วิธีรับมือเมื่อลูกมี พฤติกรรมเลียนแบบ

Alternative Textaccount_circle
event

พฤติกรรมเลียนแบบ ของเด็กกำลังโต ทำอย่างไรถ้าลูกอยู่ท่ามกลางคนรอบตัวที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม มาฟังคุณหมอแนะนำการปรับพฤติกรรมลูกอย่างไรไม่ให้ชีวิตสะดุด

วิธีรับมือเมื่อลูกมี พฤติกรรมเลียนแบบคนรอบข้าง

ลูกชอบเลียนแบบ พฤติกรรมนี้พ่อแม่มักพบได้ในเด็กวัยหัดเดิน เพราะสำหรับเด็กวัยนี้ การเลียนแบบถือเป็นก้าวสำคัญในการเรียนรู้ การเลียนแบบของเด็กมีความสำคัญต่อการพัฒนาความสามารถตั้งแต่ภาษาไปจนถึงทักษะทางสังคม

พฤติกรรมเลียนแบบ สามารถอธิบายตามแนวคิดและทฤษฎีจิตวิทยาของบันดูราได้ว่า การเรียนรู้ของมนุษย์ส่วนมากนั้นเป็นการสังเกตจนเกิดการเลียนแบบ เพราะมนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมรอบตัวอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าเด็กจะเห็นพ่อ แม่ เพื่อน หรือแม้กระทั่งบุคคลจากสื่อต่าง ๆ ทำพฤติกรรมเช่นใด เด็กจะซึมซับพฤติกรรมนั้นมา เช่น เด็กผู้ชายเห็นแม่ทาลิปสติก และสวมรองเท้าส้นสูง เด็กจะเกิดการเรียนรู้ และเริ่มมีพฤติกรรมเลียนแบบแม่ โดยการนำลิปสติกมาทาที่ปาก และสวมรองเท้าส้นสูงของแม่ หรือลูกสาวกำลัง “โกนหนวด” กับพ่อ “ตอนอายุ 1 ขวบ ซึ่งผู้ใหญ่มักจะตีความพฤติกรรมตามแบบสังคม แต่เด็กวัยหัดเดินทำในสิ่งที่พวกเขาเห็นไม่ได้มีความหมาย

เด็กหญิงมี พฤติกรรมเลียนแบบ แม่ เด็กชาย พฤติกรรมเลียนแบบ พ่อ
เด็กหญิงมี พฤติกรรมเลียนแบบ แม่ เด็กชาย พฤติกรรมเลียนแบบ พ่อ

แค่เลียนแบบ ใช่เบี่ยงเบน!! : อัตลักษณ์ทางเพศมักไม่ปรากฏจนกว่าจะอายุ 3 ขวบ

กรณีที่พฤติกรรมนั้นไม่เหมาะกับช่วงวัย หรืออัตลักษณ์ทางเพศของเด็ก ส่วนมากพฤติกรรมการเลียนแบบ มักเป็นการซึมซับจากพ่อแม่ หรือคนในครอบครัว ซึ่งเกิดจากความใกล้ชิด และเป็นเรื่องธรรมชาติ เช่น อยากทาลิปสติกหรือสวมรองเท้าส้นสูงเหมือนคุณแม่ บางพฤติกรรมอาจทำให้พ่อแม่กังวลใจว่าลูกจะเป็นเด็กที่โตเกินตัว หรือในเด็กผู้ชายพ่อแม่ก็อาจกลัวว่าลูกจะมีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ แต่ในความเป็นจริงแล้วส่วนมากหากเกิดกับเด็กเล็ก ๆ ช่วง 3-4 ขวบ มักเป็นเรื่องปกติ และไม่ส่งผลเสียในระยะยาว เพราะเมื่อเด็กโตขึ้นจะมีสิ่งอื่นที่น่าสนใจกว่ามาแทนที่ตามวัยของเด็ก เช่น เพื่อน การเรียน กิจกรรมบางอย่าง เป็นต้น ส่งผลให้พฤติกรรมเลียนแบบคุณพ่อคุณแม่ในเรื่องดังกล่าวหายไปเองตามธรรมชาติ

