เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ

หมอแนะเทคนิค เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ ฉลาดคิดสร้างสรรค์

Alternative Textaccount_circle
event
เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ
เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ

ในยุคที่ AI  กำลังเข้ามาทดแทนกำลังคน จึงเป็นความท้าทายของคุณพ่อคุณแม่ยุคใหม่ ว่าจะเลี้ยงลูกอย่างไร ให้โตไปเป็นทรัพยากรที่มีคุณภาพของโลกใบนี้ ซึ่งคุณสมบัติหนึ่งที่ทำให้มนุษย์เหนือกว่า AI ก็คือ ความสามารถในการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ Creativity Quotient หรือ CQ นั่นเอง คนที่ฉลาดคิดสร้างสรรค์นี่แหละที่จะเป็นผู้ควบคุมและพัฒนา AI ให้ทำงานตามความต้องการของเรา เพื่อเป็นแนวทางในการเลี้ยงลูกในยุคนี้ รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช ได้ให้คำแนะนำ Do & Don’t ในการ เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ สร้างลูกยังไงให้มีความคิดสร้างสรรค์ตั้งแต่เด็ก ไว้ดังนี้

โดยคุณหมอพงษ์ศักดิ์ กล่าวว่า…

จาก “ความลับที่ไม่ลับ” ในการเพิ่มศักยภาพของเด็กๆ ผ่าน Power BQ ที่คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านรายละเอียดกันมาบ้างแล้ว วันนี้ผมจะมานำเสนอเรื่องของ Creativity Quotient หรือ CQ ซึ่งเป็นความสามารถในการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ อันเป็นความฉลาดสำคัญด้านหนึ่งของ Power BQ ที่จะเพิ่มศักยภาพให้กับเด็กๆ ส่งเสริมการเรียนรู้ และพัฒนาต่อยอดความฉลาดรอบด้านของเขาได้เป็นอย่างดี 

CQ ความสามารถริเริ่ม สร้างสรรค์หนึ่งในพลัง Power BQ 

CQ หรือ ความสามารถในการคิดริเริ่ม สร้างสรรค์ในวัยเด็กมีผลต่อเนื่องจนโตเลยนะครับ สิ่งสำคัญในยุคปัจจุบันที่ AI ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์หรือหุ่นยนต์ กำลังเข้ามาทดแทนการทำงานของผู้คนในหลากหลายด้าน CQ เองเป็นสิ่งที่มนุษย์มีเหนือกว่า AI อย่างแน่นอน นั่นหมายความว่า หากคุณพ่อคุณแม่สามารถสั่งสมให้ลูกมี CQ ที่ดีและพัฒนาต่อยอดไปตั้งแต่เด็ก จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาโลกของเรา รวมทั้งการพัฒนา AI ให้สามารถทำงานตามที่เราต้องการได้ในอนาคต

มีการศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องกับ CQ มากมายตั้งแต่ การหาวิธีประเมิน CQ ของผู้คนเพื่อเลือกคนที่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เข้ามาทำงาน รวมถึงมีการติดตามคนที่มี CQ ในระดับต่างๆ ไประยะเวลาหนึ่งเพื่อดูว่า เขาสามารถปรับตัวใช้ชีวิตในสถานการณ์ที่มีความยากลำบาก และสามารถนำตัวเองไปสู่ความสำเร็จได้มากน้อยตามระดับ CQ แตกต่างกันอย่างไร

จากผลการวิจัยทางจิตวิทยาพบว่า การประเมิน CQ ที่จะให้ได้ผลดีอาจต้องการแบบทดสอบที่ยุ่งยากและซับซ้อน ซึ่งแม้ในปัจจุบันจะยังไม่สามารถบอกได้ว่าแบบทดสอบไหนจะเป็นแบบทดสอบที่ดีและเหมาะสมที่สุด แต่การใช้คำถามปลายเปิด รวมถึงสังเกตพฤติกรรมด้านการตัดสินใจ การแก้ปัญหา หรือจากการทำงานภายในระยะเวลาหนึ่ง ก็สามารถประเมินระดับ CQ ได้

