อาการไข่ตก

เตรียมท้องได้เลยจ้า! 5 สัญญาณบ่งบอก อาการไข่ตก ที่สำคัญต่อการตั้งครรภ์

Alternative Textaccount_circle
event
อาการไข่ตก
อาการไข่ตก

สำหรับคุณผู้หญิงที่เตรียมตัวเป็นคุณแม่ นอกจากการเตรียมสุขภาพร่างกายให้พร้อมต่อการตั้งครรภ์ การวางแผนมีลูกด้วยการนับวันไข่ตกจากรอบประจำเดือนและสังเกตร่างกายตัวเองว่ามี อาการไข่ตก เพื่อให้ได้วันเหมาะเจาะในการชวนสามีมากุ๊กกิ๊กกันก็สำคัญไม่น้อย

เตรียมท้องได้เลยจ้า! “ภาวะไข่ตก” สำคัญต่อการตั้งครรภ์อย่างไร?

นับวันไข่ตก

“ไข่ตก” คือ ภาวะสุขภาพที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงเป็นประจำทุกเดือน การนับวันไข่ตกจะนับในช่วงประมาณ 2 สัปดาห์ก่อนที่ประจำเดือนรอบใหม่จะมา เช่น รอบเดือนจะมาทุก ๆ 28 วันเสมอ วันไข่ตกก็อยู่ในช่วงวันที่ 14 ของรอบเดือน (นับวันที่ประจำเดือนมาวันแรกเป็นวันที่ 1 ของรอบเดือน) เมื่อนับวันได้แล้วก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ในช่วงก่อนวันตกไข่ประมาณ  2  วัน คือ ตั้งแต่วันที่ 12 ของรอบเดือน เพราะอสุจิจะมีชีวิตรอผสมไข่อยู่ได้ประมาณ 2 วันก่อนการตกไข่

ในช่วงภาวะไข่ตก ร่างกายจะมีระดับฮอร์โมนลูทิไนซิงสูงขึ้น ร่างกายพร้อมต่อการเจริญพันธุ์อย่างเต็มที่ ส่งผลให้รังไข่ปล่อยไข่ที่สุกรอการปฏิสนธิอยู่ที่ปลายท่อนำไข่ภายใน 12-24 ชั่วโมง ระหว่างนี้ร่างกายจะมีมูกช่องคลอดลื่นและใสขึ้น เพื่อช่วยให้อสุจิเข้ามาผสมกับไข่ได้ง่าย ดังนั้นช่วงนี้ว่าที่คุณแม่สะกิดสามีได้เลย เพราะเป็นช่วงเหมาะเจาะสำหรับการกุ๊กกิ๊กเพื่อให้สเปิร์มของพ่อวิ่งไปปฏิสนธิกับไข่ของแม่ เมื่อสำเร็จก็จะกลายเป็นตัวอ่อนในท้องคุณแม่ และร่างกายจะผลิตโปรเจสเตอโรนออกมาเรื่อย ๆ เพื่อสร้างเยื่อบุมดลูกให้หนาขึ้น เพื่อรองรับการเติบโตของตัวอ่อนในครรภ์จนกระทั่งเกิดรก แต่หากไข่ไม่ได้ปฏิสนธิกับอสุจิ ระดับฮอร์โมนดังกล่าวก็จะลดลง และไข่จะสลายตัวเมื่อผ่านไป 24 ชั่วโมง เยื่อบุมดลูกก็จะสลายหลังจากผ่านช่วงไข่ตกไปประมาณ 12-16 วัน ก็จะกลายเป็นเลือดประจำเดือนแล้วกลับไปเริ่มต้นนับรอบเดือนใหม่

