ลงโทษลูกอย่างไร

9 วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด ลงโทษลูกอย่างไร ถ้าไม่ตี!

event
ลงโทษลูกอย่างไร
ลงโทษลูกอย่างไร

(ต่อ : ลูกทำผิดจะสอน หรือ ลงโทษลูกอย่างไร ถ้าไม่ตี!) ซึ่งจากการศึกษาวิจัยพบว่าประโยชน์ระยะสั้นของการตี สร้างความเสี่ยงหลายอย่างในระยะยาวให้เด็ก ได้แก่

1. การตีจะเพิ่มความรุนแรง ความก้าวร้าวและพฤติกรรมต่อต้านสังคมให้มีมากยิ่งขึ้น

2. เด็กจะเข้าใจว่าการใช้กำลังเป็นวิธีตัดสินความขัดแย้งที่ดีที่สุด

3. เด็กจะไม่ยอมเรียนรู้วิธีจัดการความโกรธและอารมณ์หงุดหงิดด้วยวิธีอื่นๆ ที่รุนแรงน้อยกว่า (เพราะเขาเรียนรู้จากตัวอย่างวิธีรุนแรงที่พ่อแม่ทำให้ดูแล้ว)

4. การตีเป็นการแสดงการใช้อำนาจในทางที่ผิดของคนตัวโตที่มีกำลังมากกว่าต่อคนตัวเล็กๆ ที่กำลังน้อยกว่า

5. การตียังอาจเป็นเหตุของการบาดเจ็บที่รุนแรงในเด็กแม้จะไม่ได้เจตนา โดยเฉพาะตีเพราะโกรธหรือโมโห

6. แม้จะตีหลังจากอารมณ์โกรธลดลงแล้ว ร่างกายลูกอาจไม่เป็นอะไร แต่จะยิ่งทำให้เด็กสงสัยกว่าการถูกตีทันที หลังจากที่ทำผิด ซึ่งก็สร้างความรุนแรงทางใจได้ไม่น้อยแถมยังใช้ขัดเกลานิสัยเด็กไม่ได้อีกด้วย

… โดยจริงๆ ผู้เชี่ยวชาญหลายคนก็บอกว่า ไม่มีคำตอบที่ชัดเจนหรอกว่าตีตอนเกิดเหตุเลยกับตีหลังจากเหตุจบไปแล้วอะไรจะแย่กว่ากัน

ลงโทษลูกอย่างไร

ถ้าไม่ตีแล้วจะฝึกวินัย หรือ ลงโทษลูกอย่างไร ถึงจะดี?

และสำหรับคุณพ่อคุณแม่ที่สงสัยว่าแล้วถ้า ลูกทำผิด หรือ ลูกดื้อ ไม่เชื่อฟัง แต่ไม่ให้ตี แล้วจะ ลงโทษลูกอย่างไร ดี? เรื่องนี้ คุณหมอโอ๋ เจ้าของเพจ เลี้ยงลูกนอกบ้าน ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับ วิธีสอนลูก เมื่อลูกทำผิด ถ้าไม่ตีลูก พ่อแม่จะทำอะไรได้บ้าง มีอยู่ 9 ข้อด้วยกัน ดังนี้…

  1. ให้ทางเลือก = เราทุกคนอยากรู้สึกมีอำนาจ เพราะไม่ชอบถูกบังคับ แทนการตี ลองให้ลูกมีอำนาจโดยให้ทางเลือกที่เหมาะสม “หนูจะหยุดกระโดดบนโซฟา หรือจะลงมากระโดดบนพื้น” “หนูจะปิดหน้าจอเองหรือจะให้แม่ปิด”
  2. ให้เรียนรู้ผลที่เกิดตามธรรมชาติ = เช่น แทนการตีลูกที่ไม่ยอมกินข้าว ควรทำให้บรรยากาศการกินดีๆ แต่เก็บข้าวเมื่อเลยเวลา ปล่อยให้ลูกหิวได้ และไม่มีอะไรให้จนกว่าจะถึงมื้อหน้า “การหิว” ที่เป็นผลลัพธ์ที่ลูกต้องเรียนรู้ตามธรรมชาติ
  3. ให้เรียนรู้ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากการกระทำ = เช่น ถ้าไม่รีบทำการบ้าน ก็ลดเวลาที่ดูทีวีลงถ้าไม่นั่งคาร์ซีท ก็ยังไม่ออกจากบ้าน หรือ ถ้าลงไปร้องดิ้นไม่หยุด แม่ก็จะพากลับบ้านก่อน
  4. ให้รับผิดชอบกับการกระทำนั้น = เช่น แทนการตีลูกที่ทำน้ำหก ให้ฝึกเอาผ้ามาเช็ดน้ำที่ทำหก หรือ หักค่าขนมชดเชยที่ทำของหาย ลดเวลาดูทีวีเมื่อทำการบ้านไม่เสร็จตามเวลา เป็นต้น
  5. สอน และบอกให้ทำ = เด็กต้องการแค่การสอน พูดบอก หรืออธิบายว่าควรทำอะไร โดยไม่ต้องใช้อารมณ์และความรุนแรง พ่อแม่ที่สอนด้วยอารมณ์สงบ สมองส่วนคิดเปิด จะสอนลูกได้ง่ายกว่า
  6. “กอด” ช่วยลูกสงบอารมณ์ = แทนการตี ขู่ ลูกที่กำลังร้องไห้แล้วสั่งให้หยุด เราอาจใช้วิธี กอดลูกให้สงบ แสดงความเข้าใจ (โดยไม่ต้องตามใจ) “ไม่มีเด็กที่รู้สึกดีขึ้นแล้วจะไม่หยุดร้องไห้”
  7. สงบ = เช่น แทนการโมโหหรือตีที่ลูกเถียง เราอาจเลือกใช้ความสงบ ไม่ตอบโต้ในบทสนทนาที่ไม่มีประโยชน์”ลูกไม่เถียงคนเดียว”หรือใช้การสงบ เมื่อลูกโวยวายร้องไห้ บอกสั้นๆ ว่าแม่ “รอหนูดีขึ้น”
  8. มองหาที่มาและแก้ปัญหา = พ่อแม่ที่คิดแต่เรื่องจะ ลงโทษลูกอย่างไร มักมองที่พฤติกรรม โดยลืมหาสาเหตุของปัญหา เช่น แทนการตีลูกที่คะแนนไม่ดี อาจต้องมองหาว่าอะไรที่ทำให้ลูกทำไม่ได้ ปัญหาบางอย่างลูกต้องการคนช่วย “แก้ไข” ไม่ใช่ “ลงโทษ”
  9. ใส่ใจและให้ความรักมากขึ้น = หลายครั้งปัญหาดื้อปวดหัวของลูก จนต้องตีลูกบ่อยๆ เป็นจากการต้องการความรัก หรือจากการต่อต้านที่ไม่ได้รับความรัก แทนการตีลูก หันมาใส่ใจกับเวลาที่ให้ลูกให้มากขึ้น

