ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง

ไขข้อสงสัย ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ให้ลูกต้องทำอย่างไร?

Alternative Textaccount_circle
event
ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง
ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง

หลังจากที่รัฐบาลมีมาตรการเยียวยาสำหรับกลุ่มเปราะบางโดยการเพิ่มเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดให้กับครอบครัวที่ยากจนเป็นจำนวน 3,000 บาท มีคุณแม่ที่อยากรู้ว่าการ ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ต้องทำอย่างไร และหากไม่เคยลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดไว้ จะสามารถลงทะเบียนได้อยู่หรือไม่ ทีมแม่ ABK หาคำตอบมาฝากคุณแม่แล้วค่ะ

ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง ให้ลูก มีขั้นตอนอะไรบ้าง 

เงินเยียวยาสำหรับกลุ่มเปราะบางคืออะไร? 

เงินเยียวยากลุ่มเปราะบาง คือ เงินเยียวยาที่รัฐบาลให้การช่วยเหลือเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มคนที่เข้าถึงปัจจัยพื้นฐานทางสังคมในการดำรงชีวิต เข้าไม่ถึงบริการทางสังคม เดิมเรียกว่า กลุ่มด้อยโอกาส ได้แก่

  • เด็กจากครอบครัวยากจน ตั้งแต่แรกเกิด ไปจนถึง 6 ขวบ ประมาณ 1.45 ล้านคน
  • ผู้สูงอายุ ประมาณ 9.66 ล้านคน
  • ผู้พิการ มีจำนวน 2 ล้านคน

ได้รับเงินเท่าไหร่? 

คนกลุ่มนี้จะได้รับเงินรายละ 1,000 บาทต่อเดือน นานต่อเนื่องเป็นระยะเวลา 3 เดือน (ตั้งแต่ พ.ค. – ก.ค. 2563) โดยจะเริ่มจ่ายในเดือน มิ.ย. จำนวน 2,000 บาท (เป็นการสมทบงวดเดือนพฤษภาคมจ่ายพร้อมกับเดือนมิถุนายน) และให้ต่อในเดือน ก.ค. อีก 1,000 บาท

หมายความว่า หากคุณแม่เคยลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด 600 บาทต่อเดือนแล้ว และได้รับเงินเยียวยากลุ่มเปราะบางด้วย ก็จะได้รับเงินในเดือนมิถุนายนรวม 2,600 บาท และเดือนกรกฎาคม รวม 1,600 บาท

เงินอุดหนุน
เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด – 6 ปี

ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง เพื่อรับเงินเยียวยาต้องทำอย่างไร?

การจ่ายเงินเยียวยาครั้งนี้เป็นการเพิ่มจากเงินอุดหนุนที่กลุ่มเปราะบางได้รับอยู่แล้ว ได้แก่ เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เดือนละ 600 บาท, เบี้ยความพิการ เดือนละ 1,000 บาท และเบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ เดือนละ 600-1,000 บาท ซึ่งผู้ที่ได้รับสิทธินี้อยู่แล้วไม่ต้องลงทะเบียนใด ๆ  เพิ่มเติม เนื่องจากกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มีฐานข้อมูลอยู่แล้ว

สำหรับผู้ที่มีรายชื่อรับเงินจากโครงการอื่น ๆ เช่น เราไม่ทิ้งกัน เยียวยาเกษตรกร จะได้รับสิทธิเยียวยากลุ่มเปราะบางด้วยหรือไม่นั้น จะต้องรอมติจาก ครม. ต่อไปค่ะ

กลุ่มเปราะบางที่ไม่เคยได้รับเงินช่วยเหลือมาก่อนต้องทำอย่างไร?

สำหรับผู้สูงอายุ ผู้พิการ และเด็กแรกเกิด ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนรับเงินหรือเบี้ยช่วยเหลือใด ๆ จะยังไม่มีชื่อและข้อมูลในระบบ สามารถไปติดต่อที่สำนักงานเขต เทศบาล หรือสำนักงาน อบต. ตามภูมิลำเนาที่อยู่อาศัย ทั้งนี้ กระทรวงการคลังและกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์กำลังหารือถึงแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนเหล่านี้ให้ได้รับความช่วยเหลือ เช่นเดียวกัน

ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด
ลงทะเบียนเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

วิธีลงทะเบียนรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

ทีมแม่ ABK มีรายละเอียดเกี่ยวกับขั้นตอนการลงทะเบียนเพื่อรับเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดเดือนละ 600 บาท สำหรับคุณแม่ที่ยังไม่เคยลงทะเบียนมาฝาก มีรายละเอียดดังนี้

คุณสมบัติเด็กแรกเกิดที่มีสิทธิลงทะเบียน 

  • มีสัญชาติไทย (พ่อแม่มีสัญชาติไทย หรือพ่อหรือแม่มีสัญชาติไทย)
  • เกิดตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 เป็นต้นไป จนมีอายุครบ 6 ปี
  • อาศัยอยู่กับผู้ปกครองที่อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย
  • ไม่อยู่ในสถานสงเคราะห์ของหน่วยงานของรัฐ หรือเอกชน

