บอร์ดเกม patchwork

Patchwork บอร์ดเกมยอดนิยม เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นเพลิน โดยพ่อเอก

Alternative Textaccount_circle
event
บอร์ดเกม patchwork
บอร์ดเกม patchwork

บอร์ดเกมที่จะมาชวนเล่นคราวนี้ เป็นเกมยอดนิยมอีกเกมหนึ่ง เด็กเล่นได้ ผู้ใหญ่เล่นเพลิน ชื่อเกมว่า Patchwork หรือจะเรียกว่า เกมต่อผ้า หรือ เกมเย็บผ้า ในภาษาไทย ก็ได้

Patchwork คืออะไร?

เกมนี้มีที่มาจากการที่ในอดีตจะมีการเอาเศษผ้าเหลือใช้ มาทำประโยชน์ต่อ โดยเย็บเป็นผ้าผืนใหม่ไว้ใช้งาน เกม patchwork ก็คือ เกมที่ผู้เล่นต้องสะสมชิ้นผ้า หรือเศษผ้า (กระดาษที่มีลวดลายผ้า) แล้วมาต่อเป็นผืนผ้าลวดลายงดงาม บนกระดานขนาด 9×9 ตาราง (ที่เปรียบเป็นผ้าผืนใหญ่ ของผู้เล่นแต่ละคน ที่เราจะเอาชิ้นผ้ามาต่อวาง) เกมนี้เล่นกันสองคน ใช้เวลาเล่นประมาณ 15 – 30 นาที แม้เกมจะแนะนำว่าสำหรับ 8 ขวบขึ้นไป แต่กฏกติกาไม่ได้ยากขนาดนั้น เด็ก 5-6 ขวบก็สามารถเริ่มเล่นกับคุณพ่อคุณแม่ได้ครับ

อุปกรณ์ประกอบในเกม Patchwork

  • Main Time Board: เป็นกระดานที่ใช้เล่นเกม (ใช้เดิน time token) จะมีสองด้าน ให้เลือกเล่น โดยใช้กติกาเหมือนกันทั้ง 2 ด้านแต่เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศในการเล่น
  • Quilt Board: แผ่นกระดานที่เราใช้เย็บต่อผ้า ของผู้เล่นแต่ละคน จะเป็นตารางโล่งๆขนาด 9×9 (คล้ายกระดานหมากฮอร์สที่มีขนาด 8×8) ใช้ สำหรับให้ผู้เล่นแต่ละคนวางต่อแผ่นชิ้นผ้าที่เก็บมาได้ จากการซื้อด้วยกระดุม
  • Patch: แผ่นชิ้นผ้ารูปทรงและลวดลายแตกต่างกัน จำนวน 33 ชิ้น (บางชิ้นจะมีกระดุม ก็จะทำให้เราได้สะสมกระดุมเพื่อใช้ในการซื้อผ้าชิ้นต่อไป)
  • Neutral token: เป็น token ที่ใช้วางตำแหน่ง เพื่อจะบอกว่า เลือกซื้อผ้าชิ้นใดได้บ้าง (3 ชิ้นข้างหน้า Neutral token ตามเข็มนาฬิกา)
  • Time Token: หมากใช้เดินมี 2 ชิ้น สีเขียว กับสีเหลือง สำหรับผู้เล่นแต่ละคน
  • Special Patch: แผ่นชิ้นผ้าขนาด 1×1 จำนวน 5 ชิ้น
  • Special Tile: แผ่นกระดุมคะแนนพิเศษสำหรับผู้เล่นที่ต่อผ้าขนาด 7×7 ช่องได้
  • Button Tiles: แผ่นกระดุม (กระดาษแข็งกลมรูปกระดุม) ขนาดต่างๆ (กระดุม 1 เม็ด / 32 ชิ้น, กระดุม 5 เม็ด / 12 ชิ้น, กระดุม 10 เม็ด / 5 ชิ้น และ กระดุม 20 เม็ด / 1 ชิ้น)

กติกาการเล่น Patchwork

กติกาการเล่นง่ายๆของ patchwork คือ ผู้เล่นจะใช้กระดุม ในการซื้อชิ้นเศษผ้า เพื่อนำมาเย็บต่อกันทีละชิ้น เศษผ้าบางชิ้นที่ผู้เล่นซื้อมา จะมีกระดุมติดมาด้วย เมื่อถึงตาที่เราจะได้เดิน time token เราจะมีโอกาสเลือก 2 วิธี A) เดินแล้วเก็บกระดุม หรือ B) ซื้อ patch แผ่นเศษผ้า แล้วไปเติมเย็บบน Quilt Board ของเรา เกมจะจบลงเมื่อมีผู้ที่เดินเบี้ย time token ไปถึงจุดสุดท้าย (ไม่ใช่เส้นชัยนะครับ แต่เป็นจุดสิ้นสุดเกม) แล้วเราก็จะมานับคะแนนผู้เล่นทั้ง 2 ฝ่ายว่าใครได้แต้มมากกว่ากัน โดยนับว่าใครครอบครองกระดุมอยู่จำนวนเท่าไหร่ แล้วหักออกด้วยจำนวนช่องว่างที่เหลืออยู่บนกระดานที่เราใช้เย็บต่อผ้า ใครเหลือแต้มมากกว่าเป็นผู้ชนะ

