เลี้ยงลูกให้เป็น “คนปกติ” ตามวัย

event

เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ

√ วิธีเอาชนะเมื่อถูกลูกตื๊อหนักๆ

บางเรื่องที่เราไม่สามารถให้ลูกได้จริงๆ เมื่อจำเป็นต้องปฎิเสธ เทคนิคที่ใช้กับเด็กได้ดีมากคือการเพิกเฉย ก่อนจะเพิกเฉยควรบอกลูกว่าแบบนี้ไม่เอาหรือไม่ได้ แล้วเพิกเฉยไปซะ ลูกก็จะเรียนรู้ว่าเขามีสิทธิ์ตื๊อใครก็ได้ แต่คนๆนั้น ก็มีสิทธิ์ที่จะปฎิเสธเหมือนกัน ยิ่งได้ฝึกฝนบ่อยๆเข้าลูกก็เริ่มเรียนรู้ว่าขอบเขตของพ่อแม่อยู่ตรงไหน

อ่าน 15 นาทีทุกวัน

เพราะฉะนั้นเด็กจะตื๊อ จะงอแง หรือาละวาด เขาทำได้หมด อยู่ที่พ่อแม่จะเกลาพฤติกรรมหรือตอบสนองเขาอย่างไร ถ้าพ่อแม่คุมอารมณ์ตัวเองไม่ได้ แล้วยอมลูกเพื่อตัดรำคาญ ก็จะเป็นการสอนให้ลูกรู้ว่าถ้าอยากได้ต้องตื๊อให้หนักๆ ต้องตื๊อในห้างตอนที่คนเยอะๆ ตื๊อตอนที่มีปู่ย่าอยู่ด้วย เด็กก็จะเรียนรู้ไปแบบนี้ เด็กก็จะรู้ด้วยนะว่าตื๊อตอนไหนแล้วจะได้

วัยประถม : ค้นหาตัวเอง

เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ

ในสมัยก่อนเราจะเคยได้ยินบ่อย ๆ ว่า ช่วงวัยรุ่นคือวัยแห่งการค้นหาตัวเอง แต่สำหรับยุคสมัยนี้การเริ่มต้นค้นหาตัวเองตอนวัยรุ่นก็ช้าไปเสียแล้ว เพราะเด็กที่ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่วัยประถม จะได้พัฒนาทักษะความสามารถของตัวเองอย่างต่อเนื่อง ไม่หลงทางหรือเกิดความกังวลเมื่อเข้าสู่ช่วงวัยรุ่น นอกจากนี้ตัวตนที่เขาค้นเจอ จะกลายเป็นสิ่งที่คอยยึดเหนี่ยวให้เขาผ่านพ้นช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อไปได้ด้วยดี

เพราะฉะนั้นในช่วงวัยประถมจึงไม่ใช่ช่วงเวลาแห่งการยัดเยียดวิชาการ แต่ควรให้เป็นช่วงเวลาพัฒนาทักษะความสามารถพิเศษที่นอกเหนือจากเรื่องการเรียน เช่น ให้ลูกได้ลองเล่นดนตรี ได้ไปเข้าค่าย หรือทำกิจกรรมที่หลากหลาย โดยไม่ใช่ลักษณะของการทำเพื่อแข่งขัน ไม่ยัดเยียดสิ่งที่ลูกไม่ชอบ และไม่ควรให้เรียนทักษะต่าง ๆ อย่างจริงจังจนเกิดความเครียด นอกเสียจากลูกอยากเรียนด้วยตัวเอง หากช่วงวัยประถมคุณพ่อคุณแม่ช่วยส่งเสริมลูกเช่นนี้ เมื่อถึงวัยรุ่นเขาจะอยากเรียนอย่างจริงจังและอยากแข่งขันด้วยตัวเอง โดยพ่อแม่ไม่ต้องกดดันเขาให้เหนื่อยเลยค่ะ

วัยรุ่นวัยแห่งอิสระ

เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ

วัยที่พ่อแม่จะเริ่มห่วงและกังวลจริงจังคงหนีไม่พ้นวัยรุ่น สมัยก่อนเราเชื่อว่าวัยรุ่นคือช่วงอายุ 13-14 ปี แต่ปัจจุบันเราพบว่าเด็กเริ่มมีพฤติกรรมเหมือนวัยรุ่นเมื่ออายุประมาณ 10 ปี เพราะฉะนั้นเด็กบางคนพ่อแม่ก็จะเริ่มคุมไม่ได้ เริ่มมีปัญหาคล้ายวัยรุ่น แต่หากคุณพ่อคุณแม่ปูพื้นฐานที่ดีให้แก่ลูกน้อยมาตั้งแต่เบบี๋ถึงวัยประถม

