เด็ก สายตาสั้น รับแว่นฟรี

สายตาสั้น ตามีปัญหาตัดแว่นฟรี!ของขวัญวันเด็กจากสปสช.

Alternative Textaccount_circle
event
เด็ก สายตาสั้น รับแว่นฟรี
เด็ก สายตาสั้น รับแว่นฟรี

สปสช.ห่วงปัญหาเด็กไทย สายตาสั้น มอบของขวัญวันเด็กด้วยการตรวจวัดสายตา ตัดแว่นให้ฟรี จะมีแนวทางการรับบริการอย่างไร ใครได้สิทธิ์บ้าง มาดูแล้วสายตาดีไปด้วยกัน

สายตาสั้น ตามีปัญหาตัดแว่นฟรี!! ของขวัญวันเด็กจากสปสช.

ปัญหาสายตาในเด็ก ไม่ใช่เรื่องเล็กในสังคมปัจจุบัน ที่รายล้อมไปด้วยเทคโนโลยีหน้าจอ ไม่ว่าจะเป็นจอสมาร์ทโฟน จอทีวี จอคอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่ป้ายโฆษณาตามรายทางก็เป็นจอภาพเคลื่อนไหว ป้ายไฟกันเสียหมดไปแล้ว เป็นอีกหนึ่งสาเหตุที่เป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดปัญหาสายตาได้ง่ายขึ้นกว่าแต่ก่อน

พัฒนาการของเด็ก ๆ ในวัยเรียน วัยแห่งการเรียนรู้นั้น การมองเห็นที่ชัดเจนก็เป็นส่วนหนึ่ง และเป็นส่วนสำคัญอย่างมาก เพราะเป็นเหมือนดั่งประตูเปิดโลกการเรียนรู้ให้แก่เด็ก ๆ หากเด็กต้องนั่งเรียนในสภาพที่สายตาพร่ามัว มองเห็นกระดานดำไม่ชัด หรือต้องเพ่งสายตาแล้ว ย่อมส่งผลกระทบต่อการเรียนของเด็กอย่างแน่นอน

จากการศึกษาของโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) การคัดกรองเด็กนักเรียนอนุบาลและประถมศึกษาพบว่ามีความผิดปกติร้อยละ 11.4 และวินิจฉัยยืนยันมีภาวะสายตาผิดปกติถึงร้อยละ 6.6 โดยมีประมาณร้อยละ 4.1 จำเป็นต้องใช้แว่นตา แต่มีเด็กส่วนหนึ่งไม่มีแว่นตาใช้จนเป็นอุปสรรคต่อการเรียน และดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งจะส่งผลต่อคุณภาพประชากรประเทศในอนาคตได้

ปัญหา สายตาสั้น มีผลต่อพัฒนาการเด็ก
ปัญหา สายตาสั้น มีผลต่อพัฒนาการเด็ก

สปสช.มอบของขวัญวันเด็ก

นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การมองเห็นที่ชัดเจนของสายตาเป็นส่วนสำคัญต่อพัฒนาการของเด็ก แต่มีเด็กจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาสายตาบกพร่อง และส่วนหนึ่งไม่ได้รับการแก้ไข สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว จึงได้กำหนดเพิ่มเติมให้ “บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ” เป็นสิทธิประโยชน์สร้างเสริมสุขภาพ และป้องกันโรคที่ให้เด็กไทยอายุ 3-12 ปี มีสิทธิได้รับการตรวจคัดกรองสายตา และได้รับสนับสนุนค่าแว่นตา พร้อมเดินหน้าให้ปีงบประมาณ 2565 มีหน่วยบริการที่ตรวจวัดสายตา และจัดหาแว่นตาให้แก่เด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติได้รับอย่างทั่วถึง

 

สปสช.ห่วงปัญหาสายตา สายตาสั้น ในเด็กไทย
สปสช.ห่วงปัญหาสายตา สายตาสั้น ในเด็กไทย

แนวทางการรับบริการสำหรับเด็กสายตาผิดปกติ

เพื่อให้เกิดการเข้าถึงสิทธิประโยชน์บริการแว่นตาสำหรับเด็กที่มีภาวะสายตาผิดปกติ ทาง สปสช. ได้มีการประชุมร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และได้ดำเนินการตามแนวทางที่กรมอนามัยกำหนด โดยมีการจัดแนวทางการรับบริการ ดังนี้

