ส่าไข้

หมอเตือน!! ส่าไข้ ระบาดหนักในเด็กเล็ก ระวังชักจากไข้สูง

Alternative Textaccount_circle
event
ส่าไข้
ส่าไข้

ส่าไข้ โรคที่พบได้บ่อยในเด็กเล็กที่อายุต่ำกว่า 2 ขวบ สามารถติดต่อกันได้ผ่านการไอ จาม โดยในช่วงเปิดเทอม พี่อาจนำไวรัสชนิดนี้มาติดน้องเล็กได้

หมอเตือน!! ส่าไข้ ระบาดหนักในเด็กเล็ก ระวังชักจากไข้สูง

ตามที่เพจ หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC ได้บอกผลการติดตามข้อมูลระบาดวิทยาในเดือนมิถุนายน พบว่า จากมาตรการของภาครัฐในการสกัดกั้นการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 ที่ทุกภาคส่วนได้ร่วมมือกันนั้น เกิดผลพลอยได้ ดังนี้

ในเดือนมิถุนายน 2563 ที่เพิ่งผ่านมา ข้อมูลของโรงพยาบาลวิชัยยุทธพบโรคติดเชื้อทางเดินหายใจที่เกิดจากเชื้อไวรัสประจำถิ่นที่เราติดตาม ไข้หวัดใหญ่ อาร์เอสวี (RSV), Human metapneumovirus (hMPV) ไม่พบเลยต่อเนื่อง 3 เดือนแล้ว

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ทั้ง A และ B ไม่พบเลย

เชื้อไวรัสทางเดินหายใจ RSV และเชื้อไวรัสทางเดินหายใจ hMPV Human metapneumovirus เดือนที่แล้วไม่พบเลย

อุบัติการณ์โรคไข้เลือดออกที่เกิดจากเชื้อไวรัสเดงกี่ เดือนที่แล้วพบ 9 ราย

โรคชิคุนกุนยา หรือไข้ปวดข้อยุงลาย เดือนที่แล้วพบ 1 ราย

โรคไวรัส Noro (โนโร) และ Rota(โรตา) ทำให้เกิดอาการท้องร่วงอย่างรุนแรงทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ ไวรัสโนโรพบ 1 รายและไวรัสโรตาไม่พบเลย

โรคติดเชื้อทางเดินหายใจจากเชื้อไวรัสประจำถิ่น ไข้หวัดใหญ่ RSV, hMPV ไม่พบเลยมา 3 เดือนแล้วตั้งแต่เมษายนถึงมิถุนายน

จากการปิดโรงเรียน งดการรวมกลุ่ม รณรงค์ให้คนส่วนใหญ่ใส่หน้ากากอนามัยเวลาออกนอกบ้าน เขาใส่เพื่อป้องกันเรา เราใส่เพื่อป้องกันเขา การหมั่นล้างมือบ่อย ๆ ด้วยน้ำและสบู่ หรือแอลกอฮอล์เจลก่อนเอามือมาขยี้ตา แคะจมูก เว้นระยะห่างทางสังคม และกินร้อน ช้อนกลางส่วนตัว ทำให้การระบาดของโรคดังกล่าว ลดลงจนแทบจะไม่พบการระบาดเลย แต่คุณหมอมนูญก็ยังได้เตือนมากอีกว่า ในเดือนกรกฎาคม ที่เด็ก ๆ เปิดเทอมกันแล้ว รวมถึงการผ่อนคลายมาตรการต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ก็อาจทำให้เกิดการระบาดของโรคติดเชื้ออื่น ๆ เพิ่มขึ้นได้

และเมื่อโรงเรียนเปิดเทอมได้ไม่กี่วัน หมอวิน จากเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ ก็ได้ออกมาเตือนว่า เกิดการระบาดของโรค ๆ หนึ่ง ที่พบได้บ่อยในเด็กเล็ก นั่นก็คือ ส่าไข้ นั่นเอง โดยหมอวินได้กล่าวถึงโรคนี้ว่า

