ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก

ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย

event
ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก
ไข้หวัดมะเขือเทศ โรคมือเท้าปาก

ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในอินเดียแล้วกว่า 100 ราย ในประเทศไทยควรจับตามอง และกังวลมากแค่ไหน ไปฟังคำตอบจากคุณหมอ และกรมควบคุมโรคกันดูก่อนตื่นตระหนกกันไปใหญ่

ทำความรู้จัก ไข้หวัดมะเขือเทศ หลังเด็กอินเดียติดกว่า 100 ราย!!

เมื่ออินเดียพบการระบาดของโรค ไข้หวัดมะเขือเทศ (tomato flu) ทำให้เกิดเป็นประเด็นที่สังคมเฝ้าจับตามอง เนื่องจากเป็นโรคที่ติดต่อได้ง่าย และพบการระบาดในเด็กเล็ก หลังจากมีรายงานผู้ติดเชื้อในอินเดียเป็นเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มากกว่า 100 รายแล้ว

กระทรวงสาธารณสุขของอินเดียเตือนประชาชนระวังการระบาดของโรค “ไข้หวัดมะเขือเทศ” (tomato flu) ที่พบในเด็กเล็ก หลังมีรายงานผู้ติดเชื้อแล้วมากกว่า 100 รายในอินเดีย

หนังสือพิมพ์ไทม์ส ออฟ อินเดีย รายงานข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขของอินเดียที่ระบุว่า โรคดังกล่าวไม่ได้เป็นอันตรายถึงชีวิต แต่ได้ออกประกาศแนวทางการตรวจหาเชื้อและการป้องกันให้แก่ทุกรัฐแล้วในสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งกระตุ้นเตือนให้บรรดาผู้ปกครองเฝ้าจับตาดูอาการของบุตรหลานเป็นพิเศษ

สำนักข่าวซีเอ็นบีซี รายงานว่า ไข้หวัดมะเขือเทศเป็นโรคที่ติดต่อได้อย่างรวดเร็วซึ่งแพร่กระจายผ่านการสัมผัสใกล้ชิดโดยเฉพาะในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 5 ปี โดยลักษณะอาการต่าง ๆ ของโรค ได้แก่ เหนื่อยล้า คลื่นไส้ อาเจียน ท้องร่วง มีไข้ มีภาวะขาดน้ำ ข้อบวม ปวดตามร่างกาย และมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ทั่วไป รวมถึงมีตุ่มสีแดงคล้ายมะเขือเทศขึ้นตามตัว

นักวิทยาศาสตร์ยังคงพยายามหาสาเหตุของโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม บทความที่เปิดเผยเมื่อสัปดาห์ที่แล้วจากเดอะ แลนเซต (The Lancet) วารสารการแพทย์ของอังกฤษระบุว่า โรคดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องกับเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 (โควิด-19) แม้ว่าผู้ป่วยจะแสดงอาการคล้ายกันก็ตาม

ที่มา : https://www.bangkokbiznews.com
ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในเด็กเล็ก ประเทศอินเดีย
ไข้หวัดมะเขือเทศ ระบาดในเด็กเล็ก ประเทศอินเดีย

ไม่ตื่นตระหนก… หากทำความรู้จัก โรคไข้หวัดมะเขือเทศ!!

ชื่อไข้หวัดมะเขือเทศ มาจากอะไร??

หลาย ๆ คนฟังชื่อโรคแล้ว คงนึกสงสัยกันว่า โรคดังกล่าวที่กำลังเฝ้าระวังกันอยู่นี้ มีอะไรเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศหรือไม่ หรือบางคนอาจเข้าใจผิดจนทำให้มะเขือเทศสีแดง แสนอร่อยมากประโยชน์ กลายเป็นผู้ร้ายไปได้ โดยชื่อโรคไข้หวัดมะเขือเทศนี้ เรียกตาม ตุ่มน้ำที่เป็นอาการหนึ่งของโรค โดยตุ่มน้ำมีลักษณะคล้ายมะเขือเทศ (โรคนี้ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องกับการรับประทานมะเขือเทศแต่อย่างใด) จากการสันนิษฐานลักษณะทางระบาดวิทยาและอาการเด็กที่ป่วยจะคล้ายกับโรคมือ เท้า ปาก ที่พบบ่อยได้ในเด็ก ไม่ใช่โรคติดเชื้อชนิดใหม่

ระดับความกังวลกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศเป็นอย่างไร??

