ตรวจภายในเจ็บไหม ตรวจภายใน ด้วยตนเอง HPV

วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจHPVด้วยตนเองและ ตรวจภายในเจ็บไหม

Alternative Textaccount_circle
event
ตรวจภายในเจ็บไหม ตรวจภายใน ด้วยตนเอง HPV
ตรวจภายในเจ็บไหม ตรวจภายใน ด้วยตนเอง HPV

ตรวจภายในเจ็บไหม คำถามกับความลังเลไม่ยอมตรวจของผู้หญิง หยุดกลัวหากคุณได้รู้ประโยชน์ของการตรวจ พร้อมทั้งบอกวิธีตรวจภายใน และวิธีเก็บสิ่งส่งตรวจHPVด้วยตนเอง

วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจHPVด้วยตนเองและ ตรวจภายในเจ็บไหม ??

ว่าด้วยเรื่องจุดซ่อนเร้นของผู้หญิงอย่างเรา ๆ แม้จะเรียกกันไปว่าเป็นจุดซ่อนเร้น อวัยวะในที่ลับ หรือคำเรียกใด ๆ ก็ตามที่ล้วนแล้วแต่ดูลึกลับ ต้องปิดบัง แต่สาว ๆ ทั้งหลายรู้ไหมว่า อย่าปล่อยให้จุดซ่อนเร้นของเรา ลึกลับ ลับหายไป ไม่ดูแลเชียวนะ

การตรวจหาความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ผู้หญิงตั้งแต่ รังไข่ ท่อรังไข่ และมดลูก เป็นสิ่งจำเป็นที่ผู้หญิงทุกช่วงอายุควรใส่ใจ การตรวจดังกล่าวนี้ เรียกว่า การตรวจภายใน

ตรวจภายในเจ็บไหม
ตรวจภายในเจ็บไหม

การตรวจภายในสำคัญอย่างไร

  • เพื่อตรวจค้นหาและคัดกรองความผิดปกติ ทั้งที่มีและไม่มีอาการแสดง เมื่อพบโรคแล้ว จะได้รับการรักษา, ป้องกันการลุกลามของโรคและติดตามอาการอย่างเหมาะสม
  • เพื่อวินิจฉัยแยกโรคจากระบบอื่นๆ เช่น ระบบทางเดินอาหาร, ระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

* โรคบางโรคเมื่อเกิดขึ้นแล้วไม่มีอาการแสดงให้ทราบก่อนได้ นอกจากต้องตรวจภายใน เช่น ก้อนเนื้องอกที่มดลูก มะเร็งปากมดลูกในระยะแรก เป็นต้น

การตรวจภายจะช่วยตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ตรวจหาการติดเชื้อที่ช่องคลอด ตรวจโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือโรคอื่นๆ ซึ่งส่วนใหญ่สามารถทราบผลภายในหนึ่งวัน ส่วนการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทราบผลหลังจากตรวจประมาณ 7-10 วัน  

เราควรเริ่มตรวจภายในเมื่อใด ??

เราควรเริ่มตรวจภายในเมื่อมีอาการผิดปกติต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น ไม่ว่าจะอายุเท่าไรก็ตามและร่วมกับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก

  • เริ่มตรวจได้ตั้งแต่อายุ 21 ปี หรือมีเพศสัมพันธ์แล้วอย่างน้อย 3 ปี
  • สามารถหยุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ เมื่ออายุ 65-70 ปี โดยที่ผลการตรวจ
  • คัดกรองปกติ 3 ครั้ง ใน 10 ปี ก่อนหยุดตรวจ
  • ผู้หญิงที่ผ่าตัดเอามดลูกออกแล้ว ร่วมกับมีผลการตรวจก่อนหน้าปกติ
  • ผู้หญิงที่เคยตรวจพบความผิดปกติแล้ว ควรตรวจสม่ำเสมอ
  • ผู้ที่ได้รับ HPV vaccine แล้วยังคงต้องตรวจภายในและคัดกรองมะเร็งปากมดลูกสม่ำเสมอ เช่นเดียวกับ ผู้ที่ไม่ได้รับ vaccine
  • การตรวจภายในนั้น ควรตรวจทุก 1 ปี ส่วนการคัดกรองมะเร็งปากมดลูกนั้น อาจตรวจได้ทุก 3 ปี

    ตรวจภายใน ดีไหม ตรวจภายในเจ็บไหม
    ตรวจภายใน ดีไหม ตรวจภายในเจ็บไหม

ตรวจภายในครั้งแรก เตรียมตัวอย่างไรบ้าง??

