Kid Safety- สีทาบ้านที่ปลอดภัย…มี แต่ยังวางใจไม่ได้

Alternative Textaccount_circle
event

สีทาบ้านที่ปลอดภัย…มี แต่ยังวางใจไม่ได้

ราวกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ทางมูลนิธิบูรณะนิเวศ ระบุว่า ในขณะนี้บรรดาสีน้ำมันทาบ้าน ทาอาคารโทนสีขาวที่ปลอดสารตะกั่วจาก ร้อยละ 29 (การสำรวจเมื่อปี 2556) เพิ่มเป็น ร้อยละ 68 (การสำรวจเมื่อปี 2558) และโทนสีสดประเภทปลอดสารตะกั่วจากที่มีเพียง ร้อยละ 2 ( ปี 2556) เพิ่มเป็นร้อยละ 24 ( ปี 2558) อีกทั้งบริษัทสีบางรายถึงกับเลิกใช้สารตะกั่วผสมไปเลย แต่ที่ทำให้ยังสบายใจไม่ได้เต็มที่คือ สีของบางบริษัทยังพบค่าของตะกั่วในปริมาณที่สูงมาก แถมยังไม่ได้แก้วิธีการใช้ข้างกระป๋องสีอีก โดยยังมีข้อความระบุไว้ว่า “ใช้ตกแต่งในอาคารและบ้านเรือน!”

 

สีทาบ้านเข้าถึงตัวเด็กได้อย่างไร

สาเหตุที่เด็กได้รับสารตะกั่วคือ การกินแผ่นสีที่หลุดออกมาโดยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ หรือการหลุดร่อนของสีตามผนังของอาคารต่างๆแล้วฟุ้งเป็นฝุ่นกระจายอย่างมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า และปัจจัยสำคัญที่ทำให้เด็กเสี่ยงยิ่งขึ้นคือ เด็กมีพฤติกรรมเสี่ยงในการเอาของเข้าปาก รวมถึงมีกิจกรรมต่างๆ บนพื้นที่ปนเปื้อนด้วยสารตะกั่ว เช่น การคลาน การเล่นตามพื้นดิน”

ภัยของสารตะกั่ว อันตรายร้ายแรงต่อเด็ก!

  • กรณีที่ได้รับในปริมาณมากอาจส่งผลถึงขั้นชัก สมองบวม เสียชีวิต โดยเฉียบพลันทันใด หรือ
  • เป็นภัยสะสมหากได้รับทีละน้อยแต่บ่อยๆ พิษเรื้อรังทำให้เกิดอาการ ท้องผูก-เบื่ออาหาร-ปวดท้อง-ซีด และที่สำคัญ

คือการทำลายเซลล์สมอง สารตะกั่วที่เพิ่มขึ้นในเลือด ไอคิวจะลดลง โดยเฉพาะเด็กต้องระวังการได้รับสารตะกั่วอย่างมาก เพราะเด็กมีความเสี่ยงต่อการได้รับพิษจากตะกั่วมากกว่าผู้ใหญ่ เพราะความสามารถในการดูดซึมสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายของเด็กมีมากกว่าผู้ใหญ่ถึง 5 เท่า องค์การอนามัยโลก ระบุว่า “ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ไม่ควรมีสารตะกั่วอยู่ในเลือดแม้แต่น้อย”

 

