รวม 11 โรค กับวิธีสังเกต ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

event

ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

2. ปัญหาจากการเลี้ยงดู

หากคุณพ่อคุณแม่เป็นคนปรับตัวง่าย  หมอคงไม่ต้องห่วงอะไรมาก  เพราะถึงจะเจอลูกแบบไหนก็รับมือไหว  แต่ถ้าพ่อแม่ปรับตัวยากมีลูกปรับตัวยากเหมือนกัน  บ้านนั้นก็จะทะเลาะกันทั้งวัน  หากพ่อแม่ปรับตัวยากมีลูกปรับตัวช้า  บ้านนั้นพ่อแม่ก็จะเอาแต่ดุด่าลูก  เพราะลูกทำอะไรไม่เคยได้ดั่งใจเสียที  หรือถ้าพ่อแม่ปรับตัวช้ามีลูกปรับตัวยาก  พ่อแม่ก็จะเอาลูกไม่อยู่  คุมลูกไม่ได้  เพราะฉะนั้นการดูแลของพ่อแม่ก็เป็นเรื่องสำคัญ  หรือแม้กระทั่งพ่อแม่ปรับตัวง่ายในยุคนี้ซึ่งมีความคาดหวังสูง  อยากให้ลูกได้ที่หนึ่ง  ต้องเก่งทั้งวิชาการ  ดนตรี  และศิลปะ  ต้องให้ลูกทำได้ทุกอย่าง  ถ้าเด็กทำได้ตามที่พ่อแม่คาดหวังก็ดีไป  แต่ถ้าทำได้ไม่เท่าความคาดหวังของพ่อแม่ก็จะอยู่ลำบาก  อาจเกิดความคับข้องใจกันจนกลายเป็นปัญหาครอบครัว  ลักษณะนิสัยพื้นฐานของพ่อแม่และวิธีการเลี้ยงดูจึงส่งผลต่อจิตใจและพฤติกรรมของลูกด้วยเช่นกัน  ซึ่งตามทฤษฎีที่หมอศึกษามาเราจะแบ่งพ่อแม่ออกเป็น 4 แบบ  คุณพ่อคุณแม่ลองอ่านและคิดภาพตามนะคะ  ว่าตอนนี้เราเป็นพ่อแม่แบบไหนกันนะ

  • พ่อแม่ใช้อำนาจ พ่อแม่ที่เลี้ยงลูกแบบใช้อำนาจมักจะออกคำสั่งอยู่ตลอดเวลา  ลูกต้องทำตามขั้นตอน 1-2-3-4 อย่างที่พ่อแม่บอก  เพราะเชื่อว่าพ่อแม่คัดเลือกสิ่งที่ดีที่สุดมาให้แล้ว  โดยไม่ฟังความเห็นของลูกเลย  ในอดีตเด็กส่วนใหญ่จะมีปัญหาจากการที่มีพ่อแม่ประเภทนี้สูงมาก
  • พ่อแม่ตามใจ :  บ้านไหนที่มีพ่อแม่แบบตามใจ  คนที่เป็นใหญ่ในบ้านจะไม่ใช่พ่อแม่  แต่เป็นลูกที่คอยออกคำสั่งอยากให้พ่อแม่ทำนู่นทำนี่ให้  เช่น  ลูกสร้างเงื่อนไขเองว่า  “หากพ่อแม่ไม่ซื้อมอเตอร์ไซค์ให้ก็จะไม่ยอมไปโรงเรียน”  แล้วพ่อแม่ก็ควบคุมลูกให้ไปโรงเรียนไม่ได้  สุดท้ายจึงต้องยอมตามใจ  ซึ่งในปัจจุบันมีพ่อแม่แบบนี้เยอะ  และปัญหาของเด็กทุกวันนี้หมอบอกได้เลยว่าเกิดจากพ่อแม่ประเภทนี้มากกว่าพ่อแม่ใช้อำนาจเสียอีก
  • พ่อแม่ปล่อยปละละเลย พ่อแม่ประเภทนี้ก็มีเยอะเช่นกัน  มักเกิดจากการที่พ่อแม่ต้องทำงานหาเงินทั้งคู่หรือเป็นครอบครัวเลี้ยงเดี่ยว  ประโยคฮิตติดปากของพ่อแม่ประเภทนี้สังเกตง่ายๆ คือพ่อแม่ที่อ้างว่า “ไม่มีเวลา” บ่อยๆ นั่นเอง
  • พ่อแม่มีอำนาจปกครอง :  หมออยากเห็นพ่อแม่ทุกคนอยู่ในประเภทนี้มากที่สุด  เพราะพ่อแม่กลุ่มนี้จะใช้การปกครองแบบประชาธิปไตย  คือ  พ่อแม่มีอำนาจในการปกครอง  แต่ทุกคนมีสิทธิ์แสดงความคิดเห็น  ทุกคนมีสิทธิ์ทำข้อตกลงร่วมกัน  อำนาจในบ้านจึงถูกกระจายไปให้ทั้งลูกและพ่อแม่อย่างเหมาะสม  ไม่ได้มีอำนาจแค่ลูกหรือพ่อแม่เพียงฝ่ายหนึ่งฝ่ายเดียว