ทารกแรกเกิดจำนวนมาก เลียนแบบการเคลื่อนไหวของใบหน้า เช่น แลบลิ้น แต่การเลียนแบบโดยเจตนา หรือความตั้งใจของเด็กเองนั้น เริ่มต้นที่อายุ 1 ขวบ Howard Klein, MD, ผู้อำนวยการด้านพฤติกรรมกุมารเวชศาสตร์ที่โรงพยาบาล Sinai ในบัลติมอร์กล่าวว่า “เด็กอายุ 1 ขวบเข้าใจว่าการกระทำที่เขาทำเลียนแบบนั้นมีความสำคัญ”

การเลียนแบบมีทั้งด้านบวก+ และด้านลบ-

พฤติกรรมเลียนแบบ ถือเป็นอีกหนึ่งพัฒนาการของเด็กที่เป็นไปได้ทั้งด้านบวก และด้านลบ เด็กส่วนใหญ่ที่อยู่ในวัยกำลังเติบโตมักมีพฤติกรรมเลียนแบบผู้ใหญ่ เพื่อนฝูง หรือคนอื่นๆ ที่อยู่รอบตัวเด็กเอง

จากทักษะการเรียนรู้เลียนแบบ และปฏิบัติตาม นำไปสู่พฤติกรรมที่สร้างความเป็นตัวตนแก่ลูก พฤติกรรมการลอกเลียนแบบที่ไม่เหมาะสมซึ่งเด็กแสดงออกบ่อยครั้ง จะเสริมสร้างลักษณะนิสัยที่ผิด ๆ ให้กับตัวเด็ก และจะเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า “การระบุอัตลักษณ์แห่งตน” หรือ Self-identification กล่าวคือ พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมดังกล่าวได้ถูกปลูกฝังและหยั่งรากลึกเข้าไปในจิตใจและตัวตนของเด็ก ทำให้เด็กเข้าใจว่านี่คือพฤติกรรมที่บ่งบอกอัตลักษณ์ และความเป็นตัวตนของเขาอย่างแท้จริง เช่น เมื่อได้รับการตอกย้ำว่าเด็กคนนั้น “แย่” “เกียจคร้าน” “น่ารังเกียจ” เป็นต้น ช่วงเวลาแห่งการวางรากฐานแห่งการเป็นตัวตน (Formative time of ego development) เป็นช่วงที่จิตใจเด็กเปราะบาง เด็กจะยินยอม และรับฟังในสิ่งที่สังคมต่อว่าหรือประณามพวกเขาทั้งหมด และอาจเชื่อตามนั้นได้โดยทันที

