เด็กจมน้ำ

อุทาหรณ์ เด็กจมน้ำ อุบัติเหตุอันดับต้น ๆ ที่เกิดกับลูกหลาน

Alternative Textaccount_circle
event
เด็กจมน้ำ
เด็กจมน้ำ

เหตุสลดสะเทือนใจ เด็กจมน้ำ เสียชีวิต เกิดขึ้นให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง กลายเป็นอุทาหรณ์เตือนคุณพ่อคุณแม่ให้ตระหนักถึงภัยใกล้ตัวนี้ว่า หากปล่อยบุตรหลานคลาดสายตาเพียงแว่บเดียว เรื่องร้าย ๆ ก็เกิดขึ้นได้ค่ะ

อุทาหรณ์ เด็กจมน้ำ อุบัติเหตุอันดับต้น ๆ ที่เกิดกับลูกหลาน

คุณแม่รู้ไหมคะว่าปัญหาเด็กจมน้ำ มีมากเป็นอันดับ 1 เมื่อเทียบกับการเสียชีวิตจากทุกสาเหตุ ส่วนใหญ่เกิดกับเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ปัจจัยมาจาก ผู้ใหญ่ไม่ตระหนักถึงความเสี่ยง และขาดความใส่ใจลูกหลาน แม้เพียงเสี้ยววินาทีค่ะ

สถิติ เด็กจมน้ำ

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ กล่าวว่า ศูนย์วิจัยของสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล พบสถิติเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี จมน้ำเสียชีวิต ตั้งแต่ปี 2545 จำนวน 1,600 ต่อปี ปัจจุบันลดเหลือ 700 คนต่อปี ในจำนวนนี้เป็นเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ซึ่งลดจาก 700 กว่าคนต่อปี เหลือ 200 กว่าคนต่อปี แต่การจมน้ำยังเป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 1 ของเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ระยะหลังจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กไม่ค่อยลดจำนวนลง เพราะพ่อแม่และผู้ปกครองเผลอ คลาดสายตา และอาจเป็นไปได้ว่า จงใจละเลยไม่ได้ป้องกันตั้งแต่แรก คือรู้แต่ยังปล่อยปละละเลย

ทั้งนี้ทางสถาบันฯ ตั้งเป้าลดอัตราการเสียชีวิตจากการจมน้ำ จาก 7 กว่าคน ต่อประชากรแสนคน ให้เหลือ 2 คน ต่อประชากรแสนคนในทุกกลุ่มอายุ ตั้งเป้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี มีจำนวนการเสียชีวิตจากการจมน้ำไม่เกิน 60-70 คนต่อปี หรือต้องลดลงอีก 3 เท่าตัว

เด็กเล็กยังไม่สามารถเรียนรู้ความเสี่ยงต้องดูแลให้ดี

รศ.นพ.อดิศักดิ์ เผยอีกว่า เด็กปฐมวัยอายุน้อยกว่า 5 ปี เป็นวัยที่พัฒนาการทางสมองยังไม่สามารถเชื่อมโยงเหตุและผลได้สมบูรณ์ ไม่สามารถเรียนรู้ความเสี่ยงรอบตัว ไม่รู้อันตรายและหลบหลีกได้ด้วยตนเอง ผู้ปกครองจึงต้องดูแลใกล้ชิด ซึ่ง พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546 มาตรา 25 (2) ที่ระบุไม่ให้ผู้ปกครองละทิ้งเด็กไว้ ณ สถานที่ใดๆ โดยไม่จัดให้มีการป้องกันดูแลสวัสดิภาพ หรือไม่จัดให้มีการเลี้ยงดูที่เหมาะสม ซึ่งการเลี้ยงดูที่ไม่เหมาะสมมักซ่อนเร้นอยู่ภายใต้การเสียชีวิตจากการจมน้ำของเด็กเล็ก

เด็กที่เสียชีวิตจากการจมน้ำ ส่วนใหญ่พบว่า ในครอบครัวมีผู้ดูแลที่ไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะเรียนรู้วิธีป้องกัน โดยมักเป็นกลุ่มพ่อแม่วัยรุ่น รวมถึงพ่อแม่ที่ทำงาน แล้วปล่อยให้ปู่ย่าตายายอายุมากดูแล นอกจากนี้ยังเกิดเหตุกับครอบครัวยากจน รวมถึงกลุ่มที่มีฐานะ แต่มีสถานะ

