ลดหย่อนภาษี

แม่ต้องรู้! ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์-คลอดบุตร ได้เท่าไหร่?

Alternative Textaccount_circle
event
ลดหย่อนภาษี
ลดหย่อนภาษี

รู้ยัง? แม่ ๆ สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรไป ลดหย่อนภาษี เพื่อแบ่งเบาภาระในการชำระภาษีได้ด้วยนะ ลดหย่อนได้เท่าไหร่? มีเงื่อนไขอะไรบ้าง? ยื่นลดหย่อนอย่างไร? มาดูกัน

แม่ต้องรู้! ลดหย่อนภาษี ฝากครรภ์-คลอดบุตร ได้เท่าไหร่?

ราชกิจจานุเบกษา ประกาศประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร เมื่อวันที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2561 ได้ประกาศให้นำค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร มาลดหย่อนภาษีได้สูงสุด 60,000 บาทต่อปี โดยมีใจความสำคัญในราชกิจจานุเบกษา ดังนี้

“(99) เงินได้เท่าที่ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายเป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรของตน
ตามจํานวนที่จ่ายจริงสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวแต่ไม่เกินหกหมื่นบาท หากการจ่ายค่าฝากครรภ์
และค่าคลอดบุตรสําหรับการตั้งครรภ์แต่ละคราวมิได้จ่ายในปีภาษีเดียวกัน ให้ได้รับยกเว้นภาษี
ตามจํานวนที่จ่ายจริงในแต่ละปีภาษี แต่เมื่อรวมกันแล้วต้องไม่เกินหกหมื่นบาท ทั้งนี้ สําหรับเงินได้
พึงประเมินที่ได้รับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2561 เป็นต้นไป และให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ
และเงื่อนไขที่อธิบดีประกาศกําหนด”

อ่านฉบับเต็มได้ที่ ราชกิจจานุเบกษา

ตามประกาศ สรุปรายละเอียดได้ว่า สำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่ไม่ได้เบิกค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรจากแหล่งอื่น เช่น สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ สามารถนำค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรที่จ่ายไปตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2561 เป็นต้นไป มาลดหย่อนภาษีได้ตามที่จ่ายจริงในการตั้งครรภ์แต่ละครั้ง สูงสุดไม่เกิน 60,000 บาท โดยมีเงื่อนไข ดังนี้

ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการฝากครรภ์-คลอดบุตร รวมถึงค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง?

จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากโรงพยาบาลรัฐบาล หรือโรงพยาบาลเอกชน อันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ทั้งตรวจครรภ์ รับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด ค่ากินอยู่ภายในโรงพยาบาล รวมถึงค่าขูดมดลูก (ในกรณีแท้งบุตร) ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่ ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องเกี่ยวกับการตั้งครรภ์ ก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้

ใครที่มีสิทธิหักลดหย่อนภาษี?

ผู้มีเงินได้ทุกคนที่ได้ชำระค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร โดยผู้ที่มีสิทธิที่จะได้ ลดหย่อนภาษี ในกรณีสามีภริยา จะมีเงื่อนไข ดังนี้

  • สามีมีเงินได้ ภรรยาไม่มีเงินได้ ยื่นรวมกัน – สามีมีสิทธิในการนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
  • สามีไม่มีเงินได้ ภรรยามีเงินได้ ยื่นรวมกัน – ภรรยามีสิทธิในการนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
  • สามีและภรรยามีเงินได้ แยกยื่น – สิทธิในการลดหย่อนภาษีจะอยู่ที่ภรรยาเท่านั้น โดยลดหย่อนได้สูงสุดไม่เกินท้องละ 60,000 บาท
  • ในกรณีที่ไม่ได้จดทะเบียนสมรส สิทธิในการลดหย่อนภาษีจะอยู่ที่ภรรยาแต่เพียงผู้เดียว
ค่าคลอดบุตร
ค่าคลอดบุตร

เบิกค่าใช้จ่ายจากสิทธิอื่น ๆ ได้แล้ว จะสามารถนำค่าใช้จ่ายมาลดหย่อนได้อีกหรือไม่?