การเตรียมตัวก่อนตรวจภายโดยไม่เข้ารับการตรวจในช่วงมีประจำเดือน แนะนำเข้ารับการตรวจเมื่อประจำเดือนหมดสนิทประมาณ 1 สัปดาห์ หรือ เข้ารับการตรวจในช่วงก่อนมีประจำเดือนรอบถัดไปประมาณ 1 สัปดาห์

  1. ก่อนเข้ารับการตรวจ ไม่ควรสวนล้างช่องคลอด หรือใช้ยาเหน็บทางช่องคลอดก่อนการตรวจภายใน 2 วัน
  2. หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ก่อนเข้ารับการตรวจ
  3. สวมเสื้อผ้าที่ใส่สบาย แนะนำให้ใส่กระโปรง และไม่ควรนุ่งกางเกงที่รัดจนเกินไป
  4. สำหรับผู้ที่มีปัญหาตกขาว สามารถตรวจได้โดยไม่ต้องพยายามชำระล้างเพื่อให้แพทย์เห็นปริมาณและตรวจหาเชื้อได้
  5. ไม่ต้องโกนขนอวัยวะเพศ
  6. ปัสสาวะให้เรียบร้อยก่อนเข้ารับการตรวจภายใน
  7. หากไม่เคยตรวจภายใน และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ รู้สึกเขินอาย สามารถแจ้งพยาบาลหรือเจ้าหน้าที่เพื่อขอตรวจโดยแพทย์ผู้หญิงได้ โดยทั่วไปแล้วหากเป็นแพทย์ผู้ชายก็จะมีพยาบาลผู้ช่วยซึ่งเป็นผู้หญิงภายในห้องตรวจอยู่ด้วยตลอดเวลา
  8. ในกรณีมีประจำเดือน และปวดท้อง ประจำเดือนมากจนทนไม่ไหว สามารถมาพบแพทย์โดยไม่ต้องรอให้ประจำเดือนหยุดก่อน
  9. การตรวจภายในใช้ระยะเวลาประมาณ 10 นาที หลังจากแพทย์ทำการซักประวัติคนไข้ และสอบถามให้คำปรึกษาอาการและความผิดปกติต่างๆ เกี่ยวกับระบบสืบพันธุ์สตรี หากรู้สึกสงสัยท่านสามารถปรึกษาแพทย์เพิ่มเติมได้ทันที

ลำดับการตรวจภายใน จะแบ่งออกเป็น 2 ช่วง

  •  ช่วงแรกแพทย์จะใช้อุปกรณ์ที่คล้ายปากเป็ด หรือที่เรียกว่า speculum กับการใช้นิ้วตรวจภายในช่องคลอด ในส่วนของการใส่อุปกรณ์ปากเป็ดแพทย์จะเลือกใช้ตามความเหมาะสม สอดเบา ๆ เข้าไปในช่องคลอด เมื่อได้ตำแหน่งแพทย์จะกางอุปกรณ์ออกเพื่อดูผนังช่องคลอด ดูปากมดลูก
  • ช่วงที่สอง หากตรวจมะเร็งปากมดลูก ในช่วงเวลานี้แพทย์จะเอาอุปกรณ์เข้าไปเก็บเซลล์ปากมดลูกเพื่อนำไปตรวจคัดกรองในห้องปฏิบัติการ ต่อไป

    ตรวจภายในด้วยตนเอง เช็กอาการเบื้องต้นหากเริ่มมีอาการ
    ตรวจภายในด้วยตนเอง เช็กอาการเบื้องต้นหากเริ่มมีอาการ

ตรวจภายในเจ็บไหม ??

มีสาว ๆ อีกหลายคนที่ห่วงสุขภาพ แต่จำใจต้องเมินหน้าหนี ไม่ใส่ใจ เพราะเข้าใจว่าการตรวจภายในนั้น เป็นเรื่องน่าอาย กังวลต่อคำถามที่ว่า ตรวจภายในเจ็บไหม และคิดว่าเป็นวิธีการคัดกรองโรคที่เจ็บปวด และน่ากลัว แต่ความจริงแล้วการตรวจภายในมีวิธีที่แสนจะง่าย ไม่เจ็บอย่างที่กลัวกัน แถมยังตรวจครบจบขั้นตอนภายในเวลาเพียง 1-2 นาทีเท่านั้น ดังที่กล่าวไปข้างต้น

สำหรับสาว ๆ คนนั้นที่ยังรู้สึกไม่พร้อมจริง ๆ ด้วยความเขินอาย เราลองมาดูวิธีตรวจภายในด้วยตนเองกันแบบคร่าว ๆ ก่อนไปถึงมือหมอกัน เพื่อเป็นการเตรียมใจก่อน ก็อาจเป็นวิธีลดความเครียด ความกลัวลงไปได้บ้าง เป็นอย่างไรนั้นลองไปดูกัน

