ลูกชอบกัดเล็บ

ลูกชอบกัดเล็บ ควรกังวลไหม ควรทำอย่างไรให้ลูกเลิกกัดเล็บ

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกชอบกัดเล็บ
ลูกชอบกัดเล็บ

ลูกชอบกัดเล็บ – คุณพ่อคุณแม่หลายคนอาจจะเคยสงสัยว่าทำไมลูกน้อยที่บ้านถึงได้ชอบกัดเล็บตัวเอง ลูกเราผิดปกติหรือเปล่า? พ่อแม่ส่วนใหญ่อาจมีปฏิกิริยาตอบสนองที่ค่อนข้างจริงจังเมื่อเห็นลูกกัดเล็บ  เช่น สั่งให้ลูกดึงมือออก สั่งให้หยุด หรือขู่ว่าจะนิ้วกุด บางคนดุลูก ตีมือลูก ไปถึงขั้นตีปาก ทั้งนี้ทั้งนั้นเพราะเป็นกังวลว่าเชื้อโรคจะเข้าสู่ร่างกายลูกได้ พอลูกหยุดทำพ่อแม่ก็รู็สึกสบายใจ แต่สิ่งที่พ่อแม่มองไม่เห็น ทั้งยังเป็นสาเหตุที่แท้จริงกลับไม่ได้รับการช่วยเหลือ นั่นก็คือ “ความวิตกกังวล” ในใจลูก ซึ่งเป็นเรื่องที่พ่อแม่อาจไม่คิดไม่ถึง ความจริงแล้วการกัดเล็บเป็นหนึ่งในพัฒนาการของเด็กวัยหัดเดิน และเด็กส่วนใหญ่จะเลิกพฤติกรรมนี้ไปได้เองเมื่อเวลาผ่านไป

ลูกชอบกัดเล็บ ควรกังวลไหม ทำยังไงให้ลูกเลิกกัดเล็บ?

การดูดนิ้วหัวแม่มือ การกัดฟัน การบิดผม และการแคะจมูก ล้วนแล้วแต่เป็นพฤติกรรมที่เกิดจากสภาพทางจิตใจ การกัดเล็บก็เช่นกัน  งานวิจัยบางชิ้นแสดงให้เห็นว่าการกัดเล็บอาจมีปัจจัยทางพันธุกรรม ลูกของคุณอาจกัดเล็บเนื่องจากความสนใจที่พวกเขาได้รับ เมื่อคุณยืนกรานให้หยุด อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่มองว่าการกัดเล็บเป็นนิสัย ซึ่งเป็นพฤติกรรมซ้ำๆ ที่ลูกอาจทำโดยไม่รู้ตัว

สาเหตุของการกัดเล็บในเด็ก

เด็กกัดเล็บด้วยเหตุผลต่างๆ เช่น ความวิตกกังวล ความเครียด ความเบื่อหน่าย และความสบายใจ สาเหตุประการที่ทำให้เด็กกัดเล็บ คือ

1. เพื่อความสบาย

ทารกดูดนิ้วหัวแม่มือเพื่อเป็นการปลอบประโลมตัวเองซึ่งเป็นเรื่องธรรมชาติ เพราะเป็นการกระทำที่ให้เกิดความรู้สึกสบาย ผ่อนคลายเมื่อพวกเขากำลังเล่นหรืออยู่คนเดียว และการกัดเล็บตัวเองก็เป็นรูปแบบการผ่อนคลายที่พัฒนาขึ้นมาอีกขั้นจากการดูดนิ้วโป้งเมื่อเด็กโตขึ้น ดังนั้นเด็กวัยเตาะแตะอาจกัดเล็บตัวเองได้เมื่อรู้สึกสบาย

2. ความเบื่อหน่าย

เด็กมักจะกัดเล็บเมื่อรู้สึกเบื่อหรือรู้สึกว่าทำอะไรซ้ำซากจำเจ นอกจากนี้ยังสามารถเห็นการกัดเล็บได้เมื่อพวกเขาไม่ได้มีส่วนร่วมในกิจกรรมและมือของพวกเขาเป็นอิสระ ระหว่างดูทีวี หรืออยู่ในชั้นเรียน

ลูกชอบกัดเล็บ
ลูกชอบกัดเล็บ

3. บรรเทาความวิตกกังวลและความเครียด

เด็ก ๆ อาจกัดเล็บเพื่อแสดงความตึงเครียดที่รู้สึกอยู่ลึกๆ เพียงชั่วคราวในวัยเด็ก เด็กทุกคนต่างมีความวิตกกังวลในแบบของตัวเอง การเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ในโรงเรียน หรือรู้สึกเขินอายในสนามเด็กเล่นเป็นสิ่งที่มักเกิดขึ้นได้ การกัดเล็บที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในช่วงเวลาเช่นนี้อาจเป็นวิธีที่บุตรหลานของคุณจัดการกับความเครียดหรือปลอบโยนตัวเอง หากเป็นกรณีนี้ ก็ไม่มีอะไรต้องกังวล

