ยาลดน้ำมูก rsv ระบาด

rsvระบาดคร่าชีวิตเด็กแล้ว 1หมอแนะ!ควรเลี่ยง ยาลดน้ำมูก

Alternative Textaccount_circle
event
ยาลดน้ำมูก rsv ระบาด
ยาลดน้ำมูก rsv ระบาด

RSV กับไข้หวัดต่างกันอย่างไร

RSV คล้ายไข้หวัดธรรมดา แต่แตกต่างกันตรงที่ RSV จะไข้สูง และระยะเวลาในการเป็นจะนานกว่าไข้หวัดธรรมดา อาจจะมีอาการอยู่ที่ 5-7 วัน ไอนาน มีน้ำมูกเยอะ มีเสมหะมากกว่าเด็กที่เป็นไข้หวัดธรรมดา ซึ่งสิ่งที่น่ากังวลคือ พอเด็กมีน้ำมูกเยอะ หรือเสมหะเยอะ บางครั้งเขาเอาออกเองไม่ได้ เขาจะหายใจลำบาก

rsv ระบาด
rsv ระบาด

4 ข้อแนะนำจากคุณหมอกุมารแพทย์ โรคระบบทางเดินหายใจ

ในเด็กอายุน้อยๆ เช่นต่ำกว่า 2 ปี หากสงสัยว่าติดเชื้อ rsv และมีน้ำมูกมาก…
1. ** พยายามหลีกเลี่ยงการใช้ยาลดน้ำมูกทุกชนิด*** เพราะยาจะทำให้น้ำมูกเหนียว และเสมหะเหนียว…
หากมีการติดเชื้อในหลอดลม เสมหะจะมีปริมาณมากและเหนียว ทำให้ไอออกยากมากขึ้น และอาจเป็นสาเหตุให้ต้องไปนอนโรงพยาบาลพ่นยาและดูดเสมหะ
2. ในเด็กเล็ก ที่ป่วยและมีประวัติสัมผัส ผู้ป่วย rsv ชัดเจน หากอาการหลักอยู่ที่จมูกและคอหอย เช่นน้ำมูกมาก อาการไอส่วนใหญ่จะเป็นจากน้ำมูกไหลลงคอ หากยังไม่หายใจหอบ *** ควรหลีกเลี่ยงการพ่นยาละอองฝอย โดยไม่จำเป็น*** เพราะละอองฝอยขนาดเล็กนี้ อาจเป็นเหตุนำพาเชื้อ จากโพรงจมูกส่วนบน ลงไปยังจมูกส่วนล่าง… ผ่านการพ่นยา ยิ่งถ้าเด็กไม่ให้ความร่วมมือในการพ่น ร้องหรือสำลักระวังพ่นยา ก็ยิ่งมีโอกาส พาเชื้อลงสู่ทางเดินหายใจส่วนล่าง เว้นแต่มี อาการของหลอดลมหดเกร็ง หายใจมีเสียงวี๊ด จากการตรวจร่างกาย อันนี้ก็อาจจำเป็นจะต้องใช้ยาพ่นละอองฝอย ซึ่งขอให้อยู่ในดุลยพินิจของแพทย์ ผู้ดูแลณจุดนั้น
สิ่งสำคัญนั่นคือ ควรเน้นเรื่องการเคลียร์ น้ำมูกในโพรงจมูก.. ผมย้ำเรื่องนี้เสมอ ทันทีที่มีน้ำมูก
