Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ

หมอเผย!! วิธีเลือก “Car Seat” อย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัย

Alternative Textaccount_circle
event
Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ
Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ

Car Seat หรือ คาร์ซีท อุปกรณ์สำคัญสำหรับลูกน้อย เมื่อต้องโดยสารรถยนต์ ช่วยป้องกันเด็กให้ปลอดภัย สามารถลดความรุนแรง และลดการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้

หมอเผย!! วิธีเลือก “Car Seat” อย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัย

ทีมกองบรรณาธิการ ABK ขอรีวิว!! วันนี้ได้มีโอกาสไปเดินงาน Amarin Baby & Kids Fair ครั้งที่ 21 Presented By Lazada มา และได้ฟังงานเสวนาเรื่อง Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ ช่วยเซฟชีวิตลูกปลอดภัยไปตลอดทาง โดย รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นงานเสวนาที่มีประโยชน์และได้ความรู้กับแม่ ๆ อย่างเรามากเลยค่ะ จึงขอนำความรู้จากคุณหมอมาแชร์ให้แม่ ๆ ได้อ่านกันค่ะ

การเสวนาเรื่อง Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ ช่วยเซฟชีวิตลูกปลอดภัยไปตลอดทาง
การเสวนาเรื่อง Car Seat เซฟโซนเล็ก ๆ ในรถ ช่วยเซฟชีวิตลูกปลอดภัยไปตลอดทาง

หมอเผย!! วิธีเลือก “Car Seat” อย่างไรให้ลูกน้อยปลอดภัย

คาร์ซีท คืออะไร

คาร์ซีท คืออุปกรณ์หรือเบาะนั่งสำหรับเด็กในรถยนต์ ที่ทำหน้าที่เหมือนเข็มขัดนิรภัย ช่วยป้องกันไม่ให้เด็กกระเด็นจากเบาะ เมื่อเกิดการเบรค หรือชน

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล ได้กล่าวถึงสถิติการเกิดอุบัตเหตุบนท้องถนน ที่เกิดขึ้นกับเด็ก ๆ ว่า จากข้อมูลราชวิทยาลัยกุมารแพทย์พบว่า การเกิดอุบัติเหตุทางรถยนต์ ทำให้เด็กที่โดยสารเสียชีวิตปีละ 140 ราย ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่าที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็กลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตในเด็กทารกและเด็ก 1-4ปี ถึงร้อยละ 69 ถ้าใช้อย่างถูกวิธี และในเด็กอายุมากกว่า 5 ปีได้ร้อยละ 45 และลดความเสี่ยงรุนแรงได้ร้อยละ 50

ผลเสียของการไม่นั่งคาร์ซีท

เด็กที่โดยสารรถยนต์ แล้วไม่ได้นั่ง คาร์ซีท จะมีผลเสียคือ หากเกิดอุบัติเหตุเช่น รถวิ่งมาด้วยความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. แล้วเกิดการชน ความเร็วจะลดเหลือ 0 ทันที ทำให้วัตถุที่อยู่ในรถยนต์จะยังคงเคลื่อนตัวต่อไปด้วยความเร็วเท่าเดิม ดังนั้นหากเด็กนั่งอยู่ในรถแล้วไม่ได้นั่งคาร์ซีท เด็กจะพุ่งไปด้านหน้าด้วยความเร็ว 80 ก.ม./ช.ม. ตัวเด็กจะถูกกระแทกอย่างแรง หรืออาจทะลุกระจกออกไปนอกตัวรถเลยก็เป็นได้ จากสถิติเด็กจะพุ่งทะลุกระจกออกไปนอกตัวรถมากกว่าผู้ใหญ่ การจะช่วยให้ปลอดภัยจากอุบัติเหตุ ต้องหาวิธีที่ทำให้ร่างกายหยุดอยู่กับที่

จึงเกิดการใช้เข็มขัดนิรภัย ซึ่งเป็นอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ช่วยลดการบาดเจ็บ ทำให้ร่างกายหยุดอยู่กับที่ เมื่อเกิดอุบัติเหตุ แต่เข็มขัดนิรภัย ใช้ได้กับเด็กที่มีอายุ 9 ปี ขึ้นไปเท่านั้น ดังนั้นคาร์ซีทจึงถูกผลิตขึ้น เพื่อเป็นอุปกรณ์ภายในรถยนต์ ที่ช่วยลดการบาดเจ็บ และเสียชีวิตในเด็ก

ทั้งนี้ การวิจัยพบว่า หากเด็กอายุต่ำกว่า 13 ปี นั่งบริเวณเบาะหน้าของรถยนต์ จะมีความเสี่ยงมากกว่านั่งบริเวณเบาะหลัง ถึง 2 เท่า และการอุ้มเด็กนั่งบนตัก ทำให้เด็กเข้าใกล้ถุงลมนิรภัยเกินไป เวลาเกิดเหตุจะมีพลังงานย้อนกลับ จึงทำให้อันตรายมาก ระยะที่เหมาะสมคือ นั่งห่างจากถุงลมนิรภัย 25 ซ.ม.