7 ขั้นตอน ตรวจภายในด้วยตัวเอง

  1. ล้างมือให้สะอาดก่อนเริ่มตรวจ จากนั้นจัดท่าของตัวเองว่าจะนั่งหรือนอนอย่างไรให้เห็นอวัยวะเพศของตัวเองได้ดีที่สุด อาจจะนอนชันเข่า หลังพิงฝาโดยใช้หมอนหมุนหลัง หรือนั่งยองๆ นั่งคุกเข่า ท่าใดท่าหนึ่งก็ได้ที่คิดว่าสะดวกสุด
  2. หากระจกที่สามารถใช้ถือดูอวัยวะเพศของคุณมา 1 บาน
  3. ให้ใช้มือข้างหนึ่งที่ถนัดแยกแคมใหญ่ทั้งสองข้างออกจากกัน แล้วมองและคลำดูว่ามีอะไรผิดปกติหรือไม่ เช่น ก้อน ตุ่มแข็ง ตุ่มน้ำ แผล รอยบวม หรือมีบริเวณที่สีเปลี่ยนไป คล้ำมากหรือแดงมากหรือไม่
  4. จากนั้นใช้นิ้วแยกแคมเล็กออกจากกัน ตรวจหาความผิดปกติต่างๆ แบบเดียวกับขั้นตอนที่ 3 แล้วตรวจดูที่บริเวณรูเปิดท่อปัสสาวะว่ามีอาการบวมแดงหรือเปล่า และใช้มือดึงรั้งผิวหนังที่คลุมบริเวณคลิตอริสขึ้นไป เพื่อตรวจดูว่ามีแผลหรือไม่
  5. ใช้นิ้วมือสองนิ้วสอดเข้าไปในช่องคลอด แล้วกดแยกหนังช่องคลอดออกจากกัน สังเกตตกขาวในช่องคลอด ถ้าเป็นสีขาวขุ่น เป็นมูกเหนียวหรือมูกใส มีกลิ่นคาวเล็กน้อย แสดงว่าเป็นตกขาวปกติ แต่ถ้ามีลักษณะคล้ายคราบนมที่เด็กแหวะออกมา และมีอาการคันด้วย แสดงว่าอาจมีเชื้อราหรือเชื้อพยาธิในช่องคลอด ถึงเวลาที่ต้องไปพึ่งคุณหมอสูติฯ แล้ว
  6. ใช้นิ้วมือคลำบริเวณส่วนล่างของแคมใหญ่ทั้งสอง โดยใช้นิ้วมือหนึ่งอยู่ในช่องคลอด และอีกนิ้วหนึ่งอยู่ที่ส่วนล่างของแคมใหญ่ ดูว่ามีก้อนคล้ายถุงน้ำบริเวณนั้นหรือเปล่า เพราะเป็นตำแหน่งของต่อมที่สร้างมูกออกมาช่วยหล่อลื่นในช่องคลอด ซึ่งท่อที่ปล่อยมูกนี้เจอปัญหาอุดตันได้บ่อย ถ้าคลำได้เป็นก้อนนิ่มๆ ล่ะก็อย่าปล่อยทิ้งไว้นานจะทำให้อักเสบเป็นหนองได้
  7. สุดท้ายตรวจบริเวณฝีเย็บ และรูทวารว่ามีก้อนเนื้อที่เรียกว่า ริดสีดวงทวารหรือเปล่า ถ้ามีก็รีบไปพบแพทย์

    อาย ไม่กล้า ตรวจภายใน
    อาย ไม่กล้า ตรวจภายใน

อย่างที่กล่าวข้างต้นการตรวจภายในด้วยตนเองเป็นวิธีการเบื้องต้นคร่าว ๆ ในการตรวจ ทางที่ดีสาว ๆ ทั้งหลายโปรดทำความเข้าใจ และเข้ารับการตรวจภายในจากแพทย์ผู้เชี่ยวชาญจะเป็นการดีที่สุด เพราะอย่างที่ใครหลายคนได้บอกแล้วว่า การตรวจภายในไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด แถมยังช่วยให้เรารู้ทันโรคอีกหลาย ๆ โรค ก่อนที่จะลุกลามอันตรายถึงชีวิตได้อีกด้วย

