นักกล้าเรียน

แชร์เทคนิคดี! สอนลูกให้เป็น “นักกล้าเรียน” โดยพ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
นักกล้าเรียน
นักกล้าเรียน

ในช่วงที่เรา work from home และโรงเรียนลูกปิดเทอมยาวนานที่สุดในประวัติศาสตร์ ผมบังเอิญเพิ่งไปเจอหนังสือเล่มหนึ่ง ที่น่าสนใจทีเดียว ชื่อ The Brave Learner เขียนโดยคุณ จูลี่ โบการ์ต แปลไทยโดย  คุณวารีรัตน์ อันวีระวัฒนา ในชื่อว่า นักกล้าเรียน ซึ่งเนื้อหาหลัก จะเป็นการให้แนวทางจากประสบการณ์ที่ทำ homeschool ให้ลูก แต่แม้ไม่ทำ homeschool หนังสือเล่มนี้ก็น่าสนใจมาก เพราะให้แนวทางในการที่จะทำอย่างไรให้การเรียนเป็นความสนุก แม้ปิดเทอมจะเป็นช่วงเวลาการพักผ่อนของลูก แต่เราก็คงไม่อยากให้ลูกหยุดเรียนรู้ ดังนั้นถ้าเรา ‘ทำการเล่นให้เป็นการเรียนรู้’ ไปด้วยได้คงดีไม่น้อย

ตอนที่น่าสนใจตอนหนึ่งคือ การเรียนรู้ที่ดีของเด็กไม่ใช่ ผ่านการพูดสอนปาวๆ หรือ การบังคับให้ทำการบ้าน นั่นไม่ใช่การเรียนแบบที่จะกระตุ้นให้เด็กใฝ่รู้ จริงอยู่เด็กบางคนอาจจะชอบเรียน พ่อแม่คุณครูให้ทำการบ้านหรือทำแบบฝึกหัดเยอะๆ ก็ไม่มีปัญหา แต่เด็กเรียนเก่งกับเด็กรักการเรียนรู้ต่างกัน เราเห็นเพื่อนร่วมรุ่นมากมายที่เรียนได้ที่หนึ่ง ที่สอง ที่สาม แต่ออกมาทำงาน เราเห็นเด็กกลางๆ ท้ายๆ มากมายที่ประสบความสำเร็จมากกว่า เพราะคนเรียนเก่ง แต่อาจจะไม่ใช่นักใฝ่หาความรู้ใหม่ๆ ที่การทำงานนั้น ชุดความรู้ในห้องเรียนอาจจะแทบไม่ได้ใช้เลย (เพราะบางทีการเป็นเด็กเรียนเก่ง ก็เป็นกำแพงชั้นดีในการที่จะกั้นเด็กเหล่านั้นจากความรู้ใหม่ๆ เป็นกำแพงที่กั้นจากการลงไปเริ่มต้นเป็นเด็กไม่รู้อะไรเลยในเรื่องใหม่ๆ เหมือนคนอื่นๆ ที่เข้ามาเรียนรู้งานใหม่ด้วยกัน)

สอนลูกให้เป็น “นักกล้าเรียน” ทำอย่างไร

วกกลับมาส่วนที่น่าสนใจในหนังสือ นักกล้าเรียน คือ เราจะให้เด็กเรียนรู้ โดยเอาความสนใจของเด็กเป็นที่ตั้ง แล้วให้เขาเรียนรู้วิชาต่างๆ สิ่งต่างๆ จากสิ่งที่เขาชอบ เช่น ปูนปั้นชอบเลโก้ เราก็วางแผนที่จะสอน ให้ความรู้เขา โดยผ่านเลโก้

คณิตศาสตร์ : ชิ้นส่วนเลโก้ใช้เป็นตัวสอนเลขอย่างดี ทั้ง บวก ลบ คูณ และ เศษส่วน หรือใช้สอนรูปทรงเรขาคณิตก็ได้