ทั้งนี้คุณหมอโอ๋ยังได้ฝากให้คุณพ่อคุณแม่ได้อ่านและคิดก่อนที่จะ ลงโทษลูกอย่างไร ว่า…

  • วินัย ไม่ใช่แค่เรื่องของการลงโทษ
  • วินัยที่ดี เป็นการฝึกให้เด็กเรียนรู้เหตุผล เพื่อควบคุมตัวเอง “จากภายใน” ไม่ใช่ความกลัวภายนอก
  • เด็กที่มีความสุข เรียนรู้ได้ดีกว่าเด็กที่มีอารมณ์เจ็บปวด มากมายมหาศาล
  • สิ่งที่สอนเด็กได้ดีที่สุด คือ ผลที่เกิดขึ้นจริงจากการกระทำนั้น
  • ถ้าเราไม่โมโหคนตาบอดที่เดินช้า เราไม่โมโหคนหูหนวกที่พูดยังไงก็ไม่ได้ยิน เราก็ไม่ควรต้องตีเด็กๆ ที่สมองยังพัฒนาไม่เต็มที่ และก็มีข้อจำกัดตามธรรมชาติ
  • เด็กไม่น่ารักมักมีที่มา ลูกต้องการคนช่วยเหลือ ไม่ใช่คนคอยจ้องลงโทษหรือซ้ำเติม

ขอบคุณคำแนะนำจาก #หมอโอ๋เพจเลี้ยงลูกนอกบ้าน

นอกจากนี้ด้านสมาคมกุมารแพทย์ของสหรัฐอเมริกายังได้แนะนำ วิธี ลงโทษลูกอย่างไร ให้พ่อแม่เปลี่ยนไปสอนหรือตักเตือนลูกด้วยวิธีอื่นที่ไม่ใช่การตี หรือวิธีอื่นที่เป็นไปในทางบวก

ซึ่งหากการตีนั้นเพราะความโมโห เมื่อพ่อแม่อารมณ์ปกติแล้วควรอธิบายถึงสาเหตุการตี ลูกทำอย่างไรถึงถูกตี และตัวคุณรู้สึกโกรธมากอย่างไร รวมถึงขอโทษลูกด้วย (ใช้ได้ในกรณีที่เด็กโตพอที่จะเข้าใจเช่นกัน)

อย่างไรก็ดีผู้เชี่ยวชาญและพ่อแม่จำนวนไม่น้อยเห็นว่าบางกรณี เสียงตีดังเพี้ยะที่ฝ่ามือหรือที่ก้นอาจจำเป็นในสถานการณ์ที่อันตราย เพราะเป็นการส่งสัญญาณเตือนภัยไปยังเด็กที่เล็กเกินกว่าจะเข้าใจคำพูดได้ เช่น เมื่อเด็กวัยเตาะแตะเดินออกจากบ้านไปที่ถนนหรือเข้าใกล้เตาแก๊ส อย่างไรก็ตาม เมื่อเด็กๆ สามารถเข้าใจสิ่งต่างๆรอบตัวได้แล้ว การตีหรือวิธีใช้กำลังอื่นๆ ก็ไม่ควรใช้อีกต่อไป

นอกจากนี้ ถ้าไม่ใช่พ่อแม่แล้วบุคคลอื่นก็ไม่ควรใช้วิธี “ตี” กับเด็กเช่นกัน แม้การตีของพ่อแม่เกิดจากความรักความหวังดี แต่เด็กจะไม่รับรู้ความรู้สึกเช่นนั้นจากบุคคลอื่นแน่นอน เราควรกำชับกับทุกคนที่ใกล้ชิดดูแลลูกหรือเด็กๆ ไม่ว่าจะเป็นพี่เลี้ยงหรือครูว่าไม่ให้ตีหรือใช้กำลังกับพวกเขานะคะ

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก :

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up