ฝังเข็มคุมกำเนิด

ฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไร? ข้อดี ข้อเสีย ที่ต้องรู้ก่อนทำ!

event
ฝังเข็มคุมกำเนิด
ฝังเข็มคุมกำเนิด
ขอบคุณภาพจาก www.semanticscholar.org

 แม่ควรรู้ก่อนทำ! จะคุมกำเนิดด้วยวิธี ฝังเข็ม ดีหรือไม่? ฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไร? มีข้อควรระวังอะไรบ้าง ทีมแม่ABK มีคำตอบจากนายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์) มาฝากค่ะ

โดยคุณหมอกล่าวว่า… มีคุณแม่หลายท่านแวะเวียนเข้ามาถามหมอว่า “คุณหมอคะ การฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไรคะ และฝังแล้วจะดีไหมคะ” วันนี้หมอจึงอยากมาให้ความรู้เรื่องการฝังเข็มคุมกำเนิด เพื่อให้คุณผู้หญิงทุกๆคนเข้าใจตรงกันและนำไปบอกเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนสนิทมิตรสหายให้เข้าใจได้ถูกต้อง

ฝังเข็มคุมกำเนิด คืออะไร?

ยาฝังคุมกำเนิด หรือ ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง (Contraceptive Implant)  คือ วิธีการคุมกำเนิดแบบชั่วคราวชนิดหนึ่ง ที่ใช้ฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) บรรจุในหลอดพลาสติกชนิดพิเศษ ที่ไม่ละลายเมื่ออยู่ในร่างกายมนุษย์ ซึ่งมีขนาดเล็กเท่าๆ กับก้านไม้ขีดไฟ ฝังเข้าสู่ร่างกายบริเวณใต้ท้องแขน (การฝังยาคุมกำเนิดสามารถทำได้ทั้งข้างซ้ายหรือข้างขวา ปกติจะฝังด้านที่เราไม่ถนัด ) มีประสิทธิภาพสูงในการคุมกำเนิดได้ยาวนาน 3-5 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของยา ปัจจุบันมีใช้อยู่ 3 แบบด้วยกัน คือ

  1. นอร์แพลนท์ (Norplant) เป็นยาคุมกำเนิดแบบฝัง ชนิดแรกสุด ซึ่งประกอบด้วยตัวยาขนาด 3.4 x 24 เซนติเมตร จำนวน 6 แท่ง ฝังเข้าสู่ร่างกายบริเวณท้องแขนเป็นรูปพัด เนื่องจากจำนวนแท่งที่มากถึง 6 แท่ง ทำให้ต้องใช้เวลาในการฝังยาและการถอดยาออกนานกว่าชนิดอื่นๆ ปัจจุบันจึงไม่เป็นที่นิยมมากนัก
  2. อิมพลานอน (Implanon) ตัวแท่งยา ขนาด 4.0×2 เซนติเมตร มาพร้อมชุดฝังสำเร็จรูปพร้อมใช้งาน เพื่อทำให้หมอฝังยาได้ง่าย และ แท่งยาอยู่ในระดับที่เหมาะสมใต้ผิวหนัง ไม่ตื้นหรือลึกจนเกินไป ทำให้เวลาถอดยาออกก็ทำได้ง่ายเช่นกัน และถ้าต้องการคุมกำเนิดต่อ สามารถฝังยาแท่งใหม่หลังเอายาแท่งเก่าออกได้ทันที ระยะเวลาคุมกำเนิดได้นาน 3 ปี
  3. จาเดลล์ (Jadelle) ตัวแท่งยาขนาด 4.3×25 เซนติเมตร จำนวน 2 แท่ง ฝังในแบบเดียวกับ อิมพลานอนสามารถคุมกำเนิดได้นาน 5 ปี
ฝังเข็มคุมกำเนิด
ขนาดของเข็มคุมกำเนิด

ตอนนี้หลายคนคงอยากรู้แล้วว่า ยาฝังคุมกำเนิดป้องกันการตั้งครรภ์ได้อย่างไร? … ยาฝังเข็มคุมกำเนิด ออกฤทธิ์โดยการหลั่งฮอร์โมนโปรเจสติน (Progestin) เพียงอย่างเดียว จึงเหมาะสำหรับผู้ที่แพ้ยาคุมกำเนิดที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตเจน ซึ่งเป็นส่วนประกอบหลักของยาคุมกำเนิดชนิดรับประทาน  ซึ่งยาฝังคุมกำเนิดจะทำหน้าที่ป้องกันการตั้งครรภ์ ผ่าน 3 กระบวนการ คือ

