อาหารเสริม

วิตามิน – อาหารเสริม ของดีที่เพิ่มอันตราย แก่ลูกน้อย

Alternative Textaccount_circle
event
อาหารเสริม
อาหารเสริม
อาหารเสริมวิตามิน
อาหารเสริมวิตามินสำหรับลูกน้อย

โดยปกติแล้วการให้วิตามินเสริมของแพทย์จะพิจารณาในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคความผิดปกติของกระบวนการสร้างและสลาย (Metabolism) พบได้ตั้งแต่แรกเกิด และมักจะขาดวิตามินหลายตัว โรคตับเรื้อรังที่เกิดจากการขาดวิตามินเค หรือผู้ป่วยเด็กที่ผ่าตัดลำไส้อาจพบว่ามีการขาดวิตามินบี 12 และดูดซึมธาตุเหล็กได้น้อยลง

หรือการรับประทานยาบางชนิดเป็นเวลานาน เช่น ยาที่ใช้ในการรักษาวัณโรคในเด็ก ซึ่งจะทำให้เด็กขาดวิตามินบี 6 ได้ เป็นต้น แต่ในกรณีที่เด็กมีสุขภาพร่างกายปกติ การรับประทานวิตามินเสริมก็ไม่ใช่สิ่งจำเป็นแต่อย่างใด เพราะนอกจากร่างกายจะขับวิตามินส่วนเกินออกมาในรูปแบบของปัสสาวะแล้ว การรับประทานวิตามินบางชนิดในปริมาณที่มากจนเกินไป จะทำให้เกิดการสะสมในร่างกายและเกิดอาการข้างเคียงได้เช่นกัน

อีกทั้งจากข้อมูลในปี 2012 พบว่า ในประเทศไทยมีอัตราการเกิดโรคขาดสารอาหารน้อยลงในทุกๆ ปี โดยพบว่ามีเด็กที่อายุน้อยกว่า 5 ปี มีความชุกของการขาดสารอาหารเพียงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับปี 1987 ที่พบร้อยละ 17 แสดงให้เห็นถึงการพัฒนาความเป็นอยู่ของเด็กไทยทิศทางที่ดีขึ้น เช่น ด้านของการรับประทนอาหารที่จำเป็นและเพียงพอ

ดังนั้น การรับประทานวิตามินเสริมจึงขึ้นอยู่กับสุขภาพและความจำเป็นของร่างกายเด็กแต่ละคนเป็นสำคัญ ทั้งยังต้องขึ้นอยู่กับความเห็นแพทย์ร่วมด้วย ซึ่งบางครั้งแพทย์จะถูกพ่อแม่หรือผู้ปกครองเด็กขอให้สั่งวิตามิน และแร่ธาตุให้ลูกโดยไม่จำเป็น แพทย์จึงควรตระหนักเสมอว่า วิตามินและแร่ธาตุเหล่านั้นมีอยู่ในอาหารตามธรรมชาติอยู่แล้ว

เด็กแต่ละช่วงวัยต้องการวิตามินอะไรบ้าง

ตามที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น การที่แพทย์จะเริ่มให้วิตามินกับเด็ก แพทย์ต้องประเมินภาวะทางโภชนาการของทารกและเด็กก่อน โดยการคำนวณค่าดัชนีมวลกาย BMI โดยเอาน้ำหนัก (หน่วยเป็นกิโลกรัม) หายด้วย ส่วนสูง (หน่วยเป็นเมตรยกกำลังสอง) ได้ค่ามาตรฐาน ดังนี้

ค่าดัชนีมวลกายสำหรับเด็กอายุ 1-7 ปี

  • ผอมเล็กน้อย < 14.5-13.0
  • ผอมปานกลาง < 13.0-11.5
  • ผอมรุนแรง < 11.5
  • ปกติ 14.5-18.0