วิธี set up game patchwork
วิธี set up game patchwork

การ Set Up Game

  • ผู้เล่นเลือก Quilt Board ของตัวเองและหยิบกระดุมไปคนละ 5 เม็ด
  • วาง Main Time Board ที่ใช้เล่นเกม (เดิน time token) ไว้ตรงกลาง และนำชิ้นเศษผ้าขนาด 1*1 วางบนกระดานตามตำแหน่งที่ระบุ
  • วางชิ้นเศษผ้าทั้ง 33 ชิ้น เป็นวงกลมรอบกระดานแบบสุ่ม
  • นำ Neutral token ไปวางที่ ชิ้นเศษผ้าเล็กสุดขนาด 2*1 (ผู้เล่นจะสามารถเลือกซื้อผ้า 3 ชิ้นข้างหน้า Neutral token วนตามเข็มนาฬิกา)
  • วางกระดุมที่เหลือ และแผ่นโบนัส 7*7 ไว้ข้างๆ
  • นำ Time Token ของผู้เล่นทั้ง 2 สีเขียวและเหลือง วางที่ช่องแรกของกระดานที่ใช้เล่นเกม

วิธีเล่นเกม Patchwork

ใครเริ่มก่อนก็ได้ตกลงกัน ปกติเราก็ให้ลูกเริ่มก่อน (แต่ในระหว่างที่เล่นหาก time token ไปตกช่องเดียวกัน คนที่ time token  อยู่ด้านบนจะเดินก่อน)  เกมนี้ไม่ใช่เกมที่ผลัดกันเดิน แต่คนที่ time token อยู่ด้านหลังจะได้เล่น ดังนั้นอาจจะเล่นได้มากกว่า 1 ครั้งจนกว่า time token จะไปอยู่ด้านหน้า จึงสลับให้ผู้เล่นอีกคนเล่น เมื่อถึงตาเราแล้วทำไมถึงอาจจะเล่นได้มากกว่า 1 ตา เพราะว่า ผู้เล่นที่อยู่หลังสามารถเลือกได้ว่า A) เลือกเดินแซงผู้เล่นอีกคนแล้วเก็บกระดุม เลือกแบบนี้จะเล่นได้ตาเดียว หรือ B) ซื้อ patch แผ่นเศษผ้า ถ้ามีกระดุมพอซื้อ แล้วไปเติมเย็บบน Quilt Board ซึ่งบนแผ่นเศษผ้า จะมีระบุจำนวนช่องให้เดินและอาจจะมีกระดุม หากจำนวนช่องที่บนผ้าระบุมา เดินแล้วยังคงตามด้านหลังคู่แข่งอยู่ (ยังไม่แซง) ก็สามารถเล่นต่อได้อีกโดยสามารถเลือก A) หรือ B) ก็ได้ อีกครั้ง

วิธีเล่นเกม patchwork
ปูนปั้นกำลังตัดสินใจว่าจะเลือกซื้อชิ้นเศษผ้า.. หรือเลือกเดินเพื่อเก็บกระดุมดีน้อ

ถ้าเลือก B) คือซื้อและต่อเศษผ้า จะมี 5 ขั้นตอน

  1. เลือกชิ้นเศษผ้า 1 ใน 3 ชิ้นที่อยู่ถัดจาก Neutral Token วนตามเข็มนาฬิกา
  2. ย้ายที่ Neutral Token มาแทนชิ้นเศษผ้าที่ถูกซื้อ
  3. จ่ายกระดุมตามจำนวนที่ระบุบนเศษผ้า
  4. วางชิ้นเศษผ้าลงบน Quilt Board ของตัวเอง วางอย่างไรก็ได้ แต่ไม่เลยกระดาน ไม่ทับชิ้นอื่น และพยายามให้ได้พื้นที่มากสุด และง่ายต่อการวางชิ้นต่อไป เมื่อวางแล้ว จะไม่สามารถเปลี่ยนที่ได้อีก
  5. เดิน time token ของตัวเองตามจำนวนช่องที่ระบุไว้บนชื้นเศษผ้า (สัญลักษณ์รูปนาฬิกา ตัวเลขสีดำ) ถ้าไปหยุดในช่องที่ time token ของผู้เล่นอีกคนอยู่ ให้วางซ้อนด้านบน และยังถือเป็นตาเล่นของตัวเองต่อ
ซื้อเศษผ้า
หากตัดสินใจซื้อเศษผ้า จะเลือกซื้อได้ 1 ใน 3 ชิ้นที่อยู่หน้า token ตามเข็มนาฬิกา กระดุมที่ต้องจ่ายคือ 7 เม็ด ตามที่แสดงบนเศษผ้าที่เลือก

