วัคซีนโควิด19เด็ก

หมอขอตอบ!รวมคำถามคาใจ วัคซีนโควิด19เด็ก ฉีดดีไหม

Alternative Textaccount_circle
event
วัคซีนโควิด19เด็ก
วัคซีนโควิด19เด็ก

วัคซีนโควิด19เด็ก กับคำถามสารพันจากพ่อแม่ คุณหมอรวบรวมไว้ตอบชัดทุกข้อสงสัย เคลียร์ข้อกังวล ให้พ่อแม่ตัดสินใจว่าควรฉีดวัคซีนให้กับลูกดีหรือไม่

หมอขอตอบ!รวมคำถามคาใจกับ วัคซีนโควิด19เด็ก ฉีดดีไหม?

ถึงแม้ในปัจจุบัน มนุษย์เราจะอยู่ร่วมกับไวรัสโคโรน่า โควิด-19 มาร่วม 2 ปีแล้ว แต่เจ้าเชื้อไวรัสยังคงไม่ได้หายไป การป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องป่วยด้วยไวรัสโควิด-19 นั้น ยังคงเป็นแนวทางหลักในการดูแลตนเอง การใส่หน้ากากอนามัย หมั่นล้างมือ เว้นระยะห่างระหว่างกัน และที่สำคัญ คือ การได้รับวัคซีนป้องกันไวรัสโควิด-19 ยังคงจำเป็นในการใช้ชีวิตในปัจจุบันนี้
วัคซีนโควิด19เด็ก เป็นวัคซีนที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้เด็กอายุ 5-11 ปีได้รับเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน เนื่องจากพบว่าเชื้อไวรัสโควิด19 นั้นมีการกลายพันธุ์จากเดิมที่ไม่ทำอันตรายต่อเด็กมากนัก หรือหากมีการติดเชื้อก็จะไม่ป่วยรุนแรงในเด็ก การกลายพันธุ์นี้ส่งผลให้มีเด็กติดเชื้อเพิ่มมากขึ้น และมีสถิติเด็กป่วยที่มีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตเพิ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย
วัคซีนโควิด19เด็ก จำเป็นไหม
วัคซีนโควิด19เด็ก จำเป็นไหม

วัคซีน Covid สำหรับเด็กอายุ 5 -11 ปี จำเป็นหรือไม่??

ตั้งแต่เดือนมีนาคม 2020 มีเด็กประมาณ 1.5 ล้านคนในสหรัฐอเมริกาติดเชื้อโควิด-19 ซึ่งจำนวนเด็กที่ติดเชื้อมีมากกว่า 20% ของผู้ป่วยโควิด-19 รายใหม่ แสดงให้เห็นถึงการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนที่เริ่มไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก การฉีดวัคซีนจะช่วยให้เด็กปลอดภัยขึ้น ในขณะที่อยู่ในโรงเรียน หรือไปเที่ยวเล่นกับเพื่อนและครอบครัว วัคซีนจะช่วยให้เด็กมีแนวโน้มป่วยหนัก เข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล หรือเสียชีวิตน้อยลงมาก การทดลองทางคลินิกได้พิสูจน์แล้วว่าวัคซีนมีประสิทธิภาพในการป้องกันในเด็กเล็ก

สำหรับประเทศไทยได้อนุมัติให้มีการฉีดวัคซีนโควิด19เด็กเช่นกัน โดยทางกระทรวงสาธารณสุขได้วางไทม์ไลน์การฉีดวัคซีนให้แก่เด็ก โดยให้เด็กได้รับวัคซีนไฟเซอร์สำหรับเด็ก 5-11 ปี (วัคซีนไฟเซอร์ฝาส้ม) วางแผนเริ่มฉีดวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2565นี้ เริ่มจากเด็กในกลุ่มโรคเรื้อรังก่อน จากนั้นจัดสรรให้เด็กนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ในทุกจังหวัดเป็นอันดับแรก และจัดสรรให้นักเรียนชั้นปีอื่นถัดไปตามลำดับ