1. คัดกรองเชิงรุกในโรงเรียน 

เน้นการคัดกรองสายตาเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 โดยทำเป็นลำดับขั้นตอน ดังนี้

  • ครู ผู้ที่ใกล้ชิดเด็ก และมีโอกาสสังเกตเห็นถึงความผิดปกติในการมองเห็นของเด็ก ทำหน้าที่เป็นผู้คัดกรองสายตาเด็ก ค้นหาเด็กที่มีสายตาผิดปกติเบื้องต้น
  • เจ้าหน้าที่สาธารณสุขจากรพ.สต. หน่วยปฐมภูมิ และโรงพยาบาลอำเภอ นำนักเรียนที่ครูพบความผิดปกติมาตรวจคัดกรอง วินิจฉัยเด็กที่มีสายตาผิดปกติซ้ำ โดยค่า VA < 20/40 (ค่าสายตาที่ดีที่สุด คือ VA 20/20 และค่าที่ยอมรับได้ VA 20/40)
  • สำหรับเด็กที่มีค่า VA < 20/40 จะถูกส่งต่อไปที่โรงพยาบาล สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบท(รพช.) โรงพยาบาลทั่วไป (รพท.) โรงพยาบาลศูนย์(รพศ.) ที่มีจักษุแพทย์ และหน่วย Refraction Unit เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยัน วัดค่าสายตา พร้อมสั่งตัดแว่นตามค่าสายตาที่ได้
  • จักษุคลินิก หรือร้านแว่นตา ตัดแว่นตาตามสั่ง

สำหรับเด็กนักเรียนชั้นอื่น เช่น ชั้นอนุบาล และ ป.2-ป.6 หากครูสงสัยว่าอาจมีสายตาผิดปกติ ก็เข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรอง และมีสิทธิได้รับแว่นตาเช่นเดียวกัน

เด็กที่ สายตาสั้น มักอ่านหนังสือใกล้ ๆ
เด็กที่ สายตาสั้น มักอ่านหนังสือใกล้ ๆ

2. คุณพ่อคุณแม่ หรือผู้ปกครอง หากสังเกตเห็นลูกหลานตนเองมีสายตาผิดปกติ สามารถพาลูกหลานไปรับการตรวจคัดกรองสายตาได้เช่นกัน โดยมีลำดับขั้นตอน ดังนี้

  • พาเด็กไปรับการตรวจวัดสายตาที่ รพ.สต. หน่วยปฐมภูมิ และโรงพยาบาลอำเภอ หากตรวจพบค่าสายตาผิดปกติทำการส่งต่อ
  • พบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยยืนยันว่าต้องใส่แว่นตา สั่งตัดแว่นตามค่าสายตาที่ได้
  • จักษุคลินิก หรือร้านแว่นตา ตัดแว่นตาตามสั่ง

สามารถเบิกจ่ายชดเชยค่าแว่นตาซึ่งครอบคลุมทั้งค่าเลนส์ กรอบแว่น อุปกรณ์และค่าประกอบแว่นตา ได้จาก สปสช. เด็กที่จักษุแพทย์วินิจฉัยมีสายผิดปกติจำเป็นต้องใช้แว่นตา มีสิทธิรับแว่นตาได้คนละไม่เกิน 1 อันต่อปี และได้รับการติดตามการใช้แว่นเมื่อครบ 6 เดือนโดยจักษุแพทย์ โดยมี องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) สนับสนุนค่าใช้จ่ายสำหรับการนำพาเด็กนักเรียนไปพบจักษุแพทย์

