วิธีสังเกต ลูกเป็น “ผื่นแพ้นมวัว” หรือไม่? โดยคุณหมอนิอร

Alternative Textaccount_circle
event

ปัจจุบันสื่อโซเซียลมีเดียเข้าถึงได้ง่าย เวลาลูกเล็กมีผื่นเมื่อคุณพ่อ คุณแม่ค้นหาเข้าไปใน Google, Bing หรือเข้าไปรวมกลุ่มใน facebook เมื่อได้อ่านข้อมูลอาจจะทำให้คุณพ่อ คุณแม่สับสนหรือสงสัยว่าลูกของคุณเป็น ผื่นแพ้นมวัว หรือเปล่า เนื่องจากโรคนี้ถูกกล่าวถึงเป็นวงกว้างในช่วงหลายปีที่ผ่านมา

หมอจะมาคลายข้อสงสัยให้คุณพ่อคุณแม่ค่ะ

ผื่นแพ้นมวัว มีอาการทางผิวหนังได้ 2 ประเภทใหญ่ๆ คือ

  1. ปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาการแพ้แบบเฉียบพลัน ได้แก่ ลมพิษ ปากบวม ในบางรายที่มีอาการรุนแรงสามารถพบอาการตามระบบอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจไม่สะดวก จากกล่องเสียงบวม หรือหลอดลมตีบ ความดันโลหิตต่ำ อาเจียน เป็นต้น อาการจะเกิดขึ้นภายใน 30 นาที หรือช้าที่สุดไม่เกิน 4 ชั่วโมง เมื่อได้รับนมวัว
  2. ปฏิกิริยาตอบสนองต่ออาการแพ้แบบช้า ได้แก่ ผื่นผิวหนังอักเสบ พบว่าผิวหนังจะมีอาการอักเสบ แดง มีน้ำเหลืองไหลเยิ้ม เป็นต้น อาการจะเกิดขึ้นช้าใช้เวลาหลายวันหลังจากได้รับนมวัว แต่ในครั้งหลังๆ อาการแสดงให้เห็นเร็วขึ้น

เมื่อไหร่ที่ต้องสงสัยว่าลูกเป็น ผื่นแพ้นมวัว

  1. เมื่อดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว แล้วมีผื่นลมพิษขึ้นภายใน 30 นาทีถึง 4 ชั่วโมง เมื่อได้รับนมวัวมีผื่นต้องมีลมพิษขึ้นทุกรอบ
  2. เมื่อดื่มนมวัว หรือรับประทานผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของนมวัว แล้วมีผื่นผิวหนังอักเสบเกิดขึ้น หรือทำให้ผื่นที่มีอยู่แล้วแย่ลง ทั้งที่ได้รับการดูแลผิวและรักษาการอักเสบอย่างถูกต้องและเหมาะสมแล้ว แต่การประเมินเพื่อหาความสัมพันธ์กับเวลาในกลุ่มนี้ทำได้ยากเนื่องจากระยะเวลาไม่ชัดเจนเหมือนในกลุ่มอาการเฉียบพลัน
นมวัว
สังเกตอย่างไร ว่าลูกเป็น ผื่นแพ้นมวัว

ทำอย่างไรต่อดีเมื่อสงสัยว่า ลูกแพ้นมวัว

หมอแนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ด้านภูมิแพ้หรือผิวหนัง เพื่อช่วยยืนยันการวินิจฉัย และติดตามอาการนะคะ