  1. ครอบครัวหย่าร้าง
  2. มีภาวะความรุนแรงในครอบครัว
  3. มีการใช้สารเสพติด เมาสุรา
  4. กลุ่มที่มีปัญหาก่ออาชญากรรม ก่อคดี
  5. กลุ่มที่ปัญหาทางสุขภาพจิต

ซึ่งเด็กจมน้ำเสียชีวิตกว่า 90% เกิดจากครอบครัวเหล่านี้ ทั้งนี้การลดอัตราเสียชีวิตจากการจมน้ำให้ได้ตามเป้าหมาย ต้องเพิ่มความเข้มแข็งระบบคุ้มครองเด็กในระดับชุมชน เพิ่มสวัสดิภาพ สวัสดิการดูแลเด็กเล็ก ช่วยเหลือทดแทนกลุ่มครอบครัวศักยภาพไม่เพียงพอ โดยเฉพาะ 2 ขวบครึ่งลงไป เพิ่มความเข้มข้น ให้ความรู้ ฝึกทักษะพ่อแม่มือใหม่ที่เลี้ยงดูเด็กเล็ก รวมถึงพ่อแม่วัยรุ่นที่ส่งให้ปู่ย่าเลี้ยง ต้องฝึกอบรมให้ความรู้ จัดการสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก รวมทั้งจัดบ้านเรือนให้เกิดความปลอดภัย

โดยจุดเกิดเหตุเด็กจมน้ำเกิดได้หลายที่ แม้ในที่ที่คาดไม่ถึงที่สุด โดยแบ่งเป็น แหล่งน้ำตามธรรมชาติ ร้อยละ 29.4 สระว่ายน้ำ ร้อยละ 7.2 และอ่างอาบน้ำร้อยละ 4.0 ไม่น่าเชื่อเลยนะคะ

เด็กจมน้ำ
แหล่งน้ำธรรมชาติ จุดเสี่ยงสำคัญ

แหล่งน้ำธรรมชาติ จุดเสี่ยงสำคัญ

เหตุการณ์เด็กจมน้ำที่เพิ่งเกิดขึ้นไม่นานมานี้ เกิดบริเวณหาดบางแสนช่วงที่มีทุ่นลอยลงน้ำทะเล จากการสอบถามแม่ของเด็กพบว่าได้พาลูกมาเที่ยวทะเลช่วงวันหยุด โดยดูลูกอยู่ตลอด แต่เมื่อหันไปดูลูกสาวอีกคนแล้วหันกลับมาอีกที ลูกชายก็หายไป แล้วมีคนบอกว่าเห็นอยู่ตรงทุ่นลอยน้ำ พลเมืองดีจึงช่วยงมร่างขึ้นมาในสภาพหมดสติ จากนั้นจึงรีบเข้าปั๊มหัวใจเพื่อยื้อชีวิต พร้อมทั้งประสานแพทย์กู้ชีพ รพ.มหาวิทยาลัยบูรพา มาช่วยเหลือ แต่อาการสาหัส และเสียชีวิตในเวลาต่อมา

อีกเหตุการณ์ คือนักเรียนชาย 2 คน อายุ 9 ขวบ และ 15 ปี เรียนออนไลน์อยู่บ้าน ขณะที่ผู้ปกครองออกไปทำงาน ได้ชักชวนกันไปเล่นน้ำในแม่น้ำป่าสัก บริเวณหลังชุมชนวัดดาวเสด็จ จ. สระบุรี เกิดจมน้ำ สุดท้ายเสียชีวิตทั้ง 2 คน โดยเพื่อนที่มาเล่นน้ำด้วยกัน เล่าว่า ขณะที่เพื่อนทั้ง 2 คน กระโดดน้ำจากต้นไม้ที่อยู่ริมตลิ่ง ได้พยายามเตือนว่าอย่าแกล้งกัน จากนั้นทั้ง 2 ก็ค่อย ๆ ลอยห่างออกไปจากตลิ่ง ซึ่งเป็นช่วงน้ำลึก จากนั้นเพื่อนที่กำลังจะจมน้ำ พยายามเรียกให้ตนเองช่วย แต่ก็ช่วยไม่ได้ เนื่องจากน้ำบริเวณที่เพื่อนกำลังจะจมน้ำมีความลึกมาก จึงวิ่งไปตามชาวบ้านมาช่วย แต่ก็ไม่ทัน เห็นเพื่อนจมน้ำหายไป เพราะทั้ง 2 คน ว่ายน้ำไม่เป็น

