PTSD

PTSD ในเด็ก วิธีรับมือ-ดูแลลูก หลังเจอเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต

event
PTSD
PTSD

ลักษณะเหตุการณ์ที่สามารถทำให้เด็กเกิดความสะเทือนใจ

ตัวอย่างที่ชัดเจน คือ สึนามิ เมื่อปี 47 ที่พบว่า มีอัตราของ PTSD สูง กรณีอื่นๆที่ทำให้เกิด PTSD ได้ เช่น เด็กอยู่ในรถที่ประสบอุบัติเหตุรุนแรง เป็นต้น ส่วนความเครียดที่เกิดจากความสูญเสีย พลัดพราก ที่คนเราทุกคนเจอได้ เช่น คนอันเป็นที่รักเสียชีวิต หรือ สัตวเลี้ยงตาย ไม่ทำให้เกิด PTSD ยกเว้น เด็กอยู่ในเหตุการณ์รุนแรงที่ทำให้เกิดความตายนั้นด้วยตนเอง

 Must read : สมาคมจิตแพทย์ฯ แนะวิธีเยียวยาจิตใจ รับมือกับความสูญเสีย

วิธีสังเกต PTSD ในเด็ก

ระดับความรุนแรงของเหตุการณ์ต้องสูงมาก เป็นเหตุการณ์ที่คนทั่วไป ไม่ได้มีโอกาสเผชิญ และเด็กอยู่ในเหตุการณ์ด้วยตนเอง เช่น สึนามึ แผ่นดินไหว หรือ การประสบอุบัติเหตุที่รุนแรง กรณีที่เด็กผ่านเหตุการณ์ที่อาจนำไปสู่ การบาดเจ็บด้านจิตใจ ผู้ปกครองต้องคอยสังเกตอาการ ดังต่อไปนี้

  • มีพฤติกรรมถดถอยกลับไปเป็นเด็กเล็กๆ
  • เงียบ แยกตัว
  • เล่นสมมติที่แสดงออกถึงความรุนแรง
  • ความกังวล นอนหลับไม่สนิท ฝันร้าย ตื่นตกใจง่าย
  • หลีกเลี่ยงการไปในบางสถานที่ หรือ หลบออกจากบางสถานการณ์ ที่อาจทำให้ย้อนนึกถึงเหตุการณ์รุนแรง
  • ขาดสมาธิ ผลการเรียนแย่ลง การเข้าสังคมแย่ลง

PTSD

วิธีเยียวยาจิตใจลูก ที่พ่อแม่ทำได้

ปัญหาหลักของความเครียดที่เกิดขึ้น คือ ความไม่มั่นใจในความปลอดภัย มีความวิตกกังวลสูง หากเด็กแสดงออกถึงความกังวลดังกล่าว ไม่ว่าด้วยคำพูดหรือท่าทาง คุณพ่อคุณแม่ ต้องแสดงความเข้าใจ และเห็นอกเห็นใจ คำพูดว่า “อย่ากลัว” เป็นคำพูดที่ไม่ช่วยเด็ก เพราะอย่างไรตามเด็กก็จะยังกลัวอยู่ดี หากพ่อแม่พูดเช่นนั้นเด็กอาจรู้สึกว่า พ่อแม่ไม่เข้าใจความรู้สึกและอาจจะไม่ปกป้องตนเอง อาจส่งผลให้เด็กพยายามไม่แสดงออกถึงความกลัวกังวลของตนเองให้พ่อแม่เห็นอีก

เมื่อเด็กพูดถึงเหตุการณ์ดังกล่าว ควรให้เด็กพูดระบาย ให้เด็กได้แสดงออกถึงความรู้สึก ไม่ปิดกั้น ไม่เบี่ยงเบนประเด็ บ่อยครั้งพ่อแม่เองรู้สึกกังวล จึงพยายามเบี่ยงเบนเด็กออกไปเรื่องอื่น  ทำให้ความวิตกกังวลของเด็กไม่ได้รับการจัดการ คุณพ่อคุณแม่มีบทบาทในการฟังอย่างตั้งใจ โดยคอยปรับความคิดและประคับประคอง แสดงให้เด็กมั่นใจได้ว่า จะปลอดภัย เช่น บอกว่า “ตอนนี้ หนูปลอดภัย จะไม่มีใครมาทำอะไรหนูได้ พ่อแม่ปกป้องหนูเสมอ” สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณพ่อคุณแม่ ต้องหนักแน่นมั่นคง ให้เด็กรับรู้ได้ว่า คุณพ่อคุณแม่เป็นที่พึ่งของเค้าได้