คุณสมบัติผู้ปกครองที่มีสิทธิลงทะเบียน 

  • มีสัญชาติไทย
  • เป็นบุคคลที่รับเด็กแรกเกิดไว้ในความอุปการะ
  • เด็กแรกเกิดต้องอาศัยรวมอยู่ด้วย
  • อยู่ในครัวเรือนที่มีรายได้น้อย คือ สมาชิกครัวเรือนมีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาท ต่อคนต่อปี

(มารดาที่อยู่ระหว่างการตั้งครรภ์ยังไม่ต้องมายื่นคําร้องขอลงทะเบียนขอรับสิทธิเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด)

เอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงทะเบียน  ได้แก่

  1. แบบคําร้องขอลงทะเบียน(ดร.01) และแบบรับรองสถานะของครัวเรือน(ดร.02) ดาวน์โหลดที่นี่
  2. บัตรประจําตัวประชาชนของผู้ปกครอง
  3. สูติบัตรเด็กแรกเกิด
  4. สมุดบัญชีเงินฝากของผู้ปกครอง (บัญชีออมทรัพย์ธนาคารกรุงไทยบัญชีเงินฝากเผื่อเรียกธนาคารออมสิน หรือบัญชีเงินฝากออมทรัพย์ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น)
  5. สมุดบันทึกสุขภาพแม่และเด็ก เฉพาะหน้าที่ 1ที่มีชื่อของหญิงตั้งครรภ์ (กรณีที่สมุดสูญหาย ให้ใช้เฉพาะสําเนาหน้าที่ 1 พร้อมให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขบันทึกข้อมูลและรับรองสําเนา)
  6. กรณีที่ผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียนและสมาชิกในครัวเรือนของผู้ยื่นคําร้องขอลงทะเบียน เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐพนักงานรัฐวิสาหกิจ หรือพนักงานบริษัท ต้องมีเอกสารใบรับรองเงินเดือน หรือหนังสือรับรองรายได้ของทุกคนที่มีรายได้ประจํา (สลิปเงินเดือน หรือเอกสารหลักฐานที่นายจ้างลงนาม)
  7. สําเนาเอกสาร หรือบัตรข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ บัตรแสดงสถานะหรือตําแหน่งหรือเอกสารอื่นใดที่แสดงตนของผู้รับรองคนที่ 1 และผู้รับรองคนที่ 2

ขั้นตอนการลงทะเบียน

ผู้ที่ต้องการลงทะเบียน สามารถเตรียมเอกสารข้างต้นและเดินทางไปลงทะเบียนกับหน่วยงานราชการในพื้นที่ที่เด็กแรกเกิด และผู้ปกครองอาศัยอยู่จริง ดังนี้

กรุงเทพมหานคร : ลงทะเบียนที่สํานักงานเขต

เมืองพัทยา : ลงทะเบียนที่ศาลาว่าการเมืองพัทยา

ส่วนภูมิภาค : ลงทะเบียนที่องค์การบริหารส่วนตําบล หรือเทศบาล

เมื่อลงทะเบียนที่หน่วยงานตามภูมิลำเนา และผ่านกระบวนการทางราชการเรียบร้อยแล้ว หากต้องการตรวจสอบข้อมูลและสิทธิต่าง ๆ สามารถลงทะเบียนเพื่อตรวจสอบข้อมูลได้ด้วยตนเอง ที่ระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม (e-Social Welfare) https://govwelfare.cgd.go.th/welfare โดยเลือก เมนู “ตรวจสอบประวัติการรับสวัสดิการ”

ทั้งนี้ หากคุณแม่มีข้อสงสัยและต้องการสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายเงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิดเพิ่มเติม ให้ติดต่อสอบถามไปยังหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรง ที่ศูนย์ปฏิบัติการโครงการเงินอุดหนุนเพื่อการเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด กรมกิจการเด็กและเยาวชน call center 02 255 5850 – 7 ต่อ 121,122,123,124,147 และ 02 651 6920

ช่องทางการติดต่อสอบถามเพิ่มเติมเกี่ยวกับการ ลงทะเบียนกลุ่มเปราะบาง 

สามารถสอบถามได้ที่ call center กรมบัญชีกลาง 02 270 6400 ในวันและเวลาราชการ  หรือ ระบบบูรณาการฐานข้อมูลสวัสดิการสังคม โทรศัพท์ 02 127 7000 หรือ 02 270 6401ในวันและเวลาราชการ

 


แหล่งข้อมูล กรมบัญชีกลาง   กรุงเทพธุรกิจ  กระทรวงแรงงาน  องค์การบริหารส่วนตำบลดอนนางหงส์

บทความน่าสนใจเพิ่มเติม

เงินอุดหนุนบุตร 2563 เข้าวันไหน จะได้สิทธิ์หรือไม่ เช็กเลย!

รับเงิน เยียวยากลุ่มเปราะบาง 1,000 บาท 3 เดือน ใครได้บ้าง..ต้องทำยังไง เช็กเลย!

แนะวิธี เช็คสิทธิ์เงินอุดหนุนบุตร สาเหตุที่ไม่ได้เพราะอะไร?

 

 

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up