เนื่องจากในปัจจุบันที่มีโรคระบาดที่ทำให้เกิดความวุ่นวายกับการใช้ชีวิตประจำวันเป็นระยะเวลามานาน เช่น โรคจากไวรัสโควิด 19 โรคฝีดาษลิง เป็นต้น ทำให้เกิดการตื่นตัวของประชาชนทุกคนในการติดตามข่าวสาร เฝ้าระวังโรคติดต่อชนิดใหม่ ๆ ดังนั้นเมื่อเกิดข่าวการระบาดเป็นจำนวนมากของ ไข้หวัดมะเขือเทศในอินเดียจึงทำให้ต้องจับตามองว่า ทิศทางในการแพร่ระบาดของโรคนี้เป็นอย่างไร น่ากังวลหรือไม่

จากข้อมูลเบื้องต้นที่มี สามารถกล่าวได้ว่าสถานการณ์ของโรคไข้หวัดมะเขือเทศยังไม่น่ากังวล ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย และโรคดังกล่าวเป็นการแพร่ระบาดอยู่ในวงจำกัด  ซึ่งกระบวนการคัดกรองและรักษาในประเทศก็สามารถทำได้เช่นเดียวกับการรักษาโรคมือ เท้า ปากในเด็ก และในปัจจุบันมีทั้งชุดตรวจคัดกรอง ยารักษาในสถานพยาบาลในประเทศทุกระดับ และในช่วงฤดูฝนนี้ อากาศเย็นและชื้น เชื้อโรคแพร่กระจายได้ง่าย จึงขอความร่วมมือผู้ปกครองระมัดระวังดูแลบุตรหลานอย่างใกล้ชิด หมั่นทำความสะอาดของเล่นเด็ก และบริเวณพื้นที่ที่เด็กอยู่เป็นประจำ เพื่อลดเชื้อโรคที่อยู่ในสิ่งแวดล้อม สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร.1422 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าว

ความรุนแรงของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคที่ได้ติดตามสถานการณ์ดังกล่าว พบว่า ผู้ป่วยในประเทศอินเดียเป็นกลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี พบผู้ติดเชื้อเกือบร้อยคน ไม่มีผู้เสียชีวิต เนื่องจากเชื้อไวรัสชนิดนี้แพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัส เช่น การสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือนำสิ่งของเข้าปาก จึงทำให้กลุ่มเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อไวรัสชนิดนี้ได้ง่ายเป็นพิเศษ  อาการจะไม่รุนแรงและหายเองได้ ขณะนี้ยังไม่มีรายงานการพบผู้ป่วยในประเทศไทย 

คุณหมอให้ข้อมูลเพื่อ…ทำความรู้จักกับโรคไข้หวัดมะเขือเทศ 

ไข้หวัดมะเขือเทศ

มาจากเชื้อไวรัสคอกซากี A16 (Coxsakie A16) ซึ่งเชื้อตัวนี้เป็นไวรัสที่ทำให้เกิดโรคมือ เท้า ปาก (Hand Foot and Mouth Disease) นอกจากนี้ยังพบผู้ป่วยติดเชื้อมาจากไวรัสชิคุนกุนยา และไวรัสไข้เลือดออกในบางรายด้วย พบบ่อยในเด็กเล็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งเชื้อนี้สามารถแพร่กระจายได้ง่ายจากการสัมผัสพื้นผิวที่ไม่สะอาด หรือหยิบจับของเล่นเข้าปาก

ตุ่มแดงคล้ายมะเขือเทศ ที่มาขื่อ ไข้หวัดมะเขือเทศ
ตุ่มแดงคล้ายมะเขือเทศ ที่มาขื่อ ไข้หวัดมะเขือเทศ

อาการของโรคไข้หวัดมะเขือเทศ

  • อาการปวดเมื่อยตามตัว
  • มีไข้ อ่อนเพลีย
  • คลื่นไส้ อาเจียน ท้องเสีย
  • มีผื่นลักษณะแดงเป็นตุ่มน้ำคล้ายมะเขือเทศ และแผลพุพองขึ้นตามตัว สร้างความเจ็บปวดเวลาสัมผัส
  • บางรายจะมีอาการบวมตามข้อ

การรักษา

เนื่องจากยังไม่พบผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงหรือเสียชีวิต และสามารถหายเองได้ส่วนใหญ่จึงรักษาตามอาการทานยาลดไข้ ยาแก้ปวด ทานอาหารอ่อนๆ และให้ดื่มน้ำมากๆ พักผ่อนให้เพียงพอ

โรคไข้หวัดมะเขือเทศ สามารถป้องกันได้ไหม??

การป้องกัน จะเหมือนกับโรคมือ เท้า ปาก สามารถป้องกันได้โดยอาศัยความร่วมมือของผู้ปกครอง ให้ช่วยดูแลบุตรหลาน โดยเน้นเรื่องสุขอนามัยรอบ ๆ ตัวเด็ก ได้แก่

  • ล้างมือบ่อย ๆ อย่างถูกวิธี
  • หมั่นทำความสะอาดของเล่น และพื้นผิวบริเวณโดยรอบสม่ำเสมอ
  • หลีกเลี่ยงใกล้ชิดผู้ติดเชื้อ
  • หากพบเห็นความผิดปกติ หรือมีอาการรุนแรงควรมาพบแพทย์
ขอขอบคุณข้อมูลจาก พญ.ปราณี สิตะโปสะ กุมารแพทย์โรคติดเชื้อรพ.วิภาวดี

อ่านต่อ>> ไข้หวัดมะเขือเทศ แตกต่างกับโรคมือเท้าปาก อย่างไร คลิกหน้า 2

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up