โดยเด็กที่มีเกณฑ์น้ำหนักเฉลี่ยต่ำกว่ามาตรฐาน แพทย์อาจให้วิตามินเสริมเพื่อใช้ในการบำรุงทดแทนสารอาหารที่ร่างกายขาดแคลนไป รวมถึงกรณีเด็กที่ผอมอย่างรุนแรง (Severs Malnutrition) ที่มักจะมีการขาดวิตามินและแร่ธาตุเกือบทุกตัว แพทย์ก็จะทำการให้วิตามินเสริมเพื่อบำรุงสุขภาพร่างกายแก่เด็กเช่นกัน

1. การรับประทานวิตามินเสริมในทารกแรกเกิดยังไม่มีความจำเป็น เนื่องจากเป็นนมแม่ และนมผงดัดแปลงสำหรับทารกนั้น มีวิตามินและแร่ธาตุเพียงพอต่อความต้องการของทารกแรกเกิดจนถึง 6 เดือนอยู่แล้ว

เมื่อทารกอายุครบ 6 เดือนเป็นต้นไป ก็จะเริ่มรับประทานอาหารเสริมร่วมกับนมแม่ หรือนมผงดัดแปลงสำหรับทารกได้ ซึ่งควรมีวิตามินซี วิตามินดี โฟลิกแอซิด และธาตุเหล็ก ให้เพียงพอต่อความต้องการในช่วงวัยนั้นด้วย รวมถึงการฝึกทักษะ เช่น ฟัง พูด อ่าน เขียน หรือการฝึกให้เด็กออกกำลังกายไปพร้อมๆ กัน ยังเป็นการเสริมสร้างพัฒนาการของเด็กในวัยนี้ได้เป็นอย่างดี

2. เด็กอายุ 1 ปีขึ้นไป ในเด็กที่แข็งแรงดี หากมีการรับประทานอาหารได้ดี มักไม่ค่อยพบการขาดวิตามินและแร่ธาตุ แต่ยังเป็นกลุ่มที่มีโอกาสขาดธาตุเหล็กสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ ซึ่งอาจส่งผลต่อพัฒนาการและการเรียนรู้ของเด็กจนถึงช่วงอายุ 10 ปี

โดยอาจตรวจพบว่ามีอาการซีด เหลือง เจาะเลือดพบจำนวนเม็ดเลือดแดงต่ำกว่าเกณฑ์ตามอายุนั้นๆ อาจพบได้ในเด็กที่รับประทานอาหารไม่ครบ 5 หมู่ และชอบดื่มแต่นมเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้น เด็กกลุ่มนี้ควรเสริมวิตามินซี และธาตุเหล็ก ซึ่งวิตามินซีพบได้มากใน ฝรั่ง กีวี มะละกอสุก บร็อกโคลี่และผักโขม เป็นต้น ส่วนธาตุเหล็กพบได้ในเนื้อสัตว์ เครื่องในสัตว์ และอาหารทะเล เช่น ตับหมู และอาจพบในพืช เช่น ผักกูด ถั่วฝักยาว เห็ดฟาง

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

วิตามิน หรืออาหารเสริม ช่วยให้เด็กรับประทานอาหารได้มากขึ้นหรือไม่

การที่เด็กไม่ยอมรับประทานอาหารมักเกิดได้จากหลายปัจจัย ซึ่งส่วนใหญ่แล้วไม่พบว่าเกิดจากการขาดวิตามินและแร่ธาตุเป็นหลัก หากแต่เกิดจากพฤติกรรมของเด็ก การเลี้ยงดูของพ่อแม่ การตามใจให้นมก่อนการรับประทานอาหาร ทำให้เด็กอิ่มและไม่อยากรับประทานข้าว รวมถึงรสชาติอาหารที่ไม่ถูกปาก ล้วนแล้วแต่เป็นการสร้างพฤติกรรมรับประทานอาหารยาก

ส่งผลให้เกิดอาการขาดวิตามินและแร่ธาตุตามมาได้ในที่สุด ซึ่งการขาดวิตามินและแร่ธาตุในบางกรณี เช่น การขาดธาตุเหล็กและสังกะสี จนทำให้เด็กมีอาการเบื่ออาหาร ลิ้นเลี่ยน การรับรสชาติที่ลิ้นทำงานได้ไม่ดี กลายเป็นรับประทานอาหารไม่อร่อย หากแพทย์ตรวจเลือดพบว่ามีอาการซีด และระดับสังกะสีในร่างกายต่ำ อาจมีการเสริมธาตุเหล็กและสังกะสีให้ในรูปแบบของยา พร้อมวัดระดับให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ

กรณีเช่นนี้อาจทำให้อาการเบื่ออาหารจางหายไปได้ โดยเฉพาะการฝึกให้เด็กปรับเปลี่ยนวินัยการรับประทานจากพ่อแม่เป็นสำคัญ เช่น การพักผ่อนให้เพียงพอของร่างกาย การรับประทานให้หลากหลาย การออกกำลังกายให้สมวัย เหล่านี้ก็เพียงพอต่อความต้องการ โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งอาหารเสริมจากภายนอกแต่อย่างใด

รับประทานวิตามินเสริมเพื่อบรรเทาโรคได้หรือไม่?

พบว่าการเสริมวิตามินในเด็กสามารถบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้บางกรณี เช่น การให้ธาตุสังกะสีเสริมในเด็กทีป่วยเป็นลำไส้อักเสบ ถ่ายเหลว จะช่วยให้ระยะเวลาความเจ็บป่วยนั้นสั้นลง และลดความรุนแรงของโรคลงได้ แต่อะไรที่มากไปอาจให้ผลลัพธ์ที่ไม่ดีกลับมาได้เสมอ วิตามินที่ควรให้ความสนใจมากเป็นพิเศษ ได้แก่

• วิตามินเอ เนื่องจากทารกและเด็กรับประทานมากเกินไป จะทำให้ร่างกายเกิดการสะสมและอาจเกิดผลข้างเคียงได้ เช่น ปวดหัว คลื่นไส้อาเจียน ความดันในกะโหลกศีรษะสูง (Pseudotumor Cerebri) และชัก เป็นต้น

• เบต้าแคโรทีน (Beta-carotene) เมื่อรับประทานเข้าไปมันจะถูกเปลี่ยนไปเป็นวิตามินเอ เท่าที่ร่างกายต้องการ ที่เหลือจะยังคงเป็นเบต้าแคโรทีนลอยอยู่ในกระแสโลหิต ดังนั้น ถ้ารับประทานเบต้าแคโรทีนมากจนเกินไป จะทำให้ผิวหนังมีสีเหลืองแต่ตาจะไม่เหลือง ซึ่งยังไม่เป็นอันตรายแต่อย่างใด เมื่อลดปริมาณที่รับประทานลงอาการผิวหนังสีเหลืองจะหายไป เบต้าแคโรทีนมักจะอยู่ในอาหารที่มาจากพืช ส่วนวิตามินเอมักจะอยู่ในอาหารที่มาจากสัตว์

และปัจจุบันพบว่าเด็กไทยยังได้รับแคลเซียมจากอาหารไม่เพียงพอ ดังนั้น การเสริมดื่มนมเพิ่มขึ้น (นมวัว 1 ซีซี มีแคลเซียม 1.2 มิลลิกรัม) หรือเสริมด้วยยาเม็ดแคลเซียม จะช่วยให้เด็กมีมวลกระดูกสะสมเพิ่มขึ้นได้ เมื่อเด็กอายุประมาณ 13-14 ปี จะทำให้เด็กมีโอกาสสูงขึ้นได้ง่าย เพราะมีมวลกระดูกสะสมไว้มากเพียงพอ อย่างไรก็ตามการดื่มนมดีกว่าการรับประทานแคลเซียมเม็ด เนื่องจากได้สารอาหารอื่นๆ จากนมอย่างครบถ้วนกว่าการรับประทานแคลเซียมเม็ดเพียงอย่างเดียว

อ่านต่อบทความน่าสนใจ คลิก!

อาหารเสริมทารก เริ่มอย่างไร ให้ลูกกินเก่งแถมกินง่าย!

Kid safety – อาหารเสริม โปรตีนเม็ด ควรให้ลูกวัยรุ่นกินหรือเปล่า?


บทความโดย : กองบรรณาธิการเว็บไซต์ Amarin Baby & Kids

ภาพโดย : Shutterstock

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.manager.co.th , child.haijai.com

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up