สถานการณ์ต่างๆ ที่บ้านหรือโรงเรียนที่อาจทำให้เกิดความเครียดหรือวิตกกังวลทำให้เกิดการกัดเล็บในเด็กมีสถานการณ์กดดันมากมายที่อาจทำให้พวกเขาวิตกกังวลได้ เช่น:

  • การทะเลาะเบาะแว้งระหว่างสมาชิกในครอบครัวหรือพ่อแม่
  • การสูญเสียสมาชิกในครอบครัวหรือญาติสนิท
  • พ่อแม่หย่าร้างกัน
  • ย้ายบ้านใหม่
  • เข้าโรงเรียนใหม่
  • โดนเด็กคนอื่นรังแก
  • การโดนลงโทษ

4. เลียนแบบ

เด็กสามารถซึมซับและรับพฤติกรรมของผู้อื่นอย่างรวดเร็ว การกัดเล็บเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งที่พบได้ทั่วไป และเมื่อเห็นพี่น้องหรือสมาชิกในครอบครัวทำแบบนั้น เด็กๆ ก็อาจเลียนแบบนิสัยนั้นได้โดยไม่รู้ตัว

5. เป็นกรรมพันธุ์

มีโอกาสที่นิสัยของคุณจะถูกส่งต่อไปยังลูก ๆ ผ่านทางยีนของพ่อแม่ หากคุณเคยกัดเล็บตอนคุณยังเด็ก ลูกของคุณก็มีแนวโน้มที่จะมีพฤติกรรมชอบกัดเล็บได้เช่นกัน

ลูกชอบกัดเล็บควรกังวลหรือไม่?

โดยปกติ การกัดเล็บไม่ใช่สาเหตุหลักที่น่ากังวล การกัดเล็บในเด็กเกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ แต่สิ่งเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ตั้งแต่เนิ่นๆ และบ่อยครั้งที่การกัดเล็บเป็นนิสัยประเภทหนึ่งที่เด็ก ๆ เรียนรู้ และจะหยุดเองได้

การใช้เวลากับลูกให้มากและสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นและไว้ใจได้ จะกระตุ้นให้พวกเขาแบ่งปันความรู้สึกกังวลกับคุณ หากลูกของคุณกัดเล็บเป็นประจำจนเลือดออก ลูกฉีกแผ่นเล็บ หรือปลายนิ้วมือเปื้อนเลือด รวมกับพฤติกรรมวิตกกังวลหรือตึงเครียดอื่นๆ ที่อาจถือเป็นการทำลายตนเอง และอาจกำลังทุกข์ทรมานจากความวิตกกังวลหรือความเครียดมากกว่าปกติสำหรับเด็กในวัยเดียวกัน ซึ่งเมื่อสถานการณ์เป็นเช่นนี้ควรต้องปรึกษาแพทย์เพราะอาจเป็นสัญญาณว่าลูกของคุณกำลังทุกข์ทรมานจากสาเหตุบางอย่างที่ร้ายแรงกว่านั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องรับรู้ถึงสิ่งเหล่านั้นให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆเพื่อที่จะได้ช่วยแก้ไขได้ทันเวลา

นอกจากนี้เราอาจเคยได้ยินว่าการกัดเล็บอาจเชื่อมโยงกับออทิสติก แต่ความจริงแล้วเด็กที่ชอบกัดเล็บไม่จำเป็นต้องเป็นออทิสติกเสมอไป เด็กและผู้ใหญ่หลายคนมีสิ่งที่พวกเขาทำเพื่อความสบายใจ  เช่น ม้วนผม เคาะพื้นผิว เล่นกับเสื้อผ้าหรือเครื่องประดับ แต่หากคุณรู้สึกว่าลูกของคุณแสดงพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับออทิสติก โปรดติดต่อกุมารแพทย์ของคุณ

วิธีรับมือเมื่อลูกชอบกัดเล็บ

มีหลายวิธีในการช่วยให้เด็กๆ เลิกกัดเล็บ แต่สิ่งสำคัญคืออย่าไปเร่งพวกเขา  เด็กๆ ไม่ควรรู้สึกเขินอายหรือละอายใจ