แม้ว่าจะได้รับการยืนยันรับรองจากทั้งทางกระทรวงสาธารณสุข หรือทาง อย.(สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา) มาแล้วก็ตาม แต่ความกังวลใจของพ่อแม่ ผู้ปกครองต่อวัคซีนโควิด19สำหรับเด็กนี้ ก็ยังคงมีอย่างมากมาย ล้นหลาม วันนี้ทาง ทีมแม่ ABK จึงได้ทำการขออนุญาตนำคำตอบบางส่วนของคุณหมอวัฒนพงศ์ สุภมงคลชัยกุล นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ ที่ได้ทำการรวบรวมคำถามคาใจคุณพ่อคุณแม่มาตอบให้คลายกังวล เพื่อใช้ประกอบการตัดสินใจให้บุตรหลาน ดังนี้

  • ก่อนเริ่มคำถาม มาทำความรู้จักกับวัคซีนไฟเซอร์ (Pfizer) สำหรับเด็ก 5-11 ปี กันก่อน 

วัคซีน Pfizer สำหรับเด็ก(วัคซีนไฟเซอร์ฝาสีส้ม) ก็คือ ตัวเดียวกับของผู้ใหญ่เพียงแต่ว่าลดขนาดลงจาก 30 ไมโครกรัม เหลือเพียง 10 ไมโครกรัม เนื่องจาก วิจัยแล้วพบว่า ขนาด 10 ไมโครกรัม เพียงพอต่อการสร้างภูมิต้านทานต่อเชื้อโควิคในเด็กแล้ว เมื่อใช้ขนาดยาลดลง ก็จะทำให้มีผลข้างเคียงลดลงอีกด้วย แต่เนื่องจากขนาด 10 ไมโครกรัมมีปริมาณน้อยมากทำให้มีปัญหาเรื่องการดูดยาให้ตรงตามปริมาณที่เหมาะสม ทางบริษัท Pfizer ก็เลยเปลี่ยนตัวBuffer ที่อยู่ในตัววัคซีนเพื่อทำให้ดูดได้ง่ายขึ้น และเก็บในตู้เย็นได้นานขึ้นจาก 4สัปดาห์ เป็น 10 สัปดาห์และ เพื่อป้องกันความสับสนกับของผู้ใหญ่จึงเปลี่ยนสีฝาขวดเป็น สีส้ม ดังนั้น วัคซีน Pfizer ของเด็ก อายุ5-11 ปี ฝาจะเป็นสีส้ม

Question 1. ไม่ฉีด Vaccine ได้ไหม ให้เด็กระวังตัวเอา ไม่ติดเชื้อหรอก
  • อย่างที่ทุกคนทราบมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ทั้งเรื่องของการใส่หน้ากาก เว้นระยะห่าง ล้างมือ สำหรับเด็กเล็กแล้วตามธรรมชาติของเขามีแนวโน้มที่ ที่จะให้ความร่วมมือและปฏิบัติตามได้น้อยกว่าผู้ใหญ่ ทำให้เด็กมีความเสี่ยงติดเชื้อมากกว่าผู้ใหญ่ โชคดีที่ก่อนหน้านี้เราพบว่าการติดเชื้อในเด็กมักจะไม่รุนแรง ยกเว้นในเด็กที่มีโรคประจำตัว แต่จากเชื้อ omicron ที่มีความสามารถในการแพร่กระจาย และติดเชื้อได้สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มที่ยังไม่ได้รับวัคซีน เมื่อติดเชื้อเยอะก็ย่อมมี จำนวนเด็กป่วยหนักหรือเสียชีวิตเยอะขึ้น

    มาตราการป้องกันโควิด19 ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเพียงพอหรือไม่
    มาตราการป้องกันโควิด19 ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัยเพียงพอหรือไม่

Question 2. ติดก็ไม่เป็นอะไร covid รักเด็ก เอ็นดูเด็กอยู่แล้ว /อัตราการป่วยหนัก เสียชีวิตในเด็กที่ติดเชื้อโควิด19 มีน้อยไม่น่าอันตราย