#ส่าไข้ และ #การชักจากไข้สูง
#โรคที่พบบ่อยในเด็กเล็กช่วงนี้

ระยะนี้เริ่มมีเด็กเล็กในวัยต่ำกว่า 2 ขวบ โดยเฉพาะในช่วงขวบปีแรก มาหาพ่อหมอด้วยอาการ ‘ชักจากไข้สูง’ หลายคน โดยตรวจร่างกายไม่ค่อยมีอะไรผิดปกติยกเว้น ‘ไข้สูง’ ลอย และพอถามเพื่อน ๆ หมอเด็กด้วยกันก็พบว่า ช่วงนี้เด็กมีอาการแบบเดียวกันนี้เยอะขึ้นชัดเจน และสุดท้ายพอเป็นไข้สูงลอยไปสัก 3-5 วัน ไข้ก็จะลดลง (เอง) และผื่นแดงก็เริ่มขึ้น … เป็นอันปิดคดีได้ว่า นี่คือ #หัดกุหลาบ หรือ ส่าไข้นั่นเอง

โรคส่าไข้ คืออะไร?

ส่าไข้ คือ โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสในกลุ่มเดียวกับโรคเริมที่ชื่อว่า Human Herpesvirus 6: HHV-6 และอาจเกิดจากเชื้อไวรัส Human Herpes Virus 7: HHV-7 ซึ่งสามารถแพร่กระจายผ่านทางการไอ จาม สัมผัสโดนสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจอย่างน้ำลายหรือน้ำมูกของผู้ป่วยเมื่ออยู่ใกล้กัน ทำให้เกิดผื่นแดงกระจายทั่วตัวและมีไข้ขึ้นสูง โดยพบในทารกและเด็กเล็กมากกว่าวัยอื่น ทางการแพทย์อาจเรียกโรคนี้ได้อีกหลายชื่อ เช่น ไข้ผื่นกุหลาบ หัดกุหลาบ หัดเทียม

ส่าไข้ มีอาการอย่างไร?

  • ไข้ขึ้นสูงอย่างรวดเร็วเกือบ 40 องศาเซลเซียสหรือมากกว่า และลดลงภายในไม่กี่ชั่วโมงต่อมา หรืออาจมีไข้อยู่ประมาณ 3-5 วัน บางรายมีอาการอื่น ๆ ร่วมกับไข้ขึ้นหรือเป็นนำมาก่อน เช่น น้ำมูกไหล ไอ เจ็บคอ ต่อมน้ำเหลืองบริเวณคอบวม
  • หลังไข้ลดลงมักจะเกิดผื่นขนาดเล็กประมาณ 2-3 มิลลิเมตร บริเวณหน้าอก หลัง ท้อง และคอ หรืออาจลามไปที่ใบหน้า แขน และขา โดยผื่นที่พบจะเป็นจุดเล็ก ๆ หรือเป็นปื้นสีแดงออกชมพู มีลักษณะค่อนข้างแบน ไม่ค่อยมีอาการคันหรือเจ็บ ซึ่งอาการจะเกิดขึ้นและหายได้เองภายในไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึง 1-2 วัน
  • หงุดหงิดง่าย
  • ท้องเสีย
  • ไม่อยากอาหาร
  • เปลือกตาบวม
โรคส่าไข้
โรคส่าไข้

รักษา โรคส่าไข้ ได้อย่างไร?

ส่าไข้ส่วนใหญ่จะหายได้เองภายใน 1 สัปดาห์ ผู้ที่มีอาการไม่รุนแรง จะเน้นการดูแลแบบประคับประคองไปตามอาการด้วยการบรรเทาอาการตามคำแนะนำ ดังนี้

  • นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ
  • ดื่มน้ำมาก ๆ เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ ผู้ป่วยที่อยู่ในวัยทารกหรือเด็กที่ยังรับประทานนม มารดาควรพยายามให้นมอย่างสม่ำเสมอ
  • ปรับสภาพแวดล้อมให้เหมาะสม ไม่ร้อนหรือหนาวเกินไป
  • ทานยาลดไข้เมื่อไข้ขึ้นสูง**ควรอ่านฉลากยาก่อนหรือปรึกษาแพทย์ทุกครั้ง เพื่อรับประทานยาในปริมาณที่เหมาะสม**
  • หากรับประทานยาแล้วยังคงมีไข้ ควรเช็ดตัวลดไข้เป็นระยะ
  • ในเด็กเล็ก ควรเฝ้าระวังการชักจากไข้สูง