เมื่อลูกเติบโตเข้าสู่ช่วงวัยหัวเลี้ยวหัวต่อเขาก็จะมีเป้าหมายชัดเจนว่า ตนเองสนใจอะไร อยากทำอะไร และจะใช้เวลาไปกับสิ่งไหน โดยที่คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องเหนื่อยเคี่ยวเข็ญเขาให้เหนื่อยกายเหนื่อยใจ เพียงแต่ทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาและคอยสนับสนุนให้เขามุ่งไปสู่เป้าหมายที่วางไว้เท่านั้น

เด็กที่ค้นหาตัวเองเจอตั้งแต่วัยประถม จึงมักจะผ่านช่วงวัยรุ่นไปได้อย่างดี เพราะมีพร้อมทั้งทักษะสังคม ความสามารถ และคุณธรรม ซึ่งสิ่งเหล่านี้หากมาเริ่มบังคับในช่วงวัยรุ่น จะเกิดความลำบากและคับข้องใจกันทั้งคุณพ่อคุณแม่และตัวลูกเอง คุณหมอกล่าวย้ำกับเราว่า “อะไรที่ต้องมาเริ่มต้นใหม่ตอนวัยรุ่นมันเหนื่อย มันยาก มันลำบาก เสี่ยงกับการเสียหน้า เสี่ยงกับการล้มเหลว และวัยรุ่นก็จะไม่ทำ”

♥ ทักษะการปรับตัว หัวใจสำคัญที่ควรปลูกฝัง

การปรับตัวกับความอดทนเป็นสองสิ่งที่มาคู่กัน เด็กที่อดทนได้น้อยจะปรับตัวได้น้อยและเด็กที่เกิดความคับข้องใจแล้วคนรอบข้างต้องปรับสิ่งแวดล้อมปรับโลกภายนอกเข้าหาเขา เช่น เมื่อบ่นว่าร้อน พี่เลี้ยงก็เดินไปเปิดแอร์ บ่นหิวน้ำ แม่ก็เอาน้ำมาให้ ดังนั้นส่วนใหญ่เด็กที่ปรับตัวยากคือเด็กที่ถูกตามใจ หรือมีคนช่วยเหลือเยอะๆ แต่ถ้าเด็กที่ถูกเลี้ยงมาแบบอยากได้อะไรต้องรอ อยากได้อะไรแล้วไม่ได้ (แต่ไม่ใช่ถูกปล่อยทิ้งให้หงุดใจ) ระหว่างนั้นก็มีคนคอยปลอบประโลมให้กำลังใจ “หนูต้องรอนะลูก” เด็กจะค่อยๆจัดการอารมณ์ตัวเองได้ เขาจะค่อยๆทำความเข้าใจว่า ไม่ได้ก็คือไม่ได้ หรือถ้าให้รอก็ต้องรอ ถ้าเป็นแบบนี้เด็กจะเริ่มปรับตัวกับความผิดหวังคับข้องใจได้

ตัวแปรสำคัญอีกอย่างคือ พ่อแม่ ถ้าพ่อแม่เป็นคนง่ายๆ กินอะไรก็ได้ กับข้าวง่ายๆ อย่างไข่เจียวก็กินได้ อาหารหรูๆ ก็กินได้ นอนพื้นกระดานก็ได้ นอนโรงแรมก็ได้ ร้อนก็ได้หนาวก็ได้ ลูกก็จะซึมซับจากพ่อแม่เขาก็จะกลายเป็นเด็กที่ปรับตัวได้ง่าย แต่ถ้าพ่อแม่ปรับตัวยาก นั่นก็ไม่ได้ นี่ไม่ได้ ลูกก็จะปรับตัวยากเหมือนพ่อแม่ นอกจากนี้การพาเด็กไปเจอผู้คนที่หลากหลาย ไปในสถานที่ที่แตกต่างกัน ก็จะช่วยให้ลูกฝึกทักษะการปรับตัวได้ดีขึ้นเช่นกัน

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


บทความโดย :  นพ. อัศวิน นาคพงศ์พันธุ์ อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ พญ.พรพิมล นาคพงศ์พันธุ์ จิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น โรงพยาบาลกรุงเทพเชียงใหม่ (“หมอตั้ม” และ “หมอก้อย” เจ้าของเพจ “เลี้ยงลูกให้เป็นคนปกติ”)

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up