หนองน้ำแถวบ้าน จุดเสี่ยงที่ลูกชอบไปเล่น

หนองน้ำแถวบ้านก็เป็นจุดอันตราย โดยที่ จ.อุดรธานี มีเด็กหญิง 2 คน วัย 9 และ 10 ขวบ จมน้ำเสียชีวิต 2 ราย ย่าของเด็กทั้ง 2 คนเล่าว่าตนเป็นผู้เลี้ยงหลาน ปกติแล้วเวลาต้องออกไปรับจ้างทำงาน ก็จะพาหลานออกไปด้วย แต่วันเกิดเหตุหลานบอกว่าต้องทำงานส่งครูจึงไม่ได้พาหลานไปด้วย และเกิดเหตุสลดขึ้น

เกิดเหตุได้ทุกที่แม้แต่ในกะละมัง อ่างเลี้ยงปลา !!!

เหตุการณ์เด็กจมน้ำเสียชีวิตในกะละมังครั้งนี้ เกิดขึ้นกับเด็กหญิง อายุ 1 ปี เหตุการณ์เริ่มจากที่ทุกคนในครอบครัวของเด็กติดโควิด รวมทั้งเด็กด้วย จึงได้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลชุมชน จากนั้นเด็กได้จมน้ำขณะนั่งอยู่ในกะละมัง โดยที่พ่อและแม่ลุกไปจากบริเวณนั้นปล่อยให้เด็กนั่งเล่นอยู่เพียงครู่เดียว แพทย์ที่โรงพยาบาลชุมได้ทำการ CPR ช่วยฟื้นคืนชีพ และส่งต่อไปรักษาที่โรงพยาบาลนครพิงค์ แต่แพทย์ประเมินพบว่าสมองตาย และเสียชีวิตลงในที่สุดค่ะ

เด็กจมน้ำ
แม้แต่กะละมัง เด็กก็จมน้ำได้

แม้แต่อ่างเลี้ยงปลา ก็เป็นจุดเกิดเหตุสลดได้ โดยที่ จ.กาฬสินธุ์ มีเด็กหญิงอายุ 1 ปี 4 เดือน พลัดตกอ่างบัวหน้าบ้านพัก จมน้ำอาการสาหัส เมื่อพ่อเด็กและญาติเห็นจึงรีบประสานหน่วยกู้ภัยเมตตาธรรม จุดหนองกุงศรีให้ช่วยเหลือ หน่วยกู้ภัย พยายามปั๊มหัวใจช่วยชีวิต แล้วรีบเคลื่อนย้ายนำตัวส่งโรงพยาบาลหนองกุงศรี แต่เด็กขาดอากาศหายใจเป็นเวลานาน จึงเสียชีวิตในเวลาต่อมา ผู้เป็นพ่อเผยว่าก่อนเกิดเหตุได้เผลอหลับไป คาดว่าลูกอาจจะเปิดประตู แล้วเดินออกมาเล่นบริเวณอ่างบัวเลี้ยงปลาหางนกยูงหน้าบ้าน ซึ่งมีน้ำอยู่เต็มอ่าง แล้วเกิดลื่นศีรษะจุ่มลงไปในอ่าง เมื่อผู้เป็นพ่อตื่นมาเห็น ลูกน้อยก็อยู่ในสภาพหัวทิ่มอยู่ในอ่าง ขาชี้ฟ้า

ถังน้ำในห้องน้ำ อีกจุดอันตราย

อีกจุดอันตรายไม่น่าเชื่อก็คือถังน้ำในห้องน้ำค่ะ โดยเหตุการณ์นี้เกิดกับเด็กหญิงวัย 1 ขวบ 6 เดือน เข้าไปเล่นในห้องน้ำกับพี่ชาย แล้วหัวทิ่มลงไปในถังน้ำสูงประมาณ 60 เซนติเมตรที่มีน้ำอยู่เต็มถัง แล้วจมน้ำอาการสาหัส เจ้าหน้าที่อาสากู้ภัยได้ช่วยปั๊มหัวใจเด็กหญิงซึ่งกำลังหมดสติ ภายในห้องน้ำของห้องพักที่หนึ่งใน จ. ปทุมธานี จากนั้นทีมเจ้าหน้าที่ฉุกเฉินได้ประสานขอทีมแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มาช่วยเหลือนำส่งโรงพยาบาลรักษาเร่งด่วน เนื่องจากเด็กมีอาการสาหัส

