ลูกสำลัก

ป้อนอาหารลูกในท่านอน ลูกสำลัก อันตรายถึงตาย !!

Alternative Textaccount_circle
event
ลูกสำลัก
ลูกสำลัก

ป้อนอาหารลูกในท่านอน ลูกสำลัก อันตรายถึงตาย !!

สาเหตุการการเสียชีวิตที่พบบ่อยในเด็กเล็กสาเหตุหนึ่ง ก็คือ การเสียชีวิตจากภาวะทางเดินหายใจ หรือหลอดอาหารถูกอุดกั้นจากสิ่งแปลกปลอมจน ลูกสำลัก ทั้งจากเหตุที่พ่อ แม่ ญาติพี่น้อง ป้อนอาหารที่ยังไม่เหมาะสมกับช่วงวัยให้เด็ก รวมทั้งป้อนอาหารให้เด็ก ในขณะที่เด็กอยู่ในท่าทางที่ไม่เหมาะสม เช่น เด็กอยู่ในท่านอน เช่นที่ล่าสุด พบคุณแม่ป้อนอาหารให้ลูกในขณะที่ลูกยังนอนอยู่ค่ะ ดังนั้น หากคุณพ่อคุณแม่ ญาติพี่น้องที่ช่วยกันดูแล มีความรู้ความเข้าใจ ในการรับมือและป้องกันเบื้องต้น ก็จะช่วยให้เด็กปลอดภัยมากขึ้น หรือหากเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด เด็กก็จะได้รับการดูแล และช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงทีค่ะ

ป้อนอาหารลูกท่านอน อันตราย

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณี Drama-addict โพสต์เกี่ยวกับแม่วัยใส โพสต์คลิปตอนป้อนข้าวลูกน้อย ในท่านอน ลงทาง TikTok รายหนึ่งนั้น ถือเป็นการกระทำที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพทารกอย่างยิ่ง และไม่ควรนำไปเป็นแบบอย่าง เนื่องจากการกินอาหารในท่านอน อาจทำให้เด็กสำลักอาหาร เศษอาหารจะหลุดเข้าไปในหลอดลม อาจเกิดการอุดกลั้นทางเดินหายใจ เพราะช่องทางเดินหายใจมีขนาดเล็ก ซึ่งอาจเกิดภาวะหายใจไม่ออก ปอดแฟบ ปอดพอง หรือหอบหืดได้

นอกจากนี้ หากเศษอาหารหลุดเข้าไปในปอด อาจทำให้ปอดเกิดการอักเสบติดเชื้อตามมาได้ หากไม่ได้รับการรักษาหรือดูแลที่ถูกต้อง และอาจเกิดอันตรายถึงชีวิต

ลูกสำลัก
ป้อนอาหารลูกในท่านอน ลูกสำลัก อันตรายถึงตาย !!

หมอแนะนำ ควรป้อนอาหารลูกอย่างไรไม่ให้ ลูกสำลัก

นายแพทย์สุวรรณชัย แนะนำว่า การป้อนอาหารให้ลูกน้อย ควรทำดังนี้

  • จัดให้อยู่ในท่านั่ง
  • ประคองศีรษะให้ตั้งตรง
  • ป้อนอาหารให้พอดีคำ

การให้อาหารลูกน้อย ควรเริ่มให้อาหารหลังจากอายุ 6 เดือน ขึ้นไป โดยให้กินอาหารที่เหมาะสมตามวัย เช่น กล้วยน้ำว้า ไข่แดง ข้าว ผัก ผลไม้ และสารอาหารอื่น ๆ ควบคู่กับการกินนมแม่ต่อเนื่องไปจนถึงอายุอย่างน้อย 2 ปี หรือนานกว่านั้น

การเริ่มต้น ควรให้อาหารในปริมาณน้อย ๆ และมีความเหลวเพื่อความง่ายในการฝึกกลืน และกระบวนการย่อย ช่วงเวลาในการให้อาหารเสริมชนิดใหม่ ๆ ที่เด็กยังไม่เคยกิน ควรเป็นเวลาเช้า หรือกลางวัน ที่ผู้เลี้ยงดูสามารถสังเกตเห็นท่าทีของเด็กหลังการได้รับอาหารได้ใกล้ชิด เมื่อเด็กกินได้ดีในวันแรก ๆ จึงเพิ่มปริมาณ และความเข้มข้นของอาหารทีละน้อยให้เหมาะสมกับช่วงอายุ