3. ในช่วงที่มีการติดเชื้อ อย่าให้ขาดน้ำเป็นเด็ดขาด พยายามดื่มน้ำหรือจิบน้ำให้บ่อยๆ เพราะภาวะขาดน้ำ จะยิ่งทำให้เสมหะแห้งและเหนียว ทำให้การไอเอาเสมหะออกมาทำได้ยาก อาจเป็นเหตุให้เด็กต้องไปรับการรักษาในโรงพยาบาล
4. จัดการกับภาวะไข้สูง อย่างรวดเร็ว ส่วนใหญ่ของเด็กที่ติดเชื้อ rsv จุดเริ่มต้นมักมีอาการไข้สูง ซึ่งไข้ที่สูง จะเป็นเหตุให้มีกระบวนการเมตาบอลิซึมที่สูงขึ้น มีการเพิ่มขึ้นของ คาร์บอนไดออกไซด์ หากการหายใจได้ไม่ดี อันเนื่องมาจากทางเดินหายใจ อักเสบบวมเสมหะมาก จากการติดเชื้อ การระบายก๊าซดังกล่าวจะทำได้แย่ลง และอาจทำให้อาการเด็กทรุดหนัก การลดไข้จึงเป็นสิ่งสำคัญ และควรรีบทำโดยเร็ว วิธีการก็คือพื้นฐานเลยครับ การเช็ดตัว การใช้ยาลดไข้ พาราเซตามอล ในขณะที่เหมาะสม จะสามารถบรรเทาอาการไข้ ช่วยลดความรุนแรงของตัวโรคลงได้ครับ
4 ข้อนี้ เป็นหลักการพื้นฐานในการดูแล ที่ผมแนะนำผู้ป่วย และใช้มาตลอดในระยะเวลานับ 10 ปี ที่ผมได้ดูแลผู้ป่วย และดูแลลูกของผมเองเมื่อติดเชื้อ
หากทำได้ทุกอย่างแล้วไม่ดีขึ้น มีอาการหายใจหอบมากขึ้น หายใจอกบุ๋ม กินได้น้อย ไม่ยอมกินโดยเฉพาะน้ำและนม แนะนำว่าควรไปพบแพทย์โดยด่วนนะครับ
ผ่านมาเกือบ 2 อาทิตย์แล้ว สำหรับการระบาด ของเชื้อ rsv ในระลอกนี้ อดทนไว้ครับ ในอีก 2 อาทิตย์ข้างหน้า น่าจะเริ่มเบาบางลง ซึ่งก็จะตรงกับช่วงปิดเทอมพอดี เป็นลักษณะที่พบ มา นานแล้วครับ
หวังว่าข้อความ ข้างต้นนี้ จะเป็นประโยชน์กับคุณผู้ปกครองทุกท่าน สำหรับการดูแลบุตรหลานของตนเองนะครับ
ขอขอบคุณข้อมูลจาก เพจFB: Jiraruj Praise (นพ.จิรรุจน์ กุมารแพทย์โรคระบบหายใจ)
สอนลูกล้างมือ ป้องกันการติดเชื้อ rsv ได้
สอนลูกล้างมือ ป้องกันการติดเชื้อ rsv ได้