ในการเดิน ทั้งแบบ A) และ B)  ถ้าเดินผ่านชิ้นเศษผ้า 1*1 จะได้รับชิ้นเศษผ้านั้นไปเย็บเพิ่มบน Quilt Board เราด้วย ถ้าเดินผ่านสัญลักษณ์กระดุม จะได้รับกระดุมเท่ากับจำนวนกระดุมทั้งหมดบนชิ้นเศษผ้าบน Quilt Board ตัวเอง

เอาชิ้นผ้าที่ซื้อมาต่อบนกระดานของตัวเอง
เอาชิ้นผ้าที่ซื้อมาต่อบนกระดานของตัวเอง ให้มีช่องว่างน้อยที่สุด

ผู้เล่นที่ต่อเศษผ้าจนมีขนาด 7*7 ช่องได้ก่อน จะได้รับแผ่นโบนัส 7*7 ไป ซึ่งมีค่าเท่ากับกระดุม 7 เม็ด

เมื่อผู้เล่นเดินจนถึงตาสุดท้ายถือว่าจบเกม และมานับคะแนนหาผู้ชนะโดย

  1. นับกระดุมที่มีทั้งหมด
  2. นับช่องว่างบน Quilt Board ของตัวเอง แล้วคูณสอง เช่น เหลือช่องว่าง 5 ช่อง เท่ากับ คะแนนลบ 10 คะแนน
  3. หักลบแต้มกระดุม กับแต้มช่องว่างที่เหลือ เช่น มีกระดุมในครอบครองทั้งหมด (จาก) 30 อัน หักลบคะแนนลบจากช่องว่าง (จาก2.)  20 แต้ม เหลือ 10 แต้ม
  4. คนที่มีคะแนนมากกว่าเป็นผู้ชนะ ถ้าคะแนนเสมอกัน คนที่เดินถึงจุดสุดท้ายก่อนเป็นผู้ชนะ

ประโยชน์จากการเล่น Patchwork

สิ่งที่ได้จากเกมนอกจากความสนุก สร้างความสัมพันธ์กับลูก เพราะพ่อแม่คือเพื่อนที่ดีที่สุดแล้ว การเลือกการเล่นเมื่อถึงตาของตัวเอง ระหว่างจะเดินเก็บกระดุม หรือ เก็บชิ้นเศษผ้าก็ต้องใช้การวางแผนการตัดสินใจเพื่อให้ได้ประโยชน์สูงสุด และการจะเอาชิ้นเศษผ้าไปวางบน Quilt Board ก็ต้องมองไปข้างหน้าวางแผนว่าควรวางอย่างไร เพื่อให้โอกาสที่ชิ้นต่อไปมาต่อง่ายขึ้น หรือ สามารถชนะชิ้น 7 x 7 ได้ ขอรับประกันว่าบอร์ดเกมทุกเกมมีประโยชน์แฝงอยู่ โดยไม่ต้องไปพยายามมองหาเลย

ชวนลูกเล่นบอร์ดเกมนอกจากได้ความสนุกสนาน ใช้เวลาร่วมกับครอบครัวแล้ว ยังช่วยให้เกิด Power BQ หลายด้านทั้งความฉลาดจากการเล่น Play Quotient (PQ)  ความฉลาดทางสติปัญญา Intelligenct Quotient (IQ) และ Thinking Quotient (TQ) ฉลาดคิดเป็น ผ่านการคิดวางแผนเพื่อให้การเดินของตัวเองได้เปรียบ และการบล็อคเส้นทางเดินฝ่ายตรงข้าม ทั้งยังช่วยสร้างจินตนาการให้ลูกมี Creativity Quotient (CQ) ด้วยการตั้งคำถามจากเกม รวมถึงต่อยอดชวนลูกไปทำกิจกรรมอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการเรียนรู้ที่ไม่สิ้นสุดอีกด้วย


>แวะไปดู รอยยิ้มหวานฉ่ำ ที่มีแจกฟรีทุกวันได้ที่เฟซบุ๊ค

หมุนรอบลูก – พี่ปูนปั้น กับ น้องปั้นแป้ง นะครับ<<

ติดตามเพจหมุนรอบลูก

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

บทความอื่นๆ ที่น่าสนใจ

รีวิว Quoridor และ Pylos เกมส์ไม้ เสริมพัฒนาการ โดยพ่อเอก

ชวนเล่น! Splendor จุดประกายลูก สนุกกับบอร์ดเกม โดย พ่อเอก

 

Monopoly เกมเศรษฐี บอร์ดเกมยอดฮิต ฝึกลูกวางแผนการเงิน โดยพ่อเอก

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up