  • กรณีการแพ้แบบเฉียบพลันไม่แนะนำให้ทดลองอาหารเองนะคะ เนื่องจากมีโอกาสเกิดการแพ้แบบรุนแรงเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ แนะนำให้ปรึกษากุมารแพทย์ แพทย์จะพิจารณาตามความเหมาะสมว่า กรณีใดควรทดสอบโดยวิธีสะกิดที่ผิวหนัง หรือตรวจเลือดเพื่อหาแอนติบอดีจำเพาะต่ออาหารค่ะ
  • หากสงสัยอาการแพ้แบบผิวหนังอักเสบ
    • ในกรณีที่ลูกดื่มนมเม่ หากต้องการให้นมแม่ต่อ แนะนำให้คุณแม่งดนมวัวและอาหารที่มีส่วนผสมนมวัว
    • กรณีที่ลูกดื่มนมวัว แพทย์จะแนะนำให้ลูกงดดื่มนมวัวและงดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัว เปลี่ยนนมเป็นนมผสมในกลุ่มเฉพาะสำหรับเด็กแพ้นมวัว
    • งดนมวัวอย่างน้อย 2-4 สัปดาห์ จากนั้นให้สังเกตอาการ
      • หากผื่นไม่ดีขึ้นทั้งที่งดนมวัวแล้ว แสดงว่านมวัวไม่น่าจะใช่สาเหตุ
      • หากงดนมวัวแล้วดีขึ้น แสดงว่ามีโอกาสเป็นไปได้จากนมวัว เมื่อผื่นหายสนิทให้ทานนมวัวกลับเข้าไปใหม่
        • หากไม่มีอาการกำเริบของผื่น แปลว่า นมวัวไม่ใช่สาเหตุของผื่น เด็กและคุณแม่ไม่จำเป็นต้องงดนมวัว
        • ถ้าเกิดผื่นขึ้นอีก สามารถช่วยยืนยันการวินิจฉัยได้ว่าผื่นมีความสัมพันธ์กับนมวัวจริง ให้คุณแม่งดนมวัวและงดรับประทานอาหารที่มีส่วนผสมของนมวัวและจากนั้นสามารถให้นมแม่ต่อได้ ส่วนลูกที่ทานนมผสมสูตรทั่วไปอยู่ให้เปลี่ยนมาเป็นนมผสมสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัว เช่น Nutramigen และ HiQ Pepti เป็นต้น

สิ่งสำคัญที่ควรรู้

ผื่นแพ้นมวัว ดีขึ้นได้เองตามอายุ ส่วนใหญ่สามารถกลับไปรับประทานนมวัวได้ แนะนำให้ปรึกษาแพทย์เพื่อติดตามอาการ จัดตารางการให้นมวัวกลับเข้าไปในช่วงที่เหมาะสม

คุณแม่ที่ให้นมลูกอยู่หรือลูกเองไม่ควรงดรับประทานอาหารบางอย่างโดยที่ยังไม่ได้มีข้อสงสัยแน่ชัด เนื่องจากอาจส่งผลให้เกิดภาวะขาดสารอาหารในแม่หรือลูก คุณค่าของสารอาหารในน้ำนมไม่เพียงพอ หรือการเปลี่ยนให้ลูกมาทานนมสำหรับสูตรสำหรับเด็กแพ้นมวัวโดยไม่จำเป็น เนื่องจากมีราคาสูงกว่านมผสมสูตรทั่วไปทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายมากขึ้นค่ะ

สุดท้ายโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังไม่ได้สัมพันธ์กับผื่นแพ้นมวัวทุกราย มีเพียง 30% ของกลุ่มโรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนังที่มีอาการรุนแรงปานกลางขึ้นไปที่พบว่ามีการแพ้นมวัวร่วมด้วยค่ะ

*โรคผื่นภูมิแพ้ผิวหนัง ไม่เท่ากับ ผื่นแพ้นมวัว*

 

บทความลิขสิทธิ์ Copyright © พญ.นิอร บุญเผื่อน All rights reserved. อนุญาตให้เฉพาะ Amarin Baby & Kids เท่านั้น ห้ามคัดลอก ดัดแปลง โดยไม่ได้รับอนุญาตเป็นลายลักษณ์อักษร

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 


Heatlh Quotient ฉลาดดูแลสุขภาพ หนึ่งใน Power BQ 10 ความฉลาดที่เด็กยุคใหม่ควรมี เริ่มต้นที่คุณพ่อคุณแม่ เตรียมพร้อมในการดูแลรักษาสุขภาพลูกน้อย และทุกคนในครอบครัว รวมถึง สุขภาพผิวอันบอบบางของลูกน้อย เพราะปัญหาสุขภาพผิวอาจส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ และพัฒนาการของเด็ก คุณพ่อคุณแม่จึงจำเป็นต้องดูแลสุขภาพผิวลูกน้อยให้แข็งแรง เพื่อพัฒนาการที่ไม่สะดุด และพร้อมเรียนรู้สิ่งต่างๆอย่างมีประสิทธิภาพ


ติดตามเรื่องราวน่ารู้เกี่ยวกับสุขภาพผิวเด็กและโรคผิวหนังในเด็ก

กับคุณหมอนิอร ได้ที่เพจ ผิวเด็ก

เพจผิวเด็ก

 

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

Checklist 7 วิธีเลือกสบู่เหลวเด็ก ครีมอาบน้ำเด็ก โดยคุณหมอนิอร

เทียบสารอาหาร “นมสำหรับเด็กแพ้นมวัว” (นมถั่วเหลือง-นมอัลมอนด์-นมข้าว-นมลูกเดือย)

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up