  • จากข้อมูลการระบาดระลอกใหม่ของสหรัฐอเมริกาพบว่า มีจำนวนผู้เสียชีวิตที่เป็นเด็กสูงขึ้น ณ ปัจจุบัน การระบาดของไวรัสโอมิครอนได้คร่าชีวิตเด็กชาวอเมริกันไปมากกว่า 1,000 ราย โดยโอกาสเสียชีวิตจากโควิด อยู่ที่ประมาณ 1 ใน 2-4 หมื่นคน ซึ่งสูงกว่าโอกาสเสียชีวิต จากการฉีด Vaccine จากข้อมูล จะพบว่าโอกาสเสียชีวิตจากติดเชื้อโควิด = 1 ใน 2-40000 คน เทียบกับโอกาสเสียชีวิตจาก วัคซีน Pfizer = 1 ใน 1.8 ล้านคน

Question 3. อยากทราบผลแทรกซ้อน และความผิดปกติในระยะยาวหลังเด็กติด covid-19

  • Covid ทำให้เกิดอันตรายแก่เด็กที่ติดเชื้อได้ใน  3 ระยะ คือ
  1. ระยะที่ยังมีเชื้อในร่างกายลงปอด และทำลายอวัยวะต่าง ๆ อันนี้ตรงตัว แม้ว่าเด็กมีโอกาสเกิดโรครุนแรง และเสียชีวิต น้อยกว่าผู้ใหญ่ แต่การฉีดวัคซีนก็ช่วยลดโอกาสในการป่วยหนักได้มากกว่าไม่ฉีดวัคซีนอย่างชัดเจน นอกจากนั้นยังพบว่าในเด็กที่ติดโควิด-19 มีโอกาสในการเป็นเบาหวานมากขึ้น 2.66 เท่าเมื่อเทียบกับเด็กที่ไม่ติดโควิด
  2. Long covid syndrome แม้ว่าเชื้อจะตาย แต่ก็อาจจะยังฝากรอยแผลไว้ในร่างกาย ทำให้ยังคงมีอาการผิดปกติ หลงเหลืออยู่ซึ่งพบบ่อยกว่าในผู้ป่วยที่อาการหนัก แต่ผู้ป่วยที่อาการป่วยน้อยก็พบได้ อาการ Long covid syndrome ที่พบในเด็ก ได้แก่ การรับรู้ การดมกลิ่นผิดปกติจนมีผลต่อการรับประทานอาหารของเด็ก  อ่อนเพลีย ปวดข้อ ไม่มีแรง มึนงง สมองตื้อ อาจส่งผลต่อทั้งพัฒนการการเจริญเติบโต และการเรียนรู้ได้
  3. MIS-C คือ ภาวะการอักเสบทั่วร่างกายหลังหายป่วยจากโควิด-19 พบว่า มีเด็กกลุ่มหนึ่งหลังจากที่ติดโควิดจนหายไม่เหลือเชื้อในร่างกายแล้ว แต่ยังมีอาการแทรกซ้อนตามหลังการติดเชื้อ ประมาณ 2-6 สัปดาห์ อาการแทรกซ้อนที่เกิดขึ้นเป็นผลจากการอักเสบในอวัยวะต่าง ๆ ทั่วร่างกาย เนื่องจาก ระบบภูมิคุ้มกันทำงานผิดปกติ ไปทำลายร่างกาย และอาจมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรงถึงแก่ชีวิตได้ โดยมีอัตราเข้ารักษาใน ICU (61%) และอัตราตายที่สูงประมาณ 2%

ดังนั้น ไม่ว่าจะเด็กแข็งแรง หรือไม่แข็งแรง จะป่วยหนัก หรือป่วยน้อย ก็มีโอกาสเจอภาวะแทรกซ้อนกันถ้วนหน้า

หลากหลายคำถามจากพ่อแม่เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก
หลากหลายคำถามจากพ่อแม่เกี่ยวกับวัคซีนเด็ก

