ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ

3 ข้อท่องไว้ ใช้รับมือเมื่อ ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ !!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ

เมื่อลูกไม่น่ารัก อารมณ์ร้าย ชอบปาของ พ่อแม่จะมีวิธีลดพฤติกรรม ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ ได้อย่างไร ลองดูกฎ 3 ข้อ กระตุ้น ชื่นชม ชัดเจน ช่วยแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

3 ข้อท่องไว้ ใช้รับมือเมื่อ ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ !!

ลูกชอบปาของ เป็นพฤติกรรมที่พ่อแม่ควรต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่า หากเกิดขึ้นในเด็กเล็ก วัยเตาะแตะ (ประมาณช่วงอายุ 1-3 ปี) นั้น นับว่าเป็นพฤติกรรมการเรียนรู้ของลูกอย่างหนึ่ง เด็กวัยนี้กำลังอยู่ในช่วงของการพัฒนากล้ามเนื้อมือ และทักษะทางร่างกายหลาย ๆ อย่าง เขาจะรู้สึกตื่นเต้น และต้องการทดลองดูว่าเขาสามารถหยิบจับทำสิ่งใด ๆ ได้ด้วยตัวเอง และจะยิ่งมีความสุขมากที่ได้เห็นการตอบสนองของคนรอบข้างจากการกระทำนั้น ๆ ดังนั้นเราจึงมักจะพบว่า เด็กวัยนี้จะหัวเราะชอบใจเวลาโยนของ ปาของลงบนพื้น เมื่อแม่อยู่ใกล้ ๆ เพื่อให้แม่เก็บของนั้นขึ้นมา แต่สิ่งสำคัญที่พ่อแม่ต้องสอนเขานั่นคือ กำหนดชัดเจนว่าสิ่งใดโยนได้ สิ่งไหนไม่ได้ เพื่อลูกจะได้เรียนรู้ว่าพฤติกรรมไหนบ้างที่เหมาะสม

เรามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับธรรมชาติของเด็กก่อนนะคะ ถึงจะแก้ปัญหานี้ได้ยั่งยืน

1. เด็กวัยนี้กำลังพัฒนาทักษะการใช้มือทำงานที่มีประโยชน์ เช่น เก็บของใสกล่อง เอาของวางบนโต๊ะอย่างบรรจง เทน้ำใส่ขวด เจาะหลอดลงกล่อง ระบายสี เล่นของเล่น ปอกไข่ฯลฯ

2. เด็กต้องการเสียงตอบสนองเชิงบวกว่าเขาใช้มือทำงานได้ดีจริงๆ ซึ่งแปลว่าเด็กต้องมีข้อ 1 มากพอก่อนเขาถึงจะได้ข้อ 2

3. เด็กต้องการให้แม่แยกเรื่องให้ชัดเจนว่า ตอนไหนคือเล่นที่แม่อนุญาตให้โยน ตอนไหนจริงจังแม่ไม่อนุญาตเด็ดขาด

ข้อมูลอ้างอิงจาก FB: หมอเสาวภา เลี้ยงลูกเชิงบวก
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ หรือแค่เรียนรู้ทักษะใหม่ของเขา
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ หรือแค่เรียนรู้ทักษะใหม่ของเขา

เมื่อ ลูกชอบขว้างของ บ่อย ๆ ความสนุกที่ได้ค้นพบได้ด้วยตัวเอง แต่กลับเกิดปัญหากับพ่อแม่ที่ต้องมาตามเก็บนั้น เราสามารถแก้ไขได้ง่าย ๆ ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติของลูกเสียก่อน จากนั้นก็สามารถยึดหลักกฎ 3 ข้อที่พ่อแม่ต้องทำเพื่อปรับพฤติกรรมนั้น ๆ ให้เข้าสู่ความเหมาะสม ให้ลูกได้เรียนรู้ในพฤติกรรมว่าแบบไหนควรกระทำ แบบไหนที่ไม่น่ารักเสียเลย

กฎข้อที่ 1 กระตุ้น

พ่อแม่ส่วนใหญ่มักใช้วิธีการห้ามไม่ให้ทำพฤติกรรมที่ไม่ต้องการ และชื่นชมเวลาลูกแสดงพฤติกรรมที่ดีเพียงเท่านั้น น้อยคนนักที่จะทำการกระตุ้นพฤติกรรมที่ต้องการให้ลูกได้เรียนรู้ การหากิจกรรมมากระตุ้นให้ลูกใช้มือทำงานที่สร้างสรรค์ ก็นับว่าเป็นส่วนช่วยในการแก้ไขปัญหาเรื่องการโยนของ ของเด็กวัยนี้ได้เช่นกัน เช่น