แต่ปัญหาหลักของพ่อแม่คือ  พ่อแม่มักจะไม่รู้ตัวว่าตัวเองอยู่ในกลุ่มไหน  ถึงหมอจะบอกว่า  “คุณพ่อคุณแม่เลี้ยงลูกตามใจมากนะคะ”  แต่พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธว่า  “ไม่เคยตามใจลูกเลยค่ะ!!!”…จริงไหมคะ?  หรือหมอบอกว่า  “ทำไมถึงเข้มงวดกับลูกมากขนาดนี้  คุณพ่อคุณแม่คาดหวังกับลูกมากไปนะคะ”  พ่อแม่ส่วนใหญ่ก็จะปฏิเสธอีกว่า “ไม่เคยหวังอะไรกับลูกเลยค่ะ  ขอแค่เขาเป็นเด็กดีก็พอใจแล้ว!!!”  แต่สิ่งที่คุณพ่อคุณแม่ทำแต่ละอย่างกลับสวนทางกัน  ไหนจะส่งลูกไปเรียนพิเศษเยอะๆ  ให้ลูกเรียนว่ายน้ำ  ให้ลูกประกวดร้องเพลง  ตั้งกฎว่าห้ามสอบตก  ห้ามแพ้  แต่ก็บอกหมอว่า  “ไม่เคยหวังอะไรเลยค่ะ…”

ในตำแหน่งหน้าที่ของหมอ  ขอบอกเลยค่ะว่าการดูแลพ่อแม่ยากกว่าการดูแลเด็กๆ มากนัก  เพราะพ่อแม่ส่วนใหญ่ไม่รู้ตัว  พ่อแม่จะรู้แค่ว่า “ฉันทำถูกต้องแล้ว  เพราะฉันให้ความรักอย่างเหมาะสม”  ถูกไหมคะ?  เพราะฉะนั้นหากคุณพ่อคุณแม่อยากช่วยลูก  ก่อนอื่นต้องพิจารณาและยอมรับความจริงให้ได้ก่อนว่าตัวเองเป็นพ่อแม่แบบไหน  หากยอมรับได้และยินดีที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการเลี้ยงลูกให้เป็นแบบพ่อแม่มีอำนาจปกครอง  ก็จะช่วยเยียวยาจิตใจและรักษาอาการป่วยของลูกได้มากทีเดียว

