บกพร่องทางการได้ยิน

ลูก บกพร่องทางการได้ยิน ดูยังไง แก้อย่างไร

Alternative Textaccount_circle
event
บกพร่องทางการได้ยิน
บกพร่องทางการได้ยิน

ลูก บกพร่องทางการได้ยิน ดูยังไง แก้อย่างไร

ทำไมเรียกลูกเท่าไหร่ ลูกก็ไม่หันมากันนะ? พ่อแม่บางบ้านอาจคิดว่า สงสัยเสียงของเราที่ใช้เรียกลูกคงเบาไป หรือลูกอาจจะยังฟังไม่รู้เรื่อง หรือ อาจจะมัวแต่สนใจสิ่งอื่นอยู่ แต่สำหรับบางบ้านที่ลูกตอบสนองแบบเดิมทุกครั้งที่เรียกนั้น อาจไม่ใช่เรื่องเล็กนะคะ เพราะลูกอาจ บกพร่องทางการได้ยิน ถ้าเป็นอย่างหลัง ต้องรีบหาทางแก้ปัญหาเลยค่ะ คุณพ่อคุณแม่จะสังเกตได้อย่างไร เรามีวิธีมาบอก พร้อมกับแจ้งสิทธิรับอุปกรณ์หูเทียม สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 5 ขวบด้วยค่ะ

จะรู้ได้อย่างไรว่าลูก บกพร่องทางการได้ยิน

เนื่องจากความพิการทางการได้ยินโดยส่วนใหญ่เป็นความพิการที่มองภายนอกไม่เห็น โดยทั่วไปจึงไม่พบความผิดปกติของร่างกาย ยกเว้นในบางรายที่มีความผิดปกติของหู ใบหน้า และศีรษะตั้งแต่เกิดร่วมด้วย จึงต้องอาศัยการประเมินปัจจัยเสี่ยง อาการหูเสียและสังเกตการตอบสนองต่อเสียง เช่น

  1. เรียกไม่หัน
  2. ร้องไห้โวยวายเสียงดัง
  3. ดื้อมากกว่าปกติ หรือมีปัญหาพูดช้า หรือพูดไม่ชัด
  4. ไม่ทำตามคำสั่ง
  5. ดูโทรทัศน์ เล่มคอมพิวเตอร์ แล้วเปิดเสียงดังกว่าปกติ

นอกจากนี้ บางครั้งเด็กอาจมีปัญหาด้านการเรียน หรือไม่เข้าสังคม หากคุณพ่อคุณแม่ หรือญาติ สงสัยว่าเด็กอาจมีปัญหาการได้ยิน แนะนำให้พาไปพบแพทย์ เพื่อให้ได้การวินิจฉัยและรับการรักษาอย่างเหมาะสมต่อไป

บกพร่องทางการได้ยิน
ลูก บกพร่องทางการได้ยิน ดูยังไง แก้อย่างไร

การรักษาหูหนวก

การรักษาหูหนวกมีหลากหลายวิธี ขึ้นอยู่กับสาเหตุและความรุนแรงของอาการ ซึ่งวิธีการรักษา ได้แก่

  • หากการสูญเสียการได้ยิน มาจากการติดเชื้อแบคทีเรีย รักษาได้ด้วยการให้ผู้ป่วยใช้ยาปฏิชีวนะ
  • การผ่าตัดจะมีความจำเป็นหากเกิดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ หรือหากเกิดการติดเชื้อซ้ำที่ต้องสอดท่อเพื่อระบายน้ำออก รวมไปถึงการผ่าตัดเพื่อระบายของเหลว ซ่อมแซมแก้วหูที่ทะลุ หรือแก้ไขกระดูกที่เกิดปัญหา

การสูญเสียการได้ยินที่มีสาเหตุมาจากความเสียหายของหูชั้นใน หรือโสตประสาทจะเป็นการสูญเสียอย่างถาวร โดยวิธีที่ช่วยให้ได้ยินและมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้ ดังนี้

  • เครื่องช่วยฟัง (Hearing Aids) เป็นเครื่องที่ช่วยขยายเสียงให้ได้ยินชัดขึ้นและช่วยให้ได้ยินง่ายขึ้น โดยผู้ป่วยต้องปรึกษากับนักตรวจการได้ยินถึงประโยชน์ในการใช้เครื่องช่วยฟัง หรือวิธีการใช้และความเหมาะสมในการใช้กับผู้ป่วยแต่ละราย
  • ประสาทหูเทียม (Cochlear Implant) เป็นเครื่องมือที่จะช่วยทำงานทดแทนหูชั้นในส่วนที่ได้รับความเสียหายหรือไม่ทำงาน โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะแปลงสัญญาณเสียงให้เป็นสัญญาณไฟฟ้าในระดับที่ไม่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ แต่จะช่วยกระตุ้นเซลล์ขนภายในอวัยวะรับเสียงให้ทำหน้าที่ได้ดีขึ้น มักจะใช้กับผู้ป่วยที่ประสาทหูเสื่อมอย่างรุนแรง เช่น หูหนวกหรือหูเกือบหนวก

