ชานมไข่มุก

พ่อแม่ระวังให้ลูกกิน ชานมไข่มุก อันตรายกว่าที่คิด

Alternative Textaccount_circle
event
ชานมไข่มุก
ชานมไข่มุก

พ่อแม่ระวังให้ลูกกิน ชานมไข่มุก อันตรายกว่าที่คิด

ปัจจุบันไม่ว่าจะออกไปเที่ยวที่ไหนก็ตาม ทั้งห้างสรรพสินค้า ตลาดนัด ต่างจังหวัด คุณพ่อคุณแม่ก็จะพบกับร้าน ชานมไข่มุก มากมายหลายยี่ห้อให้เลือกดื่ม อาจเพราะมีลูกเล่นให้เลือกทั้งใส่ใข่มุกรูปแบบต่าง ๆ เพิ่มท็อปปิ้งได้ หวานถูกใจช่วยให้รู้สึกสดชื่น แต่การดื่มชานมไข่มุกนั้น หากลูกติดไปแล้วอาจมีภัยต่อสุขภาพของลูกได้ หลายประการเลยค่ะ มีอะไรบ้าง ทางทีมบรรณาธิการ ABK นำข้อมูลนี้มาฝากค่ะ

ดื่ม ชานมไข่มุก เกินปริมาณเป็นอันตราย

การดื่มชานมไข่มุก มากเกินปริมาณที่แนะนำต่อวันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลเสียต่อสุขภาพของทุก ๆ วัย และวัยที่น่าห่วงกังวลที่สุด คือ วัยเด็ก ดังนี้

  • การบริโภคชานมไข่มุก ส่งผลให้เรื่องน้ำหนักเกิน
  • เด็กอาจมีพฤติกรรมติดหวาน
  • รสหวานนำไปสู่โรคอื่น ๆ เช่น เบาหวาน โรคอ้วน
  • ในชานมไข่มุกอาจมีส่วนผสมแฝง เช่น โลหะหนัก
  • ในชานมไข่มุกอาจมีสารกันบูด เป็นภัยต่อสุขภาพและอาจสร้างปัญหาขาดสารอาหารได้
  • ในชานมมีคาเฟอีน ซึ่งไม่เหมาะสำหรับเด็ก
ชานมไข่มุก
พ่อแม่ระวังให้ลูกกิน ชานมไข่มุก อันตรายกว่าที่คิด

เจอ สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนัก ในชานมไข่มุกจำนวนมาก

ข้อมูลจากศูนย์ทดสอบฉลาดซื้อ มูลนิธิเพื่อบริโภค เผยผลตรวจวิเคราะห์สารกันบูด น้ำตาล และโลหะหนักในชานมไข่มุก 25 ยี่ห้อ พบว่า

  • ตัวอย่างเม็ดไข่มุกมีสารกันบูด 100% แต่ไม่เกินค่ามาตรฐาน
  • ส่วนใหญ่มีปริมาณน้ำตาลมากกว่าที่องค์การอนามัยโลกแนะนำต่อวัน บางยี่ห้อมีน้ำตาลสูงถึง 18 ช้อนชา

เด็กไทยบริโภคน้ำตาลมากเกินต้องการ

จากการสำรวจของกรมอนามัย และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า เด็กไทยบริโภคน้ำตาลมากถึงวันละ 20 ช้อนชา เกินกว่าปริมาณที่องค์การอนามัยโลกแนะนำถึง 3 เท่า

สถิติเด็กป่วยเบาหวานและโรคอ้วน

สถิติผู้ป่วยโรคเบาหวานและโรคอ้วนพุ่งสูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเด็กที่ชอบเครื่องดื่มรสหวาน ทำให้เด็กไทยจำนวนมากในยุคนี้มีภาวะน้ำหนักเกิน รวมถึงกลายเป็นเด็กอ้วนเพิ่มขึ้น และพบว่าเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ป่วยเป็นโรคเบาหวานเพิ่มมากขึ้น

น้ำตาลส่งผลเสียต่อสุขภาพอย่างไร

การได้รับปริมาณน้ำตาลเกินต่อวันเป็นประจำ ส่งผลให้

  • เด็กติดหวาน
  • เสี่ยงต่อภาวะดื้อต่ออินซูลิน
  • ระบบเผาผลาญมีปัญหาตั้งแต่อายุยังน้อย
  • มีโอกาสเกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคไขมันในเลือดผิดปกติ รวมถึงโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นภัยเงียบที่อาจจะรู้ตัวเมื่อสายเกินไป
  • น้ำตาลในอาหารและเครื่องดื่มรสหวาน อาจส่งผลให้เกิดปัญหาฟันผุและสุขภาพช่องปาก
  • ทำให้เด็กอ้วนแต่ขาดสารอาหารอื่นที่จำเป็นต่อการเจริญเติบโต
  • น้ำตาลที่อยู่ในชานมไข่มุกรสหวานจะทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดพุ่งขึ้นสูงเร็ว แต่หลังจากนั้นน้ำตาลในเลือดก็จะลดลงอย่างรวดเร็วด้วย ทำให้เด็กรู้สึกโหยหาขนมหวานหรือเครื่องดื่มรสหวาน เพื่อเติมน้ำตาลในเลือดให้สูงอยู่ในระดับเดิมอยู่เรื่อย ๆ