ลูกมีปัญหาสุขภาพจิต

3. ปัจจัยสิ่งแวดล้อม

สิ่งแวดล้อมที่ใกล้ชิดเด็กที่สุดคือโรงเรียน  ซึ่งแต่ละโรงเรียนก็สอนเด็กไม่เหมือนกัน  บางโรงเรียนเน้นเรียนสุดชีวิตจิตใจ  หากคุณพ่อคุณแม่ให้ลูกไอคิวไม่ดี  ลูกที่มีภาวะบกพร่องทางการเรียน  ลูกสมาธิสั้น  หรือลูกที่เป็นออทิสติกไปเรียนกับเขา  ลูกก็จะไม่ถูกเสริมสร้างพัฒนาการอย่างถูกต้องเหมาะสม  หนำซ้ำยังเรียนอย่างไม่มีความสุขอีกด้วย  คุณพ่อคุณแม่จึงควรเลือกโรงเรียนที่เหมาะกับความสามารถและมีแนวทางในการส่งเสริมพัฒนาการให้เด็กที่มีความหลากหลายได้  เช่น  โรงเรียนที่มีระบบการดูแลช่วยเหลือนักเรียน  ซึ่งจะมีความเข้าใจธรรมชาติของเด็กปกติและเด็กป่วย  มีการคัดกรองเด็ก  แยกเด็กกลุ่มมีปัญหาเพื่อเอามาแก้ไข  ไม่ใช่แยกไว้เพื่อให้ไปอยู่รวมกันเฉยๆ  โรงเรียนที่ดีจะไม่มีการไล่เด็กออก  เด็กคนไหนไม่มาสอบซ่อมหรือไม่ส่งงานก็จะติดตามไปเรื่อยๆ  หรือหากเด็กไม่มีเงินเรียน  ทางโรงเรียนก็จัดหาทุนการศึกษาให้  สุดท้ายเด็กกลุ่มนี้แม้จะขาดโอกาสแต่ก็จะยังอยู่ในระบบของการศึกษา  ช่วยให้เขามีวุฒิการศึกษาสำหรับการประกอบอาชีพในอนาคต  และช่วยลดความเสี่ยงจากการติดยาเสพติดหรือมั่วสุมกันทำสิ่งที่ไม่ดีได้

จะเห็นได้ว่าทุกปัจจัยล้วนมีส่วนสำคัญต่อสุขภาพจิตและชีวิตของเด็ก  ชีวิตของเขาจะดี๊ดีหรือไม่  ทั้งตัวเขา  ครอบครัว  และโรงเรียนจะต้องช่วยกันในทุกทาง  เพราะฉะนั้นการที่ลูกของคุณพ่อคุณแม่ป่วยด้วยโรคจิตเวชก็อย่าเพิ่งโทษแต่ตัวเอง  หมอต้องย้ำเรื่องนี้เพราะจะมีพ่อแม่ที่ห่วงและรักลูกมาก  แต่สุดท้ายลูกไม่ได้อย่างที่เราต้องการ  ก็จะคิดมากและเก็บมาโทษตัวเอง  พอโทษตัวเองเยอะๆ ก็จะไม่มีกำลังแรงใจจะทำสิ่งดีๆ ให้ลูก  เพราะในแต่ละวันยังต้องเอากำลังแรงใจมาใช้ยกโทษให้ตัวเองอยู่เลย  คุณพ่อคุณแม่ที่มีลูกป่วยจึงต้องเข้มแข็ง  ปรึกษาหมอและหาทางออกไปด้วยกัน  ส่วนคุณพ่อคุณแม่ที่ลูกยังไม่ป่วยก็อย่าเพิ่งนิ่งนอนใจ  แต่ควรจะหาวิธีป้องกันด้วยการเลี้ยงลูกให้มีสุขภาพจิตแข็งแรงไว้ก่อน

อ่านต่อบทความอื่นน่าสนใจ คลิก!


ขอบคุณบทความจาก : พญ.วิมลรัตน์ วันเพ็ญ รองผู้อำนวยการสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่นราชนครินทร์ กรมสุขภาพจิต จากนิตยสาร Amarin Baby & Kids ฉบับเดือนพฤศจิกายน 2016

เรื่องที่คนอ่านมากสุด

keyboard_arrow_up