เด็กแต่งหน้าทาปาก ตามแม่
เด็กแต่งหน้าทาปาก ตามแม่

พฤติกรรมที่ส่งผลเสียต่อลูก ได้แก่

  • พฤติกรรมก้าวร้าว พฤติกรรมนี้มักเลียนแบบมาจากครอบครัวที่มีความรุนแรงทั้งการทะเลาะ หรือการดุด่าด้วยถ้อยคำหยาบคายต่อกัน หากเด็กเห็นจะเกิดการซึมซับ และมองว่าวิธีดังกล่าวสามารถใช้แก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้  พฤติกรรมการแสดงออกที่ก้าวร้าวจะบั่นทอนพัฒนาการด้านความฉลาดทางอารมณ์ (Emotional Quotient/ Emotional Intelligence) ทำให้เด็กเข้ากับผู้อื่นในสังคมได้ยาก ขาดเพื่อนฝูง จนกระทั่งกลายเป็นเด็กที่มีพฤติกรรมต่อต้านสังคม (Sociopath) และอาจเข้าหากลุ่มเพื่อนที่มีพฤติกรรมเหมือนๆ กัน เพื่อหาที่พึ่งทางใจ และเพื่อต้องการความเห็นใจจากคนรอบข้าง
  • พฤติกรรมการสนใจสื่อที่มีความรุนแรง เมื่อเด็กมีอายุน้อย และเข้าถึงสื่อออนไลน์เร็วเกินไป โดยผู้ปกครองต้องการเพียงให้เด็กอยู่นิ่ง ๆ โดยไม่ได้นึกถึงผลที่ตามมา ทำให้เด็กรับสื่อที่มีความรุนแรงมากเกินไป และแยกแยะไม่ได้ว่าสิ่งไหนไม่ควรทำ รวมถึงความใจร้อนไม่สามารถรอคอยเวลาได้ พ่อแม่ส่วนใหญ่ที่ไม่ค่อยมีเวลาให้กับลูก มักจะปล่อยให้ลูกอยู่กับสื่อต่าง ๆ เหล่านี้เพียงลำพัง เด็กก็จะบริโภคสื่อต่าง ๆ ผ่านการเรียนรู้หรือประสบการณ์ที่เขามีอยู่โดยขาดคำแนะนำที่เหมาะสม หรือบ่อยครั้งที่ผู้ปกครองมักปลอบใจ หรือให้รางวัลลูกน้อยด้วยการมอบอุปกรณ์สมัยใหม่ เช่น ไอโฟน เกมกดที่สามารถพกพาไปทุกหนทุกแห่ง สิ่งล่อใจเหล่านี้ทำหน้าที่เป็นเพื่อนแก้เหงาให้กับเด็กได้ก็จริง แต่ก็ยังเป็นสื่อสังคมตัวฉกาจที่ลวงล่อให้เด็ก ๆ เริ่มกระทำสิ่งไม่เหมาะสม ไปจนถึงการเปิดรับคนแปลกหน้าเข้ามาสู่ชีวิตที่อาจเป็นภัยอันตรายได้
  • พฤติกรรมการลักขโมย เด็กเลียนแบบผู้ปกครองหรือคนในบ้านที่หยิบสิ่งของผู้อื่นมาใช้แล้วไม่คืน การกระทำเช่นนี้มีผลให้เด็กมองว่าเป็นเรื่องปกติด้วยเช่นกัน
  • พฤติกรรมการโกหก เกิดจากการล้อเลียน หรือหยอกล้อ แกล้งคนรอบตัวไม่ใช่แค่คนในครอบครัวแต่รวมถึงสังคมเพื่อนด้วย หากไม่มีการอธิบายให้เด็กฟังว่าทำไมถึงโกหก เด็กจะเข้าใจว่าการพูดโกหกไม่ใช่สิ่งที่ผิด และอาจติดเป็นนิสัยได้
  • พฤติกรรมการใช้สิ่งเสพติด หากเด็กได้เห็นพฤติกรรมของคนรอบข้างที่ใช้สารเสพติด หรือสูบบุหรี่ ดื่มแอลกอฮอล์ก็สามารถส่งต่อพฤติกรรมมาสู่เด็กได้ทำให้เด็กเลียนแบบ และส่งผลเสียทำให้ติดสารเสพติดในเวลาต่อมา
พฤติกรรมก้าวร้าว อีกหนึ่ง พฤติกรรมเลียนแบบ ด้านลบ
พฤติกรรมก้าวร้าว อีกหนึ่ง พฤติกรรมเลียนแบบ ด้านลบ

ควรทำอย่างไร เมื่อมีลูกในวัยเลียนแบบ!!

  • เป็นแบบอย่างที่ดี เพราะพ่อแม่ของเด็กวัยหัดเดินมักอยู่ภายใต้การสังเกตของลูกอยู่เสมอ พวกเขามักทำตามพ่อแม่เป็นเรื่องปกติ ประจำวัน ในช่วงการพัฒนาที่สำคัญนี้ การสร้างแบบจำลองพฤติกรรมที่ดีที่สุดของพ่อแม่จึงเป็นสิ่งสำคัญ เช่น การรับประทานอาหารที่ดี หรือการเลิกบุหรี่ ยาเสพติด ให้พ่อแม่ หรือผู้เลี้ยงดูนำพฤติกรรมเชิงบวกมาใช้ ผู้ปกครองควรรู้จักขจัดนิสัยไม่ดีของตนเองออกไปเสียก่อน โดยการควบคุมวาจา อารมณ์และการกระทำให้เหมาะสมต่อหน้าลูก
  • ลบความคิดที่ว่า “เขายังเป็นเด็ก” หากลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบที่ไม่เหมาะสม อย่ามองว่าเป็นสิ่งน่ารักหรือตลกขบขัน ให้ตักเตือนเขา เด็ก 2 ขวบไม่มีความเข้าใจใน “เวลาและสถานที่ที่เหมาะสม” สำหรับพฤติกรรมบางอย่าง และพ่อแม่ควรยกแบบอย่างพฤติกรรมที่ดีและเหมาะสมแก่วัยของเขา อาจนำตัวการ์ตูนโปรดหรือดาราที่เขาชื่นชอบมายกตัวอย่างประกอบพฤติกรรมที่น่าชื่นชม ให้ลูกได้เลียนแบบแทน
  • ควบคุมจำกัดเวลาในการใช้สื่อออนไลน์ และเด็กเล็กควรมีพ่อแม่ ผู้ใหญ่นั่งดูด้วยกันเพื่อคอยแนะนำในสิ่งที่เหมาะสม และไม่เหมาะสม แต่มิได้หมายความว่าให้งดโดนเด็ดขาด เพราะจะยิ่งทำให้เกิดความอยากรู้อยากเห็น แอบไปดูสื่อที่ไม่เหมาะสมเอง เด็กที่ยังขาดภูมิคุ้มกัน เมื่อเขาแอบไปดูเพียงลำพังจะทำให้ขาดคำแนะนำในการรับสื่อ ซึ่งยิ่งเป็นอันตรายมากขึ้นไปอีก

