โรคตุ่มน้ำพอง

สังเกตให้ดี! ลูกขึ้นผื่นเล็กๆ มีตุ่มใสๆ ไม่ใช่ผดร้อน แต่อาจเป็น โรคตุ่มน้ำพอง

event
โรคตุ่มน้ำพอง
โรคตุ่มน้ำพอง

โรคตุ่มน้ำพอง เกิดจาก !?

ทั้งนี้โรคตุ่มน้ำพอง ไม่ได้เกิดจากเชื้อโรค ไม่ใช่โรคติดต่อ แต่เกิดจากภูมิเพี้ยน เนื่องจากร่างกายจากที่เคยมีภูมิต้านทานคอยป้องกันเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอม แต่บางครั้งภูมิเกิดเพี้ยน มาทำอันตรายร่างกายตัวเองจนเกิดเป็นโรคนี้ หรืออาจเกิดร่วมกับการมีปัจจัยทางพันธุกรรมหรือสิ่งแวดล้อมอื่น เช่น เชื้อโรคหรือสารเคมีเป็นปัจจัยกระตุ้น

 

โรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพอง มีอาการอย่างไร?

แพทย์หญิงมิ่งขวัญ วิชัยดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันโรคผิวหนัง กรมการแพทย์ กล่าวว่า ลักษณะเด่นของโรคนี้ ที่ต่างจากเพมฟิกัส คือ

  • ตุ่มพองจะเต่งตึงแตกได้ยาก เนื่องจากการแยกตัวของผิวอยู่ในตำแหน่งที่ลึกกว่าเพมฟิกัส
  • มักพบตุ่มน้ำพองมากในตำแหน่งท้องส่วนล่าง แขนขาด้านใน บริเวณข้อพับ และส่วนน้อยที่จะมีแผลในปาก
  • สามารถพบโรคเพมฟิกอยด์ได้บ่อยในคนสูงอายุ ทั้งสองโรคนี้แยกกันได้จากอาการ และการตัดชิ้นเนื้อไปตรวจเพิ่มเติม
โรคตุ่มน้ำพอง
ภาพ เด็กชายวัย 2.4 ขวบ เป็นโรคตุ่มน้ำพอง // ขอบคุณภาพจาก คุณแม่ Ammko Ko

 

คำแนะนำเมื่อสงสัยว่าป่วย

กรณีที่สงสัยว่าจะเป็นโรคตุ่มน้ำพองแนะนำให้รีบพบแพทย์ เพื่อจะได้รับการวินิจฉัยและรักษาที่ถูกต้อง จะช่วยลดโอกาสการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นสาเหตุให้เสียชีวิตได้ … ทั้งนี้สาเหตุของโรค 90% เกิดขึ้นเองโดยไม่ทราบสาเหตุ วิธีป้องกันจึงไม่มี หากรู้ว่าเป็นก็รีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษา

วิธีรักษาโรคเพมฟิกอยด์ หรือ โรคตุ่มน้ำพอง

ยาที่ใช้รักษาหลัก คือ ยาทาสเตียรอยด์ จะใช้เป็นการรักษาหลักในผู้ป่วยที่มีตุ่มน้ำเฉพาะที่ กรณีที่ตุ่มน้ำกระจายทั่ว ร่างกาย การรักษาด้วยยาสเตียรอยด์ชนิดรับประทาน หรือร่วมกับยากดภูมิต้านทาน จะช่วยควบคุมโรคได้ โดยหากเปรียบเทียบกับโรคเพมฟิกัสแล้ว โรคเพมฟิกอยด์จะใช้ยากดภูมิในขนาดที่น้อยกว่า และตอบสนองต่อการรักษาได้ดีกว่าเพมฟิกัส ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ อาจจะมีตุ่มน้ำขึ้นเป็นๆหายๆ ในระยะเวลา 2-3 ปี และสามารถหายเป็นปกติได้ และในปัจจุบันมีการรักษาด้วยยาฉีดที่ออกฤทธิ์โดยตรงต่อภูมิต้านทานที่ทำงานผิดปกติ ซึ่งพบว่าสามารถควบคุมโรคได้ดี มีผลข้างเคียงน้อยกว่ายากดภูมิต้านทานชนิดรับประทาน

คำแนะนำในการปฏิบัติตัว การดูแลโรคเบื้องต้นด้วยตนเอง เมื่อเป็นโรคเพมฟิกอยด์

  • ควรมาพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยา หรือปรับลดยาเอง
  • ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลให้ใช้น้ำเกลือทำความสะอาด ใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้น และฟัน
  • ไม่แกะเกาผื่น เพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อ
  • หากมีแผลในปาก ควรงดอาหารรสจัด งดรับประทานอาหารแข็ง เช่น ถั่ว ของขบเคี้ยว เนื่องจากอาจกระตุ้นการหลุดลอกของเยื่อบุในช่องปาก
  • โรคนี้ทำให้มีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปในสถานที่แออัด
  • หลีกเลี่ยงการออกกำลังกายหนักๆ
  • ไม่ควรใส่เสื้อผ้ารัดคับ เพื่อลดการถลอกที่ผิวหนัง
  • หลีกเลี่ยงแสงแดด และความเครียด ซึ่งเป็นปัจจัยกระตุ้นที่สำคัญ
  • การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ
    ในช่วงที่โรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์

ซึ่งหากดูแลสุขภาพและแผลอย่างถูกวิธี จะช่วยให้โรคสงบได้เร็วขึ้น ทำให้เด็กหรือผู้ที่ป่วยเป็น โรคตุ่มน้ำพอง สามารถดำรงชีวิตได้เหมือนคนปกติทั่วไป ไม่มีรอยโรคใหม่เกิดขึ้น

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :


ขอขอบคุณข้อมูลจาก :กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข inderm.go.thwww.si.mahidol.ac.thwww.dst.or.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up