  • ชวนลูกมาเล่นเก็บของ วิธีเล่นก็แสนง่าย แค่รอให้ลูกขว้างของลงบนพื้นไปเรื่อย ๆ จนเขาหยุดเอง จากนั้นให้คุณพ่อคุณแม่เปิดเพลงโปรดของลูกแล้วชวนกันมาเก็บของที่เกลื่อนกลาดบนพื้นให้ได้ก่อนเพลงจบ อาจหารางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น สติ๊กเกอร์มาเพิ่มแรงจูงใจให้กับลูกอีกทางหนึ่งด้วยก็ได้
  • เก็บผ้าใส่ตระกร้า เสื้อผ้าในตระกร้าก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ลูกมักชอบโยนออกมา แม้จะเป็นการเพิ่มงานให้กับคุณแม่ แต่ก็นับว่าเป็นสิ่งของที่ไม่เป็นอันตราย เมื่อโยนได้ก็ต้องเก็บเองได้นะจ๊ะเจ้าตัวน้อย
    ตักข้าวเอง กิจกรรมกระตุ้นการทำงานของมือที่สร้างสรรค์
    ตักข้าวเอง กิจกรรมกระตุ้นการทำงานของมือที่สร้างสรรค์

     

  • ตักอาหารใส่จาน เรื่องนี้อาจเป็นสิ่งที่หนักใจของพ่อแม่หลาย ๆ คน โดยเฉพาะสังคมไทยที่มักจะใช้วิธีป้อนข้าวลูกเสียเองเลย เพื่อป้องกันการหกเลอะเทอะ แต่หากคุณพ่อคุณแม่เปิดใจยอมสักนิด ลองให้ลูกได้ตักข้าวเข้าปากเอง หรืออาจเปลียนเป็นช่วยตักอาหารใส่จานบ้าง ก็เป็นการกระตุ้นให้ลูกได้ใช้มือทำงานที่สร้างสรรค์ นอกจากเขาจะได้ฝึกกล้ามเนื้อแล้ว ยังเพิ่มความภาคภูมิใจในตัวเองแก่ลูกอีกด้วย

กฎข้อที่ 2 ชื่นชม

การชื่นชมเจ้าตัวน้อยเวลาทำพฤติกรรมที่ดี ที่ต้องการ เป็นสิ่งจำเป็นที่พ่อแม่ควรฝึกไว้จนเป็นนิสัย เพราะการชื่นชม เป็นการตอบสนองความพยายามของลูก ทำให้เขามีกำลังใจ และเรียนรู้ที่จะพฤติกรรมนั้นซ้ำ การชื่นชมนอกจากคำพูดที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดแล้ว พ่อแม่ยังสามารถชื่นชมด้วยสีหน้า รอยยิ้ม ต่อผลงานของลูกได้ด้วยเช่นกัน

การโยนของ เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กวัยเตาะแตะ
การโยนของ เป็นการเรียนรู้อย่างหนึ่งของเด็กวัยเตาะแตะ

กฎข้อที่ 3 ชัดเจน

ชัดเจนในเรื่องที่ว่าพฤติกรรมไหนทำได้ พฤติกรรมไหนไม่ให้ทำ เช่น การปาอาหาร เราต้องอธิบายว่าอาหารไม่ใช่ของเล่น ทิ้งขว้างไม่ได้ หากลูกไม่สนใจ ยังโยนอาหารอีก เราต้องหนักแน่น จับมือลูก บอกลูกด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า “ไม่โยนอาหารเล่น” พร้อมทั้งชวนให้ลูกใช้มือตักอาหารเข้าปากเองแทนการโยนเล่น เมื่อเขาทำได้อย่าลืมชม ลูกอาจไม่สามารถทำได้ในครั้งแรกเลย แต่เมื่อเขาเกิดพฤติกรรมนั้น ๆ อีก พ่อแม่ต้องใจเย็น และชัดเจนย้ำในเรื่องเดิมจนกว่าเขาจะเข้าใจ และเลิกทำไปในที่สุด

หลักสำคัญคือ การชัดเจนในการสอนว่าไม่ให้ทำพฤติกรรมนั้น ในบางครั้งหากเป็นเรื่องที่ไม่ร้ายแรง ครั้งแรก ๆ พ่อแม่อาจไม่ได้กำหนดว่าห้ามทำ แต่พอครั้งหลัง ๆ กลับมาดุว่าเวลาลูกทำ แบบนี้จะทำให้ลูกสับสนและไม่สามารถเลิกพฤติกรรมการปาของนั้น ๆ ได้