อาหารสำหรับทารกแรกเกิด – 6 เดือน

อาหารของทารกแรกเกิดถึง 6 เดือน ควรให้น้ำนมแม่เพียงอย่างเดียว ซึ่งธรรมชาติได้ปรับแต่งให้สะอาด มีคุณค่า เพียงพอ และสารอาหารครบถ้วน ทั้งโปรตีน วิตามิน ไขมัน แร่ธาตุต่าง ๆ  ครบ จะทำให้ลูกเจริญเติบโตทั้งทางร่างกายและสมอง ลดโอกาสเกิดภูมิแพ้ และการติดเชื้อที่ปนเปื้อนมากับน้ำและอาหารอื่น มีโคลอสตรัม หรือนมน้ำสีเหลือง ๆ ช่วงแรกของหลังคลอด  ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันโรค และยังช่วยระบายขี้เทาซึ่งค้างอยู่ในลำไส้ทารก ช่วยให้มดลูกแม่เข้าอู่เร็ว น้ำหนักตัวของแม่ลดลงอย่างรวดเร็วด้วย เพราะฉะนั้น ช่วงนี้ไม่จำเป็นต้องป้อนอาหารอย่างอื่นเพิ่มเติมเลยค่ะ เลี่ยงการสำลักอาหารได้โดยอัตโนมัติ

อาหารที่เหมาะสำหรับเด็ก 6 เดือนขึ้นไป

พญ.อุรารมย์  พันธุมะผล กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด และปริกำเนิด ศูนย์สุขภาพเด็ก โรงพยาบาลพญาไท 2 ได้อธิบายไว้ว่า ช่วงวัยนี้ นอกจากนมแม่แล้ว จะเริ่มให้กินอาหาร 1 มื้อ เริ่มต้นด้วยข้าว 3 – 4 ช้อนโต๊ะ ไข่แดงครึ่งฟอง สลับ หมู ไก่ กับปลาน้ำจืด ตับบด ผักสุกบด ฟักทอง และเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นไปเรื่อย ๆ

แนะนำให้คุณแม่ทำอาหารเอง มากกว่าซื้อตามท้องตลาด ด้วยเมนูง่าย ๆ เช่น ต้มจืดตำลึงกระดูกหมู กับข้าวต้มหอมมะลิ ไม่แนะนำให้บดอาหารทุกอย่างเข้าด้วยกัน เพราะเด็กมักมีปัญหาไม่ยอมเคี้ยวข้าว หรือเคี้ยวข้าวไม่เป็น ใช้แค่ตะแกรงบดอาหารก็เพียงพอ

สำหรับเด็ก 8 เดือนขึ้นไป ช่วงวัยนี้ ต้องเพิ่มปริมาณมื้ออาหารเป็น 2 มื้อ ในช่วงเวลาไหนก็ได้ รวมถึงเพิ่มปริมาณอาหารขึ้นด้วย

สำหรับเด็ก 10 เดือน – 1 ปี จะเริ่มกินอาหาร 3 มื้อแทนนมแม่ นมแม่จะกลายเป็นอาหารเสริม คุณแม่สามารถให้นมลูกในช่วงระหว่างมื้ออาหาร เช่น ก่อนมื้อเช้า หลังมื้อเที่ยง หรือก่อนนอน เป็นต้น

สำหรับเด็กอายุ 1 ปี ขึ้นไป เมื่อลูกน้อยอายุครบ 1 ปี จะสามารถกินอาหารได้เหมือนคนทั่วไป เน้นอาหารที่ไม่แข็งมาก เช่น ก๋วยเตี๋ยวน้ำ โจ๊ก ข้าวต้ม ราดหน้า เป็นต้น

ช่วงวัยตั้งแต่ 6 เดือนขึ้นไป ลูกจะได้รับอาหารอื่น ๆ ที่มากกว่านมแม่แล้ว ดังนั้น จึงควรระมัดระวังการติดคอและการสำลักให้ดีมากยิ่งขึ้นนะคะ

ลูกสำลัก
ป้อนอาหารลูกในท่านอน ลูกสำลัก อันตรายถึงตาย !!