ประวัติศาสตร์ : ดูต้นกำเนิดว่า เลโก้เริ่มมาจากที่ไหนเมื่อไหร่ โดยใคร

ภาษาอังกฤษ : เลโก้มีสารพัด ทั้ง City, Technic, Friends และอื่นๆ ซึ่งสามารถต่อเป็นสารพัดรูปแบบซึ่งเราก็สอนให้เขารู้ศัพท์อังกฤษของสิ่งเหล่านั้น เช่นส่วนประกอบต่างๆ ของเครื่องบิน รถยนต์ เป็นต้น

ภาษาไทย : ให้เขาเล่นเลโก้โดยเล่าเป็นเรื่องราว และถ้าเขาเขียนได้ก็ให้เขียนเป็นเรื่องราวลงสมุด

ศิลปะ : ให้เขาวาดรูปเลโก้ที่ชอบ หรือ การต่อเลโก้ให้เป็นรูปร่างต่างๆ ก็เป็นการเรียนศิลปะและเสริมความคิดสร้างสรรค์อยู่แล้ว

วิทยาศาสตร์ : ใบพัด ล้อรถ เฟือง และ ส่วนต่างๆ ของเลโก้สามารถใช้สอนเรื่องการเคลื่อนที่ได้ ยิ่งถ้าสามารถต่อเลโก้เทคนิคจะยิ่งสอนได้เยอะ เช่น ตอนนี้ปูนปั้นเพิ่งต่อตัวที่มีระบบนิวเมติค เขาตื่นเต้นมากกับการที่ลูกสูบลมสามารถใช้บังคับ และพอเขาได้ยินเสียงลม เขาจะต่อยอดไปทันที่เหมือนประตูรถบัส เหมือนที่ประตูชินกันเซ็น ใช่มั้ยปะป๊า

ต่อเลโก้
ปูนปั้นตั้งใจต่อเลโก้สุดๆ

จะเห็นว่ามันอาจจะไม่ใช่การเรียนรู้เชิงทฤษฎี หรือ ครอบคลุมไปทั้งเนื้อหาวิชา แต่มันสร้างความกระหายอยากเรียนรู้ พอรู้จากการเล่น เขาอยากลองเอาไปต่อยอดเอง แล้วการเรียนรู้มันจะไม่จบอยู่ตรงนั้น และ การเรียนรู้มันจะไม่จำเป็นต้องเริ่มที่ผู้ใหญ่มาบอกมาสอนเขา

และจุดสำคัญอีกอย่างคือ ขอให้เราจดจ่อกับสิ่งที่เขาทำ มากกว่า คอยตำหนิแนะนำแก้ไข เช่น หากลูกกำลังเล่าเรื่อง แล้วลูกอาจจะใช้คำไม่ถูกต้องบ้าง ขอให้เราจดจ่อกับเรื่องราวแสนสนุกของลูก อย่าไปมัวแก้คำผิด ให้เขารู้ว่า การเล่าเรื่องของเขาน่าสนใจน่าสนุก หรือ ลูกเขียนไดอารี่หากเขียนสะกดผิดก็ขอให้เราตื่นเต้นไปกับเนื้อหา มากกว่าจะไปมัวแก้คำผิด เพราะอย่างแรกจะกระตุ้นให้เขาอยากเขียนอยากเล่า อย่างหลังจะทำให้เขาหยุดเขียน เพราะเขาจะรู้สึกว่า งานเขียนมันช่างยากเย็นและไม่สนุกเลย ปล่อยเขาสนุก ปล่อยเขาเรียนรู้ เพราะเมื่อเขาสนุกเขามีความสุขเขาจะค่อยๆ พัฒนาที่สิ่งที่เขาทำให้ดีขึ้นเอง และเขาจะหาวิธีเขียนคำให้ถูกต้องเอง โดยเราไม่ต้องไปคอยแก้ไข

มาสนุกไปกับลูกกันเถอะ

บทความน่าสนใจอื่นๆ

“ลูกทำผิด” เทคนิคสอนลูก แบบไม่ต้อง “ทำโทษ” โดย พ่อเอก

“ลูกช่างถาม” รับมืออย่างไร ไม่ขัดพัฒนาการลูก โดย พ่อเอก


>>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก
ปูนปั้น ปั้นแป้ง พ่อเอก เพจหมุนรอบลูก

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up