ถ้าคุณพ่อคุณแม่มีสิทธิสวัสดิการเบิกค่าฝากครรภ์หรือค่าคลอดบุตรจากแหล่งอื่น ๆ เช่น สิทธิประกันสังคม สวัสดิการข้าราชการ สิทธิจากหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) ฯลฯ ก็สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์ และคลอดบุตร มา ลดหย่อนภาษี ได้ แต่เพดานสิทธิที่จะนำมาลดหย่อนจะต้องหักออกจากเงินค่าใช้จ่ายที่ได้รับจากสิทธิสวัสดิการที่ได้รับมาก่อน

เช่น คุณพ่อคุณแม่ที่ได้รับค่าคลอดบุตรจากประกันสังคมเป็นเงิน 13,000 บาท เพดานสิทธิที่จะนำมาลดหย่อนภาษีได้ จะถูกลดเหลือ 47,000 บาท (เพดานสิทธิ 60,000 – สวัสดิการที่เบิกได้ 13,000 บาท) คือ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝากครรภ์และคลอดบุตรมาลดหย่อนได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 47,000 บาท เป็นต้น

ท้องปีนี้ คลอดปีหน้า หักลดหย่อนอย่างไร?

ถ้าเป็นค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ไม่ได้เกิดขึ้นในปีภาษีเดียวกันแบบนี้ จะได้รับสิทธิลดหย่อนตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีที่ใช้ แต่รวมกันแล้วต้องไม่เกิน 60,000 บาท (เพราะถือว่าเป็นการตั้งครรภ์และคลอดบุตรในคราวเดียวกัน)

เช่น ในปี 2562 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 10,000 บาท ก็จะสามารถหักลดหย่อนภาษีปี 2562 ได้ 10,000 บาท ส่วนอีก 50,000 บาท สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีเมื่อคลอดบุตรในปี 2563 ได้

หรือกรณี ปี 2561 จ่ายค่าฝากครรภ์ไปจำนวน 25,000 บาทแล้ว พอมาปีนี้ (2562) จ่ายค่าคลอดบุตรไป 45,000 บาท แต่เราสามารถนำค่าคลอดบุตรมาลดหย่อนภาษีปี 2562 ได้เพียง 35,000 บาทเท่านั้น เพราะการตั้งครรภ์ในแต่ละคราวจะลดหย่อนภาษีได้ไม่เกิน 60,000 บาท

หากคลอดลูก 2 คนในปีภาษีเดียวกัน หักลดหย่อนภาษีได้เท่าไหร่?

สามารถใช้สิทธิแต่ละคราวหรือท้องละไม่เกิน 60,000 บาท ดังนั้น สามารถใช้สิทธิได้ 120,000 บาท เช่น หากจ่ายค่าคลอดบุตรต้นปี 2562 เป็นเงิน 60,000 บาท ปลายปีจ่ายค่าฝากครรภ์บุตรคนที่ 2 อีก 60,000 บาท ก็จะได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 120,000 บาท

ท้องแฝดหักลดหย่อนได้เท่าไหร่?

ได้รับสิทธิลดหย่อนภาษีได้ 60,000 บาท เนื่องจากเป็นการตั้งครรภ์เพียงคราวเดียว

ใช้เอกสารอะไรบ้าง?

สำหรับเอกสารที่จะใช้ประกอบในการหักลดหย่อนภาษีสำหรับค่าคลอดบุตรและค่าฝากครรภ์ จะต้องมีเอกสารดังต่อไปนี้

  1. ใบรับรองแพทย์ จากแพทย์ซึ่งได้ขึ้นทะเบียนรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมที่ได้ตรวจและแสดงความเห็นว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสมีภาวะตั้งครรภ์
  2. ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่า ผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตรให้แก่สถานพยาบาล
ค่าฝากครรภ์
ค่าฝากครรภ์

คำถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับสิทธิในการ ลดหย่อนภาษี

1.หากจ่ายค่าฝากครรภ์ เป็นเงิน 30,000 บาท ต่อมาแท้งบุตรต้องขูดมดลูกจำนวน 40,000 บาท สามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีได้บุคคลธรรมดาเท่าใด
ตอบ : ได้รับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาทั้งค่าฝากครรภ์และค่าขูดมดลูก แต่ต้องไม่เกิน 60,000 บาท

2. กรณีฝากครรภ์แล้วภายหลังตรวจพบว่าบุตรในครรภ์ไม่สมบูรณ์ แพทย์จำเป็นต้องนำทารกออกจากครรภ์ (ยุติการตั้งครรภ์) สามารถใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่

ตอบ : ได้ เนื่องจากค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจากการรักษาพยาบาลอันเนื่องมาจากการตั้งครรภ์และคลอดบุตร ไม่ว่าจะเป็นค่าตรวจและรับฝากครรภ์ ค่าบำบัดทางการแพทย์ ค่ายาและค่าเวชภัณฑ์ ค่าทำคลอด และค่ากินอยู่ในสถานพยาบาล ทั้งนี้ ไม่ว่าทารกที่คลอดจะมีชีวิตรอดหรือไม่

