มปริมาณมากขึ้น
  • ข้าวสุกนิ่มประมาณ 5 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่ทั้งฟอง
  • เนื้อสัตว์ 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกหั่น 2 ช้อนโต๊ะ
  • ผลไม้สุก 3-4 ชิ้น
  • อาหารเสริม 2 มื้อ
  • ผลไม้หลังอาหารทุกมื้อ
อายุครบ 10-12 เดือน
  • รับประทานเหมือนเดิมแต่เพิ่มปริมาณมากขึ้น
  • ข้าวสุกนิ่มประมาณ 6 ช้อนโต๊ะ
  • ไข่ทั้งฟอง
  • เนื้อสัตว์ 3 ช้อนโต๊ะ
  • ผักสุกหั่น 3 ช้อนโต๊ะ
  • ผลไม้สุก 4-5 ชิ้น
  • อาหารเสริม 3 มื้อ
  • ผลไม้หลังอาหารทุกมื้อ

ได้รับคำตอบกันแล้วนะคะว่า ทารกกินปลาได้ไหม? และควรเริ่มกินปลาทะเลได้เมื่อไหร่? แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดนอกจากการทานปลาแล้ว คุณแม่ควรให้ลูกได้ทานอาหารที่หลากหลาย เพื่อให้ได้รับสารอาหารต่าง ๆ อย่างครบถ้วนนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

12 เมนู อาหารเด็ก 6 เดือน กับสูตรอร่อยเพื่อลูกวัยเริ่มกิน!

รวม 60 สูตร+วิธีทำ เมนูอาหารเด็ก ตั้งแต่ 6 เดือน – 1 ขวบ

หมอชี้!!ลูกขาด วิตามินซี อันตรายกว่าที่คิด เสี่ยงเดินไม่ได้

10 เช็กลิสต์ 12 วินัยป้องกันลูกเป็น โรคขาดสารอาหาร!!

 

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : healthline.com, U.S. Food and Drug Administration, สมาคมแพทย์สตรีแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชินูปถัมภ์, babycenter.com, โรงพยาบาลสินแพทย์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up