ทั้งนี้ เพื่อมอบสิทธิประโยชน์นี้ให้เป็นของขวัญเด็กไทยทั่วประเทศ เนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติ ปี 2565 สปสช.ได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข โดยกรมอนามัย กรมการแพทย์ คณะกรรมการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ (Service plan) สาขาตา ราชวิทยาลัยจักษุแพทย์แห่งประเทศไทย กระทรวงศึกษาธิการ กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย ดำเนินการ “โครงการเด็กไทยสายตาดี” ในช่วงสัปดาห์วันเด็กแห่งชาติ ระหว่างวันที่ 4-14 มกราคม 2565 เพื่อเป็นการรณรงค์ให้เกิดความตื่นตัว เร่งคัดกรองสายตาให้กับเด็กไทยเพื่อค้นหาเด็กที่มีสายตาผิดปกติให้ได้รับการแก้ไขโดยเร็ว

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ 1330 ตลอด 24 ชม. หรือ เพิ่มเพื่อนไลน์กับ สปสช. @nhso

ทำความรู้จักกับปัญหาสายตาในเด็ก

ปัญหาสายตาในเด็กคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจเพียงแค่ว่า สายตาสั้น แต่ในความเป็นจริงแล้ว ปัญหาสายตาในเด็กยังมีภาวะอื่น ๆ อีก ดังต่อไปนี้

สายตาสั้น ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ก้าวหน้า
สายตาสั้น ทำให้การเรียนรู้ของเด็กไม่ก้าวหน้า

สายตายาว (Hyperopia)

สายตายาวในเด็กจะแตกต่างจากสายตายาวในผู้ใหญ่ เด็กจะมีอาการมองเห็นภาพไม่ชัด โดยเฉพาะเวลามองใกล้ ๆ ในบางรายอาจส่งผลให้เกิดภาวะตาเขเข้าใน หรือหากสายตายาวข้างใดข้างหนึ่งมากกว่าก็เสี่ยงต่อการเกิดตาขี้เกียจอีกด้วย

สายตาสั้น และสายตาสั้นเทียม (Myopia)

พญ. มัญชิมา มะกรวัฒนะ ผู้อำนวยการศูนย์จักษุรักษ์ตา ไลฟ์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า ส่วนใหญ่สาเหตุของสายตาสั้นเกิดจากความผิดปกติทางกรรมพันธุ์ บิดาหรือมารดาสายตาสั้นก็จะส่งผลให้ลูกอาจสายตาสั้น อีกทั้งพฤติกรรมการใช้ชีวิตของเด็กในปัจจุบันที่ใช้สายตามากกว่าปกติทั้งการอ่านหนังสือ เล่นเกมส์ ดูโทรทัศน์ ใช้คอมพิวเตอร์ ใช้สายตาอยู่กับเทคโนโลยีมาก ๆ ซึ่งเป็นพฤติกรรมการใช้สายตาในระยะใกล้นาน ๆ ก็เป็นอีกสาเหตุทำให้เด็กมีสายตาสั้นด้วย โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตว่าลูกมีอาการสายตาสั้นที่ส่งผลต่อพฤติกรรม ดังนี้

  • มองกระดานไม่ชัด ต้องหรี่ตาถึงจะมองเห็น
  • ต้องเดินไปใกล้โทรทัศน์มากขึ้นเพื่อให้ดูชัด
  • ก้มลงอ่านหนังสือใกล้มากๆ
  • รับลูกบอลพลาดบ่อยๆ
  • กระพริบตา ขยี้ตา เอียงคอ

สายตาสั้นในเด็กต้องระวังว่าอาจเป็นสายตาสั้นเทียมได้ เนื่องจากในเด็กชอบการเพ่งมอง การเพ่งมองนั้นจะทำให้การวัดสายตาออกมาเป็นสายตาสั้นมากกว่าความเป็นจริงหรือที่เรียกว่า “สายตาสั้นเทียม” นั่นเอง

สายตาเอียง (Astigmatism)