Question 4. การฉีดวัคซีนจะช่วยลดอะไรได้บ้าง และมีประสิทธิภาพขนาดไหน

  • คุณหมอได้อธิบายโดยอ้างอิงงานวิจัยที่มีแหล่งที่มาของข้อมูลไว้ โดยขออธิบายวัคซีนที่ผ่านการอนุมัติให้ใช้ในเด็ก 5-17 ปีในประเทศไทย คือ Pfizer ผลการศึกษาสรุปได้ว่า
  1. ขนาดยาที่เหมาะสมกับเด็ก 5-11 ปี คือ 10 ug
  2. จากการศึกษาเด็กจำนวน 2285 คน ไม่พบผลข้างเคียงที่รุนแรงจากการฉีดวัคซีน มีเพียงอาการปวดบวมแดงร้อนเฉพาะที่ ปวดเมื่อยตัว ปวดหัว มีไข้ ซึ่งมักจะหายเองภายใน 1-2 วัน
  3. เมื่อวิเคราะห์ถึงประสิทธิภาพของวัคซีน เทียบกับกลุ่มที่ได้วัคซีนหลอก พบว่าวัคซีน Pfizer 10 ug มีประสิทธิภาพในการป้องกันการติดเชื้อ(เดลต้า) ได้สูงถึง 90.7 เปอร์เซ็นต์ และสามารถกระตุ้นภูมิได้สูงโดยมีระดับ Neutralizing Ab ใกล้เคียงกับผู้ใหญ่ที่ฉีด 30ug ครบ 2 dose
  4. ผลการฉีด vaccine ต่อ โอกาสการเกิด long covid syndromeไม่มีข้อมูลในเด็ก แต่ข้อมูลในผู้ใหญ่ พบว่า คนที่ได้รับ vaccine ครบ 2 เข็มลดโอกาสการเกิด long covid syndrome ได้ถึง 50%
  5. ผลการฉีด vaccine ต่อ โอกาสการเกิด MIS-C พบว่า การฉีดวัคซีน Pfizer 2 เข็มในเด็กวัยรุ่น (12-18ปี) สามารถป้องกันได้สูงถึง 91% แถมยังช่วยให้ไม่เกิดอาการป่วยหนักจาก MIS-C อีกด้วย

Question 5. กังวลใจกับ Vaccine m-RNA ที่เป็นเทคโนโลยีใหม่ไม่เหมาะกับเด็กเล็กหรือไม่ ในระยะยาว อาจจะเกิดเป็นมะเร็งเพราะ DNA เปลี่ยนอย่างที่เขาลือกันหรือไม่

วัคซีนโควิด19เด็ก ช่วยให้ไม่ป่วยอาการรุนแรง
วัคซีนโควิด19เด็ก ช่วยให้ไม่ป่วยอาการรุนแรง
  • สำหรับผลข้างเคียงของวัคซีน mRNA  มีข้อมูลของกรมควบคุมโรคของ USA พบว่าฉีดวัคซีนPfizer ให้เด็กอายุ 5-11 ปี ไปแล้ว 7.1 ล้านโดส ประมาณคร่าวๆ ก็ 3.6 ล้านคน มีเด็กเอเชีย อยู่ 7 % (2.5 แสนคน) พบว่าผลข้างเคียง มักจะเกิดในช่วง 3 วันแรก อาการรุนแรง 81 คน ไม่รุนแรง 3150 คน เสียชีวิต 2 คน (โดยเป็นเด็กที่มีภาวะสมองพิการ ชัก สุขภาพที่ไม่ค่อยดีอยู่แล้วก่อนจะฉีดวัคซีน) โดยอาการรุนแรงที่เจอ เป็นพวก ไข้ อาเจียน ปวดเมื่อยตามตัว กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (และทุกรายรักษาหายทุกคน) โดยสถิติการเจอกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบจากการฉีดวัคซีนแค่ 1.25 คน/ล้านโดส เมื่อเทียบกับติดเชื้อโควิดมีโอกาสเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ 1500 : 1 ล้านคน และ ไม่มีเด็กที่แข็งแรงดี เสียชีวิตหลังจากฉีดวัคซีน แม้แต่คนเดียว
  • สำหรับ m-RNA ไปเปลี่ยน DNA นั้น ณ ขณะนี้ เราฉีด m-RNA ไปแล้วทั่วโลก มากกว่า 2 พันล้านโดส มีการติดตามผลข้างเคียง จากประเทศทาง Europe และ US มาประมาณ 18 เดือน ยังไม่พบข้อมูลที่ทำให้ DNA เปลี่ยนแปลงไป และถ้าดูจากกลไกการออกฤทธิ์ของ vaccine m-RNA จะพบว่า เมื่อ m-RNA เข้า cell แล้ววิ่งไปที่ โรงงานผลิตหนาม โดยที่ไม่เข้า Nucleus ที่มี DNA ดังนั้นจึงไม่มีโอกาสเปลี่ยน DNA ได้ครับ และ mRNA ที่เข้าไปจะถูกสลายตามกระบวนการปกติของร่างกายอยู่แล้ว เพราะ ร่างกายเรา เวลาจะผลิตโปรตีนอะไร ก็ต้องผ่านการสร้าง mRNA อยู่แล้ว สำหรับผลข้างเคียงระยะยาว 3-10 ปี เป็นประเด็นเดียวที่ไม่สามารถตอบได้ ณ ขณะนี้เนื่องจากมีข้อมูลไม่เพียงพอ เพราะต้องอาศัยเวลาเป็นเครื่องพิสูจน์ แต่ถ้าจะรอให้มีข้อมูลที่ชัดเจนก่อน เด็กอาจจะติดโควิดจนเกิดผลเสียตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น