  1. การยับยั้งการตกไข่ หรือการยับยั้งการพัฒนาของฟองไข่ ในแต่ละรอบเดือน
  2. การทำให้มูกบริเวณปากมดลูกเหนียวข้นขึ้น ส่งผลต่อการเคลื่อนที่ของตัวอสุจิในการว่ายเข้าสู่โพรงมดลูกได้ยาก
  3. ทำให้เยื่อบุโพรงมดลูกบางตัวลง ซึ่งเป็นสภาพที่ไม่เหมาะสมกับการฝังตัวของตัวอ่อน

จากกระบวนการหลายส่วนดังกล่าว ทำให้ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดของยาฝังคุมกำเนิดสูงมาก หรือจะเรียกว่าสูงที่สุดเลยก็ว่าได้ โดยประสิทธิภาพการคุมกำเนิดด้วย ฝังเข็มคุมกำเนิด นี้จะวัดกันที่อัตราความล้มเหลว (Failure Rate) ของแต่ละวิธี หรือจำนวนการตั้งครรภ์ที่เกิดขึ้นต่อปี

ซึ่งพบว่า ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง หรือวิธี ฝังเข็มคุมกำเนิด มีอัตราความล้มเหลว ทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้เพียงร้อยละ 0.05 (1 ใน 2,000 คน) เท่านั้น ซึ่งน้อยกว่า ยาเม็ดคุมกำเนิด (ร้อยละ 0.3) ยาฉีดคุมกำเนิด (ร้อยละ 0.2) ตลอดจนถึงการทำหมันหญิง (ร้อยละ 0.5)

ฝังเข็มคุมกำเนิด
การฝังเข็มคุมกำเนิด

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการฝังยาคุมกำเนิด คือ ภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน เพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีการตั้งครรภ์เกิดขึ้นในขณะที่ฝังยา หรือ หลังการแท้งบุตรไม่เกิน 2 สัปดาห์ หรือหลังคลอดบุตรไม่เกิน 6 สัปดาห์ ส่วนวิธีฝังยาคุมกำเนิดก็ไม่ได้ยุ่งยากใดๆ โดย ขั้นแรกเมื่อคนไข้เลือกชนิดของยาได้แล้ว หมอจะทำความสะอาดผิวหนังตรงตำแหน่งที่เลือกจะฝังยา ทำการฉีดยาชา แล้วสอดเครื่องมือซึ่งมีลักษณะคล้ายเข็มฉีดยาปลายแหลม เข้าไปใต้ผิวหนัง เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการแล้ว จะมีตัวดันยาออกจากหลอดให้ยาเข้าไปอยู่ในบริเวณใต้ผิวหนัง ใช้เวลา 10-15 นาที ก็เสร็จเรียบร้อย

การใช้เวลาในการฝังมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับชนิดของยาดังที่กล่าวมาแล้ว (1 แท่ง 2 แท่ง หรือ 6 แท่ง) และประสบการณ์ของแพทย์ผู้ฝังยา หลังจากนั้นจะปิดแผลด้วยพลาสเตอร์ (ไม่ต้องเย็บแผล)  ตามด้วยผ้าพันแผลพันทับอีกชั้นหนึ่ง หลัง 24 ชั่วโมงสามารถเอาผ้าพันแผลออกได้ ถ้าหมอติดพลาสเตอร์กันน้ำก็สามารถอาบน้ำได้ตามปกติ แต่ถ้าเป็นพลาสเตอร์ไม่กันน้ำ ควรไม่ให้แผลโดนน้ำประมาณ 3-5 วัน หมออาจให้ยาแก้ปวดกลับไปทานถ้ามีอาการปวดในช่วง 1-2 วันแรก และนัดมาดูแผล 1 สัปดาห์ หลังจากฝังยาต้องคอยสังเกตอาการของการอักเสบของแผลที่ฝังยา ปกติแผลจะหายเป็นปกติภายใน 7 วัน ถ้าแผลมีอาการบวมแดง มีหนอง หรือ มีไข้ ต้องรีบกลับไปพบแพทย์

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

ข้อดีของยาฝังคุมกำเนิด

นอกจาก ฝังเข็มคุมกำเนิด จะมีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์แล้ว ยังเป็นวิธีที่มีความสะดวก เพราะฝังยาเพียงครั้งเดียวป้องกันได้นาน 3-5 ปี และออกฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้เร็ว (หลังจากฝังยาได้ 7 วัน สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้) ไม่ต้องกลัวลืมทานยา หรือมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ เหมือนการใช้ยาเม็ดคุมกำเนิดชนิดรับประทาน สามารถเลิกใช้เมื่อไหร่ก็ได้ หลังจากเอายา ฝังเข็มคุมกำเนิด ออก ภาวะเจริญพันธ์ หรือการกลับมาตั้งครรภ์ ได้เร็วกว่ายาคุมกำเนิดชนิดฉีด ยาฝังคุมกำเนิดใช้ได้ดีกับผู้หญิงหลังคลอดที่เลี้ยงลูกด้วยนมแม่ เพราะไม่มีผลต่อปริมาณน้ำนม นอกจากนี้ยังทำให้เลือดประจำเดือนน้อยลง ลดภาวะโลหิตจาง และป้องกันโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้อีกด้วย