ข้อควรระวัง พ่อแม่ไม่ควรบ่นจุกจิก ถึงจะยาก แต่รู้หรือไม่ว่าถ้าพ่อแม่ยิ่งแสดงออกว่าไม่พอใจหรือโกรธลูกมากเท่าใด สำหรับลูกวัยเตาะแตะ การบ่น ดุ ว่า จะกลายเป็นแรงผลักให้ลูกอยากแสดงพฤติกรรมนี้บ่อยขึ้น เข้าทำนอง ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ

ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ หนึ่งในพฤติกรรมอารมรณ์ร้าย
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ หนึ่งในพฤติกรรมอารมรณ์ร้าย

ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ

การที่ลูกวัยเตาะแตะโยนของเพื่อการเรียนรู้ และสนุกที่ได้เห็นพ่อแม่ตามเก็บของที่เขาโยนนั้น ลูกมักมีพฤติกรรมดังกล่าวไปพร้อมกับรอยยิ้ม หรือพ่อแม่จะสังเกตได้ว่าเขาไม่ได้มีอารมณ์โกรธ โมโห แต่ถ้าพฤติกรรมการขว้างปาข้าวของในยามที่เจ้าตัวน้อยเกิดอารมณ์โมโหด้วยแล้วนั้น นับว่าเป็นพฤติกรรมอย่างหนึ่งในการแสดงอาการโกรธที่ไม่ธรรมดาของเด็กในเบื้องต้น ซึ่งพ่อแม่ควรหันมาใส่ใจ และสังเกตพฤติกรรมของลูกว่าเขาได้แสดงอาการโกรธ ก้าวร้าวรุนแรงขึ้นหรือไม่

CHECKLIST ความโกรธที่น่าเป็นห่วง

เจ้าตัวเล็กอาจไม่สามารถควบคุมความโกรธ และแสดงพฤติกรรมรุนแรงได้ตั้งแต่อายุ 1 ขวบเป็นต้นไป ซึ่งพ่อแม่สามารถสังเกตอาการโกรธที่ไม่ธรรมดาของเด็กเบื้องต้น ได้แก่

  • หยิก
  • ดึงผม
  • ฉุดกระชาก
  • ดื้อมากไม่ฟังใคร
  • ขว้างปาข้าวของ
  • โมโหร้าย อาละวาด
  • ชักดิ้นชักงอ
  • ร้องไห้นานเป็นชั่วโมง
  • ตบหน้าพ่อแม่หรือทำร้ายคนเลี้ยงดู เช่น พี่เลี้ยง
  • ทุบตีหรือทำร้ายเพื่อนที่โรงเรียนและผู้อื่น

    หากิจกรรมทำกับลูก ลดอารมณ์โกรธ ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้
    หากิจกรรมทำกับลูก ลดอารมณ์โกรธ ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ได้

สอนลูกจัดการความโกรธ

การสอนวิธีบริหารจัดการความโกรธ (Anger Management) ให้กับลูกคือสิ่งสำคัญที่พ่อแม่ควรใส่ใจเพื่อให้เด็กเติบโตอย่างมีคุณภาพ และสามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุข ทำได้ไม่ยาก ดังนี้