ข้อแนะนำจากคุณหมอ : สำหรับคนที่กังวลเกี่ยวกับเรื่องของผลข้างเคียงระยะยาวก็อาจจะเลือกฉีดวัคซีนเชื้อตาย เช่น ชิโนฟาร์มที่มีรายงาน Phase 1-2 และอนุมัติใช้แล้วในหลายประเทศ ทั้งจีน บาห์เรน ชิลี กัมพูชา แต่ไม่มีข้อมูล Phase 3 และข้อมูลการใช้งานจริงว่าได้ผลหรือไม่ในเด็ก และไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับเรื่องของการลดโอกาสในการเกิด Long covid และ MIS-C ได้หรือไม่

Question 6. ปิดแต่โรงเรียน แล้วเด็กจะได้เรียนเมื่อไร การเรียนรู้ของเด็ก ก็สำคัญนะ

  • โดยเฉพาะในเด็กเล็ก เป็นช่วงเวลาวัยทองในการศึกษาเรียนรู้ทักษะในด้านต่าง ๆ ทั้งกีฬา ดนตรี มนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนในวัยเดียวกัน ซึ่งการเรียนทางออนไลน์ไม่สามารถตอบสนองให้ได้ ดังนั้นการให้เด็กฉีดวัคซีน จะทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนได้อย่างต่อเนื่อง เมื่อฉีดวัคซีนได้ครอบคลุมมากพอ โอกาสเกิดการระบาดในวงกว้างก็จะลดลง เด็กก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตในโรงเรียนได้เหมือนเดิม

    ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากเพจคุณหมอ
    ขอขอบคุณข้อมูลดี ๆ จากเพจคุณหมอ

ความจำเป็นที่เด็กอายุ 5-11 ปีต้องได้รับวัคซีนนั้น ประโยชน์หลัก ๆ อาจจะไม่ใช่เรื่องของการลดความรุนแรงของโรค แต่เพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนจากการติดเชื้อโควิด19 และทำให้เด็กสามารถกลับมาเรียนได้อย่างต่อเนื่อง ไม่ขาดโอกาสในการเรียนรู้ทักษะที่จำเป็นสำหรับวัยของเขา และหากว่าเมื่อโควิด19 เป็นโรคประจำถิ่น วัคซีนก็จะช่วยป้องกันร่างกายของลูกไปได้ตลอดทั้งชีวิตอีกด้วย

ขอขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก คุณหมอวัฒนพงศ์ สุภมงคลชัยกุล นายแพทย์ชำนาญการ โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์
บทความเป็นเพียงบางส่วนของข้อมูลที่คุณหมอเขียนให้ความรู้ไว้ สามารถอ่านฉบับเต็มได้ที่
www.facebook.com/watthanapong.suphamongkholchaikul

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ติดโควิด 5 วิธีกักตัวที่บ้าน ดูแลตัวเองและลูกๆ ระหว่างรอเตียง

ใครจะได้ฉีด วัคซีนไฟเซอร์เด็ก ล็อตแรก?

9 คำพูดที่ไม่ควรพูดกับลูก บั่นทอนจิตใจลูกถึงโต!

รับฟังลูก อย่างไรให้เขาอยากเล่า และพูดอย่างไรให้ลูกฟัง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up