วิธีปฐมพยาบาลเมื่อ ลูกสำลัก อาหารติดคอ

1. ให้รีบช่วยเหลือในเบื้องต้น โดยใช้วิธีจับเด็กนอนคว่ำ และตบแรง ๆ บริเวณทรวงอกด้านหลัง ระหว่างกระดูกสะบัก จนอาหารกระเด็นหลุดออกมา ห้ามใช้นิ้วมือล้วงช่องปาก หรือจับเด็กห้อยศีรษะ และตบหลังเป็นอันขาด เพราะอาจทำให้เศษอาหารตกมาอุดที่กล่องเสียง จนขาดอากาศหายใจได้

2. ในกรณีที่สำลัก แล้วหายใจไม่ออก ริมฝีปากเขียว ถือเป็นภาวะฉุกเฉิน อาจเสียชีวิตได้ภายในเวลาไม่กี่นาที ควรรีบใช้วิธีช่วยเหลือแบบ Heimlich โดยให้ลูกนั่ง หรือยืนโน้มตัว ไปทางด้านหน้าเล็กน้อย คุณแม่ยืนทางด้านหลัง ใช้แขนสอดสองข้างโอบลำตัว กำมือวางไว้ที่ใต้ลิ้นปี่ ดันมือลงตรงตำแหน่งลิ้นปี่อย่างรวดเร็ว เพื่อให้เกิดแรงดันในช่องท้อง ดันให้อาหารหลุดออกมา

3. สิ่งที่สำคัญที่สุด ในการช่วยลูกจากภาวะฉุกเฉินนั้น คุณแม่จะต้องตั้งสติให้ดี ๆ รีบช่วยเหลือลูกโดยเร็วที่สุด อย่างถูกวิธี เพราะหากสมองของลูกขาดออกซิเจนเพียง 4 นาที อาจทำให้กลายเป็นเจ้าหญิงหรือเจ้าชายนิทรา

วิธีป้องกันไม่ให้ลูกอาหารติดคอ

  • เก็บอาหารชิ้นเล็ก ๆ ให้พ้นมือเด็ก พ่อแม่ควรเก็บอาหารชิ้นเล็ก ๆ เช่น เมล็ดถั่ว เมล็ดข้าวโพด ลูกอม ข้าวโพดคั่ว องุ่น ลูกเกด ขนมเยลลี่ ฯลฯ ให้พ้นมือเด็ก เพื่อหลีกเลี่ยงการที่เด็กอาจจะหยิบกิน โดยที่ไม่ได้อยู่ในสายตา และความดูแลของพ่อแม่
  • ควรสอนให้เด็กเคี้ยวอาหารช้าๆ ให้ละเอียดก่อนกลืน ไม่กินอาหารขณะนอนราบ รวมถึงไม่ให้พูดหัวเราะ หรือวิ่งเล่นขณะที่มีอาหารอยู่ในปาก
  • ไม่ควรให้เด็กเล็ก กินอาหารที่มีลักษณะเป็นเส้น มีขนาดกลม ลื่นและแข็ง เช่น ลูกชิ้น ไส้กรอก รวมไปถึงปลาที่มีก้าง เนื้อสัตว์ที่ติดกระดูก และผลไม้ที่มีเม็ดขนาดเล็ก ควรเอาเม็ดออก พร้อมตัดแบ่งเป็นคำเล็กพอ ที่เด็กจะสามารถเคี้ยวได้ เนื่องจากเม็ดของผลไม้ มีความลื่น และมีโอกาสหลุดเข้าหลอดลมได้ง่าย

อาหารติดคอ จนเกิดการสำลักที่เกิดในเด็กเล็กนั้น ไม่ใช่เรื่องเล็ก ๆ เลยนะคะ ุณพ่อคุณแม่ต้องระวัง กำชับคนในบ้าน คนที่เลี้ยงน้องให้ระวังให้ดี หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ก็ให้ช่วยเหลือตามวิธีที่แนะนำไว้ เพื่อรักษาชีวิตน้องค่ะ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
กรุงเทพธุรกิจ, โรงพยาบาลเปาโล, สำนักสารนิเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข, ฝ่ายโภชนาการ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล, โรงพยาบาลพญาไท 2 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

เตือนป้อนน้ำส้ม น้ำผลไม้สําหรับทารก ก่อนอายุ 6 เดือน เสี่ยงลูกสำลักเสียชีวิตได้!

คัมภีร์ “ตารางอาหารตามวัย” สำหรับลูกน้อยในวัยขวบปีแรก

อย่าล้วงคอลูก!หาก สำลักอาหาร อาจอันตรายถึงชีวิตได้

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up