ประโยชน์ของการนั่งคาร์ซีท

  • ช่วยเพิ่มความปลอดภัยให้เด็กระหว่างเดินทาง เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ทำให้เด็กหยุดอยู่กับที่ ไม่พุ่งตัวกระแทกโครงรถ หรือทะลุกระจกออกไปด้านนอกตัวรถ ช่วยลดความรุนแรง และลดการบาดเจ็บได้
  • คุณพ่อคุณแม่ต้องตรวจสอบความแน่นหนาของการติดตั้ง คาร์ซีท ให้ดี เนื่องจากการล็อคคาร์ซีทให้ยึดอยู่กับที่ อาศัยเพียงเข็มขัดนิรภัยในรถยนต์เท่านั้น
  • ติดตั้งคาร์ซีทให้เหมาะกับช่วงอายุของเด็ก เพื่อช่วยให้ปลอดภัยมากขึ้น อีกทั้งจะทำให้เด็กนั่งให้สบายมากขึ้น
  • คาร์ซีทมีการออกแบบที่ใส่ใจถึงสรีระของเด็ก เนื่องจากเด็กแต่ละวัยจะมีสรีระที่แตกต่างกันไปตามวัย
  • เบาะของคาร์ซีท ทำจากวัสดุที่อ่อนโยนต่อผิวของทารก ไม่ก่อให้เกิดการระคายเคือง

รศ.นพ.อดิศักดิ์กล่าวอีกว่า สำหรับคาร์ซีท หรือที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก ใช้ได้ตั้งแต่แรกเกิด นี่เป็นสิ่งที่คนส่วนใหญ่ไม่รู้ ทั้งนี้ได้มีกฏหมายเกี่ยวกับคาร์ซีท ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 5 ก.ย. 2565 นี้

กฏหมายเกี่ยวกับการนั่งคาร์ซีท

เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565 เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2565 ได้แก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายว่าด้วยจราจรทางบก มาตรา 7 ให้ยกเลิกความในมาตรา 123 แห่ง พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ. 2522 โดยมีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับเด็กคือ

  • คนโดยสารที่เป็นเด็กอายุไม่เกิน 6 ปี ต้องจัดให้นั่งในที่นั่งนิรภัยสำหรับเด็ก หรือนั่งในที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเพื่อป้องกันอันตราย หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ
  • คนโดยสารที่มีความสูงไม่เกิน 135 เซนติเมตร ต้องรัดร่างกายด้วยเข็มขัดนิรภัยไว้กับที่นั่ง หรือมีวิธีการป้องกันอันตรายในกรณีที่เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะนั่งแถวตอนใด
  • หากฝ่าฝืนมีโทษปรับสูงสุด 2,000 บาท
มอบของที่ระลึกให้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์
มอบของที่ระลึกให้ รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์

คาร์ซีทมีกี่แบบ ใช้กับช่วงอายุเท่าไหร่

  • Rear-Facing Seat แบบหันหน้าเข้าหาเบาะ เหมาะสำหรับเด็กแรกเกิด – 2 ปี เนื่องจากทารกในวัยนี้กระดูกคอยังไม่แข็งแรง สัดส่วนศีรษะของเด็กจะมีสัดส่วนที่มากกว่าลำตัว น้ำหนักส่วนบนศีรษะเยอะ ทำให้เกิดการสะบัดของคอ เมื่อรถชน และเกิดสะบัดกลับเมื่อความเร็วเป็น 0 ทำให้กระดูกต้นคอส่วนบนหัก ไปกดประสาท ทำให้หยุดหายใจ จึงต้องให้เด็กเล็กนั่งหันหน้าเข้าหาเบาะ การหันหน้าเข้าหาเบาะจะช่วยลดแรงกระแทก คอไม่สะบัด หากเกิดการเบรคแรงๆ หรือเกิดการชนขึ้นได้เป็นอย่างดี
  • Forward-Facing Seat แบบเบาะหันหน้าไปหน้ารถ มีสายรัดตัวเป็นแบบยึดเหนี่ยวร่างกายเด็กไว้ 5 จุด เหมาะสำหรับเด็กอายุ 2 – 5 ปี
  • Booster Seat คาร์ซีทแบบที่นั่งเสริม โดยหันหน้าไปหน้ารถ เหมาะสำหรับเด็กอายุ 5 ปีขึ้นไป โดยนั่งจนกว่าเด็กจะสามารถคาดเข็มขัดนิรภัยได้พอดี

ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท

คุณพ่อคุณแม่ไม่น้อยที่เกิดปัญหาลูกไม่ยอมนั่งคาร์ซีท งอแง อยากจะกระโดดมานั่งตรงที่เก็บของข้าง ๆ คุณพ่อคุณแม่ อยากจะชมวิว อาจเกิดจากการให้ลูกนั่งคาร์ซีท เมื่ออายุโตขึ้น หรือประมาณ 2 ปี เพราะวัยนี้เป็นวัยกำลังซน หรือ terrible 2 หากไม่ได้ฝึกให้นั่งมาก่อน ก็จะยากที่จะให้ลูกนั่งอยู่กับที่ได้

มาลองปรับพฤติกรรมกันดูค่ะ เมื่อซื้อคาร์ซีทมา เตรียมการให้ลูกรับรู้ถึงการนั่งคาร์ซีทก่อนจะให้นั่ง ค่อย ๆ บอกให้ลูกรู้ เมื่อลูกนั่ง ก็มีคำชมเชยให้ลูกดีใจ ที่สำคัญคือ ให้คุณแม่ไปนั่งที่เบาะหลังกับลูกด้วย ไม่ติดตั้งคาร์ซีทที่เบาะหน้า เพราะจะเกิดอันตรายถุงลมนิรภัยตามที่ได้กล่าวมาแล้ว หากขับรถไปคนเดียว แล้วต้องให้ลูกนั่งคาร์ซีทที่เบาะหลัง หากลูกร้องลองพูดคุยให้เค้าได้ยินเสียง ว่าคุณพ่อ หรือคุณแม่อยู่ตรงนี้ด้วยนะ หากไม่หยุดร้อง หาที่จอดรถที่ปลอดภัย แล้วไปคุยกับลูก เล่นกับลูกให้หยุดร้อง แล้วจึงขับรถต่อ

อาจนำคาร์ซีทที่เพิ่งซื้อ มาลองเล่นกันก่อนที่บ้าน เช่น เล่นขับรถ เล่นเป็นนักบินอวกาศ ถ่ายรูป เป็นต้น ให้ลูกเคยชินกับคาร์ซีท ก่อนนำไปใช้จริง

การใช้คาร์ซีทควรเริ่มใช้ตั้งแต่แรกเกิด เพื่อความปลอดภัยของเด็ก และทำให้เด็กเคยชินกับการนั่งคาร์ซีท ไม่ต้องมาปรับพฤติกรรมในตอนโต

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ได้กล่าวทิ้งทายเตือนคุณพ่อคุณแม่ว่า หากใช้คาร์ซีทติดตั้งไว้ที่เบาะหลัง อย่าลิมลูกไว้ในรถด้านหลัง ซึ่งเรื่องนี้เกิดขึ้นจริงที่สหรัฐอเมริกา และเด็กเสียชีวิต ท่องไว้เสมอว่า ดูก่อนล็อค เพื่อความปลอดภัยของลูกน้อย

เมื่อมีความเข้าใจ และได้เห็นถึงประโยชน์ต่าง ๆ ของ Car Seat ที่ ทีมกองบรรณาธิการ ABK นำมาฝากกันแล้ว คุณพ่อคุณแม่อย่ารอช้า รีบไปหาซื้อมาให้ลูกน้อยใช้ เพื่อความปลอดภัยกันนะคะ

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ติดตั้งคาร์ซีท ในรถกระบะได้ไหม? ปลอดภัยหรือไม่?

ฝึกลูกนั่งคาร์ซีท ทำอย่างไร? ให้ลูกแฮปปี้..ดี๊ดีตลอดทริป

ลูกน้อยได้รับอันตราย เพราะนั่งคาร์ซีทผิดวิธี

หมอย้ำ 8 ข้อควรรู้ กฎหมายคาร์ซีท “รักลูกอย่ากอด” นั่งคาร์ซีทปลอดภัยกว่า

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

Amarin Baby & Kids

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up