ยาลดน้ำมูก ไม่แนะนำให้ใช้กับเด็กเล็ก!!

เด็กเล็กที่อายุน้อยกว่า 1 ขวบ ไม่ควรใช้ยาในการลดน้ำมูก แก้คัดจมูก ที่เกิดจากกลุ่มโรคไข้หวัด เนื่องจากข้อควรระวังเรื่องผลข้างเคียงของยา การกินยาลดน้ำมูกสำหรับเด็กเป็นการแก้ที่ปลายเหตุ และทำให้น้ำมูกเหนียวข้น เสมหะเหนียว ซึ่งเป็นอันตรายต่อเด็กมาก วิธีรับมือกับน้ำมูกของเด็ก ที่ได้ผลดีแบบไม่ต้องกินยา คือ การสอนให้เด็กสั่งน้ำมูก และการล้างจมูกด้วยน้ำเกลือ

วิธีล้างจมูก

สำหรับเด็กเล็กที่ยังสั่งน้ำมูก และบ้วนเสมหะเองไม่ได้

  1. ล้างมือผู้ที่จะทำการล้างจมูกให้สะอาด
  2. เทน้ำเกลือใส่ขวดยาหยอดตา  หรือใช้กระบอกฉีดยาดูดน้ำเกลือจนเต็ม
  3. ให้ใช้ผ้าห่อตัวเด็กในกรณีที่เด็กไม่ให้ความร่วมมือและดิ้นมาก การห่อตัวเด็กจะช่วยให้ผู้ล้างจมูกสามารถล้างจมูกได้สะดวก นุ่มนวลและไม่เกิดการบาดเจ็บ
  4. ให้เด็กนอนในท่าศีรษะสูงพอควรเพื่อป้องกันกันสำลัก
  5.  จับหน้าให้นิ่ง ค่อย ๆ หยดน้ำเกลือครั้งละ 2-3 หยด หรือค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเข้าไปในรูจมูกข้างที่จะล้าง โดยให้วางปลายกระบอกฉีดยาชิดด้านบนขอบรูจมูก ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5 ซีซี
  6. ใช้ลูกยางแดงดูดน้ำมูกในจมูกออก โดยให้บีบลูกยางแดงจนสุดเพื่อไล่ลมออก แล้วค่อย ๆ สอดเข้าไปในรูจมูก ลึกประมาณ 1-1.5 ซ.ม. ค่อยๆปล่อยมือที่บีบออกช้าๆ เพื่อดูดน้ำมูกเข้ามาในลูกยางแดง บีบน้ำมูกในลูกยางแดงทิ้งในกระดาษทิชชู่
  7. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้างจนไม่มีน้ำมูก
  8. ในกรณีที่รู้สึกว่ามีเสมหะในลำคอ ให้สอดลูกยางแดงเข้าทางปากเพื่อดูดเสมหะในคอออก ถ้าต้องการให้เด็กไอเอาเสมหะออก ให้สอดลูกยางแดงลึกถึงประมาณโคนลิ้นเพื่อกระตุ้นไอ และทำการดูดเสมหะเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น (ระหว่างดูดเสมหะให้จับหน้าเด็กหันไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อป้องกันการสำลัก)

    เชื้อ rsv ติดได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ
    เชื้อ rsv ติดได้จากการสัมผัสน้ำมูก น้ำลาย เสมหะ

ในกรณีเด็กเล็กที่ให้ความร่วมมือและสั่งน้ำมูกได้

  1. ให้เด็กนั่งหรือยืน แหงนหน้าเล็กน้อย ค่อย ๆ สอดปลายกระบอกฉีดยาเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น
  2. ค่อย ๆ ฉีดน้ำเกลือครั้งละประมาณ 0.5-1 ซีซี หรือเท่าที่เด็กทนได้ พร้อมกับสั่งให้เด็กกลืนน้ำเกลือที่ไหลลงคอเป็นระยะ ๆ ระหว่างฉีดน้ำเกลือ หรือให้บ้วนทิ้ง
  3. สั่งน้ำมูกพร้อม ๆ กันทั้ง 2 ข้าง  (ไม่ต้องอุดรูจมูกอีกข้าง)
  4. ทำซ้ำหลาย ๆ ครั้งในรูจมูกแต่ละข้าง จนไม่มีน้ำมูก

การล้างจมูกให้ลูกสามารถทำได้อย่างน้อย สองครั้ง เช้า-เย็น โดยเฉพาะเวลาก่อนนอน ลูกจะได้นอนแบบโล่งจมูก แต่ถ้าน้ำมูกเยอะก็สามารถเพิ่มได้เป็นวันละ 4 ครั้ง เช้า กลางวัน เย็น และก่อนนอน วิธีการล้างจมูกก็สามารถใช้กับผู้ใหญ่ได้เช่นกัน เมื่อลูกเริ่มเป็นหวัดมีน้ำมูก แนะนำให้เริ่มจากการล้างจมูกเสียก่อน โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ถ้าอาการไม่ดีขึ้น แนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อตรวจละเอียด และรับประทานยาตามหมอสั่งจะดีกว่าการซื้อยามาให้ลูกรับประทานเอง เพราะจะมีผลข้างเคียง และอาจเกิดอันตรายต่อลูกน้อยได้

ช่วงฤดูฝนที่น้ำมามาก อันตรายรอบตัวลูกก็ตามมามากเป็นเงาตามตัวเช่นกัน การป้องกัน และศึกษาไว้ไม่ได้ต้องการให้ตื่นตระหนก แต่การป้องกัน และรักษาอย่างถูกวิธีจะช่วยให้ลูกน้อยปลอดภัย และห่างไกลจากความเสี่ยงทั้งต่อชีวิต และอาการรุนแรงได้อีกด้วย

ข้อมูลอ้างอิงจาก theworldmedicalcenter.com /vichaivej-nongkhaem.com/www.thairath.co.th

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up