เกิดจากการโฟกัสในแต่ละแนวของกระจกตาดำไม่เท่ากัน เนื่องจากกระจกตาดำมีลักษณะกลมรี เหมือนลูกรักบี้ มีความโค้งในแต่ละแนวไม่เท่ากัน ส่งผลให้ภาพไม่ได้ตกโฟกัสในจุดเดียวกัน ส่งผลให้เห็นภาพมัว ทั้งระยะไกล และใกล้ โดยคุณพ่อคุณแม่สามารถสังเกตพฤติกรรมเมื่อลูกสายตาเอียงได้จากการเอียงหน้า ตะแคงหน้ามอง เพราะสายตาของลูกกำลังหาแนว หรือมุมโฟกัสที่ชัดที่สุดในการมองนั่นเอง

ภาวะสายตาที่ผิดปกติทั้งสามชนิดที่กล่าวมา อาจนำไปสู่โรคตาขี้เกียจได้หากค่าสายตาข้างใดข้างหนึ่งแย่กว่าอีกข้างหนึ่ง หรือค่าสายตาแย่มากทั้งสองข้าง

การวัดสายตาในเด็ก

ในเด็กที่อายุน้อยกว่า 12 ปี ธรรมชาติของเขามักชอบเพ่ง จ้องมอง ทำให้การวัดค่าสายตาจะผิดเพี้ยนไม่ตรงค่าตามความเป็นจริง จึงมีความจำเป็นที่ต้องหยุดการเพ่งของเด็กชั่วคราว โดยการหยอดยาเพื่อลดการเพ่ง แล้วจึงทำการวัดสายตาได้ถึงจะได้ค่าสายตาจริง ๆ ของเด็ก ปกติเราสามารถหยอดตาวัดสายตา ปีละ 1 ครั้ง จนกระทั่งอายุประมาณ 11 ถึง 12 ปี ก็จะสามารถวัดสายตาได้เช่นเดียวกับผู้ใหญ่

สปสช.ตรวจวัดค่าสายตา ตัดแว่นฟรี!!
สปสช.ตรวจวัดค่าสายตา ตัดแว่นฟรี!!

เตรียมตัวก่อนตรวจวัดสายตา!!

การตรวจวัดสายตาในเด็ก จำเป็นต้องมีวิธีการที่แตกต่างจากผู้ใหญ่ ดังนั้นการเตรียมความพร้อมก่อนการตรวจจึงเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งมีดังต่อไปนี้

  1. เมื่อหยอดตาแล้วจะทำให้มองที่ใกล้ไม่ชัดประมาณ 1 วัน จึงควรเลือกวันที่ไม่มีไข้ ไม่มีการสอบ หรือการเรียนที่ต้องใช้สายตาในวันรุ่งขึ้น
  2. เตรียมแว่นตาดำ หรือหมวก เพราะอาจมีอาการแพ้แสงได้ ประมาณ 1 วัน หลังการตรวจม่านตา
  3. การหยอดยาเพื่อวัดสายตา จะทำทุก 5 นาที 10 นาที 2 ถึง 3 ครั้งทั้งสองข้าง และรอตรวจประมาณ 30 นาที ซึ่งเด็กอาจงอแงได้ เพราะยาหยอดตาแสบ ควรหากิจกรรมรับมือลูกไว้ก่อน
  4. หลังตรวจวัดสายตาเรียบร้อย จักษุแพทย์จะทำการตรวจจอประสาทตา เนื่องจากม่านตาขยายพอที่จะสามารถตรวจได้
  5. หลังตรวจเรียบร้อยควรงดกิจกรรมกลางแจ้ง พักผ่อนในบ้าน ไม่ควรโดนแสงไฟสว่างมาก ๆ
ข้อมูลอ้างอิงจาก นพ.วรากร เทียมทัด จักษุแพทย์เฉพาะทาง รพ.เวิลด์เมดิคอล / www.tnnthailand.com/www.bangkokbiznews.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกฉลาด ถ้าฉลาดดูแลสายตา

เด็กๆสายตาสั้นเพิ่มขึ้นเพราะจอคอมพิวเตอร์

7 สัญญาณ อันตรายระหว่างตั้งครรภ์ ที่แม่ท้องต้องรีบหาหมอ

มั่นใจได้ สธ.เตรียมตัวรับมือผู้ป่วยเด็ก โอไมครอน เอาอยู่

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up