ปัญหาหลักของการบาดเจ็บทางด้านจิตใจแบบนี้ คือ  ความรู้สึกขาดความมั่นคงปลอดภัยในชีวิต เดินห้างอยู่ดีๆ ชีวิตก็ตกอยู่ในอันตรายถึงขีวิต ทำให้ช่วงแรกเด็กย่อมจะไม่มั่นใจว่า จะไม่มีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นมาอีกได้  ดังนั้นสิ่งสำคัญที่สุดคือ ทำให้เด็กรู้สึกมั่นคงปลอดภัยมากที่สุดเท่าที่ทำได้ ในช่วงแรกอาจต้องอยู่ด้วยตลอดเวลา ทั้งกลางวันและกลางคืน ในขณะที่ค่อยๆปรับให้ชีวิตเข้าสู่ภาวะปกติในชีวิตประจำวันให้เร็วที่สุด เช่น การไปโรงเรียน การออกนอกบ้าน การเผชิญกับสิ่งที่กลัว เช่นสถานที่บางสถานที่ ทีละน้อย เด็กอาจแสดงท่าทีหวาดผวา เช่น เวลาได้ยินสียงดัง ก็รู้สึกเหมือนเสียงปืน สิ่งที่ทำได้คือ เข้ามาอยู่ด้วย อธิบายว่า เสียงอะไร พร้อมให้ความมั่นใจอีกเช่นกัน

กรณีที่เด็กอาจหลีกเลี่ยงการออกจากบ้าน ปฎิเสธการไปโรงเรียน ควรแจ้งคุณครู แปะมือกับคุณครูให้เข้าใจปัญหาของเด็ก ดูแลแนวทางเดียวกันกับที่บ้าน คือให้ความรู้สึกมั่นคงปลอดภัย

 

แนวทางการรักษาจิตใจ เมื่อลูกประสบเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต

ในการพบแพทย์ เบื้องต้นแพทย์จะให้คำแนะนำคุณพ่อคุณแม่ในการดูแลเด็กที่บ้าน เพราะคุณพ่อคุณแม่คือบุคคลสำคัญที่สุดในการช่วยเหลือ ให้เด็กผ่านพ้นความเครียดนี้ไปได้ ส่วนกระบวนการบำบัดมีหลายแบบ ได้แก่ การปรับกระบวนการคิดและพฤติกรรม (cognitive behavioural therapy) หรือ การบำบัด โดย Eye movement desensitization and reprocessing (EMDR)   อย่างไรก็ตามในเด็กที่อายุน้อย พัฒนาการด้านภาษา ยังไม่ดีนัก อาจบำบัดโดยกระบวนการต่างๆ ลำบาก สามารถใช้การบำบัดผ่านการเล่น และในกรณีที่จำเป็น อาจจำเป็นต้องรับประทานยา เช่น กรณีที่มีภาวะซึมเศร้า หรือ วิตกกังวลสูง

 

…อย่างไรก็ดีจากที่คุณหมอได้กล่าวไว้ว่า ภาวะ PTSD ในเด็ก จะไม่เกิดขึ้นหากลูกได้รับการประคับประคอง ดูแลจิตใจที่ดี ซึ่งอาการหวาดกลัว ผวา สะเทือนใจหลังลูกเจอเหตุการณ์รุนแรงในชีวิต ไม่ใช่เรื่องที่จะเกิดขึ้นได้บ่อยครั้ง แต่หากครอบครัวไหนได้ประสบกับเหตุการณ์นั้นจริงๆ สิ่งสำคัญคือ คุณพ่อคุณแม่ต้องมีสติและควรศึกษาความรู้เกี่ยวกับการรับมือเมื่อเจอสถานการณ์แบบนี้ไว้บ้าง นั่นก็เพื่อความปลอดภัยกับชีวิตของตัวเองและลูกน้อยนะคะ

ขอบคุณคำแนะนำดีๆ จาก แพทย์หญิงโสรยา ชัชวาลานนท์
จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

 

 อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up