ผู้ปกครองควรดูแลและควบคุมการรับประทานอาหารหวาน มีน้ำตาลสูงตั้งแต่เด็ก จะดีกว่าการแก้ไขตอนโตแล้ว เพราะแก้ไขยาก

เราควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลมากแค่ไหน

องค์การอนามัยโลกแนะนำว่า

  • ไม่ควรได้รับพลังงานจากน้ำตาลเกินร้อยละ 10 ของพลังงานที่แนะนำต่อวัน
  • การได้รับน้ำตาลน้อยกว่าร้อยละ 5 ของพลังงานที่แนะนำต่อวัน จะส่งผลดีต่อสุขภาพยิ่งขึ้น
  • เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ๆ จึงแนะนำว่า คนทั่วไปควรได้รับน้ำตาลไม่เกินวันละ 6 ช้อนชา (คำนวณจากความต้องการพลังงานวันละ 2000 กิโลแคลอรี)
  • หากเป็นไปได้ การไม่เติมน้ำตาลเพิ่มลงไปในอาหารเลย หรือลดปริมาณน้ำตาลต่อวันให้น้อยที่สุดจะดีต่อสุขภาพ
  • ไม่แนะนำการเติมน้ำตาลหรือสารให้ความหวานแทนน้ำตาลในอาหารสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 2 ปี

ชานมมีคาเฟอีนทำลายสุขภาพลูก

ในชาไข่มุกยังมีสารคาเฟอีนจากชา ซึ่งส่งผล ต่อสมาธิการเรียนรู้และอารมณ์ของเด็กดังนี้

  • ทำให้เด็กตื่นตัว นอนไม่หลับในเวลากลางคืน
  • ส่งผลต่อสมาธิการเรียนรู้ในตอนกลางวันที่ต้องจดจ่อกับการเรียน
  • เด็กอาจติดคาเฟอีนได้หากดื่มชาในปริมาณมากเป็นประจำ
  • เมื่อหยุดดื่มจะทำให้เกิดภาวะขาดคาเฟอีน เกิดผลข้างเคียง เช่น ปวดศีรษะ มีปัญหาเรื่องอารมณ์ เช่น หงุดหงิดฉุนเฉียว หรือมีอาการซึมเศร้า ไม่สามารถจดจ่อมีสมาธิได้
  • คาเฟอีนยังเพิ่มการขับแคลเซียมออกมาทางปัสสาวะมากขึ้น หากไม่ได้รับแคลเซียมจากอาหารอื่น ๆ อย่างเพียงพอ จะส่งผลต่อการสร้างกระดูกของเด็กได้
  • หากยังติดเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีนไปจนกระทั่งโตเข้าสู่วัยผู้ใหญ่ก็จะทำให้กระดูกพรุนเร็วขึ้น
  • คาเฟอีนและแทนนินที่พบในชา ยังส่งผลทำให้เด็กเกิดอาการท้องผูกได้ด้วย โดยเฉพาะหากได้รับใยอาหารจากผักผลไม้น้อย และดื่มน้ำไม่เพียงพอ

หากลูกอยากกิน ชานมไข่มุก พ่อแม่ควรทำอย่างไร

เพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ ผู้ปกครองควรทำดังนี้

  1. กำกับปริมาณการรับประทานชานมไข่มุกของเด็ก เช่น การจำกัดปริมาณให้ดื่มน้อยลง
  2. หรือปรับเปลี่ยนวัตถุดิบ โดยอาจเปลี่ยนจากชา เป็นน้ำผลไม้รสไม่หวานแทน
  3. เลือกสั่งเครื่องดื่มแบบหวานน้อย
  4. ใช้นมไขมันต่ำ หรือพร่องมันเนย
  5. เลือกไข่มุกที่ทำจากแป้งบุกแทนแป้งสาคู
  6. ใช้หญ้าหวานแทนน้ำตาล

คุณพ่อคุณแม่ต้องเป็นตัวอย่างเรื่องการบริโภคให้ลูกเห็น เช่น เลือกเรื่องดื่มที่ดีต่อสุขภาพมากขึ้น เพื่อให้ลูกอยากเลียนแบบ ซึ่งไม่ใช่แค่กับชานมไข่มุก แต่รวมถึงอาหารที่เสี่ยงต่อสุขภาพอื่น ๆ ด้วย

ขอบคุณข้อมูลจาก

สภากาชาดไทย

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

อาหารและเครื่องดื่ม ที่มีประโยชน์ สำหรับเด็กวัย 4-12 ปี

เครื่องดื่ม-ขนมผสมคาเฟอีน ส่งผลให้ ลูกเป็นโรคสมาธิสั้น

เตือนพ่อแม่! ห้าม ป้อนยาลูก พร้อม 3 เครื่องดื่มนี้เด็ดขาด!

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up