คุณพ่อคุณแม่ลองนำไปใช้กับลูกๆ ดูก็ได้นะครับ คำถามปลายเปิดที่เหมาะสมสามารถใช้ได้ทั้งประเมิน CQ ของลูกว่ามีมากน้อยอย่างไร และยังเป็นคำถามที่ส่งเสริมการเรียนรู้และพัฒนา CQ ไปได้ในเวลาเดียวกัน 

เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ ฉลาดคิดสร้างสรรค์

Do แบบนี้เสริม CQ สร้างลูกให้มีความคิดสร้างสรรค์

ผมยกตัวอย่างจากเรื่องใกล้ตัว เช่น ลองถามลูกว่า “ดินสอของลูกนอกจากจะมีไว้เขียนหนังสือแล้ว เราจะเอามาใช้ทำอะไรได้บ้างครับ” ลองให้อิสระลูกในการคิดต่อยอดจากดินสอแท่งเดียวดูนะครับว่า เขาจะสร้างสรรค์ประโยชน์อะไรจากดินสอของเขาได้บ้าง ยิ่งได้อะไรที่แปลกใหม่ซึ่งไม่เคยมีใครคิดหรือทำมาก่อนก็จะเป็นความคิดสร้างสรรค์ของเขาเลยครับ

แต่สำหรับเด็กเล็กซึ่งประสบการณ์ชีวิตยังไม่มากนัก นั่นคือ ยังเห็นอะไรมาไม่มาก สิ่งที่เขาตอบคุณพ่อคุณแม่อาจเป็นสิ่งใหม่ที่เขาไม่เคยรับรู้รับทราบมาก่อน แต่ผู้ใหญ่อย่างเรากลับเห็นว่า เป็นเรื่องธรรมดาเสียเหลือเกิน เพราะ เรามีประสบการณ์เคยเห็น เคยดูมามากแล้ว ความแปลกใหม่ของเขาตรงนี้เป็นความภาคภูมิใจสำหรับลูกมากเลยนะครับ เขาอาจคิดขึ้นมาเองโดยไม่ทราบมาเลยว่า มีคนทำแบบนี้อยู่แล้ว นี่ก็เป็นจุดเริ่มต้นเล็กๆ น้อยๆ ของการพัฒนา CQ ของลูกเลยครับ

หรือคุณพ่อคุณแม่อาจใช้วิธีเล่านิทานให้ลูกฟังแล้วทิ้งคำถามไว้ให้ลูกคิดต่อตอนจบของนิทานที่คุณพ่อคุณแม่เล่า โดยให้มีความยากง่ายตามความสามารถของลูกนะครับ เช่น “แมวน้อยเดินท่องเที่ยวไปริมทะเล แล้วเจอกุญแจตกอยู่บนหาดทราย แมวน้องจะทำยังไงได้บ้าง………” คุณพ่อคุณแม่อาจจะได้เห็นความฉลาดทางความคิดสร้างสรรค์ของลูกหรือได้ความคิดใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิตหรือต่อยอดไปสร้างสรรค์อีกมากมาย จากพลังของคำถามที่เริ่มถามเพียงคำถามเดียวนี่เองครับ ถ้าอยากให้เขาพัฒนา CQ ของเขาต่อไปก็สามารถถามคำถามให้ลูกได้คิดต่อนะครับ จะช่วยลูกเป็นคนมี CQ ที่ดีได้ไม่ยาก การฝึกถาม ฝึกคิดกันบ่อยๆ หากปฏิบัติจนเป็นนิสัยก็จะส่งเสริมให้เด็กๆเติบโตมาเป็นคนที่มี CQ ดีได้ และจะสามารถสร้างสรรค์สิ่งใหม่แตกต่างจากเดิม ทำให้โลกของเรามีการพัฒนาในสู่สิ่งที่ดีขึ้นโดยเฉพาะการใช้ชีวิตของผู้คน