  • เป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็ก เมื่อพ่อแม่มีความโกรธให้นิ่งหรือปลีกตัวออกมาจนรู้สึกผ่อนคลายเสียก่อนแล้วค่อย ๆ พูดคุยกับคนรอบข้างด้วยความนุ่มนวล ทำให้เด็กเห็นเป็นประจำเพื่อให้ซึมซับตัวอย่างที่ดีในการจัดการอารมณ์โกรธ
  • ปล่อยลูกให้อยู่กับตัวเองแล้วค่อยอธิบายภายหลัง หากเด็กมีความโกรธไม่รุนแรง เช่น หน้าบึ้ง ร้องไห้ ฮึดฮัด เป็นต้น ลองปล่อยให้อยู่กับตัวเองจนใจเย็นลง แล้วค่อยเข้าไปถามความรู้สึก และเปิดโอกาสให้เขาได้เล่าถึงความคับข้องใจของเขา พ่อแม่ควรใช้โอกาสนี้ในการที่จะรับฟัง อย่าตำหนิ แต่ควรชี้ให้เขาเห็นว่าอะไรคือผลที่ตามมาจากการกระทำของเขา สอนให้เขารู้จักที่จะขอโทษ เช่นเดียวกับการรู้อภัย  และบอกถึงวิธีจัดการความโกรธที่เหมาะสมสำหรับเหตุการณ์ครั้งต่อ ๆ ไปที่จะตามมาในอนาคต และเส้นทางอื่น ๆ ในการระบายความรู้สึกไม่พอใจในรูปแบบอื่น ๆ ที่ไม่ต้องผ่านความรุนแรง เช่น เมื่อโกรธให้ถอยออกมาจากวงของความขัดแย้ง สงบสติอารมณ์ แล้วแยกตัวไปอยู่ในที่ที่เงียบสงบหรือไปเล่นดนตรี เล่นกีฬา เล่นกับสัตว์เลี้ยง เป็นต้น
  • เข้าใจความโกรธของลูก เมื่อเห็นเด็กโกรธ พ่อแม่บอกลูกให้รู้และเข้าใจว่าความโกรธของเขาถือเป็นเรื่องธรรมชาติปกติ ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะโกรธได้ แต่เมื่อโกรธแล้วจะต้องรู้จักวิธีที่จะสงบสติอารมณ์ของตนเองลงให้ได้เสียก่อนเป็นลำดับแรก การเบี่ยงเบนความสนใจเป็นวิธีหนึ่งที่มีความเหมาะสม เมื่อเขาอารมณ์นิ่งขึ้นจึงให้ลูกเลือกวิธีที่จะจัดการกับความโกรธของเขาที่ยังเหลืออยู่อย่างเหมาะสมโดยเปิดโอกาสให้เขาได้หัดคิดและเรียนรู้ โดยมีพ่อแม่คอยช่วยประคับประคอง
  • สำหรับพฤติกรรมโกรธที่รุนแรงมากควรรีบปรึกษาจิตแพทย์ ในกรณีที่เด็กมีการทำร้ายตนเอง ผู้อื่น และข้าวของ ควรต้องรีบหยุดเด็กในตอนนั้น และพาไปปรึกษาจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่นทันที
  • แลกเปลี่ยนความเห็นเรื่องความรุนแรงในสังคม ตามสื่อต่าง ๆ ทั้งข่าว ละคร มักมีเนื้อหาเกี่ยวกับความรุนแรงปรากฏขึ้น พ่อแม่ควรอธิบายเหตุผลให้ลูกฟัง และฟังความคิดเห็นของเขาเพื่อแนะนำอย่างเหมาะสม

 

ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ ปล่อยไว้อาจพัฒนาไปเป็นการทำร้ายเพื่อนเวลาโต
ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ ปล่อยไว้อาจพัฒนาไปเป็นการทำร้ายเพื่อนเวลาโต

จะเห็นได้ว่า หากการขว้างปาของหากมาพร้อมกับอารมณ์โกรธของลูก เมื่อ  ลูกชอบโยนของเวลาโกรธ วิธีการรับมือ ปรับพฤติกรรมที่ไม่ต้องการนี้ของพ่อแม่จึงควรเริ่มจากการทำให้ลูกอารมณ์เย็นลงก่อน จากนั้นถึงจะใช้วิธีตามกฎ 3 ข้อ ของการสอนลูกไม่ปาของได้ เพราะความโกรธเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้กับทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะวัยเด็กที่เป็นวัยแห่งการเรียนรู้ พ่อแม่ควรสอนวิธีจัดการความโกรธอย่างถูกต้องเพื่อให้เจ้าตัวเล็กควบคุมอารมณ์ได้อย่างเหมาะสม แล้วจึงค่อยสอน หรือปรับพฤติกรรมในส่วนที่ไม่เหมาะสมของลูก เพื่อให้เขาเติบโตขึ้นมาได้อย่างมีคุณภาพและสามารถจัดการอารมณ์ มีความฉลาดทางอารมณ์ติดตัวต่อไป

ข้อมูลอ้างอิงจาก www.sanook.com/www.bangkokhospital.com

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

10 วิธีกระตุ้นให้ลูกพูด เมื่อลูกพูดช้าเพราะแม่รู้ใจเกินไป!!

7 วิธี สยบปัญหา พี่น้องตีกัน พี่น้องทะเลาะกัน ต้องรีบแก้ไข

วิจัยเผย! เลี้ยงลูกกับสุนัขด้วยกัน ได้ประโยชน์กว่าที่คิด

7 เคล็ดลับ! สยบ ลูกขี้หงุดหงิด แบบไม่พึ่งหน้าจอ ลูกก็สงบได้!

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up