7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด

7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด ลดความรุนแรงของโรคให้ลูกน้อย

Alternative Textaccount_circle
event
7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด
7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด

7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด ลดความรุนแรงของโรคให้ลูกน้อย

โรคหอบหืดไม่ได้เกิดแต่กับผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เกิดได้ทั้งกับเด็กเล็กและเด็กโต หากมีอาการรุนแรงอาจทำให้ลูกน้อยเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต โรคหอบหืด เป็นโรคที่รักษาไม่หายขาด แต่สามารถควบคุมไม่ให้อาการกำเริบได้ ซึ่งมี 7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด เพื่อช่วยลดวามรุนแรงของโรคให้ลูกน้อย มาฝากกันค่ะ

โรคหอบหืด

โรคหอบหืด เป็นโรคที่มีการอักเสบเรื้อรังของเยื่อบุหลอดลม ร่วมกับภาวะผิดปกติของหลอดลม ที่ไวต่อสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ มากกว่าปกติ พบในเด็กจำนวนมากถึง 10 –15% เมื่อผู้ป่วยเด็กสัมผัสกับสิ่งกระตุ้น กล้ามเนื้อบริเวณหลอดลมจะหดเกร็ง ผนังหลอดลมบวมหนาขึ้น และสร้างสารคัดหลั่งหรือเสมหะมากขึ้น ทำให้หลอดลมตีบแคบลง เด็ก ๆ ที่ป่วยจึงหายใจลำบาก มีอาการเหนื่อยหอบ

เมื่อผู้ป่วยเด็กมีอาการทางจมูกมากขึ้น ก็จะทำให้ผู้ป่วยมีอาการหอบมากขึ้นได้ และในทางตรงกันข้ามถ้าได้ควบคุมอาการของโรคทางจมูกได้ดี ก็จะทำให้อาการหอบหืดน้อยลงด้วย

7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด
7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด ลดความรุนแรงของโรคให้ลูกน้อย

สาเหตุของโรค

โรคหอบหืดเกิดได้จาก 2 ปัจจัยหลัก คือ

  1. ปัจจัยทางสิ่งแวดล้อม  ผู้เด็กที่ป่วยโรคหอบหืดอาจมีอาการกำเริบเมื่อถูกกระตุ้นจากปัจจัยต่างๆ อาทิ
  • การสัมผัสกับสารก่อภูมิแพ้ ที่กระตุ้นให้เกิดอาการทางระบบทางเดินหายใจ ซึ่งจะแตกต่างกันไปในผู้ป่วยแต่ละคน เช่น ละอองเกสรดอกไม้ เกสรหญ้า ไรฝุ่น ขนสัตว์ มลพิษในอากาศ
  • การติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ เช่น เป็นไข้หวัด ไซนัสอักเสบ
  • สัมผัสอากาศเย็น
  • ออกกำลังกายหักโหมเกินไป
  • มีภาวะกรดไหลย้อน
  • รับประทานยาบางชนิด เช่น แอสไพริน และยาในกลุ่มต้านอาการอักเสบที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ เช่น ไอบูโพรเฟน
  • สารกันบูดในอาหาร
  • ความเครียด
  1. ปัจจัยทางพันธุกรรม โรคหอบหืดเป็นโรคที่ถ่ายทอดทางพันธุกรรม ผู้ที่มีบิดา มารดา หรือญาติเป็น จะมีโอกาสเป็นโรคนี้มากกว่าคนทั่วไป

อาการของโรคหอบหืด

จะมีอาการไอ มีเสมหะ แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม หายใจมีเสียงหวีด และเหนื่อยหอบ โดยอาการจะเป็น ๆ หาย ๆ ส่วนใหญ่เป็นช่วงกลางคืน หรือเช้ามืด และหลังจากสัมผัสปัจจัยกระตุ้นต่างๆ

ทั้งนี้ อาการของโรคมีตั้งแต่ไม่รุนแรงมาก คือ ไออย่างเดียว มีอาการเป็นช่วงสั้น ๆ หอบนาน ๆ ครั้ง ไปจนถึงอาการรุนแรงมาก เช่น หอบทุกวัน หรือมีอาการตลอดเวลา จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ

การรักษาโรค

การอักเสบของเยื่อบุหลอดลมในเด็กที่ป่วยโรคหอบหืดนั้น หากเกิดขึ้นเป็นเวลานาน อาจทำให้หลอดลมเปลี่ยนแปลงรูปร่างและการทำงานได้ จนทำให้สมรรถภาพปอดของผู้ป่วยต่ำกว่าปกติ และหลอดลมไวต่อสิ่งกระตุ้นอย่างถาวร การรักษาโรคหอบหืดจึงควรกระทำแต่เนิ่น ๆ

แนวทางการรักษาโรคหอบหืดประกอบไปด้วย การรักษาภาวะอักเสบเพื่อควบคุมอาการของโรคให้สงบลง และการป้องกันอาการกำเริบ ด้วยการหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้นต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดอาการหอบหืด เพื่อให้ผู้ป่วยใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติที่สุด

ยาที่ใช้รักษาโรคหอบหืด มีทั้งชนิดสูดพ่นและยารับประทาน ซึ่งแบ่งออกเป็น 2 กลุ่ม คือ

  • กลุ่มยาควบคุม หรือระงับการอักเสบของหลอดลม เช่น ยากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ชนิดสูดพ่น (inhaled corticosteroids)
  • กลุ่มยาบรรเทาอาการ ได้แก่ ยาขยายหลอดลม ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้กล้ามเนื้อหลอดลมคลายตัว และขยายตัว จึงช่วยลดอาการไอ เหนื่อยหอบ หายใจไม่สะดวก ควรใช้เฉพาะเมื่อมีอาการ และไม่มีผลในการลดอาการหลอดลมอักเสบ

เนื่องจากโรคหอบหืด เป็นโรคที่อาการเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา แพทย์จะประเมินผลการรักษาด้วยยาเป็นระยะ และอาจต้องปรับเปลี่ยนหรือลด-เพิ่มขนาดของยาตามความจำเป็นเพื่อให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ลดอาการข้างเคียงจากการใช้ยา และลดความเสี่ยงของอาการกำเริบเฉียบพลันซึ่งอาจทำให้ผู้ป่วยต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลได้

7วิธีป้องกันโรคหอบหืด
7วิธีป้องกันโรคหอบหืด

7 วิธีป้องกันโรคหอบหืด

ควรหลีกเลี่ยง และขจัดสิ่งต่าง ๆ ที่อาจทำให้เกิดปฏิกิริยาภูมิแพ้ หรือกระตุ้นอาการหอบหืด เช่น

  1. ควรหมั่นทำความสะอาดบ้าน โดยเฉพาะ ห้องนอน ห้องทำงาน รวมทั้งเฟอร์นิเจอร์ พัดลม เครื่องปรับอากาศ
  2. พยายามเปิดหน้าต่าง ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ให้แสงแดดส่องถึง
  3. กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงสาบ
  4. พักผ่อนให้เพียงพอ และหลีกเลี่ยงภาวะเครียด
  5. งดสูบบุหรี่ และไม่ควรดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เนื่องจากสุรา ทำให้เพิ่มอาการโรคกรดไหลย้อน และส่งผลให้อาการหอบหืดกำเริบได้
  6. รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ออกกำลังกายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกัน
  7. ควรใช้ยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง และสม่ำเสมอ

การป้องกันโรคหอบหืดนั้น เป็นการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม หลีกเลี่ยงสิ่งที่คิดว่าจะทำให้เกิดอาการ เพื่อป้องกันการเกิดโรคแทรกซ้อน ลดอาการความรุนแรงของโรค ลดโอกาสการเสียชีวิตจากโรคหอบหืด และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเด็กที่ป่วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลจาก

TNN Online , โรงพยาบาลบำรุงราษฎร์, โรงพยาบาลสมิติเวช

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก 

อันตรายหากลูกมีอาการ ภูมิแพ้เฉียบพลันรุนแรงในเด็ก

แยกให้ออก ภูมิแพ้ ไข้หวัด ไข้หวัดใหญ่กับโควิด -19 อาการ ต่างกันยังไง?

วิจัยชี้! ให้ลูกดื่มน้ำอัดลม เสี่ยงเป็นโรคหอบหืด

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up