ข้อเสียของวิธี ฝังเข็มคุมกำเนิด

สำหรับข้อเสีย หรือ ผลข้างเคียงหลังจากฝังยาคุมกำเนิด ในช่วงแรกประจำเดือนอาจจะไม่สม่ำเสมอ มาแบบกะปริบกะปรอยในช่วงแรก หรือบางรายอาจมีประจำเดือนมามากติดต่อกันหลายวัน หรือบางรายไม่มีประจำเดือนมาเลย (บางรายถ้าประจำเดือนผิดปกติมาก แพทย์อาจใช้ยาคุมกำเนิดชนิดฮอร์โมนรวม ช่วยปรับเรื่องประจำเดือนผิดปกติในช่วงแรกของการฝังยา เพื่อให้ประจำเดือนสม่ำเสมอขึ้น) ฮอร์โมนในยาฝังคุมกำเนิดอาจส่งผลทำให้มีอารมณ์แปรปรวน สิว คลื่นไส้ เจ็บคัดเต้านมได้ในบางราย ยาฝังคุมกำเนิดควรระวังในการใช้กับผู้หญิงบางราย เช่น ผู้ที่สงสัยว่าตั้งครรภ์ ผู้ที่มีเลือดออกผิดปกติทางช่องคลอดที่ยังหาสาเหตุไม่ได้ ผู้ที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ประวัติโรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ภาวะลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือด ผู้ป่วยโรคตับ ประวัติมะเร็งเต้านม ถ้าสงสัยโรคดังกล่าวควรแจ้งให้แพทย์ทราบ เพื่อแพทย์จะได้ประเมินว่าเหมาะสมที่จะรับการฝังยาคุมกำเนิดหรือไม่ และระลึกไว้เสมอว่า การฝังยาคุมกำเนิดไม่ได้ช่วยป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

สุดท้ายคงเป็นเรื่องค่าใช้จ่ายสำหรับการฝังยาคุมกำเนิด ถ้าฝังยาในโรงพยาบาลของรัฐ จะมีค่าใช้จ่ายประมาณ 2,000 – 4,000 บาท แต่ถ้าเป็นส่วนโรงพยาบาลเอกชน ราคาอาจจะแตกต่างกันในแต่ละโรงพยาบาล สามารถตรวจสอบราคาก่อนเข้ารับบริการได้ทุกสถานพยาบาล

>> ปัจจุบันมีโครงการของรัฐ เพื่อ ฝังเข็มคุมกำเนิด ฟรี!! ให้กับวัยรุ่นอายุ 10-20 ปี ตาม พ.ร.บ.การป้องกันและแก้ไขปัญหาการตั้งครรภ์ในวัยรุ่น พ.ศ.2559 สามารถเข้ารับการฝังยาคุมกำเนิดฟรีที่โรงพยาบาลรัฐทั่วประเทศ

สรุปได้ว่า… ยาคุมกำเนิดชนิดฝัง เป็นยาที่มีประสิทธิภาพสูง และมีฤทธิ์ป้องกันการตั้งครรภ์ได้นาน 3- 5 ปี จีงเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดระยะยาว ท่านที่สนใจควรพบแพทย์เพื่อประเมินความเหมาะสมในการใช้ยานี้ทุกครั้ง

บทความโดย : นายแพทย์นิวัฒน์ อรัญญาเกษมสุข (สูตินรีแพทย์)
แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์มารดาและทารกในครรภ์
พันธุศาสตร์การแพทย์ มหาวิทยาลัย จอห์น ฮอบกิ้น สหรัฐอเมริกา

 

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิกที่ภาพได้เลย ⇓

กินยาคุม ทำไมยังท้องได้

กินยาคุมแล้วมีลูกยาก กับความเชื่อที่แม่ควรรู้

แม่เล่า ขาดกรดโฟลิก ตอนท้อง ลูกเกิดมาพิการเป็นโรคนี้..แต่กำเนิด

คุมกำเนิดหลังคลอด เมื่อไหร่? อย่างไรดี!

อึ้ง!! เด็กซื้อยาคุมกำเนิด กับผลข้างเคียงที่ตามมาในอนาคต

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up