เมื่อพูดถึงการกัดเล็บในวัย 2 ขวบ บางครั้งทางเลือกที่ดีที่สุดคือการทำต่อไปตามปกติ และหวังว่านิสัยเล็กๆ น้อยๆ นี้จะหายไปเอง ถ้าไม่เช่นนั้น เรามีวิธีอื่นที่อาจใช้ได้ผล

ต่อไปนี้เป็นวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพสำหรับการกัดเล็บในเด็ก:

1. ช่วยบรรเทาความวิตกกังวลของลูก

อย่างที่ทราบกันว่าการกัดเล็บช่วยคลายความตึงเครียดและรับมือกับความรู้สึกที่ยากลำบากของเด็ก หากคุณสังเกตเห็นว่าลูกของคุณกัดเล็บบ่อยขึ้นจนผิดสังเกตเมื่อเขาเครียดหรือกังวลเกี่ยวกับปัญหาต่างๆ เช่น เปลี่ยนโรงเรียน ย้ายไปอยู่ที่อื่น หรือความขัดแย้งในครอบครัว ให้ใช้เวลาพูดคุยกับเขา หาช่วงเวลาที่ดีเมื่อเขาอยู่ในอารมณ์ที่เหมาะสม และเชื่อมต่อกับเขาเพื่อพูดคุยถึงสิ่งที่เขาอาจกำลังเป็นกังวลอยู่ ให้ลูกได้บอกให้รู้ และหาทางแก้ไขด้วยเหตุผลของคุณ

2. ตัดเล็บให้ลูกเป็นประจำ

การเล็มเล็บเป็นวิธีที่ดีในการป้องกันการกัดเล็บให้น้อยที่สุด ตัดและตะไบเล็บให้ลูกทุกสัปดาห์  เพื่อไม่ให้เล็บของลูกไม่มีขอบหยาบๆ ที่กระตุ้นให้เด็กๆ ต้องแทะ การดูแลเล็บที่ดีมีแนวโน้มที่จะทำให้เด็กๆ ลืมนิสัยการกัดเล็บ และไม่หันกลับมากัดเล็บของพวกเขาอีก

ลูกชอบกัดเล็บ

3. เสนอทางเลือกอื่น

เสนอทางเลือกอื่นเพื่อคลายความวิตกกังวลของลูก  การบีบและคลึงมือจะช่วยให้เด็กๆ ผ่อนคลายได้ดีขึ้น กิจกรรมที่ทำให้พวกเขายุ่งเป็นทางเลือกที่ดี อาทิ  การทำงานศิลปะ และงานฝีมือควบคู่ไปกับการกระตุ้นจินตนาการเพื่อคลายความเครียด กิจกรรมกลางแจ้งให้เด็กๆ ได้ออกกำลังกายให้ได้เหงื่อซึ่งเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการปลดปล่อยพลังงานหรือความเครียดที่ถูกเก็บเอาไว้

4. สอนให้ลูกตระหนักถึงพฤติกรรม

คุณอาจเริ่มต้นด้วยการบอกลูกเกี่ยวกับสุขอนามัยและผลเสียบางประการของการกัดเล็บ แต่ต้องเป็นเหตุผลที่ไม่น่ากลัวเกินไปสำหรับเด็กๆ  เล่าให้ลูกฟังว่าทำไมการเอานิ้วเข้าปากจึงไม่ใช่เรื่องดีเพราะเราทุกคนมีสิ่งสกปรกและแบคทีเรียอยู่ที่เล็บ การสอนลูกให้เลอกพฤติกรรมต้องค่อยเป็นค่อยไป เพราะส่วนใหญ่แล้วลูกของคุณจะไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขากำลังทำอยู่ ด้วยเหตุนี้เด็กๆ อาจตกใจได้เมื่อคุณตะโกนใส่พวกเขาให้หยุดการกระทำในทันที

5. ให้รางวัลกับพฤติกรรมเชิงบวก

เมื่อคุณเห็นว่าลูกพัฒนาไปในทิศทางที่ดีขึ้นและเหมาะสมลูกเริ่มไม่มีพฤติกรรมกัดเล็บหรือกัดเล็บน้อยลง ควรชื่นชมและให้รางวัลพวกเขา พาพวกเขาไปกินไอศกรีม เพื่อเป็นรางวัล หรือซื้อของเล่นชิ้นใหม่ที่พวกเขาต้องการให้พวกเขา โดยธรรมชาติแล้ว เด็กมักจะชอบเอาใจพ่อแม่ และแสวงหาความสนใจจากพ่อแม่ดังนั้นการชมเชยการมีสติเกี่ยวกับนิสัยหรือการสร้างสุขภาพที่ดีจึงกระตุ้นให้พวกเขามีพฤติกรรมที่ดีได้