การนับวันไข่ตกจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการวางแผนมีลูกสำหรับว่าที่คุณแม่ไม่น้อยเพราะโอกาสจากการ “ไข่ตก” เกิดขึ้นแค่เดือนละครั้งเท่านั้น ถ้าพลาดในเดือนนี้ก็จะต้องรอการตกไข่รอบใหม่ในอีก 1 เดือน ดังนั้นการนับวันไข่ตกที่แน่นอน ก็จะช่วยกำหนดวันมีเพศสัมพันธ์ที่เพิ่มโอกาสมีลูกมากขึ้น แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ 100% เสมอไปด้วย เนื่องจากภาวะการตกไข่ในแต่ละเดือนมีความแตกต่างกันของจำนวนวัน ทั้งยังปัจจัยต่าง ๆ เช่น ความเครียด อาหาร สภาวะแวดล้อม การพักผ่อน และการทำกิจกรรมต่าง ๆ ซึ่งอาจส่งผลให้การตกไข่ในแต่ละเดือนไม่ตรงเสมอไป รวมถึงการคำนวณวันตกไข่ที่แม่นยำนั้นใช้ได้กับผู้หญิงที่มีรอบเดือนสม่ำเสมอเท่านั้น

5 สัญญาณบ่งบอก อาการไข่ตก เป็นอย่างไร

นอกจากอาศัยการนับวันไข่ตกจากรอบประจำเดือนแล้ว ยังสามารถสังเกตสัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายของผู้หญิงอยู่ในช่วงไข่ตก เพื่อที่จะได้กะวันตกไข่ได้ใกล้เคียงมากยิ่งขึ้น ได้แก่

อาการไข่ตกเป็นอย่างไร

1.การเปลี่ยนแปลงของมูกช่องคลอด

เมื่อใกล้ตกไข่ ร่างกายจะหลั่งของฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนมากขึ้น ส่งผลให้มูกที่ช่องคลอดมีลักษณะเปลี่ยนไปคล้ายไข่ขาวดิบหรือคล้ายวุ้น มีความข้นเหนียวและลื่นหลั่งออกมา ทำให้อสุจิผ่านเข้าไปปฏิสนธิกับไข่ได้ง่าย หรือบางครั้งมีเลือดออกจากช่องคลอดนิดหน่อยเป็นเวลา 1-2 วัน

2.รู้สึกตัวร้อนขึ้นเล็กน้อย

โดยส่วนมากแล้วอุณหภูมิของร่างกายในช่วงก่อนวันตกไข่จะค่อนข้างคงที่ แต่ในระหว่างการตกไข่ ร่างกายจะมีฮอร์โมนโปรเจสเตอโรนเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลให้อุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นเล็กน้อยประมาณ 0.5 องศาเซลเซียส ทำให้รู้สึกเหมือนตัวอุ่นขึ้นเล็กน้อย ในช่วงนี้ถ้าหากเราได้ทำการนับวันไข่ตกแล้ว การวัดอุณหภูมิตัวเองด้วยปรอทวัดไข้หลังตื่นนอนตอนเช้าก่อนลุกทำกิจกรรมอื่น ๆ และมีการจดบันทึกอุณหภูมิร่างกายติดต่อกัน 2-3 เดือนเพื่อดูแนวโน้มที่ชัดเจนของวันตกไข่ในแต่ละเดือน ถ้าอุณหภูมิร่างกายสูงขึ้นในช่วงนี้แสดงว่าอยู่ในระยะไข่ตกก็ช่วยให้ว่าที่คุณพ่อคุณแม่วางแผนปฏิบัติภารกิจมีลูกได้ใน 1-2 วันนั้น

3.ปากมดลูกมีการเปลี่ยนแปลง

ในช่วงของการตกไข่ช่องคลอดมีความอ่อนนุ่มเป็นพิเศษ เต่งอูมขึ้น มีความเปียกชื้น และตำแหน่งของปากมดลูกจะเลื่อนสูงขึ้น และเปิดออกมากกว่าเดิม โดยส่วนใหญ่อาจจะต้องใช้เวลาสังเกตกับการเปลี่ยนแปลงในจุดนี้เพื่อแยกความแตกต่างในช่วงเวลาที่ปกติกับในช่วงที่มีการตกไข่

4.รู้สึกมีความต้องการทางเพศเพิ่มขึ้น

ในช่วงเวลาไข่ตกของผู้หญิงจะส่งผลให้มีอารมณ์ทางเพศเพิ่มขึ้น และมีเลือดมาหล่อเลี้ยงบริเวณช่องคลอด รวมถึงมีการสร้างของเหลวหล่อลื่นมากเป็นพิเศษเพื่อช่วยให้มีเพศสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้น