จากการศึกษาทางจิตวิทยาพบว่า CQ เป็นสิ่งที่มีประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดของทักษะ วิธีคิดและมุมมองหลายด้านด้วยกันเลยครับ เช่น ส่งเสริมระดับสติปัญญาหรือไอคิว IQ ก่อให้เกิดความสนุกสนานมีความสุขกับการใช้ชีวิต สร้างแรงบันดาลใจ ส่งเสริมการมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ทำให้การเรียนรู้ไม่น่าเบื่อ สร้างประโยชน์ให้ผู้อื่น ส่งเสริมให้เป็นผู้เปิดใจยอมรับ เป็นความสามารถในการปรับตัวรับสิ่งใหม่ และยังมีอื่นๆ อีกมากมาย

หากเราเหลียวหลังมองหน้ามองดูสิ่งรอบตัวที่อยู่ท่ามกลางการใช้ชีวิตของเรา คุณพ่อคุณแม่คงเห็นตัวอย่างของประโยชน์จากความคิดสร้างสรรค์ที่มีอยู่รอบตัวเรามากมายเลยนะครับ เช่น เรากำลังจะมีรถที่ไม่ต้องมีคนขับให้เราได้นั่งกันแล้ว เรามีพาหนะที่เรียกว่า “เครื่องบิน” ที่สามารถบินพาเราไปไหนต่อไหนได้อย่างสะดวกสบาย และนับวันก็มีแต่จะรวดเร็วขึ้นสะดวกสบายมากขึ้น หรือแม้แต่ในภาวะโควิด-19 ที่แพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้ก็มีคนที่มี CQ ดีพยายามคิดสร้างสรรค์ทั้งวิธีป้องกันและรักษาการติดเชื้อโควิด-19 ที่เป็นประโยชน์กับมวลมนุษยชาติของเรา 

Don’t do แบบนี้ CQ หาย ทำลายความคิดสร้างสรรค์ลูก

  • อย่านะคะ เดี๋ยวเลอะเทอะ”
  • “หยุดนะครับ เดี๋ยวหกล้ม”
  • “ไม่เล่นแบบนี้นะครับ เดี๋ยวมันจะพัง”

“อย่า” “หยุด”  “ไม่” แบบนี้ หยุดยั้งและระงับ CQ ของลูกได้ไม่น้อยเลยครับ แต่ก็ใช่ว่าคุณพ่อคุณแม่จะไม่สามารถหยุดยั้งพฤติกรรมไม่เหมาะสมของลูกได้เสียเลย ถ้าไม่ใช้ “อย่า” “หยุด” หรือ “ไม่” ลองมาเป็นแบบอย่างของ CQ ที่ดีให้กับลูก ด้วยการคิดถ้อยคำหรือประโยคที่ส่งเสริมการเรียนรู้และ CQ ให้กับลูกแบบนี้ดีไหมครับ

  • “เราจะเล่นกันอย่างไรดีถึงจะไม่เลอะเทอะ”
  • “ลูกว่า เราควรวิ่งไปทางไหนดีที่จะไม่สะดุดเชือกหกล้ม”
  • “ถ้าเราแกะของเล่นออกมาแล้ว จะทำอย่างไรดีถึงจะใส่กลับเข้าไปเหมือนเดิม”

แค่นี้ก็พอจะหยุดลูกให้ได้ยับยั้งชั่งใจจากพฤติกรรมใน 3 ประโยคแรกที่ผมยกตัวอย่างมาได้ระดับหนึ่งแล้ว และที่สำคัญยังส่งเสริมให้ลูกได้พัฒนา CQ ไปในตัวได้ดีด้วยครับ

อ่านดูแล้วคุณพ่อคุณแม่คงพอมองเห็นประโยชน์ของ CQ และวิธี เลี้ยงลูกยังไงให้มี CQ อย่างง่ายๆ ให้กับลูกตั้งแต่เล็ก ผ่านการใช้ชีวิตและปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน อย่าลืมนะครับ เวลาคุณภาพที่มีให้กันในครอบครัวนี่เองครับ ที่จะช่วยพัฒนาลูก อย่างรอบด้านรวมทั้ง CQ ความสามารถริเริ่ม สร้างสรรค์หนึ่งในพลัง Power BQ ด้วยครับ

ขอบคุณบทความโดย : รศ.นพ.พงษ์ศักดิ์ น้อยพยัคฆ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม
รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยนวมินทราธิราช

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up