หลักเกณฑ์ว่าลูก บกพร่องทางการได้ยิน ต้องฝังประสาทหูเทียม

ข้อบ่งชี้ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม คือ

  1. อายุตั้งแต่ 1 ปีขึ้นไป
  2. สูญเสียการได้ยินทั้งสองข้างระดับรุนแรง ระดับการได้ยินมากกว่า 80 เดซิเบล และใช้เครื่องช่วยฟังแล้วไม่ได้ผล ไม่มีโรคที่เป็นอุปสรรคต่อการผ่าตัด
  3. มีสุขภาพจิต และสติปัญญาดีพอที่จะสามารถฟื้นฟูสมรรถภาพได้
  4. ต้องสามารถเข้ารับการฟื้นฟูสมรรถภาพการได้ยินหลังการผ่าตัด และติดตามผลเป็นระยะ ๆ ได้
  5. มีศักยภาพที่จะดูแล บำรุงรักษาอุปกรณ์ประสาทหูเทียมได้

ปัจจัยที่อาจส่งผลต่อการผ่าตัด

มีปัจจัยหลายอย่างที่ส่งผลต่อความสำเร็จจากการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม เช่น

  • ในผู้ป่วยเด็กที่ไม่เคยมีพัฒนาการทางภาษามาก่อน หากผ่าตัดฝังประสาทหูเทียมเมื่ออายุมากกว่า 4 ปี อาจได้ผลไม่ดี
  • สาเหตุของการสูญเสียการได้ยิน
  • อายุที่เริ่มสูญเสียการได้ยิน
  • ระยะเวลาการสูญเสียการได้ยินและการฟื้นฟูการได้ยินในอดีต เป็นต้น

ดังนั้นเกณฑ์ดังกล่าวมีข้อจำกัดหลายอย่าง ทั้งนี้ความเหมาะสมของการผ่าตัดรักษาขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ผู้รักษา

บกพร่องทางการได้ยิน
ลูก บกพร่องทางการได้ยิน ดูยังไง แก้อย่างไร

สิทธิรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม

เด็กที่มีสิทธิ สามารถรับอุปกรณ์ประสาทหูเทียม ในการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม มีเกณฑ์ดังนี้

  1. เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีสิทธิบัตรทอง 30 บาท หรือสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ
  2. เด็กอายุน้อยกว่า 5 ปี ที่มีระดับการได้ยิน 90 เดซิเบลขึ้นไป
  3. ไม่เคยฝึกภาษามือ
  4. มีข้อบ่งชี้จากแพทย์เพื่อผ่าตัดรักษา

อุปกรณ์ประสาทหูเทียมที่จะได้รับ

สิทธิประโยชน์ที่ได้รับ คือ อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียม 1 ชุด/คน ประกอบด้วย 2 ส่วน ได้แก่ ส่วนที่อยู่ในร่างกาย และส่วนที่อยู่นอกร่างกาย ดังนี้

1) ส่วนที่อยู่ในร่างกาย ประกอบด้วยอุปกรณ์สำคัญ คือ ตัวรับสัญญาณ (receiver) และ ขั้วไฟฟ้า (eleclrode array) ชนิดหลายขั้ว ตั้งแต่ 12 electrodes ขึ้นไป

2) ส่วนที่อยู่นอกร่างกาย ประกอบด้วย

2.1 เครื่องแปลงสัญญาณเสียงพูด (speech processor)
2.2 ขดลวดส่งต่อสัญญาณและแม่เหล็ก
2.3 สายไฟเชื่อมต่อเครื่องแปลงสัญญาณเสียงพูดเข้ากับขดลวดส่งต่อสัญญาณ (coilcable)
2.4 แบตเตอรี่ชนิดประจุไฟฟ้าใหม่ได้ (rechargeable battery) อย่างน้อย 2 ชุดพร้อมแท่นชาร์ต
2.5 มีระบบ Data Logging เพื่อให้สามารถรู้ว่าผู้ป่วยใช้งานหรือไม่
2.6 มีระบบการป้องกันน้ำที่มาตรฐานไม่ต่ำกว่า International Protection 57 ขึ้นไป
2.7 มีไมโครโฟน (omni direction) อย่างน้อย 2 ตัว
2.8 มีกล่องอบกันความชื้น

วิธีการใช้สิทธิ

ติดต่อที่หน่วยบริการตามสิทธิ โดยแสดงสูติบัตรในการเข้ารับบริการ หากหน่วยบริการตามสิทธิไม่มีแพทย์เฉพาะทางจะส่งต่อไปยังหน่วยบริการที่มี อุปกรณ์ชุดประสาทหูเทียม แต่หากมีเอกสารประกอบยืนยันประเภทคนพิการ สามารถเข้ารับบริการหน่วยบริการของรัฐได้ทุกแห่ง

การได้ยินในผู้ป่วยที่ได้รับการผ่าตัดฝังประสาทหูเทียม จะไม่เหมือนการได้ยินปกติ ผู้ป่วยต้องใช้เวลาในการเรียนรู้ และฝึกฝนจึงจะสามารถฟัง แปลผล และสื่อสารได้ จึงมีความจำเป็นที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากครอบครัว และบุคลากรหลายด้าน ซึ่งประกอบด้วย แพทย์ นักแก้ไขการพูด ครูการศึกษาพิเศษ หรือ ครูที่โรงเรียน เพื่อน ที่ต้องเอาใจใส่ พูดคุยกระตุ้นเพื่อให้ได้ฝึกฟังและพูดตลอดเวลา

สอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ทั้งไลน์ สปสช. @nhso หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ https://www.facebook.com/NHSO.Thailand

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

แม่ๆเตรียมเฮ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก สปสช.ดูแลทุกสิทธิ์

เช็คขั้นตอนตรวจ สิทธิ์ฝังยาคุม และรับบริการฟรี

บัตรทองให้เข้าถึงยา โรคข้ออักเสบไม่ทราบสาเหตุในเด็ก  

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up