เพราะตอนช่วงไข้สูงมากในเด็กเล็ก จะทำให้สมองเด็กถูกกระตุ้นให้เกิดอาการชักได้ ซึ่งเจอได้บ่อยในเด็กเล็กตั้งแต่ 6 เดือนจนถึงอายุ 5 ปี ย้ำว่า เกิดได้ในเด็กปกติสุขภาพดี โดย หมอวิน ยังได้แนะนำเพิ่มเติม หากเด็กมีอาการชักจากไข้สูงดังนี้

หากลูกชักจากไข้สูง … เน้นย้ำว่า #ไม่งัด #ไม่ง้าง #ไม่ถ่าง #ไม่กด #ไม่ทั้งหมด ชักหยุดเอง … ตามคำแนะนำของสมาคมโรคลมชักแห่งประเทศไทยบอกไว้ … หน้าที่ของเราคือ ไม่ตกใจ ถอดเสื้อผ้าลูก ตะแคงตัว หัวต่ำ เช็ดตัวลดไข้ หากมียาพาราเซตามอลชนิดเหน็บก็เหน็บก้นไปเลยเพื่อลดไข้ อย่าป้อนยาในขณะชัก ไม่เอาอะไรยัดปาก โอกาสที่เด็กจะกัดลิ้นนั้นไม่ได้มากครับ แต่ถ้าเราเอาอะไรยัดเข้าไป จนหายใจไม่ได้ หรือยัดจนฟันหักลงไปอุดหลอดลมล่ะ งานเข้าแน่นอน … ปกติชักหยุดเองใน 1-5 นาที (โดยทั่วไปไม่นานกว่า 15 นาที) แล้วเราก็รีบพาส่ง รพ. ใกล้บ้าน

หากเป็นการชักครั้งแรก ในเด็กเล็ก โดยเฉพาะต่ำกว่า 18 เดือน หรืออาการชักไม่ตรงไปตรงมา ชักนาน มีเขียวหรือสำลักขณะชัก หยุดชักแล้วยังไม่ฟื้นคืนสติ แพทย์จะแนะนำให้นอน รพ. เพื่อติดตามอาการใกล้ชิดและตรวจเพิ่มเติมเมื่อมีข้อบ่งชี้นะครับ … อย่างไรก็ตาม ในเด็กเล็กหากคุณหมอแนะนำให้ตรวจน้ำไขสันหลังก็ต้องทำนะครับ เพราะสาเหตุของการชักในเด็กเล็กอีกอย่างที่สำคัญและอันตรายมากก็คือ ‘โรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ’ นั่นเอง

ส่าไข้ โรคที่ดูเหมือนจะไม่มีพิษมีภัยอะไร เป็นโรคที่สามารถหายได้เอง มีเพียงอาการไข้ที่น่ากังวล แต่สำหรับเด็กเล็ก โรคนี้อาจเสี่ยงต่อการชักจากไข้สูงได้ โดยในช่วงนี้ ที่พี่โตเปิดเทอม ไปโรงเรียนกันแล้ว บ้านไหนที่มีน้องเล็กหรือเด็กเล็กที่อายุไม่เกิน 2 ขวบ ก็ควรเฝ้าระวัง เพราะพี่คนโต อาจทำโรคมาให้น้องได้โดยไม่รู้ตัวก็เป็นได้

อ่านต่อบทความดี ๆ คลิก

ชิคุนกุนยา โรคไข้ปวดข้อยุงลาย โรคร้ายที่มากับยุง

อัพเดท ราคาวัคซีนไข้หวัดใหญ่ 2563 กว่า 25 แห่งรพ.รัฐ-เอกชน ทั่วกรุง

8 โรคฮิตเปิดเทอม พ่อแม่เตรียมไว้เลย เปิดเทอมนี้ เจอแน่!!

โรคเฮอร์แปงไจน่า โรคระบาดในเด็กเล็ก ที่พ่อแม่ต้องระวัง

 

ขอบคุณข้อมูลจาก : หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC, หมอวิน จากเพจ เลี้ยงลูกตามใจหมอ, pobpad.com

 

เลี้ยงลูกให้ เก่ง ดี มีสุข ไปกับเรา คลิกติดตามที่

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up