3. กรณีตั้งครรภ์และแท้งเอง และตั้งครรภ์ใหม่ในปีภาษีเดียวกัน ลดหย่อนได้เท่าใด
ตอบ : ใช้สิทธิลดหย่อนได้ทั้ง 2 ครั้งๆ ละ ไม่เกิน 60,000 บาท

4. ค่าขูดมดลูกกรณีแท้งจากครั้งก่อน ถือเป็นค่าฝากครรภ์ที่ได้รับสิทธิลดหย่อนหรือไม่
ตอบ : ได้ ถือเป็นค่าบำบัดทางการแพทย์ ตามความหมายของค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ตามประกาศอธิบดีฯ ภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 331)

5. กรณีต่างฝ่ายต่างมีเงินได้แยกยื่นแบบ ใบเสร็จรับเงินค่าฝากครรภ์และคลอดบุตรออกมาในชื่อสามี ภริยาใช้สิทธิลดหย่อนได้หรือไม่
ตอบ : ได้ ใบเสร็จรับเงินหรือหลักฐานอื่นใดที่แสดงว่าผู้มีเงินได้หรือคู่สมรสได้จ่ายค่าฝากครรภ์

6. ค่าตรวจครรภ์ที่คลินิก สามารถนำมาลดหย่อนค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร ได้หรือไม่
ตอบ : หากคลินิกดังกล่าวเป็นสถานพยาบาลแบบไม่มีเตียงตาม พ.ร.บ. สถานพยาบาล พ.ศ.2541 สามารถนำมาใช้สิทธิได้

7. กรณีการยกเว้นค่าคลอดบุตร ชาวต่างชาติได้รับสิทธิด้วยหรือไม่
ตอบ : หากชาวต่างชาติ (มารดา) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้

8. กรณีผู้มีเงินได้เป็นชาวต่างชาติ และภริยาเป็นคนไทยไม่มีรายได้ ชาวต่างชาติผู้มีเงินได้สามารถใช้สิทธิลดหย่อนค่าฝากครรภ์ ค่าคลอดบุตร และลดหย่อนบุตรคนที่ 2 เพิ่ม ได้หรือไม่
ตอบ : หากชาวต่างชาติ (บิดาผู้มีเงินได้) ยื่นแบบเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในไทย และบุตรคนที่ 2 มีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สามารถนำมาใช้สิทธิได้

9. กรณีฝากครรภ์และคลอดบุตรที่ได้ลดหย่อนภาษี รวมถึงค่าใช้จ่ายอย่างอื่นด้วยหรือไม่ เช่น ค่านม ค่าของใช้ที่เกี่ยวกับการคลอดบุตร ค่าเดินทาง เป็นต้น
ตอบ : ไม่รวม เนื่องจากไม่เป็นค่าฝากครรภ์และค่าคลอดบุตร

สำหรับท่านใดที่มีข้อสงสัยหรือต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อได้ที่ สายด่วนกรมสรรพากร 1161 ในเวลาทำการ 08.30 – 18.00 น.

นอกจากสิทธิในการหัก ลดหย่อนภาษี แล้ว คุณพ่อคุณแม่ยังสามารถหักลดหย่อนภาษีค่าเลี้ยงดูบุตรได้คนละ 30,000 บาท สำหรับบุตรคนแรก และ 60,000 บาท สำหรับบุตรคนที่ 2 เป็นต้นไปได้อีก (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ พ่อแม่เฮได้! เพิ่มค่าลดหย่อนภาษี “ลูกคนที่ 2) ทั้งนี้ มาตรการในการลดหย่อนภาษีนี้ ก็เพื่อกระตุ้นให้ประชาชนมีลูกกันมากขึ้น และเพื่อเป็นการช่วยแบ่งเบาภาระของคุณพ่อและคุณแม่ไปอีกทางหนึ่งด้วย

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ลดหย่อนภาษี ปี 2563 สิทธิประโยชน์ที่พ่อแม่ต้องรู้

รวม 5 สิทธิประโยชน์ ลดหย่อนภาษี คู่สมรส

วิธี เช็คสิทธิ์ประกันสังคม ง่ายๆ แต่ละมาตรา 33 39 40 ต่างกันอย่างไร?

ตรวจรักษาโควิด ด้วยสิทธิบัตรทองและประกันสังคม

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : กรมสรรพากร, tigersoft.co.th, money.kapook.com, www.itax.in.th

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up