    สื่อออนไลน์รุนแรง เด็กเลียนแบบ
    สื่อออนไลน์รุนแรง เด็กเลียนแบบ
  • เบี่ยงเบนความสนใจเมื่อจำเป็น คุณพ่อคุณแม่อาจป้องกันปัญหาเบื้องต้นได้ในช่วงที่ลูกแสดงออกถึงพฤติกรรมดังกล่าว โดยการไม่แสดงความสนใจ ไม่ชื่นชมยกย่อง หรือพยายามแสดงให้เห็นว่าพฤติกรรมเหล่านั้นไม่ได้ดีเสมอไป และพยายามเบี่ยงเบนหากิจกรรมอื่น ๆ ให้ลูกทำเพื่อไม่ให้เขาสนใจในปัญหาดังกล่าวอีกต่อไป
  • ควรพยายามถามไถ่ถึงกิจกรรมที่ลูกทำในแต่ละวันที่โรงเรียนหลังเลิกเรียน เพื่อสำรวจพฤติกรรมความสนใจของลูก และเป็นการช่วยแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นประจำวันอีกด้วย
  • การเลียนแบบศิลปินคนดัง เราสามารถมองในด้านดีได้ โดยลูกแสดงให้เห็นถึงความสนใจของตัวเขา พ่อแม่จะได้รับรู้ถึงพรสวรรค์ของลูก หรือความสามารถพิเศษที่ลูกชื่นชอบ เราสามารถส่งเสริม ผลักดันให้ลูกได้เกิดเป็นพฤติกรรมด้านบวกได้

พ่อแม่ต้องพยายามใกล้ชิดเด็กให้มากๆ ทุกช่วงวัย โดยในแต่ละช่วงวัยก็จะมีการแสดงออกถึงความใกล้ชิดที่แตกต่างกันออกไป หากเป็นเด็กเล็กที่ต้องการความรักความอบอุ่น พ่อแม่ก็ควรให้ในส่วนนี้มากๆ แต่ถ้าหากเด็กเริ่มโต เริ่มมีความคิดเป็นของตัวเอง เริ่มดูแลรับผิดชอบตัวเองได้ในระดับหนึ่ง การแสดงออกถึงความใกล้ชิดก็จะเปลี่ยนเป็นการพูดคุยแทน เพื่อแชร์ข้อมูลของเด็ก และสั่งสอนไปในตัว และไม่ควรกังวลมากเกินไปจนเผลอซักไซร้หรือควบคุมเด็กมากนักจนเด็กรู้สึกอึดอัด และไม่สบายใจที่จะเปิดใจคุยกับพ่อแม่ในเรื่องต่าง ๆ

ข้อมูลจาก
รศ. พญ.นิชรา เรืองดารกานนท์
ภาควิชากุมารเวชศาสตร์
คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล

รับมือปู่ย่าตายายอย่างไรไม่ให้สะดุด เมื่อลูกมีพฤติกรรมเลียนแบบด้านลบ

เมื่อพ่อแม่เรียนรู้ และทำความเข้าใจกับพฤติกรรมเลียนแบบของลูกกันแล้ว ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องกังวลสำหรับบางครอบครัว ที่เป็นครอบครัวขยาย ลูกได้รับการเลี้ยงดูจากหลายรุ่น การทำความเข้าใจกับปู่ย่าตายายที่ร่วมเลี้ยงดูเด็กจึงเป็นสิ่งจำเป็น