มะเร็งปากมดลูก

รู้หรือไม่ การตรวจภายใน สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกได้ จากสถิติพบว่ามีจำนวนผู้ป่วยที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งปากมดลูกประมาณ 600 ราย ใน 1 แสนคน หรือเป็นอันดับที่ 4 กับจำนวนผู้เสียชีวิตด้วยกลุ่มโรคมะเร็ง หรือรองจาก โรคมะเร็งตับ มะเร็งปอด และมะเร็งเต้านม และจัดเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มผู้ที่เสียชีวิตจากโรคมะเร็งที่เป็นผู้หญิง หรือรองจากโรคมะเร็งเต้มนม จึงอาจกล่าวได้ว่า โรคมะเร็งปากมดลูก เป็นโรคที่มีความอันตรายต่อชีวิตมาก หากไม่ได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้น อัตราเสี่ยงต่อชีวิตจึงมีสูงมาก

ปัจจุบันวิทยาศาสตร์การแพทย์ก้าวหน้ามาก มีการพัฒนาการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกขึ้นมาใหม่ที่เรียกว่า “iCheck Test; HPV self-collection Test” โดยมีการพัฒนาอุปกรณ์เก็บตัวอย่างที่เรียกว่า แปรงอีวาลีน เพื่อให้ผู้หญิงสามารถเก็บสิ่งส่งตรวจในช่องคลอดด้วยตัวเองที่บ้าน แล้วส่งสิ่งตรวจที่ได้ไปที่โรงพยาบาลหรือศูนย์ตรวจทางการแพทย์ เพื่อตรวจหาเชื้อไวรัส HPV ที่เป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งปากมดลูกโดยตรง

วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจ HPV ด้วยตนเอง
วิธีเก็บสิ่งส่งตรวจ HPV ด้วยตนเอง

วิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจ HPV จากช่องคลอดด้วยตนเอง

  1. ล้างมือให้สะอาด ฉีดสเปร์ยแอลกอฮอล์ก่อนการเก็บตัวอย่างทุกครั้ง
  2. ฉีกซองไม้เก็บตัวอย่าง จับตรงส่วนของขีดสีดำ ระวังอย่าสัมผัสโดนส่วนของสำลีปลายไม้เก็บตัวอย่าง และห้ามนำไม้เก็บตัวอย่างไปจุ่มในขวดน้ำยาก่อนเก็บตัวอย่าง
  3. ยืน หรือนั่งในท่าที่สบาย ใช้ไม้เก็บตัวอย่างสอดเข้าไปในช่องคลอด ลึกประมาณ 2 นิ้ว หรือ 5 เซนติเมตร จากนั้นหมุนไม้เก็บตัวอย่างสัมผัสกับผนังของช่องคลอด จับเวลาประมาณ 10-30 วินาที แล้วดึงไม้ออก
  4. เปิดฝาหลอดเก็บตัวอย่าง ในขณะที่ยังคงถือไม้เก็บตัวอย่างไว้ (ไม่ควรวางไม้เก็บตัวอย่างไว้ที่พื้น เพราะอาจจะเกิดการปนเปื้อนได้) ระวังอย่าให้น้ำยาเก็บตัวอย่างในหลอดหก
  5. จุ่มไม้เก็บตัวอย่างลงในหลอดน้ำยาเก็บตัวอย่างให้ขีดสีดำกลางไม้ตรงกับขอบของหลอดน้ำยา แล้วทำการหักส่วนเกินของไม้เก็บตัวอย่างทิ้ง
  6. ปิดฝาหลอดน้ำยาเก็บตัวอย่างให้สนิท พร้อมเขียนชื่อ – นามสกุลที่ข้างหลอด

คลิปวิดีโอสอนการเก็บสิ่งส่งตรวจ HPV ด้วยตนเอง

ขอขอบคุณคลิปดี ๆ จาก New18

หมายเหตุ วิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจอาจแตกต่างกันไปตามแต่ละชนิดเครื่องมือ โปรดอ่านข้อแนะนำการใช้ และวิธีการเก็บสิ่งส่งตรวจตามคู่มือข้างกล่องอย่างละเอียดอีกครั้ง

ข้อมูลอ้างอิงจาก สถาบันมะเร็งแห่งชาติ /รพ.สินแพทย์ /women.mthai.com/www.thonburihospital.com/www.medicallinelab.co.th

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เผย! ขั้นตอนการตรวจภายใน ตรวจเลย! ไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

9 อาหารช่วยลดความเสี่ยงการเกิด มะเร็งปากมดลูก

เมื่อฉัน “แพ้ น้ำอสุจิ จากสามี”

“รูรั่วช่องคลอด” ภาวะเสี่ยงหลังคลอด แม่ต้องรู้ วิธีเบ่งคลอด ให้ปลอดภัย

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up