เด็กจมน้ำ
ถังน้ำ จุดเสี่ยงไม่คาดฝัน

วิธีป้องกัน เด็กจมน้ำ

สำหรับวิธีที่จะป้องกันไม่ให้เด็กตกน้ำ หรือจมน้ำนั้น แบ่งตามช่วงอายุได้ดังนี้

เด็กวัย 6 ขวบขึ้นไป

เป็นช่วงการเรียนรู้ และรู้จักผลจากความเสี่ยงได้ดี คุณแม่ ควรสอนให้ลูกรู้จักพื้นที่เสี่ยงอันตราย และฝึกฝนทักษะเอาตัวรอดจากการจมน้ำ เช่น การลอยตัวนิ่งในน้ำ ให้เด็กเกิดความคุ้นเคยโดยที่ไม่แสดงอาการตกใจ และเน้นเพิ่มทักษะชีวิตเพื่อความปลอดภัยทางน้ำ 5 ประการ คือ

1.รู้จักหลีกเลี่ยงจุดเสี่ยง

          2. ฝึกให้ลอยตัวได้ ไม่วาจะลอยแบบหงายท้อง หรือคว่ำหน้า เป็นเวลา 3 นาที

3.ว่ายน้ำท่าอะไรก็ได้ เพื่อตะกายเข้าฝั่ง

4.ช่วยเพื่อนให้ถูกวิธี ด้วยการตะโกนขอความช่วยเหลือ โยน หรือยื่นของ เช่น เสื้อ กิ่งไม้ ฯลฯ ให้เพื่อนจับแล้วช่วยดึงขึ้นมา

5.ใช้ชูชีพเมื่อต้องเดินทางทางน้ำ หรือทำกิจกรรมใกล้แหล่งน้ำ

เด็กอายุต่ำกว่า 6 ขวบ

ทางโรงพยาบาลแพร่ มีมาตรการไม่ให้เด็กเล็กจมน้ำ คือ “เทน้ำ กั้นคอก ปิดฝา เฝ้าดูตลอดเวลา”  ซึ่งสื่อว่า

1. เทน้ำทิ้งหลังใช้งาน ฝัง/กลบหลุมหรือร่องน้ำที่ไม่ได้ใช้งาน ระมัดระวังสถานที่ที่คาดไม่ถึง เช่น ถังน้ำ กะละมัง อ่างน้ำในห้องน้ำ หรือแหล่งน้ำภายในบ้าน เช่น โอ่ง ถังเก็บน้ำ ควรหาฝาอะไรมาปิดให้มิดชิด

2. กั้นคอก จัดให้มีสถานที่เล่นที่ปลอดภัยซึ่งไกลจากแหล่งน้ำ โดยทำคอกกั้นเด็ก มีรั้วล้อมรอบทั้ง 4 ด้าน เพราะนอกจากจะช่วยป้องกันเด็กเล็กจมน้ำแล้ว ยังช่วยป้องกันการบาดเจ็บจากสาเหตุอื่นๆ ได้ด้วย คอกกั้นเด็กทำได้เองจาก ไม้ไผ่ ท่อพีวีซี เป็นต้น

3. ไม่ปล่อยให้เด็กอยู่ตามลำพังแม้เพียงชั่วขณะ คุณพ่อคุณแม่ ไม่ควรเผลอเรอแม้เพียงชั่วครู่ ไม่ควรปล่อยให้เด็กอยู่ใกล้แหล่งน้ำตามลำพัง หรือปล่อยให้เด็กไปเล่นไกลหูไกลตา

 

ทีมแม่ ABK อยากให้คุณแม่ทุกคน คอยสอดส่องดูแลลูก ๆ อย่าให้คลาดสายตา เพราะสิ่งของในบ้านก็อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และหากลูกโตขึ้นถึงวัยที่ช่วยเหลือตัวเองได้บ้าง ควรหัดให้ช่วยเหลือตัวเอง หัดให้ลอยตัวในน้ำได้ เพื่อป้องกันอุบัติภัยทางน้ำนี้ไม่ให้เกิดขึ้นอีกนะคะ

ขอบคุณข้อมูลจาก
ไทยรัฐออนไลน์ , โรงพยาบาลแพร่ , sanook , PPTV HD36 , ข่าวสดออนไลน์, สนามข่าว 7 สี ,เดลินิวส์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

หมดกังวลเรื่องอุบัติเหตุ! ด้วย 4 วิธีป้องกันอันตราย ให้ลูกน้อยมีอิสระ เรียนรู้ได้เต็มที่

4 อุบัติเหตุไม่คาดฝันในบ้าน พ่อแม่ห้ามประมาท

อุบัติเหตุ รถชน จากความประมาทของผู้ปกครอง

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up