6. อย่าทำให้เป็นเรื่องใหญ่

พยายามอย่ากังวลมากนักหากเทคนิคและความพยายามต่างๆ ในการลดละเลิกพฤติกรรมการกัดเล็บของลูกใช้ไม่ได้ผลในทันที หรือต้องหยุดกลางคันการเริ่มต้นใหม่ถือเป็นเรื่องปกติ และไม่มีอะไรเสียหาย ควรให้เวลากับเด็กๆ และพยายามทำความเข้าใจว่าพวกเขาจำเป็นต้องใช้เวลาสักพักก่อนที่จะเลิกนิสัยกัดเล็บได้

สิ่งที่ไม่ควรทำเมื่อลูกกัดเล็บ

การขู่ลูกเกี่ยวกับการกัดเล็บ การพร่ำบ่น หรือการพูดซ้ำซากให้ลูกได้ยินบ่อยๆ อาจทำให้ลูกเกิดความเครียดสะสมซึ่งไม่เป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหา เป็นการดีที่สุดที่จะทำตามคำแนะนำต่างๆ หรือปล่อยให้เด็กๆ ได้เข้าใจถึงผลกระทบตามธรรมชาติที่อาจเกิดขึ้น นอกจากนี้อาจมีพ่อแม่หลายคนคิดหาวิธีให้ลูกเลิกกัดเล็บด้วยวิธีที่ไม่เหมาะสม  ซึ่งวิธีที่ไม่แนะนำให้ใช้ คือ ยาทาเล็บที่มีรสขม เนื่องจากลูกน้อยของคุณมีแนวโน้มที่จะมองว่าการที่พ่อแม่ทำแบบนี้คือการลงโทษที่รุนแรงเกินไป เพราะการกัดเล็บของพวกเขาก็เป็นสิ่งที่ทำโดยสัญชาตญาณ  ดังนั้นการทำให้นิ้วของเด็กๆ มีรสชาติแย่ๆ ไม่ใช่ความคิดที่ดีในการแก้ปัญหา มีวิธีการอื่นๆ ที่ยอดเยี่ยมและเมตตากว่ามากมายในการช่วยลูกวัยเตาะแตะของคุณเรื่องพฤติกรรมการกัดเล็บ

ผลเสียของการกัดเล็บที่อาจเกิดขึ้นได้

ต่อไปนี้เป็นภาวะแทรกซ้อนที่เกี่ยวข้องกับการกัดเล็บในเด็ก:

  • บางครั้งเด็กอาจแทะเล็บลึกมากจนเลือดออกเมื่อเกิดขึ้นบ่อยๆ บ่อยอาจทำให้นิ้วเจ็บหรือเหงือกอักเสบได้
  • การกัดเล็บด้วยมือที่สกปรกอาจนำไปสู่การติดเชื้อโรคต่างๆ และทำให้เจ็บป่วยได้
  • การกัดเล็บอย่างรุนแรงอาจเป็นสัญญาณของปัญหาด้านความวิตกกังวลที่ต้องได้รับการจัดการ

อย่างที่กล่าวไปแล้วว่าพฤติกรรมการกัดเล็บของเด็กๆ สามารถหายไปเองได้เมื่อเด็กๆ โตขึ้น ดังนั้นไม่จำเป็นต้องกังวลจนเกินไปหากพฤติกรรมไม่เข้าค่ายที่ต้องกังวล วิธีแก้ปัญหาเพื่อหยุดนิสัยชอบกัดเล็บด้วยการเสริมทางเลือกเสริมทางเลือกเชิงบวก ตลอดจนการให้คำแนะนำและการอธิบายให้เด็กๆ ได้ตระหนักถึงผลเสียของการกัดเล็บด้วยวิธีที่เหมาะสมกับวัยของลูกจะช่วยปรับพฤติกรรมของลูกได้ และยังช่วยเสริมสร้างทักษะความฉลาดรอบด้านด้วย Power BQ ให้กับเด็กๆ ในด้าน ความฉลาดต่อการมีสุขภาพที่ดี HQได้อีกทางหนึ่งด้วยค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : parenting.firstcry.com , kidadl.com

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

ทารกชอบขยี้ตา ลูกชอบถูหน้าตัวเอง เป็นเพราะอะไร?

ลูกชอบนอนละเมอ พ่อแม่ควรกังวลไหม จะแก้ไขได้อย่างไร?

เคล็ด(ไม่)ลับ ลูกเป็นหวัดคัดจมูก วิธีแก้แบบไม่ใช้ยา

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up