พฤติกรรมเลียนแบบด้านลบ หรือพฤติกรรมแย่ ๆ ที่มาจากปู่ย่าตายายนั้น อาจไม่ได้มาจากการเลียนแบบพฤติกรรมทางตรงจากท่าน แต่โดยมากมักเป็นการให้การเสริมแรง หรือการตามใจหลาน ๆ ในพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมเหล่านั้นเสียมากกว่า โดยมักมีเหตุผลว่า “เขายังเด็ก” “น่ารักดีออก” เป็นต้น

ขอบเขตการเลี้ยงดู

เมื่อครอบครัวของคุณเป็นครอบครัวที่มีผู้เลี้ยงดูมากกว่าหนึ่งคน หรือคุณกับลูกตกอยู่ในสถานการณ์ที่มีผู้ใหญ่เชียร์ เสริมแรงต่อพฤติกรรมไม่ดี ไม่เหมาะสมให้กับลูกคุณ สิ่งที่พ่อ หรือแม่ควรรับมือ คือ สร้างขอบเขตการเลี้ยงดู โดยมีแนวทางดังนี้

  • พูดคุยทำความเข้าใจกับคนในครอบครัวให้ไปในแนวทางเดียวกัน ไม่ทะเลาะขัดแย้งกันต่อหน้าเด็ก
  • แสดงความชัดเจน และแน่วแน่ต่อแนวทางการเลี้ยงดูของเรา อย่างสุภาพ เมื่อคุณอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่สามารถควบคุมให้ญาติผู้ใหญ่เหล่านั้น ทำตามที่เราตกลงกันไว้ได้ แม่อย่างคุณต้องพกความแน่วแน่ชัดเจน ที่จะไม่ยอมให้เกิดการเสริมแรงพฤติกรรมที่แย่ ๆ นั้นต่อไป อย่างสุภาพ โดยการพาลูกออกจากสถานการณ์นั้น ๆ ได้
  • สอน อธิบายลูกถึงผลของการทำพฤติกรรมแย่ ๆ เหล่านั้น โดยไม่ไปกล่าวโทษปู่ย่าตายาย หรือญาติผู้ใหญ่ให้ลูกฟัง
  • เข้มแข็งไว้ คุณอาจจะต้องกระทำการปกป้องลูกจากการเสริมแรงพฤติกรรมที่แย่ ๆ จากผู้ใหญ่มากกว่า 1 ครั้ง เนื่องจากว่าผู้คนเหล่านั้นจะยังคงไม่ยอมทำตามแนวทางของคุณ จนกว่าเขาจะเห็นด้วย และเชื่อตาม
รับมือพฤติกรรมด้านลบจากปู่ย่าตายาย
รับมือพฤติกรรมด้านลบจากปู่ย่าตายาย

แม้ว่าสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้จะดูเหมือนเป็นการยุ่งยากลำบากใจ แต่ขอให้ระลึกไว้เสมอว่า พ่อแม่เป็นบุคคลที่สำคัญที่สุดสำหรับลูก พฤติกรรมของคุณสำคัญที่สุดสำหรับการเรียนรู้ และการพัฒนาของเขา การที่เราแน่วแน่ ปกป้องลูกเป็นการดีกับลูก และต่อคุณในระยะยาวมากกว่าการเกรงใจยึดความสัมพันธ์ไว้ ดีกว่าต้องมานั่งแก้ไขพฤติกรรมของเขาในตอนโต หรือเป็นการยากที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมแย่ ๆ ของลูกทำให้เขาต้องเผชิญกับภาวะที่เลวร้ายเพียงลำพังเมื่อโตขึ้น

ข้อมูลอ้างอิง Rama Channel /www.petcharavejhospital.com /mcpswis.mcp.ac.th/www.parents.com 

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลูกเลียนแบบพ่อแม่ พฤติกรรมเลียนแบบของเด็กสั่งจากสมอง! หนูรู้ หนูจำได้

สีกระเป๋าตามวันเกิด ปี 2565 เสริมให้ชีวิตปังๆ เงินเข้ารัวๆ

ฝีดาษลิงติดยังไง คำถามควรรู้เมื่อพบผู้ป่วยรายแรกในไทย!

CPR ช่วยชีวิตลูกจากการสำลัก ของติดคอ หากลูกหมดสติ

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up