5.ปวดท้องน้อย

ในขณะที่มีการตกไข่อาจทำให้รู้สึกปวดในส่วนล่างของช่องท้องหรือปวดท้องน้อยอ่อน ๆ ข้างใดข้างหนึ่งขึ้นมาได้ จะเป็นด้านซ้ายหรือขวาขึ้นอยู่กับเดือนที่มีไข่ตก ซึ่งจะตกสลับข้างกันในแต่ละเดือน ไม่ปวดซ้ำข้างเดิมในแต่ละครั้ง อาการดังกล่าวมักไม่รุนแรงอาจเกิดขึ้นระยะสั้น ๆ หรือนานเป็นชั่วโมง และอาจมีเลือดออกทางช่องคลอด มีตกขาว หรือคลื่นไส้ร่วมด้วย แต่หากมีอาการผิดปกติรุนแรงขึ้นควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจอาการ เพราะอาจเป็นสัญญาณของอาการอื่น ๆ ได้ เช่น ภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ ซีสต์ในรังไข่ เป็นต้น

นอกจากสัญญาณหลัก ๆ ที่เกิดขึ้นแล้ว ระหว่างที่ไข่ตกฮอร์โมนจะมีการเปลี่ยนแปลง ส่งผลต่อร่างกายและอารมณ์ของผู้หญิงในหลาย ๆ ด้าน เช่น รู้สึกปวดหัว เจ็บหน้าอก ขาไม่มีแรง ท้องอืดแน่นท้อง อารมณ์ไม่คงที่ หงุดหงิดง่าย ไวต่อการรับกลิ่น รับรส เป็นต้น อาการเหล่านี้อาจเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเท่านั้น ผู้หญิงแต่ละคนจะพบสัญญาณอาการทางร่างกายแตกต่างกันไป บางคนมีวงจรการไข่ตกที่เกิดขึ้นระยะเดียวกันของทุกรอบเดือน ๆ ในทุกเดือน บางคนก็อาจจะมีคลาดเคลื่อนไปบ้าง ในขณะที่บางคนอาจไม่รู้สึกว่ามีอาการเหล่านี้เกิดขึ้นเลยก็ได้

อย่างไรก็ตามการเรียนรู้สัญญาณที่บ่งบอกว่าร่างกายอยู่ในภาวะตกไข่ในช่วงแรก ๆ อาจจะอยากซักหน่อย แต่เมื่อถึงเวลาและตั้งใจวางแผนมีลูกแล้ว เชื่อว่าการมีความเข้าใจในเรื่องนี้จะช่วยให้ว่าที่คุณแม่หลายคนเริ่มเข้าใจร่างกายตัวเองได้มากขึ้นและรู้ได้ทันทีถึงสัญญาณเหล่านี้ เพื่อเตรียมกากบาทลงในปฏิทินสำหรับวันที่จะชวนว่าที่คุณพ่อมาฟีเจอริ่งเพื่อให้มีเจ้าตัวน้อยให้เข้ากับจังหวะในแต่ละรอบเดือน เพราะว่าจะประสบผลสำเร็จในการตั้งครรภ์ได้เร็วและง่าย ขึ้นอยู่กับภาวะ “ไข่ตก” นี่แหละค่ะ ทั้งนี้หากลองวิธีการนี้แล้วไม่ได้ผล อาจปรึกษาคุณหมอในเรื่องของการมีบุตรยากเพื่อวิเคราะห์ปัญหาของสภาพร่างกายทั้งสามีและภรรยาต่อไป.

ขอบคุณข้อมูลอ้างอิงจาก : www.pobpad.comwww.multimedia.anamai.moph.go.thwww.maveta.com www.phyathai.com

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

แนะ 5 แอพนับวันไข่ตก ช่วยมีลูกได้!

อยากมีลูกต้องทำไง ? ลอง 9 วิธีแบบธรรมชาติและวิทยาศาสตร์ ลูกมาแน่

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up