วิธีคุยกับลูก

6 วิธีคุยกับลูก ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน (เริ่ม 6 ขวบ+)

event
วิธีคุยกับลูก
วิธีคุยกับลูก

แนะ! วิธีคุยกับลูก รับมือลูกวัยกำลังโต อารมณ์แปรปรวน ขี้หงุดหงิดง่าย พ่อแม่ต้องเริ่มตรงไหน คุยยังไง เพื่อให้ลูกสงบลง ไม่เกิดเหตุบานปลาย ตามมาดูกันเลย…

วิธีคุยกับลูก ขี้หงุดหงิด อารมณ์แปรปรวน
เริ่มได้ตั้งแต่ 6
ขวบขึ้นไป

หนังก็น่าเบื่อ! โรงเรียนก็แสนเอียน แถมอาหารที่แม่ทำยัง “น่าแหวะ” อีก .. นี่ลูกวัยทวีนกลายเป็นน้องเตาะแตะที่เอาแต่ร้องว่า “ไม่!” อีกรอบหรือเปล่านะ?

เมื่อลูกเข้าสู่ช่วงวัยกำลังโต อาจมีอาการเหวี่ยง ขี้วีน หรือ ลูกอารมณ์หงุดหงิดง่าย สำหรับเรื่องนี้ ดร.เด็บบี้ กลาสเซอร์ นักจิตวิทยาคลินิก ในริชมอนต์ เวอร์จิเนีย อธิบายว่า… การเปลี่ยนผ่านของช่วงวัยมีผลกับพฤติกรรม ตอนอายุ 2 ขวบ พ่อหนูแม่หนูยืนคร่อมอยู่ระหว่างความเป็นทารกกับเด็กเล็ก และตอนนี้พวกแกก็กำลังเกาะติดอยู่กับนิสัยแบบเด็กๆ ขณะที่มืออีกข้างก็ไขว่คว้าหาความเป็นวัยรุ่น จึงไม่แปลกที่ลูกทั้งสองวัยจะค้นหาอิสระ ซึ่งเด็กวัยเตาะแตะจะร้องว่า “ไม่” กับทุกสิ่งที่คุณบอกให้แกทำ ส่วนลูกวัยทวีนก็คอยต่อต้านปฏิเสธคำแนะนำ แถมยังตั้งแง่วิจารณ์พ่อแม่เสียอีก

ซึ่งก็มีการศึกษาจากเนเธอร์แลนด์พบว่า ขณะที่เด็กเล็กตอบสนองต่อปฏิกิริยาแง่บวก เช่น คำชม ส่วนเด็กก่อนวัยรุ่นกลับตอบสนองต่อแรงกระตุ้น เช่น คำเตือนเรื่องความรับผิดชอบ มากกว่า นั่นเป็นเพราะ “สมองของเด็กโตพัฒนากระบวนการทางความคิดมากขึ้น”

โดยลูกวัยกำลังโตจะเริ่มรู้จักปรับเปลี่ยนวิธีการปฏิบัติตัวไปเรื่อยๆ และมองหาตัวเลือกในการตัดสินใจทำสิ่งต่างๆ มากกว่าจะยึดมั่นอยู่ในเส้นทางเดิมเหมือนตอนเล็กๆ เมื่อความคิดของลูกวัยกำลังโตเปลี่ยนไป วิธีการสอนของคุณพ่อคุณแม่ก็ควรเปลี่ยนไปด้วย

ซึ่งความจริงแล้วอารมณ์ขึ้นๆ ลงๆ แบบนี้เป็นธรรมชาติของเด็กก่อนวัยรุ่น พอเริ่มโตเด็กๆ ก็จะค่อยๆ ดึงความสนใจออกมาจากเรื่องของตัวเองแล้วเหลียวมองรอบด้าน พวกเขาเริ่มเปรียบเทียบตนเองกับผู้อื่น โดยเฉพาะเพื่อนวัยเดียวกัน และมองเห็นความแตกต่าง

วิธีคุยกับลูก

ผลที่ตามมาก็คือ… เสียงคร่ำครวญ “หนูเรียนเลขไม่เก่งเหมือนเพื่อนๆ เลย…ทำไมหนูตอบคำถามไม่ได้อยู่คนเดียว” หรืออาการหมดหวัง “โธ่เอ๊ย ซ้อมตั้งเยอะ ผมยังเตะบอลสู้คนอื่นไม่ได้เลย!” ซึ่งจะปรากฏให้เห็นสลับกับอาการลิงโลดในยามที่ความมั่นใจในตัวเองถูกเรียกกลับคืนมา (อย่างเช่น ตอนที่ได้คะแนนวิชาศิลปะเต็ม 10) และบางครั้งการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายซึ่งจะเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนวัยรุ่นก็อาจเป็นสาเหตุหลักของอาการหดหู่ได้เช่นกัน

ซึ่งอารมณ์แปรปรวนเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป (ยกเว้นถ้าลูกหดหู่จนไม่อยากอาหารหรือนอนไม่หลับ? แบบนั่นคงต้องมานั่งหาทางแก้ไขอย่างจริงจังแล้ว) สำหรับ วิธีคุยกับลูก และรับมือกับอาการแปรปรวนเพื่อให้ลูกของคุณไม่ทรุดหนัก มีดังนี้