ป้องกันแต่แรกสำคัญที่สุด

  • จากการสำรวจพบว่ามากกว่าครึ่งหนึ่งของสีน้ำมันในท้องตลาดอุดมด้วยสารตะกั่ว ที่นิยมใช้เพราะเป็นสีสดสวยแถมยังติดทนติดนาน บ้านทาสีน้ำมันและอยู่อาศัยกันมานาน จึงต้องพึงระวังการหลุดร่อนของสีตามฝาผนัง ที่เจ้าลูกตัวน้อยอาจหยิบๆจับๆเข้าปาก แม้แต่เศษสีที่เป็นสะเก็ดติดอยู่ตามขอบหน้าต่าง เด็กน้อยอาจแกะเล่นแล้วหยิบใส่ปากได้เช่นกัน
  • ยุคนี้มีทางเลือกอันปลอดภัย ที่นอกจากจะเลือกสีน้ำไร้สารตะกั่วไม่ใช้สีน้ำมันแล้ว การ “ไม่ต้องทาสีผนังเลย”โดยเลือกใช้สไตล์ปูนฉาบเรียบ ซึ่งก็ดูอินเทรนไม่เบาครับ
  • แผ่นสีตามกำแพง หรือผนังอาจหลุดร่วงลงพื้นแล้วเป็นฝุ่นฟุ้งกระจายไปในอากาศและตกลงเป็นฝุ่นบนพื้น ดังนั้นไม่ควรกวาด ไม่ควรใช้เครื่องดูดฝุ่น เพราะจะทำให้ปลิวฟุ้ง แต่ให้ ใช้ผ้าชุบน้ำหมาดๆเช็ดพื้นแล้วเช็ดให้เกลี้ยง
  • หากมีการขูดสีเก่าเพื่อทาใหม่(ใช้สีไร้สารตะกั่ว) ควรใช้ช่างผู้ชำนาญการ และจะต้องกันเด็กๆรวมทั้งคุณแม่ตั้งครรภ์ให้อยู่ห่างๆสถานที่นั้นๆให้มากๆอาจารย์ชาญณรงค์ ไวยพจน์   หน่วยวิศวกรรมความปลอดภัย มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าวว่า การดำเนินงานที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ต้องคำนึงถึงการควบคุมมลภาวะจากการก่อสร้าง สีที่เกิดจากการก่อสร้างมิให้ถูกปลดปล่อยออกไปสู่สภาพแวดล้อมภายในชุมชน รวมทั้งการตกค้างเป็นฝุ่นสีภายในบ้าน การป้องกันสารพิษต่อชีวิตของคนงานก่อสร้าง เพราะเป็นกลุ่มผู้ที่ต้องจับ หรือสัมผัสสารพิษต่างๆ โดยตรง เสี่ยงภัยต่อสารพิษต่างๆ มากกว่าใครๆ

ดังนั้นต้องมีมาตรการป้องกันสารตะกั่วเข้าสู่ร่างกายทั้งทางผิวหนัง ทางเดินหายใจ และการปนเปื้อนในอาหาร น้ำดื่ม การจัดการขยะที่มาจากการก่อสร้างอย่างถูกวิธี (Construction Waste Management) เพื่อมิให้ไปก่อมลพิษต่อผู้อื่นต่อไป

  • คุณพ่อบ้านท่านใด ที่ทำงานเป็นช่างสี ช่างซ่อมรถ ช่างเชื่อม ทำงานด้านเครื่องยนต์ ด้านถลุงแร่ ซ่อมท่อ อาชีพดังกล่าวอาจจะมีฝุ่นผงตะกั่วหรือสารโลหะหนักอื่นๆเกาะติดกับเสื้อผ้าได้ เมื่อเข้าบ้านหรือก่อนจะกอดลูกๆให้ถอดเสื้อลงถังซักผ้าก่อนนะครับ เพื่อลดความเสี่ยงที่ลูกๆจะสูดฝุ่นผงตะกั่วโดยไม่รู้ตัว

 

“ในบ้านเราปัญหา “สารตะกั่ว” ยังคงเป็นภัยคุกคามที่มองไม่เห็น ขณะที่ทางการแพทย์ทั่วโลกระบุอย่างชัดเจนว่า “ไม่มีระดับสารตะกั่ว ที่ปลอดภัยต่อสุขภาพ” ซึ่งตรงกับข้อสรุปขององค์การอนามัยโลกที่ประกาศว่า “ปริมาณสารตะกั่วในร่างกายที่ปลอดภัย คือ 0 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมของน้ำหนักตัว นั่นคือ…ร่างกายคนเรานั้น ไม่ควรมีสารตะกั่วเลยแม้แต่นิดเดียว..”

 

จากคอลัมน์ Kid Health นิตยสารเรียลพาเรนติ้ง ฉบับเดือนสิงหาคม 2558
เรื่องโดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก โรงพยาบาลรามาธิบดี
เรียบเรียงโดย กองบรรณาธิการ
ภาพโดย beeclassic

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up