 

  1. เปิดอกคุยกับลูก

พอลูกบอกว่า “หนูเกลียดไอ้นี่” แทนที่จะบอกว่า “กินๆ ไปเถอะน่า!” ก็ให้ถามว่า “ทำไมหนูถึงไม่ชอบล่ะ” เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้แสดงความมีตัวตนอย่างสร้างสรรค์ และแสดงให้ลูกเห็นว่า คุณใส่ใจกับสิ่งที่ลูกคิด

  1. หาผู้รับฟังลูก

ถ้าลูกรู้สึกหงุดหงิดหรือสับสน แต่ปฏิเสธที่จะคุยกัน ลองแนะนำให้ลูกโทร.หาเพื่อนหรือน้าสาวที่สนิทด้วยเป็นพิเศษ เพื่อให้ได้ระบายความอัดอั้นและใจเย็นลงพอที่จะค้นหาว่า อะไรกันแน่ที่กำลัง “รบกวน” จิตใจอยู่ (จริงๆ แล้วปัญหานั้นอาจไม่เกี่ยวกับเรื่องที่ลูกบ่นหรือหงุดหงิดด้วยซ้ำ)

  1. ยอมรับความคิดเห็นของลูก

บางครั้งเสื้อตัวนี้อาจจะ “เด็กเกินไป” หรือเห็ดในผัดผักอาจจะทำให้ลูก “คลื่นไส้” จริงๆ ปล่อยให้ลูกมีสิทธิ์เลือกบ้าง แล้วลูกอาจจะบ่นเรื่องโน้นเรื่องนี้กับคุณน้อยลง

  1. หาสาเหตุ

ถ้าหากว่าผ่านไปเป็นวันๆ แล้วลูกยังไม่เลิกหดหู่เสียที คงต้องลองแอบสอบถามกับครูหรือเพื่อนๆ ของลูกว่ามีใครเห็นอะไรผิดปกติบ้างไหม

  1. อย่าเซ้าซี้เรื่องรายละเอียด

ถ้าลูกกลับจากโรงเรียนแล้วไม่ยอมพูดยอมจา แถมทำหน้างอ ก็อย่าเพิ่งไปเซ้าซี้ถามว่าเป็นอะไรเพราะคำถามซ้ำๆ จี้แผลใจมีแต่จะทำให้ลูกยิ่งรู้สึกแย่ (เช่นคำถามของคุณทำให้เขาย้อนนึกภาพตอนที่ยืนอึ้งแก้โจทย์เลขบนกระดานไม่ได้) ดังนั้นคำแนะนำคือ ลองเสนอตัวเข้าไปช่วยแบบไม่กดดันดูสิ เช่น แม่รู้ว่าวันนี้หนูคงเจอเรื่องไม่สบายใจมา เอาเป็นว่า ถ้าอยากเล่าให้แม่ฟังก็เล่าตอนดูโทรทัศน์ได้นะลูก

  1. ชมตามความเป็นจริง

พ่อแม่บางคนมักเรียกความมั่นใจของลูกกลับคืนมาด้วยการชมว่าลูกเก่งทุกอย่าง แต่เด็กวัยทวีนส่วนใหญ่ฉลาดเกินกว่าจะหลงเชื่อเสียแล้ว วิธีการที่ถูกต้องคือ สอนให้ลูกยอมรับความจริงตรงหน้าและเรียนรู้ที่จะอยู่กับมันให้ได้ พึงระลึกว่าความจริงไม่ได้โหดร้ายเสมอไป แม้ลูกจะไม่เก่งในทักษะหนึ่ง เขาก็อาจเป็นเลิศในทักษะอีกด้านก็ได้

สุดท้ายนอกจาก วิธีคุยกับลูก ที่ทีมแม่ ABK แนะนำไปนั้น สิ่งสำคัญคือพ่อแม่ต้องทำความเข้าใจด้วย เมื่อลูกเริ่มโตเข้าสู่วัยรุ่นจะมีอารมณ์ที่แปรปรวน  ค่อนข้างรุนแรง  ยากที่จะควบคุมอารมณ์ได้  จึงมีการถกเถียงเกิดขึ้นบ่อยครั้ง หากการสนทนาไม่เป็นดั่งใจคนที่ต้องสงบก่อน ก็คือพ่อแม่ และควรให้ความรักอย่างถูกวิธี เพราะหากลูกรับรู้ถึงความรักและความเอาใจใส่อย่างถูกวิธีจากคุณพ่อคุณแม่ คือ ไม่เอาอกเอาใจเกินพอดีหรือว่ากล่าวทำโทษเกินควร แต่ให้รับรู้ได้ว่าคอยอยู่ใกล้ชิดและเป็นที่พึ่งพิงทางใจให้เสมอ ก็จะทำให้เด็กมีสุขภาพจิตที่ดีและมีจิตใจที่อ่อนโยน สามารถควบคุมสติตัวเองได้ในที่สุด

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up